ภาพยนตร์ นพมาส แววหงส์ / SUBURBICON “แดนสุโข”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

SUBURBICON “แดนสุโข”

กำกับการแสดง George Clooney

นำแสดง Matt Damon, Julianne Moore, Oscar Isaac, Noah Jupe, Gary Basaraba

“ซับเบอร์บิคอน” เป็นชื่อชุมชนชานเมืองที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1947 โดยมีจุดขายคือสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบชวนอยู่อาศัย ถนนหนทางกว้างขวาง บ้านเรือนเป็นระเบียบ สนามหญ้าหน้าบ้านเรียบสวย เพื่อนบ้านเป็นมิตร บริการสาธารณูปโภคและวิถีชีวิตแสนสุขแบบเมืองในฝันของชนชั้นกลาง

ผู้คนย้ายจากรัฐอื่นๆ ทั่วอเมริกาเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนชานเมืองที่มีสภาพแวดล้อมอบอุ่นและน่าอุ่นใจจากย่านเสื่อมโทรมในเมืองใหญ่ที่พัฒนาไปอย่างไร้ทิศทาง

แต่หนังกำลังจะแสดงให้เราเห็นความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมอย่างเหลือเชื่อในจิตใจผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยที่นี่…

เวลาของเรื่องคือปี ค.ศ.1959 กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลัทธิเหยียดผิวและการแบ่งแยกชนผิวดำผิวขาวยังคงเข้มข้นอยู่ในอเมริกา ก่อนหน้าที่ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งเป็นผู้นำและสัญลักษณ์ของการรณรงค์จะโดนสังหารในทศวรรษถัดมา

เพียงเริ่มเรื่องเราก็เห็นประจักษ์ในความคิดฝังหัวเรื่องการแบ่งแยกผิวในชุมชนนี้

บุรุษไปรษณีย์ยังคงดำเนินวิถีชีวิตเก่าๆ โดยขี่จักรยานไปส่งจดหมายแบบเคาะประตูเรียกตามบ้านและส่งให้ถึงมือ

เมื่อเคาะประตูที่บ้านหลังหนึ่งที่ผู้อยู่อาศัยเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ มีหญิงผิวดำมาเปิดรับ บุรุษไปรษณีย์ถามหามิสซิสไมเยอร์ หญิงผู้นั้นตอบว่า “ฉันเองแหละค่ะ” ซึ่งทำให้บุรุษไปรษณีย์ตกตะลึงตาค้าง รีบล่ำลาอย่างละล่ำละลักจนลืมกิจธุระในหน้าที่ ต้องให้เจ้าของบ้านทวงถามถึงจดหมายที่นำมาส่ง

ครอบครัวไมเยอร์ที่ประกอบด้วยพ่อ แม่และลูกชายผิวดำ กำลังจะเป็นประเด็นใหญ่ของความเป็นอริและการขับไล่ให้พ้นไปจากเมืองแสนสุขสมบูรณ์แบบแห่งนี้

เพื่อนร่วมชุมชนชุมนุมกันหาทางขับไล่ ซึ่งเริ่มด้วยการสร้างรั้วไม้สูงในที่ดินข้างเคียงที่ติดกัน เพื่อบดบัง “ทัศนะอุจาด” นี้ไว้ (ซึ่งกลายเป็นทัศนะอุจาดสำหรับชุมชนที่มีบ้านช่องที่มีรั้วโปร่งๆ เตี้ยๆ ที่น่าอบอุ่นใจในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ผู้คนรวมหัวกันแสดงอาการไม่ต้อนรับในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งคิดราคาสูงลิบลิ่วสำหรับข้าวของอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะสำหรับมิสซิสไมเยอร์

ครอบครัวผิวดำนี้ดำเนินนโยบายแบบอหิงสา คือไม่โต้ตอบ ไม่แสดงอาการโกรธแค้น ได้แต่ทำไม่รู้ไม่ชี้ ซึ่งจะพบว่าทำได้ยากขึ้นทุกที เมื่ออีกฝ่ายราวีถึงขั้นยั่วยุและขว้างปาข้าวของใส่ และชุมนุมกันล้อมบ้านเพื่อขับไล่อยู่ทั้งวันทั้งคืน ขนาดต้องมีตำรวจมาอารักขาและควบคุมบริเวณเพื่อพิทักษ์สันติราษฎร์

เรื่องที่เล่ามานี้ไม่ใช่พล็อตหลักของหนัง เป็นเพียงสภาพแวดล้อมและภาพสะท้อนของยุคสมัย ตลอดไปจนถึงความขัดแย้งของภาพลักษณ์ภายนอกกับความเสื่อมโทรมในจิตใจของผู้คน

หนังเดินเรื่องไปพร้อมกับความเป็นไปของครอบครัวลอดจ์ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีรั้วด้านหลังชนกัน

แรกทีเดียวเราเห็นสาวสวยสองคน โรสและมาร์กาเร็ต ซึ่งเป็นพี่น้องฝาแฝด (จูเลียน มอร์ แสดงทั้งสองบท คนหนึ่งผมสีเข้ม อีกคนผมบลอนด์) นั่งเด็ดถั่วเตรียมทำอาหารอยู่บนระเบียงหลังบ้าน โรสแสดงความไม่เหยียดผิวโดยบอกให้ลูกชาย นิกกี้ (โนอาห์ จูเป) ไปชวนลูกชายเพื่อนบ้านผิวดำไปฝึกขว้างลูกเบสบอลกัน

