คณะทหารหนุ่ม (73) | พ.อ.พัลลภ หลังลี้ภัย กลับมาก็ตกงานต้องรับจ้างถมที่ โดน “จ่า” เรียกปรับประจำ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

หลังจากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ.2524 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนก็พ้นมลทินสู่อิสรภาพ ผู้ที่หลบหนีไปต่างประเทศตั้งแต่ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พ.อ.มนูญ กิตติขจร และ ดร.บุญชนะ อัตถากร ต่างก็ทยอยเดินทางกลับประเทศไทยจนหมดสิ้น

สำหรับ พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศลาวและได้รับอนุญาตให้เดินทางลี้ภัยไปประเทศเยอรมนีได้ เมื่อได้รับพระราชทานนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทย

คณะผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นนายทหารระดับกลางซึ่งพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก แม้จะไม่ได้ถูกถอดยศ เพียงแต่มีคำสั่งให้ปลดออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ ดังนั้น ทุกคนจึงต้องดิ้นรนเพื่อหาทางเลี้ยงตัวเองและครอบครัวต่อไป

นับจากนี้ไป จึงเป็นช่วงเวลาที่ลำบากยากยิ่งในชีวิตทั้งตัวผู้ก่อการและครอบครัว ซึ่งลูกๆ ส่วนใหญ่ล้วนกำลังอยู่ในวัยเรียน หัวหน้าครอบครัวเป็นทหารอาชีพซึ่งไม่ได้เตรียมตัวจะทำอาชีพอื่นนอกจากเป็นทหารไปจนเกษียณอายุ

ตลอดชีวิตดำรงชีพอยู่ได้ด้วยค่าตอบแทนจากทางราชการเท่านั้น

 

พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี

มีเรื่องเล่าขานมากมายถึงความพยายามในการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดซึ่งล้วนชวนให้สลดใจ แต่บันทึกของ พ.อ.พลลภ ปิ่นมณี “ผมผิดหรือที่ยึดกรือเซะ” พอจะทำให้เห็นภาพความยากลำบากในการต่อสู้ชีวิตและความไม่ไว้วางใจหรือความอาฆาตพยาบาทจากผู้มีอำนาจหลังความพ่ายแพ้ของคณะทหารหนุ่ม

พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ใช้ชื่อบันทึกตอนนี้ว่า “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ผมคิดจะปฏิวัติจริงหรือ”

“พล.ต.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง ท่านมาคุยกับผมและวีรยุทธ อินวะษา ว่า เพื่อนของท่านมีที่อยู่ประมาณ 800 ไร่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ท่านมาชวนไปทำไร่โดยเป็นนายทุนให้ ผมก็ตกลงเพราะไม่อยากจะยุ่งกับอะไรแล้ว ขอไปทำไร่ดีกว่า

ตอนที่กลับมาตำแหน่งโดนปลดแต่ยศยังเหมือนเดิม เขาปลดเป็นทหารนอกราชการ เพราะฉะนั้น หลังจากคุยกันเสร็จ ผมจึงตัดสินใจไปทำไร่ข้าวโพดที่ อ.ปากช่อง ผมกับวีรยุทธจึงไปบุกเบิกทำกัน 2 คน

ที่ตรงนั้นในความรู้สึกส่วนตัว ผมยอมรับว่ามันสวยมากและบรรยากาศก็ดี

หลังจากนั้นก็เริ่มลงมือทำโดยจ้างรถไถ ผมกับวีรยุทธก็คุมอยู่ที่นั่นและก็ได้ปลูกบ้านเป็นกระต๊อบหลังคามุงจากอยู่กันคนละหลัง ส่วนครอบครัวผมอยู่ที่กรุงเทพฯ

พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้จ้างเขามาไถดิน ครั้นถึงเดือนเมษายนก็ได้ลงข้าวโพด พอถึงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ข้าวโพดเริ่มโตขึ้นงอกงามมาก เป็นภาพที่สวยงามจริงๆ

ในความคิดผมก็กะว่าจะปักหลักเป็นชาวไร่ตลอดไป ในระหว่างที่รอให้ข้าวโพดถึงเวลาเก็บเกี่ยว ผมก็มาคิดกับวีรยุทธว่าน่าจะเลี้ยงหมูเพราะหมูจะได้ผลประโยชน์จากซังหรือเศษข้าวโพด ด้วยการที่ผมเคยเลี้ยงหมูมาก่อนก็น่าจะสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

