ทหารญี่ปุ่นทำร้ายนักเรียนช่างกลปทุมวัน คดีที่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

ณัฐพล ใจจริง

คดีทำร้ายพระที่บ้านโป่ง (2485) ของทหารญี่ปุ่นในช่วงต้นสงครามนำไปสู่การปะทะกันระหว่างทหารญี่ปุ่นกับประชาชนและตำรวจไทย สร้างความตึงเครียดระหว่างกันเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย

แต่ยังมีอีกคดีหนึ่งที่ทหารญี่ปุ่นทำร้ายคนไทยแต่ยังไม่เป็นที่รับรู้นัก

คือ คดีทหารญี่ปุ่นทำร้ายนักเรียนช่างกลจนถึงแก่ความตาย

ภาพหมู่นักเรียนช่างกลปทุมวัน 2482 เครดิตภาพ : อนุสรณ์ 90 ปี ช่างกลปทุมวัน

เมื่อไทยเข้าสงคราม

การเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามเป็นผลจากการตัดสินใจของรัฐบาลในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 อันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากยิ่ง เนื่องจากญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกอย่างฉับพลัน (fait accompli) พร้อมกับการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฮาวายของสหรัฐอเมริกา (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2555) ทั้งนี้ สมรภูมิครั้งนี้หาได้อยู่ไกลบ้านอย่างในสงครามโลกครั้งที่แล้ว แต่สมรภูมิครั้งนี้เป็นสนามรบที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียและประชิดแดนไทย ในที่สุด ไทยตกลงยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปยังมลายูและพม่า มีการลงนามใน “สนธิสัญญาไทย-ญี่ปุ่น” ในช่วงสายวันเดียวกัน (แถมสุข นุ่มนนท์, 2548, 23-24)

ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นตัดสินใจลงนามใน “กติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” วันที่ 14 ธันวาคม รัฐบาลไทยลงนามในสัญญากับญี่ปุ่น “หลักการร่วมยุทธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” อันมีเนื้อหาว่า กองทัพไทยจะร่วมยุทธ์กับญี่ปุ่นในการต่อต้านกองทัพข้าศึกในพม่า โดยแบ่งหน้าที่กันทางบก เรือ และอากาศ ต่อมา มีการรับรองอย่างเป็นทางการเป็น “กติกาสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ” ในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 มีเนื้อหาว่า

หากประเทศคู่สัญญามีความขัดแย้งทางอาวุธกับประเทศอื่นใด ประเทศคู่สัญญาจะอยู่ข้างเดียวกันในฐานะพันธมิตรทันทีและให้ความช่วยเหลือทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสัญญาจะให้ดินแดนมลายูและพม่า คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส เชียงตุง และเมืองพานที่ไทยเคยเสียให้กับอังกฤษในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคืนแก่ไทยอีกด้วย (แถมสุข นุ่มนนท์, 2548, 26-31)

การลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ที่วัดพระแก้ว เมื่อ 21 ธันวาคม 2484

คดีทหารญี่ปุ่นทำร้ายนักเรียนช่างกลปทุมวัน

ในระหว่างสงคราม กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดหน่วยราชการ โรงเรียนรัฐและเอกชนหลายแห่งตั้งกองทหาร กองทหารญี่ปุ่นเข้าตั้งหน่วยทหารตามสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนามกีฬาแห่งชาติ สวนลุมพินี โรงเรียนช่างกลอุเทนถวาย สถานทูตของฝ่ายสัมพันธมิตรและโรงเรียนใหญ่ๆ หลายแห่ง สถานที่สำคัญๆ เพื่อควบคุมพระนคร (อาจินต์ บุณยเกตุ, 2534, 221-222)

บรรดาเหล่าพ่อค้า ช่างถ่ายรูป ที่เคยปฏิบัติการหาข่าวให้กับกองทัพญี่ปุ่นในการยกพลขึ้นบก ภายหลังยกพลแล้วคนเหล่านี้แต่งชุดทหาร สะพายดาบซามูไรเดินเต็มเมือง

มีเหตุการณ์หนึ่งที่ดูจะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยในช่วงสงคราม คือ คดีทหารญี่ปุ่นทำร้ายนักเรียนช่างกลปทุมวัน

