ข้อคิดจากทฤษฎีความยุติธรรมของ ‘จอห์น รอลส์’ ต่อกรณีการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ในช่วงนี้มีข่าวหนึ่งที่ผมสนใจมากกว่าข่าวอื่นก็คือความคืบหน้าเรื่องการจัดทำประชามติเพื่อนำไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเกิดปัญหาคาราคาซังมากมายนับตั้งแต่ประกาศใช้

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความเฉพาะเจาะจงสูง

คือบัญญัติขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายเฉพาะกิจ เฉพาะกาล เฉพาะบุคคล และกลุ่มบุคคล

ทำให้ส่งผลดีกับบางกลุ่มและส่งผลเสียกับบางกลุ่มเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถสร้างหลักการที่ยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายได้

ในปี ค.ศ.1971 จอห์น รอลส์ (John Rawls) นักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกันที่ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว ได้เสนอแนวคิดเรื่องทฤษฎีความยุติธรรมไว้ในหนังสือเรื่อง “A Theory of Justice” ว่าคือการสร้างข้อตกลงที่ทุกคนเสมอภาคกันและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายโดยไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ก็จำเป็นต้องตัดปัจจัยต่างๆ ที่เป็นข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของแต่ละคนออกไปให้หมดก่อนทำการสร้างข้อตกลง

ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางเศรษฐกิจ ชนชั้นวรรณะ สติปัญญา ความแข็งแรง ลักษณะของบุคคล สูง ต่ำ ดำ ขาว ยาก ดี มี จน สวย หล่อ ลักษณะทางชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือแม้กระทั่งความโน้มเอียงทางจิตวิทยาหรือรสนิยมส่วนบุคคล ฯลฯ

ทั้งนี้ ให้สังเกตว่ารอลส์ใช้คำว่า A ไม่ใช่ The นั่นเป็นเพราะว่าทฤษฎีความยุติธรรมของเขาไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวหรือเป็นสัจธรรมนิรันดรที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยน

แต่ทฤษฎีความยุติธรรมที่ถูกต้องเหมาะสมในทัศนะของรอลส์คือหลักการพื้นฐานทางสังคมอย่างหนึ่งที่ผู้คนในชุมชนนั้นหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงนั้นได้ทำร่วมกันเลือกสรรขึ้นมาแล้วยอมรับตรงกันว่ายุติธรรม

โดยเลือกหลักการชุดหนึ่งขึ้นมาท่ามกลางความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้น หลักการพื้นฐานดังกล่าวจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานที่ต่างๆ

 

ตัวอย่างเช่น การสร้างกติกาการแข่งขันฟุตบอลที่ยุติธรรมจะต้องกำหนดขึ้นโดยไม่เอื้อต่อลักษณะทางชาติพันธุ์ของคนในประเทศได้เป็นการเฉพาะ

หากกำหนดให้ขนาดของประตูฟุตบอลมีความสูงมาก ชนชาติที่มีค่าเฉลี่ยของความสูงที่มากกว่าก็จะได้เปรียบ ส่วนประเทศที่เสียเปรียบก็สู้ไม่ได้

กติกาที่ยุติธรรมจึงต้องกำหนดโดยไม่เอื้อกับผู้เล่นกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม กติกานี้ไม่ใช่สัจธรรม ดังนั้น จึงสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามบริบท

การสร้างข้อตกลงที่ตัดความได้เปรียบเสียเปรียบทั้งหมดออกไปทำให้ทุกคนอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกัน ซึ่งรอลส์เรียกว่าเป็นความแฟร์ (fairness) คือเสมอภาคหรืออยู่ในระดับเดียวกัน

ซึ่งปัจจุบันคนไทยนำคำว่าแฟร์ (fair) มาใช้ทับศัพท์กันอย่างแพร่หลาย เช่น คนสองคนท้าต่อยกันแบบแฟร์ๆ หมายถึงต่อสู้กับตัวต่อตัว เดี่ยวต่อเดี่ยว ชกมือเปล่าก็ให้มือเปล่าเหมือนกัน ถ้ามีอาวุธก็ให้ใช้อาวุธเหมือนกัน เป็นต้น