ในคืนนั้นเองก็เกิดเรื่องใหญ่แก่ครอบครัวนี้ ชายสองคนจับตัวคนทั้งบ้าน ซึ่งมีการ์ดเนอร์ (แมตต์ เดมอน) โรส (ภรรยาผมบลอนด์) มาร์กาเร็ต (น้องภรรยาที่มีผมสีเข้ม) และลูกชายนิกกี้มัดไว้ และขู่จะทำร้าย ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ ก่อนจะโปะยาสลบให้ทุกคน แต่ไม่ก่อนที่เราจะได้รู้ว่าโรสเป็นคนพิการเดินไม่ได้เนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่สามีเป็นคนขับ

ทุกคนตื่นขึ้นในโรงพยาบาล และได้รับทราบข่าวร้ายคือ โรสดมคลอโรฟอร์มเกินขนาดจนถึงขั้นเสียชีวิต

เราเห็นงานศพและความเศร้าโศกเสียใจของครอบครัว พร้อมด้วยพี่ชายคนโตของฝาแฝด ชื่อมิตช์ (แกรี่ บาซาราบา) ที่มีฉากชวนฉงนที่แสดงความรักใคร่ห่วงใยกับหลานชายอย่างแปลกๆ และหลังจากนั้นการ์ดเนอร์ก็เริ่มมีอาการปิดกั้นตัวเองจากผู้คนที่แสดงความเสียใจต่อครอบครัว

และมาร์กาเร็ตผู้เป็นน้าย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อดูแลหลานชายที่ตกอยู่ในสภาพช็อกและเศร้าเสียใจต่อการตายของแม่

หนังเดินเรื่องควบคู่กันไปคนละเรื่องและแยกเป็นสองทาง-เรื่องความตายและปริศนาของครอบครัวลอดจ์ และความรุนแรงที่เกิดแก่ครอบครัวไมเยอร์

แต่เรื่องทั้งสองก็โยงกันอยู่เพียงผิวเผิน ไม่ได้ผสานเข้าด้วยกันอย่างจริงจังอย่างที่น่าจะเป็นให้หนักแน่นลงลึก

พี่น้องตระกูลโคเอน คือโจเอลและอีธานผู้โด่งดัง เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้นานพอดู ก่อนที่จอร์จ คลูนีย์ จะนำมากำกับฯ ทั้งสามเป็นคนมีฝีมือในการทำหนัง

แต่ที่เห็นๆ อยู่คือ ทางใครก็ทางใคร

พี่น้องโคเอนทำหนังที่โดนใจคนดูอย่างมากมาหลายเรื่อง Fargo ยังเป็นหนังในดวงใจของผู้เขียนมาตลอดเวลายาวนาน รวมทั้ง No Country for Old Men และ Burn After Reading

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพี่น้องคู่นี้ร่วมงานกันโดยทั้งเขียนบทและกำกับเองแบบคนรู้ใจกันดี จึงสามารถจับแก่นของตัวละครที่ล้วนมีนิสัยพิกลและการกระทำพิลึกได้อยู่หมัด

เรื่องราวอาชญากรรมและช่องโหว่ในนิสัยที่กลายเป็นความผิดพลาดจึงเข้าประเด็นและกระทบใจอย่างจัง เรื่องราวอาชญากรรมตามแบบโคเอนนั้นไม่เคยเป็น “อาชญากรรมสมบูรณ์แบบ” แต่จะขึ้นอยู่กับนิสัยแปลกๆ ของตัวละครอยู่เสมอ

ทว่าด้วยฝีมือกำกับฯ ของคลูนีย์ ทั้งแมตต์ เดมอน และจูเลียน มัวร์ ซึ่งเป็นนักแสดงแนวหน้าฝีมือเยี่ยมทั้งสองคน หนังยังไม่สามารถจับแก่นของตัวละครได้ ตัวละครจึงดูออกจะกลวงและโหวงเหวง ขาดมิติและความน่าขันอันเป็นลักษณะประจำตัวของพี่น้องโคเอน

ฉากที่ใกล้เคียงที่สุด คือตอนที่ผู้ร้ายสองคนคุกคามครอบครัวลอดจ์ เราแทบนั่งไม่ติดที่เพราะไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยประการใด จากลักษณะลมเพลมพัดเอาแน่ไม่ได้ของตัวผู้ร้าย

อีกฉากหนึ่งที่ “เวิร์ก” และบอกลักษณะการเขียนบทของโคเอนได้ดีคือ ฉากที่ตัวแทนประกันชีวิต (ออสการ์ ไอแซ็ก ในบทที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบท “โพ” ใน The Last Jedi ที่เพิ่งได้ดูไปหยกๆ) เข้ามาสอบสวนความไม่ชอบมาพากลของกรมธรรม์ประกันชีวิตของโรส

และตอนจบของหนังก็ไม่น่าเชื่ออย่างยิ่ง สำหรับการพัฒนาตัวละครเด็กชาย ที่กลับคืนสู่สภาพชีวิตปรกติ ทิ้งเรื่องราวและความยุ่งเหยิงใกล้ตัวไว้เบื้องหลังเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแบบนั้น…พอเดาออกละค่ะว่า จอร์จ คลูนีย์ ต้องการเสนอประเด็นนี้-ที่ว่าความรุนแรงของการเหยียดผิวสามารถกลบความรุนแรงของอาชญากรรมแท้ๆ ไปเลย…

แต่ก็ต้องบอกว่า ยังไม่เวิร์กอยู่ดี…

เสียดายจังที่พี่น้องโคเอนไม่ได้กำกับฯ เอง ไม่งั้นหนังน่าจะออกมาดีกว่านี้เยอะ