ดราม่ากันมา 12 ปี ย้ายคน 1 คน ‘นายกรัฐมนตรี’ ตกเก้าอี้

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ทันทีที่มี “ตุลาการภิวัตน์” อุบัติขึ้นในประเทศ บ้านเมืองก็เข้าสู่มุมอับ จากนั้นการเมืองไทยก็วิกฤตสืบเนื่องกันมานานเกือบ 2 ทศวรรษ

สำหรับคนหนุ่มสาวปัจจุบัน ภาพประทับในความทรงจำคือ อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยถูก “ทหารกลุ่มหนึ่ง” ในกองทัพพรากชิงไป 2 ครั้ง

19 กันยายน 2549 กับ 22 พฤษภาคม 2557

ก่อนรัฐประหารทุกครั้งจะต้องสร้าง “เงื่อนไข” เพื่อใช้เป็น “ข้ออ้าง” ให้ความชอบธรรมสำหรับการใช้กำลังทหารและอาวุธเข้าล้มล้าง ทำลายประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย

“ม็อบมีเส้น” หลายคนน่าจะจำคำนี้ได้

 

ตั้งแต่ปี 2548 มีคนจุดไฟ ปล่อยข่าวเท็จ ปลุกปั่น ตั้งใจให้สถานการณ์บ้านเมืองระส่ำแล้วลงมือรัฐประหาร

สมัยก่อน มักอ้างภัยคุกคามจาก “คอมมิวนิสต์” มีการกวาดล้างจับกุมนักเรียน นิสิตนักศึกษา นักวิชาการ ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ที่ช่างวิจารณ์ก่อน พอได้ที่ก็ “ลงมือ”

ต่อมา เมื่อหมดคอมมิวนิสต์ นักรัฐประหารล้มล้าง “ระบอบประชาธิปไตย” กันโจ๋งครึ่ม!

ก่อนรัฐประหาร จะปลุกปั่นสร้างความแตกแยก

“ม็อบมีเส้น” เคลื่อนไหวอย่างมีแบบแผน ประสานกับพลังที่ซ่อนเร้นทั้งในและนอกกองทัพ มี “เป้าหมาย” ร่วมกันคือ ทำลายพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผู้เป็น “เจ้าของ” อำนาจอธิปไตยทุกรูปแบบ

ป้ายสีทุจริตคอร์รัปชั่นแบบเหวี่ยงแห ใส่ร้ายว่าล้มเจ้า ทำลายสถาบันสำคัญของชาติ ก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง ใช้ม็อบชนม็อบ

จบที่ “รัฐประหาร”!

ถึงขนาดที่รัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ พันธมิตรเผด็จการยังออกมาประกาศ “ไม่เอาเลือกตั้ง”

“การเลือกตั้ง” เป็นหนทางเดียวในระบอบประชาธิปไตยที่จะยุติ “ความเห็นต่าง” ทางการเมืองด้วยแนวทาง “สันติวิธี” ทำไม “ม็อบมีเส้น” จึงขัดขวางการเลือกตั้ง

ตรรกะนี้เข้าใจได้ไม่ยาก

จุดมุ่งหมายของขบวนการ “ม็อบมีเส้น” กับ “พลังที่ซ่อนเร้น” ทั้งในและนอกกองทัพคือ ใช้ความรุนแรง ใช้กำลังเข้าแย่งชิง

“อำนาจอธิปไตย” ต้องไม่เป็นของปวงชนชาวไทย!

ถ้า “จะเป็น” ก็ปลอมๆ

 

เกือบ 20 ปีแล้วที่ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลาย

“เสียงข้างน้อย” ที่มาจากการแต่งตั้งกลายเป็น “เสียงสวรรค์” ใช้อำนาจกำหนดชะตากรรมทุกชีวิต

ส่วน “เสียงข้างมาก” ที่ประชาชนโหวตให้ทำหน้าที่บริหารประเทศ กลับพบจุดจบซ้ำๆ ซากๆ เช่น ยุบพรรค นักการเมืองที่เป็นแกนนำถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้นำถูกสอยร่วงจากเก้าอี้ ถูกสั่งห้ามเล่นการเมือง 5 ปี 10 ปี

ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่ แกนนำชุดใหม่ลงเลือกตั้งใหม่ ภายใต้กติกาที่คู่แข่งเขียนขึ้น ก็ชนะเลือกตั้งท่วมท้นทุกครั้ง

แต่ “ม็อบมีเส้น” กับ “พลังที่ซ่อนเร้น” ก็สร้าง “เงื่อนไข” จนกระทั่งนำไปสู่การ “สอย” นายกรัฐมนตรีลงจากเก้าอี้ ยุบพรรค สั่งห้ามเล่นการเมือง ปั่นจนวุ่นวายได้ที่ ทุกที

30 กันยายน 2554 นายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ลงนามคำสั่งย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ “เลขาฯ สมช.” ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ทั้งๆ ที่ทุกรัฐบาลต่างก็ตั้งคนที่รู้ใจเข้าขามานั่งเก้าอี้ “เลขาฯ สมช.” แต่ “ถวิล เปลี่ยนศรี” ก็ไปร้องศาลปกครองสูงสุด

ให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนั้น!

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง “เพิกถอนคำสั่งย้าย” และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม!

คราวนี้กลุ่ม ส.ว.ที่สืบเชื้อสายมาจาก “รัฐประหารปี 2549” ก็ใช้คำสั่งศาลปกครองสูงสุดไปร้อง “ศาลรัฐธรรมนูญ”

ทุกสายเคลื่อนขบวนกันคึกคัก “ม็อบมีเส้น” ไล่บดขยี้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” อีกทาง ด้วยการไปร้อง “ป.ป.ช.”

7 พฤษภาคม 2557 “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติ

ให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ด้วยเหตุผลว่า ใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่ไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย

พร้อมกันนั้น “รัฐมนตรี” ใน ครม.ที่ร่วมลงมติย้ายนายถวิล ก็ให้พ้นจากตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ในทันที

 

15 วันต่อมา

22 พฤษภาคม 2557 คสช.มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าก่อรัฐประหาร ใช้กำลังทหารและอาวุธของกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“เงื่อนไข” และ “ข้ออ้าง” ของรัฐประหารยุคหลังไม่มีคำว่า “คอมมิวนิสต์” แต่ได้ผลิตวาทกรรมใหม่ เช่น ล้มเจ้า แก้ไขรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครอง ทำให้ประชาชนแตกแยก ทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งหลายประการในเวลาต่อมาได้รับการพิสูจน์ว่า มุ่งใส่ร้ายป้ายสี สร้างความเกลียดชังทางการเมือง

ถึงกลางปี 2563 สมัยที่ “ประยุทธ์” ยังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี “ป.ป.ช.” ก็มีมติชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีพร้อมกับส่งสำนวนให้ “อัยการสูงสุด” ฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เป็นศาลยุติธรรม ดำเนินกระบวนการไต่สวนคดีอาญากรณีที่ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” จากตำแหน่ง “เลขาฯ สมช.”

คดีนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกฟ้องว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

12 ปีล่วงผ่านไปท่ามกลางความสับสนและสงสัย จนกลายเป็นตรรกะที่ทุกวงสนทนาการเมืองตั้งปุจฉา

ย้ายผู้ดำรงตำแหน่ง “เลขาฯ สมช.” คนหนึ่ง ทำไม “นายกรัฐมนตรี” ถึงต้องร่วงจากเก้าอี้!?

แถมบรรดา “รัฐมนตรี” ที่ร่วมลงมติเห็นชอบใน ครม.คราวนั้นก็ “ร่วง” จากเก้าอี้รัฐมนตรีกันถ้วนหน้า

ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี…ผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร เป็นหัวหน้าของข้าราชการทั้งปวง ทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เป็นผู้นำพาประเทศทะยานไปเพื่อบรรลุเป้าหมาย ย้ายใครก็ไม่ได้?

26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา “ยกฟ้อง” คดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ย้ายนายถวิล จากตำแหน่ง “เลขาฯ สมช.”

“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อาภัพนัก ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกกำหนดให้เป็น “เป้าทำลาย”

ใช้ยิ่งลักษณ์เป็นทั้ง “เงื่อนไข” และ “ข้ออ้าง” สำหรับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557!?!!!