สำหรับประวัติโรงเรียนช่างกลปทุมวันตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ที่ตรอกกัปตันบุช บางรัก ในปี 2477 โรงเรียนอาชีพช่างกลย้ายไปตั้งที่อาคารกรมแผนที่ทหารบก บริเวณท่าเรือแถวโรงเรียนราชินีล่าง จนปีต่อมาได้โอนโรงเรียนสังกัดกระทรวงธรรมการ

ในปี 2480 ได้มีการดำเนินการเช่าที่ดินตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นวังของกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์เดิม ริมถนนพระราม 1 มีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ ได้จัดสร้างอาคารเรียน 1 หลัง โรงฝึกงานอีก 8 หลัง ประกอบด้วย โรงช่างกลโรงงาน โรงเครื่องจักรไอน้ำและดีเซล โรงเชื่อม โรงหล่อ โรงชุบ โรงช่างยนต์ ช่างไฟฟ้าและวิทยุ โรงตีเหล็ก เป็นต้น

แล้วย้ายโรงเรียนมาอยู่สถานที่ใหม่ถนนพระราม 1 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2482 แบ่งการศึกษาออกเป็น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างไอน้ำ

ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครดิตภาพ : NHK และเพจทางรถไฟสายมรณะ

ไม่กี่วันภายหลังกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นไทย 11 ธันวาคม 2484 ทหารญี่ปุ่นกว่าร้อยนายได้เข้ายึดโรงเรียนเพื่อใช้เป็นโรงงานของทหารช่างแห่งกองทัพญี่ปุ่น (อนุสรณ์ 90 ปี ช่างกลปทุมวัน, 2565, 25)

ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นยึดโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงอพยพนักเรียนไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์เป็นการชั่วคราว สถานที่โรงเรียนที่ถนนพระราม 1 จึงถูกยึดครองไปด้วยทหารช่างญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการสร้างและซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

เสถียร ตามรภาค นายทหารสารวัตรไทยคนหนึ่งบันทึกเรื่องสะเทือนใจของเขาและสังคมไทยในขณะนั้นว่า ในช่วงต้นสงคราม เมื่อกองทหารช่างญี่ปุ่นมาตั้งที่ทำการ ณ โรงเรียนช่างกลปทุมวันแล้ว นายทหารญี่ปุ่นได้มาขอนักเรียนช่างกลปทุมวันจากโรงเรียนไปช่วยงานกองทัพญี่ปุ่น ต่อมาทางโรงเรียนจึงได้ส่งนักเรียนมาให้ 2-3 คน นายทหารช่างจ่ายนักเรียนให้ไปทำงานกับนายสิบที่โรงช่าง

นายสิบทหารญี่ปุ่นสั่งให้นักเรียนช่างกลคนหนึ่งนั่งรอฟังคำสั่ง ระหว่างที่นายสิบไปหาเครื่องมือมาให้นักเรียน นักเรียนจึงนั่งรอ ต่อมา มีนายทหารอีกคนเห็นนักเรียนนั่งว่างงานอยู่ จึงสั่งให้นักเรียนไปกวาดพื้นโรงช่างให้สะอาด ครั้นนายสิบเดินกลับมาเห็นนักเรียนกวาดพื้นอยู่ จึงตบหน้าหาว่าขัดคำสั่งเขา นักเรียนจึงแจ้งว่าได้รับมอบหมายงานจากนายทหารให้กวาดพื้น

ด้วยเหตุที่พูดจากันไม่รู้เรื่อง นายสิบจึงใช้กระบี่ทั้งฝักฟาดลงไปบนศีรษะนักเรียนจนทำให้นักเรียนสลบเหมือด

นักเรียนช่างกลปทุมวันไหว้ครู

นายสิบคนนั้นพยายามแก้ไขให้นักเรียนฟื้นสติขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เพื่อนนักเรียนคนอื่นต่างหลบหนีเอาชีวิตรอดและกลับไปรายงานอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทราบ จากนั้น ทางโรงเรียนแจ้งมายังสารวัตรทหารผสม ต่อมา นักเรียนเคราะห์ร้ายคนนั้นถูกส่งไปโรงพยาบาลกลางเพื่อรักษา แต่นักเรียนมีอาการหนักมาก สารวัตรทหารฝ่ายไทยรายงานไปยังแม่ทัพญี่ปุ่น แม่ทัพญี่ปุ่นโทรศัพท์ไปสอบถามอาการที่โรงพยาบาลปรากฏนักเรียนเสียชีวิตแล้ว

