ไม่ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ไม่มี ‘กองทัพมืออาชีพ’

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ไม่ ‘ปฏิรูปกองทัพ’

ไม่มี ‘กองทัพมืออาชีพ’

 

ถ้าพรรคก้าวไกลจะ “ปฏิรูปกองทัพ” ตามที่เคยประกาศเป็นหนึ่งในนโยบายหลักเอาไว้ บทสนทนาระหว่างคุณ “รังสิมันต์ โรม” ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงฯ ของสภาผู้แทนราษฎร กับผู้นำเหล่าทัพเมื่อเร็วๆ นี้จะชี้ไปในทางนั้นหรือไม่?

หรือท้ายที่สุดจะเป็นแค่การ “พัฒนาร่วมกัน” ตามแนวทางของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำของรัฐบาลวันนี้หรืออย่างไร?

ผมถามคุณ “โรม” ว่าการที่ออกมาแสดงความชื่นชมกับคำสัญญาว่า “กองทัพต้องปรับตัว” ของ ผบ.ทบ. (พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์) และ ผบ.ทหารสูงสุด (พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี) นั้นถือว่าเป็นการ “เห็นพ้องต้องกัน” ว่าจะ “ค่อยทำค่อยไป” หรือไม่

คุณ “โรม” ยืนยันว่ายังรักษาแนวทางการ “ปฏิรูปกองทัพ” อยู่อย่างแน่นอน

“เราไม่ได้ถอยหรือยอมในเรื่องนี้ แต่ผมเห็นแรงขับเคลื่อนจากภายในของกองทัพที่ผมเชื่อว่าเป็นทิศทางที่เราควรจะสนับสนุน” คุณ “โรม” บอก

แต่ยอมรับว่าเป็นการพูดกันด้วยภาษาที่ “ใกล้กันมากขึ้น” ซึ่งอาจจะทำให้ทิศทางที่จะแก้ปัญหาต่างๆ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

 

“โรม” บอกว่ากรรมาธิการของสภามีอำนาจน้อยมากตามรัฐธรรมนูญ

“ถ้าเราไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พูดตรงๆ ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำงานได้…”

ยกตัวอย่างที่กรรมาธิการความมั่นคงฯ ได้รับข้อร้องเรียนจากด่านชายแดนที่มีจำนวนมากเหลือเกินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กรรมาธิการทำหนังสือถึง 5-6 หน่วยงานเพื่อเชิญให้มีชี้แจงพูดคุยโดยมีธงชัดเจนว่าต้องการจะลดด่านชายแดน

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราเชิญปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ท่านกรุณาส่งระดับนายอำเภอมาให้เรา ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในยุคสมัยนี้ ข้าราชการประจำจะให้ความร่วมมือกับเราได้แค่นี้… กอ.รมน. ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเรื่องนี้ เราเชิญไป แต่เขาไม่ส่งใครมาเลย…ซึ่งเป็นเรื่องน่าผิดหวังมากเมื่อเราพยายามจะแก้ปัญหาบ้านเมือง”

พอนั่งลงคุยกับผู้นำเหล่าทัพเรื่องข้อเสนอให้ยุบ กอ.รมน. ก็เป็นที่แน่ชัดว่าฝ่ายทหารไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้

“ผมมองเขาในฐานะเป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่ฝ่ายการเมืองเรามีความมุ่งมั่นหรือ political will ถ้าเราทำจริง ผมเชื่อว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายของการยุบ กอ.รมน. และหากผ่านเป็นกฎหมาย ฝ่ายทหารก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว…”

ในความเห็นของ “โรม” กองทัพไม่ได้กำหนดนโยบาย แต่เป็นฝ่ายให้ข้อมูล เป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่ผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางและนโยบายจริงๆ คือรัฐบาล

พอคุยกันเรื่องจำนวนด่าน ก็มีหนังสือจาก กอ.รมน. แจ้งมาว่าภายในวันที่ 25 มกราคม จะมาคุยเรื่องนี้

“เขาพยายามชี้แจงว่าด่านชายแดนมีประโยชน์อย่างไร แต่เราก็บอกไปว่าอย่างน้อยก็ควรจะลดจำนวนลงหน่อย ให้ประชาชนรู้สึกว่ามีการปรับตัวเกิดขึ้น”

 

กรรมาธิการความมั่นคงฯ จะขอให้ฝ่ายกองทัพมีความชัดเจนมากขึ้นได้หรือไม่ในเรื่องของรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ เช่น เรื่องกรอบเวลา เป็นต้น

“ผมเห็นด้วยครับว่ากองทัพควรจะมีแผนอะไรที่ชัดเจนกว่านี้ แต่ด้วยอำนาจที่เรามีก็ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้มากนัก”

แต่ “โรม” ยืนยันว่าจะติดตามเรื่องราวต่างๆ และเมื่อได้ “สัญญาณบวก” จากผู้นำเหล่าทัพในหลายเรื่องจากการสนทนาในรอบล่าสุดนั้นก็น่าจะนำไปสู่การสามารถทวงถามว่าจะมีกรอบเวลาอย่างไร

เช่น การเกณฑ์ทหาร กองทัพบอกว่าภายในปี 2571 จะไม่มีทหารเกณฑ์แล้ว จะมีแต่ทหารสมัครเข้ามาเอง

ผมถามว่าทำไมต้องรอถึง 5 ปี มีทางที่ทางกรรมาธิการจะขอให้หดสั้นลงกว่านั้นได้หรือไม่