แต่ถ้าคนหนึ่งตัวใหญ่ยักษ์ ในขณะที่อีกคนหนึ่งตัวเล็กจิ๋ว หรือคนหนึ่งเป็นชายวัยหนุ่มฉกรรจ์ แต่อีกคนหนึ่งเป็นเด็กหญิงหรือไม่ก็หญิงชรา ต่อให้สู้กันเดี่ยวต่อเดี่ยว ใครๆ ก็ย่อมเห็นว่าไม่แฟร์แน่นอน

หรือคนหนึ่งมีอวัยวะครบ 32 ขณะที่อีกคนเป็นผู้พิการ ใครๆ ก็รู้ว่าไม่แฟร์

เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงความแฟร์ก็มีนัยว่าต้องเท่าเทียมกันหรือเสมอภาคกันด้วย คือสามารถจับคู่แข่งขันกันได้ สามารถเปรียบมวยได้

 

รอลส์เรียกแนวคิดนี้ว่า “justice as fairness” แปลว่า “ความยุติธรรมในฐานะที่เที่ยงธรรม” ซึ่งหมายถึงว่ายุติธรรมที่ว่านี้ทุกคนยอมรับเพราะมันเสมอภาคกันจริงๆ มันแฟร์กับทุกคนเหมือนกันหมด

วิธีคิดนี้เป็นมรดกจากทฤษฎีพันธสัญญาทางสังคม (social contract) ที่ใช้กันมาในยุโรปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นยุคสมัยใหม่

นักคิดหลักในสายความคิดนี้คือ โธมัส ฮ็อบส์ กับจอห์น ล็อก จากอังกฤษ และฌอง ฌากส์ รุสโซ จากฝรั่งเศส

ซึ่งรอลส์ได้พัฒนาวิธีการแบบพันธสัญญาเพื่อนำไปสู่การสร้างทฤษฎีความยุติธรรมสำหรับวางหลักการทั่วไปที่ใช้ได้อย่างเป็นสากลกับทุกกรณี ไม่ใช่หลักการชั่วคราวที่ใช้แบบเฉพาะเจาะจงแค่บางกรณีเท่านั้น

การที่แนวทางแบบพันธสัญญามองว่ามนุษย์มีความเป็นอิสระและมีเหตุผล แต่ว่าไม่ได้ตัดเรื่องข้อได้เปรียบเสียเปรียบของแต่ละคน รวมทั้งไม่ตัดปัจจัยทางวัฒนธรรมต่างๆ ออกไปก่อนการรวมตัวกันสร้างข้อตกลงทางสังคมก็ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่สามารถเป็นหลักการสากลที่ยุติธรรมจริงๆ และไม่อาจคงทนถาวรเป็นที่ยอมรับจากทุกคนได้

ทำให้รอลส์เสนอว่าจำเป็นต้องนำปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้แต่ละคนไม่เท่าเทียมกันออกไปให้หมดตั้งแต่ต้น

 

จุดตั้งต้นนี้ไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นสถานการณ์สมมุติที่รอลส์เรียกว่า “original position” หมายถึง “สภาวะเริ่มแรก” หรือ “สถานภาพแรกเริ่ม” ของการสร้างข้อตกลง

ซึ่งสภาวะนี้ทุกคนต้องเข้าไปอยู่ใน “ม่านแห่งความไม่รู้” (veil of ignorance) ที่แต่ละคนไม่รู้ข้อมูลของตนเอง ไม่รู้ตำแหน่งแห่งหนของตนในสังคม ชนชั้น วรรณะ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ สติปัญญา ความแข็งแรง และข้อได้เปรียบเสียเปรียบต่างๆ รู้แต่เพียงว่ามีตัวตนเท่านั้น

การปราศจากข้อมูลของตนโดยสิ้นเชิงทำให้แต่ละคนเลือกกำหนดข้อตกลงต่างๆ ที่ไม่เข้าใครออกใคร แต่มีความเป็นกลางที่เหมาะกับทุกคน ซึ่งมีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะสร้างหลักการที่ยุติธรรมจริงๆ ได้

