ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 มกราคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
หัววัด หมายถึง กลุ่มวัดที่มีความสัมพันธ์ มีวัฒนธรรมประเพณีที่พึ่งพาอาศัย เกื้อกูล ตอบแทนซึ่งกันและกัน ในความอุปถัมภ์ และความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
อาจกล่าวได้ว่าหัววัด คือ “บุญสัมพันธ์” ระหว่างชุมชน กับวัดใดวัดหนึ่ง กับอีกวัดหนึ่ง ซึ่งอาจจะอยู่ภายในชุมชนเดียวกัน หรือนอกชุมชน
ชาวล้านนานับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทำให้วิถีชีวิตของชาวล้านนาผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น
หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อชาวล้านนาที่ก่อให้เกิดแบบแผนทางวัฒนธรรมและคติความเชื่อเป็นประเพณีต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติในทุกๆ ปี โดยมีกิจกรรมจนเกิดเป็นประเพณีปฏิบัติ ดังนี้
เดือนที่ 1 ที่เรียก “เดือนเกี๋ยง” มีประเพณีออกพรรษา ทานก๋วยสลาก
เดือนที่ 2 เดือนยี่ มีประเพณียี่เป็ง ทอดผ้าป่า ตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติ
เดือนที่ 3 เดือนสาม มีประเพณีโสสานกรรม ฮ้องขวัญข้าว
เดือนที่ 4 เดือนสี่ มีประเพณีทานข้าวใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า
เดือนที่ 5 เดือนห้า มีประเพณีปอยหลวง ปอยล้อ
เดือนที่ 6 เดือนหก มีประเพณีทำบุญปอยน้อย บวชเณร ขึ้นพระธาตุ สมโภชพระพุทธรูป
เดือนที่ 7 เดือนเจ็ด มีประเพณีปี๋ใหม่เมือง บวชลูกแก้ว เลี้ยงผีปู่ย่า พิธีสู่ขวัญ สืบชะตาบ้านเมือง
เดือนที่ 8 เดือนแปด มีประเพณีบวชเณร ขึ้นพระธาตุ สรงน้ำพระ เข้าอินทขีล
เดือนที่ 9 เดือนเก้า มีประเพณีเลี้ยงผี
เดือนที่ 10 เดือนสิบ มีประเพณีเข้าพรรษา
เดือนที่ 11 เดือนสิบเอ็ด มีประเพณีจาคะข้าวคนเฒ่าจำศีล
เดือนที่ 12 เดือนสิบสอง มีประเพณีสิบสองเป็ง
งานประเพณีของแต่ละวัด เช่น ประเพณีสรงน้ำพระ ประเพณีไหว้พระธาตุ งานเฉลิมฉลองศาสนสถาน และประเพณีสลากภัต ถือเป็นงานสำคัญของวัดและชุมชน
เป็นการจัดงานที่ชาวล้านนาถือว่าเป็นการทำบุญที่เป็นทานบารมีครั้งใหญ่
สังคมระหว่างวัดและคณะศรัทธาอันหมายถึงอุบาสกอุบาสิกาที่อุปถัมภ์วัดแต่ละวัดซึ่งมีเครือข่ายวัฒนธรรม หรือมีบุญสัมพันธ์ระหว่างชุมชน
วัดและคณะศรัทธาวัดแต่ละวัดดังกล่าวเรียกว่า “หัววัด”
และแต่ละหัววัดเกิดจากความสัมพันธ์กันในลักษณะพี่น้อง ครูบาอาจารย์ ในหมู่บ้าน หรือชุมชนเดียวกัน หรือนอกชุมชน เช่น ต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด บางแห่งอาจจะไกลถึงต่างประเทศก็มี เมื่อมีการติดต่อรับทราบงานประเพณีเหล่านั้น
หัววัด อันประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาของแต่ละวัดจะเดินทางมาช่วยจัดงาน ตกแต่งงาน มีการรวบรวมทั้งปัจจัยและอุปกรณ์ อาหารคาวหวานและร่วมทำบุญ จนงานเสร็จเรียบร้อยดีงาม
กล่าวได้ว่า ความผูกพันของ “หัววัด” ไม่ใช่แต่ประเพณีหรือพิธีกรรม แต่คือระบบเครือญาติ และระบบศรัทธาที่เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ด้านศาสนา นำไปสู่การอยู่ร่วมกันและรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นและชุมชนและสร้างความสมัครสมานสามัคคีได้เป็นอย่างดี
จึงควรรักษา สืบสาน และต่อยอดประเพณีเหล่านี้ให้ดำรงไว้มิให้เสื่อมสูญไป •
ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022