“เราก็อยากเห็นอย่างนั้น แต่เราไม่ได้เป็นผู้บริหารประเทศ เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เสนอแนะ เราก็เสนอแนะไป เพราะแม้จะบอกว่าทหารเกณฑ์จะหมดในปี 2571 แต่ในความเป็นจริงไม่มีอะไรรับรองว่าจะเกิดตามนั้นจริง”

นั่นแปลว่าจะต้องออกเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน

“ถามว่าอำนาจการออกกฎหมายเป็นของกองทัพหรือไม่ ไม่ใช่ อำนาจนี้อยู่ที่รัฐบาลในการเสนอกฎหมายเข้าสภา ผมจึงพูดถึงเรื่อง political will ของฝ่ายบริหาร”

“โรม” ย้ำว่า “ถามว่าเราคาดคั้นไหม, เราตอแยไหม, เราทวงถามไหม ยืนยันว่าเราดำเนินการอย่างนั้นแน่นอน…”

การรณรงค์ให้คนมาสมัครเป็นทหารมากขึ้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การปรับเปลี่ยนกติกาและสร้างแรงจูงใจในการเป็นทหารสำคัญกว่า

อีกทั้งต้องมีการตั้งคำถามว่าจำนวนทหารที่ต้องการนั้นจำเป็นต้องมีมากถึงใกล้ๆ แสนอย่างที่อยู่ในแผนของกองทัพวันนี้หรือไม่

 

นั่นคือข้อสรุปบางประเด็นที่ “โรม” บอกว่าได้พูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพในรอบแรกที่เขาเชื่อว่าจะยังจะมีการสนทนาเช่นนี้ต่อเนื่อง

แต่ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของกรรมาธิการความมั่นคงฯ ที่จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนของตนเองว่าคำว่า “กองทัพมืออาชีพ” นั้นเป็นเช่นไร

ท้ายที่สุด ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล การ “ปฏิรูปกองทัพ” จะต้องเกิดขึ้นหากเราจะยกระดับคุณภาพการเมืองและการทหารที่ต้องเดินเคียงคู่ไปกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจกับนานาชาติ

การปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพสมัยใหม่และเป็นมืออาชีพเป็นงานที่ซับซ้อนและหลากหลายแง่มุม

น่าเชื่อได้ว่าแม้แต่คนในกองทัพที่ต้องการจะเรียกฟื้นคืนศักดิ์ศรีแห่งการเป็น “กองทัพมืออาชีพในยุคใหม่” ก็คงมีแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล

อันหมายถึงการเริ่มต้นด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของกองทัพ

ที่จะสอดคล้องกับบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ร่วมสมัย

นั่นหมายถึงการจัดภารกิจของกองทัพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่กว้างขึ้น

โดยให้กองทัพอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และการปฏิบัติตามหลักการประชาธิปไตย

อีกทั้งต้องสร้างกรอบกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อควบคุมการดำเนินการเพื่อไม่ให้นายทหารบางคนเข้าแทรกแซงการเมือง

หรือไม่ให้นักการเมืองเข้ามาหาประโยชน์จากการเข้ามาก้าวกายกิจกรรมของกองทัพอาชีพ

 

แต่การจะสร้าง “ทหารมืออาชีพ” นั้นหมายถึงการลงทุนในการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ของบุคลากรทางทหาร

ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การปรับตัว และนวัตกรรมภายในกองทัพ

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ระบบการส่งเสริมคุณธรรมด้วยการสร้างวัฒนธรรมี่ยึดเอาความเป็นเลิศในความเป็นมืออาชีพ ลด, ละ, เลิกการวิ่งเต้นและระบบอุปถัมภ์

และต้องปรับปรุงกระบวนการสรรหาบุคลากรเพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือการลงทุนในอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัยและขั้นสูง

พัฒนากลยุทธ์การจัดซื้อจัดจ้างระยะยาวที่มุ่งเน้นการได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน

เสริมด้วยการฝึกซ้อมตามความเป็นจริงและสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความพร้อมและการทำงานร่วมกันของกองทัพ

ส่งเสริมการฝึกร่วมกันระหว่างกองทัพสาขาต่างๆ และกับพันธมิตรระหว่างประเทศ

ที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาดคือการสร้างความพร้อมสำหรับสงครามความปลอดภัยทางไซเบอร์และสารสนเทศ

อีกมิติหนึ่งที่สำคัญคือความร่วมมือระหว่างประเทศและการฝึกซ้อมร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด

การจัดสรรงบประมาณคือหัวใจของการปฏิรูปที่แท้จริง

นั่นหมายถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ที่รับรองความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณทางทหาร

ที่พลาดไม่ได้คือการส่งเสริมวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญต่อจริยธรรม วินัย การเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม

แก้ไขและขจัดอุปสรรคทางวัฒนธรรมใดๆ ที่อาจขัดขวางประสิทธิภาพและความเป็นมืออาชีพของกองทัพ

 

ที่เป็นปัจจัยสำคัญอีกด้านหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของประชาชน

ยกเลิกความคิดอันเป็นที่มาของ “เขตทหารห้ามเข้า”

สร้างความไว้วางใจและความเข้าใจระหว่างกองทัพและประชาชนทั่วไป

การ “บริหารความเสี่ยง” เป็นศิลป์และศาสตร์ที่จะต้องสร้างขึ้นเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อระบุและบรรเทาภัยคุกคามและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น

จัดทำแผนฉุกเฉินสำหรับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความพร้อม

จบลงด้วยการทำทุกอย่างด้วยเป้าหมายร่วมกันของคนในชาติอย่างจริงใจและจริงจัง

นั่นคือจะยุติวงจรอุบาทว์แห่ง “รัฐประหาร” ที่หลอกหลอนประเทศไทยมาตลอด!