หลังจากนั้นผมก็ทำการกั้นคอกหมู หลังจากทำคอกหมูเสร็จ วีรยุทธก็ไปที่จังหวัดนครปฐมเพื่อซื้อมะพร้าวน้ำหอมมาปลูก โดยตั้งใจจะเปลี่ยนอาชีพมาทำไร่อย่างจริงจัง

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ขณะที่ข้าวโพดกำลังออกฝัก มองดูทางไหนก็เห็นแต่ฝักข้าวโพด วีรยุทธก็นำลูกไปเข้าโรงเรียน ส่วนตัวผมก็เฝ้าไร่อยู่คนเดียว เผอิญวันนั้น สายพานรถไถมันขาด ผมก็ลงมาที่ปากช่องเพื่อที่จะซื้อสายพาน

หลังจากซื้อเสร็จกำลังจะกลับประมาณ 10.00 น. พอขึ้นไปถึงแค่บริเวณตีนเขา คนงานคนหนึ่งก็วิ่งเข้ามาดักหน้าผมพร้อมกับบอกว่า ผู้การอย่าขึ้นไปนะครับ ทหารตำรวจอยู่เต็มไร่เลย ผมก็ตกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ผมรีบกลับเข้ามากรุงเทพฯ มาตรวจสอบ ปรากฏว่าผมโดนรายงานในข้อหาผมกับวีรยุทธได้ทำการสะสมเสบียงและซ่องสุมผู้คนเพื่อทำการปฏิวัติ

ผมว่ามันเป็นเรื่องตลกมาก เขาได้รายงานไปว่า คอกหมูเป็นบังเกอร์ ที่เก็บข้าวโพดก่อนนำออกขายเป็นคลังอาวุธ เขาคิดได้อย่างไร ไม่เข้าใจ

ผมเริ่มเจอมรสุมหรือเรียกง่ายๆ ว่าความซวยเริ่มมาเยือน

 

ในตอนนั้นผมไม่มีอะไรเหลือ จะกลับไปทำไร่ต่อที่ปากช่องก็กลัวจะไม่ปลอดภัย

สุดท้ายที่ปากช่องก็เลยต้องทิ้ง หมดเงินกับที่ตรงนั้นก็หลายแสนเหมือนกัน

หลังจากนั้นมาผมก็เริ่มที่จะทำอาชีพใหม่

พอดีตรงที่ ก.ม.12 ที่ดอนเมืองเขาจะถมที่ประมาณ 20 ไร่ ผมจึงไปรับจ้างถมที่ตรงตลาดบริเวณ ก.ม.12 ดอนเมือง ทั้งรถตัก รถบรรทุกและค่าใช้จ่ายต่างๆ ผมก็รับผิดชอบ ผมก็ไปซื้อที่นาแถวมีนบุรี ผมรู้ธรรมเนียมของตำรวจเพราะระหว่างทางที่ขนดินมามันต้องผ่านโรงพักถึง 3 โรงพักคือ มีนบุรี บางเขน ดอนเมือง ในระหว่างทางผมก็จ่ายค่าธรรมเนียมเขาตลอด แต่ละเดือนก็ 3,000 บาท ผมโดนจ่าคนหนึ่งจับทุกวัน โดนข้อหารถสกปรกบ้าง ไม่มีไฟบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง สารพัดข้อหาที่จะมาจับรถผม

ในที่สุดผมก็ไปหาเขาแล้วบอกว่า นี่จ่า ผมก็ทำตามธรรมเนียมของคุณนะ แล้วจะเอาอะไรอีก คำตอบที่จ่าพูดกับผม แถมเรียกผมผู้การให้ผมเจ็บใจ เขาบอกว่าผมก็ต้องกินนี่ครับ

ในที่สุดนอกจากจะจ่ายรายเดือน (ธรรมเนียม) ผมก็ต้องมาจ่ายให้จราจรวันละ 200-300 เกือบทุกวันจนกระทั่งรับจ้างเสร็จ เมื่อหักค่าใช้จ่ายออกแล้วผมเหลือกำไรอยู่นิดเดียว