เมื่อทุกคนอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหมดจึงไม่มีใครสามารถออกแบบหลักการเพื่อรับใช้เงื่อนไขเฉพาะของตน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดผลลัพธ์เป็นข้อตกลงหรือการต่อรองที่เที่ยงธรรมขึ้นมา และเป็นหลักการที่ยุติธรรมซึ่งใช้ได้โดยทั่วไป

รอลส์เห็นว่าในภาวะเช่นนี้แต่ละคนจะตัดสินใจกำหนดข้อตกลงไปตาม “กฎแม็กซิมิน” (maximin) คือไม่เลือกประโยชน์สูงสุด (maximum) ที่จะได้รับ และไม่ใช่ต่ำที่สุด (minimum) ด้วย หากแต่เป็นผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่ดีที่สุดท่ามกลางความเป็นไปได้ขั้นต่ำสุดที่ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่มีใครรู้ว่าเมื่อออกจากม่านแห่งความไม่รู้แล้วเขาจะโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่

ดังนั้น เขาจึงไม่กำหนดกฎเกณฑ์พื้นฐานที่สุ่มเสี่ยงเกินไปแบบการเดิมพันนั่นเอง

โดยรอลส์เสนอหลักความยุติธรรมขึ้นมา 2 ประการคือ

(1) หลักเสรีภาพ

(2) หลักความแตกต่าง (difference principle) หรือบางทีอาจอนุโลมเรียกว่าหลักความเสมอภาคก็ได้

หลักเสรีภาพคือทุกคนมีเสรีภาพที่เท่าเทียมกันกับผู้คนที่อยู่ในระดับเดียวกัน หรือมีสิทธิที่เท่าเทียมกันด้านเสรีภาพต่างๆ

หากคนที่อยู่ในสถานะเดียวกันทำสิ่งใดได้ คนอื่นก็ย่อมทำได้ด้วย

ส่วนหลักข้อสองคือหลักความแตกต่างหมายความว่าการจัดสรรสิ่งต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เสมอภาคหรือไม่เท่าเทียมกันนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อ

(2.1) เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คนที่เสียเปรียบที่สุดในสังคม

และ (2.2) เพื่อเปิดให้ทุกคนได้มีโอกาสอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

 

วัตถุประสงค์ของบทความนี้คือต้องการหยิบยกแนวคิดหนึ่งซึ่งน่าสนใจและเหมาะสมกับการปรับใช้ในสังคมไทยที่กำลังอยู่ในจุดตั้งต้น หรืออย่างน้อยพยายามถอยกลับเข้าสู่จุดตั้งต้นในการสร้างข้อตกลงพื้นฐาน

แต่ครั้นพอเห็นกระบวนการเริ่มแรกในการออกคำถามสำหรับทำประชามติ

และการออกแบบองค์ประกอบของผู้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญโดยเลือกตัวแทนจากกลุ่มประโยชน์และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ

เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่านี่เป็นจุดตั้งต้นที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่

ในเมื่อแต่ละคนมีผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่แตกต่างกัน และมีเป้าหมายที่น่าจะไปได้ด้วยกันไม่ได้

ดังนั้น รัฐธรรมนูญอันเป็นผลลัพธ์ที่ออกมาจากกระบวนการนี้จะเป็นข้อตกลงที่ยุติธรรมและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายได้อย่างไร แล้วเมื่อใดรัฐธรรมนูญที่ออกมาเพื่อใช้เป็นการทั่วไปจะเป็นที่ยุติ

เพราะฉะนั้น แทนที่จะพยายามจัดสรรผลประโยชน์สูงสุดที่ทุกคนหรือทุกกลุ่มต้องการลงไปในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเนื่องจากเป้าหมายของแต่ละกลุ่มมีความขัดแย้งกัน

ดังนั้น จึงควรตัดผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มออกไปให้หมด หรืออย่างน้อยตัดออกไปให้มากที่สุดไม่ดีกว่าหรือ

ก็ได้แต่ฝากความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้ให้คิดเพียงเท่านี้