ต่อมา มีการผ่าศพนักเรียนพิสูจน์ที่โรงพยาบาลกลาง ทางญี่ปุ่นและไทยส่งนายแพทย์เป็นตัวแทนมาฝ่ายละ 2 นาย สารวัตรทหารผสมไทย-ญี่ปุ่นอีกฝ่ายละ 2 นาย พบว่าสาเหตุการตายของนักเรียนคือ เลือดคั่งที่สมอง

อาคารโรงช่างต่างๆ ของโรงเรียนช่างกลปทุมวัน เครดิตภาพ : อนุสรณ์ 90 ปี ช่างกลปทุมวัน

ความตายของนักเรียนช่างกลนี้ ฝ่ายไทยไม่พอใจมาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่กองทัพญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องเล็ก เกิดการสอบสวนขึ้น ผลปรากฏว่านายสิบทหารญี่ปุ่นมีความผิดอย่างชัดเจน นายสิบคนนี้ถูกปลดลงเป็นพลทหารและถูกส่งไปประจำการที่พม่า ฝ่ายไทยเรียกค่าเสียหายจากญี่ปุ่นให้ครอบครัวนักเรียนเป็นเงิน 5,000 บาท ต่อมา ทางกองทัพญี่ปุ่นจ่ายค่าทำศพเป็นเงิน 8,000 บาท

นายทหารสารวัตรไทยบันทึกเหตุการณ์นี้ต่อไปว่า เขาเป็นตัวแทนไปรับค่าทำศพจาก พ.อ.โมริ โมริยะ นายทหารญี่ปุ่นผู้นี้กล่าวว่า ค่าทำศพนี้มีราคาเท่ากับปืนกลหนักหนึ่งกระบอก เขาจึงถามไปว่า เหตุใดญี่ปุ่นจึงไม่จ่ายค่าทำศพเป็นมูลค่าปืนกล 3 กระบอกให้แก่ครอบครัวนักเรียน ต่อมาเรื่องดังกล่าวก็จบลงว่าฝ่ายญี่ปุ่นยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวนักเรียนผู้นั้น (เสถียร, 2518, 132-134)

อย่างไรก็ตาม จากหนังสือประวัติของโรงเรียนช่างกลปทุมวันที่เรียบเรียงขึ้นในภายหลัง (ราว 2563) โดยนายประเสริฐ แซ่อึ๊ง และนายสหัส ศิริเกตุ ให้ชื่อนักเรียนผู้นี้ว่า นายสงวน จัตุพร นักเรียนปี 2482 เลขประจำตัว 238 แต่สำหรับสาเหตุการตายของนักเรียน หนังสือฉบับนี้ระบุว่า นักเรียนถูกทหารญี่ปุ่นฟันดาบด้วยซามูไรจนถึงแก่ความตายจากการปกป้องโรงเรียนจากกองทัพญี่ปุ่น (https://fliphtml5.com/wwcgs/camz/basic/151-187, หน้า 40) ในขณะที่บันทึกความทรงจำของสารวัตรทหารไทยที่ร่วมพิจารณาคดีเล่าว่า เกิดจากทหารญี่ปุ่นลุแก่อำนาจทำร้ายนักเรียนที่โรงเรียนส่งมาช่วยงานทหารญี่ปุ่นตามคำขอจากกองทัพญี่ปุ่น

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลไทยมาก ในที่สุดกองทัพญี่ปุ่นชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวนักเรียน และลงโทษทหารญี่ปุ่นคนนั้นด้วยการลดยศและส่งไปแนวหน้า

ตราโรงเรียนช่างกลปทุมวันและนักเรียนยุวชนทหารในช่วงเวลานั้น
ภาพความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของเยาวชนเอเชียและการเป็นพันธมิตรทางการทหารไทยกับญี่ปุ่น