หลังจากงานนั้นเสร็จผมก็ไม่มีงานอะไรทำอีก พอดี พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ ที่โดนปลดพร้อมกับผม ท่านก็ไปทำงานบริษัทเกี่ยวกับเรือพ่วงที่ขนพลาสติกจากอยุธยาไปเกาะสีชัง เขาก็ชวนผมไปทำงานด้วย โดยบอกให้ผมไปคุมเรือเพราะแมวน้ำมันเยอะ ในที่สุดผมก็ได้ไปทำที่นั่นโดยเขาจ้างผมเดือนละ 12,000 บาท (ปี พ.ศ.2526)

ในขณะที่ทำงานอยู่ ชีวิตผมมันก็หนีไม่พ้นตำรวจ ในขณะที่เรือแล่นไปเกาะสีชัง ตำรวจน้ำก็จะมาขอตรวจ ในที่สุดก็ต้องจ่ายเขาไปอีก

ผมจึงบอกไงว่า เอ๋…มันอะไรกันนี่ เมืองไทยตำรวจชุดนี้ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้จักผม เขารู้จักแต่ผมก็ต้องจ่าย บอกตรงๆ ผมยังไม่เคยอยู่อย่างเดียวคือไม่เคยโดนรีดไถทางอากาศทางเดียวเท่านั้น

พ.ท.บุญยัง บูชา ดูแลโรงทอผ้าของท่านผู้หญิงวิจิตรา (ธนะรัชต์) ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาคิดกันว่า ถ้าทำอย่างนี้เรื่อยๆ มันไม่ไหว เราต้องหางานทำ ก็พอดีคุณอร่าม กระบวนรัตน์ เขาทำงานเกี่ยวกับน้ำมัน เขาเป็นนายทุน ผมก็มาเริ่มตั้งบริษัทยาม (รปภ.)

ผมไปติดต่อใครต่อใครเขาก็เห็นใจผม ทุกบริษัททุกห้างเขาก็อยากได้พนักงานจากบริษัทผม

พอผมเอาคนเข้ามาฝึกและพร้อมจะส่งพนักงาน รปภ.เข้าไป แต่ปรากฏว่าไม่มีห้าง บริษัทใดรับเพราะเจอคำสั่งห้ามของผู้ใหญ่ในเครื่องแบบสีกากีที่ห้ามรับคนจากบริษัทผม ในที่สุดบริษัทผมก็เจ๊ง”

 

พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี บันทึกไว้ในตอน “ช่วยเพื่อนรักหาเสียง กับชีวิตใหม่ของลูกผู้ชายที่ไม่เคยท้อ” ดังนี้…

“ปี พ.ศ.2529 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ผมก็ไปช่วยหาเสียง ตอนนั้นไม่มีอะไรเลย พอตกกลางคืนก็ไปเก็บฝาเข่งตามตลาดมาทำป้ายช่วยหาเสียง

ก่อนจะลงท่านก็โทร.มาหาผมว่าจะลงผู้ว่าฯ ผมก็ถามว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ จำลองก็บอกว่ามีอยู่ 16,000 บาท ผมถามว่าแล้วมันจะไหวเหรอ ท่านก็บอกไหว ผมก็พูดว่า เอ้าไหวก็ไหว ก็เลยไปช่วยท่านหาเสียง

ตอนแรกก็ไม่มีวี่แววจะได้คะแนน

แต่พอดีทางฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์คือคุณพิชัย รัตตกุล ปราศรัยที่จตุจักร คุณพิชัยขึ้นปราศรัยพร้อมกับพูดว่า คุณจำลองเป็นสินค้าแบกะดิน แค่คำเดียวจริงๆ ที่จำลองได้ เพราะคำพูดเพียงเท่านี้ ปรากฏว่าคนกรุงเทพฯ เขาเทคะแนนให้ พล.ต.จำลอง อย่างมหาศาล ถือว่าเป็นคะแนนสงสาร เพราะคนกรุงเทพฯ ไม่ชอบเรื่องการดูถูกคน

พอ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้เป็นผู้ว่าฯ ในปี พ.ศ.2529 ท่านก็ให้ผมไปเป็นที่ปรึกษา ให้รับผิดชอบ 3 เขตคือ บางเขน ห้วยขวาง และพญาไท เงินเดือน 8,000 บาท”