สารพัด ‘ขบ’ (2)

ญาดา อารัมภีร

คําว่า ‘ขบ’ และ ‘กัด’ ความหมายไม่ต่างกัน ใช้แทนกันได้ นิทานคำกลอนเรื่อง “โคบุตร” บรรยายถึงลิงกับยักษ์ต่อสู้กัน กวีใช้คำว่า ‘กัด’ และ ‘ขบ’ กับลิงทั้งสองคำ

“หางกระหวัดปากกัดสองมือกอด เอาเท้าสอดฟาดฟัดสะบัดหัน

ดูกลมกลิ้งลิงกัดฟัดกุมภัณฑ์ ยักษ์ประจัญลิงขบต้นคอวาง”

ไม่ต่างกับบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พญาลิงทั้งสามช่วยกันรุมกุมภกรรณ (พญายักษ์น้องชายทศกัณฐ์) จนต้อง ‘วิ่งถลันหลบองค์เข้าลงกา’

“หนุมานรวบรัดกัดหูขวา องคตขบนาสายักษี

สุครีพถีบซ้ำอีกสองที สามกระบี่เข้ากลุ้มรุมรัน”

บ่อยครั้งที่กวีใช้สองคำควบคู่กัน เช่น ‘ขบกัด’ และ ‘กัดขบ’ ดังกรณีจระเข้เถนขวาดในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”

“ทำอำนาจฟาดฟัดกัดขบ ซ่อนศพเสียสิ้นหากินไม่

ขบกัดขัดเสียที่รากไทร แล้วเลยไล่ล่องน้ำร่ำตะบึง

เที่ยวท่องล่องโร่มาโพธิ์สระ ปะหลวงตาบิณฑบาตฟาดดังผึง

ขบกัดสะบัดเถรขึ้นเลนตึง บนตลิ่งวิ่งอึงทั้งหญิงชาย”

 

วรรณคดีเก่ากว่านั้น เช่น “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง” สมัยอยุธยา คำว่า ‘ขบกัด’ ก็มีใช้ ดังตอนที่งูเจอตุ๊กแก

“งูเขียวสายม่านเลื้อย ลายมัน

พบตุกแกกวดขัน เกี่ยงกล้า

งูขบกัดงูพัน รัดรอบ

แรงมากปากคลายอ้า ออกให้งูพลัน ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

วรรณคดีเรื่องเดียวกันนี้ยังมีคำว่า ‘ขบตอด’ และ ‘ขบเขี้ยว’

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายคำว่า ‘ขบ’ ดังนี้

“ขบเอา, การที่คือ กัดเอา, ตอดเอานั้นเอง”

“พจนานุกรมไทย” ให้ความหมายว่า

“กัด = ก. อ้าปากงับ, ตอด, ขบ… ฯลฯ”

คำอธิบายข้างต้นนี้บอกให้รู้ว่า ‘ขบ’ ‘กัด’ และ ‘ตอด’ ใช้แทนกันได้ ความหมายตรงกัน ฉะนั้น จะใช้คู่กันว่า ‘ขบกัด’ หรือ ‘ขบตอด’ ก็ได้ ความหมายใกล้เคียงกัน

นกกดกับงูเห่า เป็นคู่ต่อสู้กระดูกคนละเบอร์โดยแท้

“นกกดอดทนสู้ พบงูเห่าเอาปีกบัง

งูโพนพังพานหวัง จะขบตอดบ่รอดเลย

นกกดอดทนสู้ งูขลัง

งูขบเอาปีกบัง เข็ดเขี้ยว

งูเลิกพังพานหวัง ขบตอด

ตอดบรอดเลยเลี้ยว หลีกเลี้ยวสูดหนี ฯ”

 

สํานวน ‘ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน’ ที่แสดงอาการโกรธเมื่อยังทำอะไรเขาไม่ได้ ได้แต่เคี้ยวฟันอยู่ไปมาด้วยความโกรธ ความหมายต่างจาก ‘ขบเขี้ยว’ โดยสิ้นเชิง

“พังพอนจรเคล้าคู่ เรียงรัน

พบพานงูสู้กัน ขบเขี้ยว

งูเห่าเอาขนดพัน รัดรวด

พังพอนจรผันเลี้ยว ปลดเปลื้องตัวตาม”

ในที่นี้ ‘ขบเขี้ยว’ ไม่ได้เกี่ยวกับความโกรธ พังพอนใช้ฟันบนฟันล่างกัดกดตัวงูไว้แน่น ไม่ยอมให้หลุดไปได้ง่ายๆ งูเห่าตอบโต้ด้วยการเอาขนดหางรัดตัวพังพอนแน่นจนพังพอนต้องหันตัวตาม

คำที่เกี่ยวกับความโกรธก็มี เช่น ‘กัดกราม’ และ ‘ขบฟัน’ หรือ ‘กัดฟัน’ แสดงถึงความอดกลั้นโดยเอาฟันต่อฟันกดกันไว้แน่น

บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนที่ท้าวสัทธาสูรรู้จากทศกัณฐ์ว่าที่ฝ่ายยักษ์พ่ายแพ้เพราะพิเภกน้องชาย ‘มันบอกกลแก้ไขให้ไพริน’ แม้จะเดือดดาลยิ่งนักก็อดกลั้นไว้

“เมื่อนั้น สัทธาสูรขุนมารชาญสนาม

ฟังสหายแถลงแจ้งความ ยิ่งฮึดฮัดกัดกรามโกรธา”

ทำนองเดียวกับบทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” พระเอกโกรธนางทั้งเจ็ดที่ยุยงให้ขับไล่พระมเหสีสุวิญชา

“เมื่อนั้น พระไชยเชษฐ์เคืองแค้นแสนศัลย์

งุ่นง่านดาลเดือดดุดัน ขบฟันเกรี้ยวกราดตวาดไป”

เช่นเดียวกับบทละครนอกเรื่อง “คาวี” เมื่อไวยทัตอ่านจดหมายของพระเจ้าป้าคันธมาลี

“อ่านจบขบฟันหันหุน เคืองขุ่นดาลเดือดไม่ดับได้

ลุกขึ้นกระทืบเตียงเสียงอึงไป ข้าไทหลีกหลบกระทบกัน”

ตอนแรกที่เจอคำว่า ‘ขบปาก’ ใน “ลิลิตพระลอ” วรรณคดีสมัยอยุธยา นึกว่าเป็นคำเดียวกับ ‘กัดริมฝีปาก’ คือเม้มปากและใช้ฟันขบไว้ แท้จริงแล้วความหมายห่างกันไกล

“ฉันใดสองพี่เลี้ยง ขบปากสักคำเพี้ยง

ดั่งใบ้ฤๅควร นะพี่ ฯ”

คุณพระวรเวทย์พิสิฐให้ความกระจ่างไว้ใน “คู่มือลิลิตพระลอ” ว่า พระลอต่อว่านายแก้วนายขวัญพระพี่เลี้ยง

“ทำไมพี่เลี้ยงทั้งสองคน ไม่พูดบ้างเลยสักคำ

เหมือนคนใบ้ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเลย (ขบปาก แปลว่า ไม่พูด ภาษาภาคอีสาน)”

สารพัด ‘ขบ’ จบแล้วนะ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร