นักบุญแห่งอินเดีย : อธิบายขยายความ (3)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
สวามีวิเวกานันทะ

นักบุญกลุ่มที่สามคือนักบุญผู้เป็นนักรหัสยนิยม (Mystic) ซึ่งหมายถึงผู้มีประสบการณ์ทางจิตวิญญานที่เร้นลับ เช่น เข้าถึงภาวะที่พ้นไปจากโลกแห่งผัสสะ สู่สัมปชัญญะ (consciousness) อีกระดับหนึ่ง ซึ่งอาจหมายถึงการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าหรือสภาวะสูงสุด ท่านเหล่านี้มักเป็นผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาหรือมีวิถีชีวิตที่ต่างจากคนทั่วไป

ขณะเดียวกัน การประสบกับภาวะดังกล่าวก็ยากที่จะอธิบายให้ผู้อื่นรับรู้ จึงทำให้นักบุญเหล่านี้เลือกบรรยายประสบการณ์ด้วยบทกวีหรือเพลงที่มีลักษณะเป็นอุปมาเปรียบเทียบที่ต้องอาศัยการตีความ

บางครั้งประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ท่านละเลยสิ่งที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคม เช่น เปลือยกายในที่สาธารณะ หรือประพฤติตนแปลกๆ

ดังกรณีนักบุญศรีรามกฤษณะปรมหงส์ ผู้มักเห็นพระเจ้าในสภาพการณ์ต่างๆ ท่านจึงกล่าวถึงถึงสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็น ไม่ได้รับรู้หรือเข้าใจ

บางครั้งท่านก็บูชาอวัยวะเพศของตนเองในฐานะพระศิวลึงค์ หรือเปลือยกายขณะทำพิธีบูชา เพราะไม่ต้องการที่จะนำเอา “สิ่งสมมุติทางโลก” ติดไปขณะมีประสบการณ์ต่อพระเจ้า

นักบุญหญิงลัลลาเดินเปลือยกายเข้าไปในตลาด ส่วนท่านคชานันมหาราชก็เก็บเศษอาหารเหลือเดนมากิน เป็นต้น

นักรหัสยนิยมพาเราไปสู่ขอบเหวระหว่าง “ความปกติ” กับ “ความบ้า” เราอาจตัดสินจากพฤติกรรมว่าท่านไม่ปกติ เป็นบ้า อย่างน้อยๆ ก็เพี้ยนหลุดโลก

หรือหากมองจากมุมมองทางการแพทย์ในปัจจุบัน คนพวกนี้อาจเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชบางอย่างที่ควรต้องได้รับการรักษา

ภควันรามนะมหาฤษี

ทว่า ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนในสายตาของท่าน พวกเราทุกคนต่างหากที่เป็นคนบ้า เราพากันยึดติดสมมุติทั้งหลายที่เราก่อขึ้นมาเป็นกำแพงคุมขังตนเองและผู้อื่น กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ขนบจารีตของสังคม บรรทัดฐานของความดีชั่ว ชนชั้นวรรณะ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เราเคยคิดว่ามันจะนำเราไปสู่ความสูงส่งทางจิตใจและอารยธรรม แต่เมื่อมันกลายเป็นกฎเหล็กอันปราศจากเนื้อหาสาระ เราก็ยิ่งห่างไกลจาก “อิสรภาพ” ซึ่งเป็นกุญแจดอกแรกที่จะไขเราไปสู่พระเจ้าหรือสัจธรรม

วิถีแห่งปรัชญาอินเดียเชื่อว่า พระเจ้าหรือสัจธรรมอยู่เหนือพ้นตรรกะเหตุผลทั้งปวง ดังนั้น จึงไม่แปลกหากมีใครประสบต่อสิ่งที่พ้นไปจากตรรกะเพียงครั้งเดียวแล้ว ชีวิตจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

ทั้งนี้ มิได้แปลว่าผู้บรรลุสัจธรรมหรือเข้าถึงพระเจ้าจะต้องพากันฉีกขนบทางสังคมไปเสียทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของประสบการณ์นั้นๆ รวมทั้ง “การเลือก” ของคนคนนั้นด้วย

ภควันรามนะมหาฤษีเลือกการนุ่งผ้าเตี่ยว (เกาปิน) ผืนเล็กๆ ผืนเดียวแทนที่จะเปลือยกาย แม้ผ้านี้จะเป็นอาภรณ์นักบวชตามขนบแต่ก็มิใช่สิ่งที่ปฏิบัติกันเคร่งครัดนัก และตัวรามนะมหาฤษีเองก็ไม่ได้บวชกับใครในสำนักไหนเลย

เป็นไปได้ว่าเพราะนี่อาจเป็นสิ่งที่พอจะประนีประนอมกับขนบทางสังคมในเรื่องการเปลือยกายได้มากที่สุดแล้ว แม้รามนะมหาฤษีเองจะบรรลุสัจธรรมโดยเห็นทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นเพียงสมมุติหรือมายาก็ตาม

คชานันมหาราช

บางครั้ง ความบ้าหรือพฤติกรรมแปลกๆ ก็อาจเป็น “อุบาย” สำหรับชักชวนให้เกิดความสนใจใคร่รู้ ยิ่งไปกว่านั้นอาจกระตุ้นเร้าให้ตั้งคำถามทบทวนสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น เพื่อในที่สุดจะสามารถกะเทาะเปลือกห่อหุ้มทางศีลธรรมหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ในใจออกไป

คชานันมหาราชก้มหยิบเศษอาหารที่เหลือติดจากใบตองซึ่งเขาโยนทิ้งไว้ข้างทางมากิน

ชายสองคนผู้ผ่านมาเห็น “คนบ้า” และพฤติกรรมประหลาดเช่นนี้ จึงเมตตาสงสงสารอยากนำอาหารดีๆ มาให้เขาแทน

ทว่า คนบ้าที่เขาเห็นนั้นกลับเอ่ยประโยคสันสกฤตสั้นๆ ว่า “อาหารคือพระเจ้าหรือพรหมันอันสูงสุด” (อันนัม พรหมัน) ซึ่งทำให้เกิดความสับสนงงงวยเป็นอย่างมาก ว่าเหตุไฉนคนบ้าจรจัดที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า กลับพูดคำสอนจากอุปนิษัทได้ จนนำไปสู่การเรียนรู้คำสอนจากท่านในที่สุด

ประวัติของนักบุญทำให้เส้นแบ่งระหว่างความบ้ากับความเป็นปกติพร่าเลือน เราไม่รู้จริงๆ ว่านักบุญแค่แสดงตนว่าบ้าเพื่อเป็นกลอุบาย หรือท่านกำลังอยู่ในสภาวะบางอย่างที่พ้นไปจากคำอธิบาย หรือท่านบ้าจริงๆ ตามนิยามที่เราเข้าใจ

แต่กระนั้นความบ้าคืออะไรกันแน่

 

ประสบการณ์ทางศาสนาจำนวนมากดูใกล้เคียงสิ่งที่เรียกว่าความบ้า การเห็นพระเจ้า เห็นทวยเทพ เห็นภาพต่างๆ ที่ผู้อื่นไม่เห็น แว่วเสียงที่ได้ยินเฉพาะตน พระเวทของฮินดูเองก็เกิดขึ้นจากประสบการณ์เหล่านี้ ฤษีในยุคโบราณแว่วเสียงสวด “ศรุติ” ซึ่งเชื่อว่าได้ยินจากพระเจ้าโดยตรง ความงามทั้งลีลาและความหมายของพระเวทช่างยากเหลือเกินที่จะเชื่อว่าเกิดขึ้นจากความป่วยไข้หรือเป็นเพียงเสียงหลอนหู

นารายณ์ เทสาอีผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เพื่อนฉันคานธี” ผู้มีบิดาเป็นเลาขานุการของมหาตมะคานธี (ท่านมหาเทพ เทสาอี) เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองในวัยเด็กเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดมหาตมะและผู้คนในอาศรมเสวาครามที่มหาตมะคานธีตั้งขึ้น หนึ่งในนั้นคือคุณลุงพันสะลี ชายซื่อๆ ไร้ชื่อเสียงคนหนึ่งที่เคยอดอาหารประท้วงจนสั่นคลอนรัฐบาลอังกฤษมาได้

นารายณ์มักเล่าถึงพฤติกรรมแปลกๆ ของพันสะลี เช่น ทดลองอดอาหารและกินอาหารเพียงชนิดเดียวเป็นเวลานานๆ ครั้นจะถือพรตปิดวาจาก็ไปจ้างช่างเหล็กทำลวดมาเย็บปากตนเองจนท่านมหาตมาต้องขอให้เอาออก ฯลฯ

กลางดึกคืนหนึ่ง พันสะลีตะโกนกู่ร้องด้วยน้ำตานองหน้าว่า ตนเองได้พบกับพระเจ้าที่ท่านแสวงหามาตลอดชีวิตแล้ว ทั้งมหาเทพและคานธีเชื่อว่าพันสะลีได้มีประสบการณ์นั้นจริงๆ นารายณ์นิยามว่าคุณลุงพันสะลีว่า “กึ่งบ้ากึ่งศักดิ์สิทธิ์”

ความบ้ากับความศักดิ์สิทธิ์มาบรรจบกันในอินเดีย อันที่จริงบรรจบกันในวิถีของเหล่านักรหัสยนิยมทั้งโลกนี้ วัฒนธรรมโบราณมองความบ้าด้วยสายตาอันหลากหลาย ทั้งเป็นเรื่องความเจ็บป่วย ทั้งเป็นสภาวะพิเศษที่ส่อแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง ความเปิดกว้างของจิตและศัยภาพของจิตที่ถูกซ่อนเร้นไว้ซึ่งมักถูกผูกโยงกับประสบการณ์เหนือสามัญ

เรามิได้พยายามจะโรแมนติกไซส์ความบ้า ทว่า เราคงต้องกลับมาตั้งคำถามถึงมุมมองที่เรามีต่อเรื่องนี้กันอีกครั้ง ว่ามุมมองที่เรามีอยู่ตอนนี้คับแคบเกินไปหรือไม่

ความก้ำกึ่งเช่นนี้ได้สร้างพื้นที่ของความสัมพันธ์ที่พิเศษ คนปกติก็อาจกลายเป็นศิษย์ของคนบ้า คำพูดลอยๆ ของคนบ้าก็อาจเปลี่ยนชีวิตของคนปกติอีกคน คนบ้าอาจกลายเป็นผู้ทรงปัญญามากกว่าปราชญ์ผู้คงแก่เรียน และการดูถูกคนบ้าจะกลับกลายมาเป็นหอกทิ่มแทงอหังการของตนเอง

 

นักบุญกลุ่มที่สี่คือนักบุญร่วมสมัย ท่านเหล่านี้มีชีวิตใกล้เคียงกับยุคสมัยของเรา บางท่านเพิ่งจากไปไม่กี่สิบปีเท่านั้น นักบุญเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป บทบาทของความเป็นตะวันตกและความเป็นสมัยใหม่ คริสตศาสนาและเทคโนโลยี

แต่กระนั้นคำถามก็ยังคงเป็นคำถามเดิมว่า ความจริงสูงสุดคืออะไรและเราจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีไหน

สถาบันทางศาสนาตามจารีตมีบทบาทลดลง ความเป็นนักบุญจึงเคลื่อนย้ายจากนักบวชมาสู่คนสามัญคล้ายคลึงกับสมัยกลาง ทว่า แตกต่างตรงที่นักบุญในยุคนี้อาจไม่ได้เสนอเฉพาะแนวคิดภักติ บางท่านมีประสบการณ์ตรงทางศาสนาที่เชื่อมโยงกับคำสอนแบบอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เวทานตะ” และเน้นการแบ่งปันประสบการณ์นั้น

เนื่องจากคำสอนของนักบุญร่วมสมัยตั้งอยู่บนประสบการณ์ตรง ภาษาที่ใช้จึงมักเป็นภาษาอีกแบบ ง่ายๆ และมักเป็นบันทึกการสนทนา บทเพลงหรือกวีมีน้อยกว่า อีกทั้งการหลั่งไหลมาของชาวตะวันตกนักแสวงหา ทำให้คำสอนของนักบุญเหล่านี้ดูจะมีความ “สากล” มากไปกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ เพื่อจะสามารถเชื่อมโยงกับคนเหล่านั้นได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก คือการท้าทายต่อระบบชนชั้นวรรณะและประเพณีอันโบราณไร้เหตุผล ซึ่งแม้อาจไม่เข้มข้นมากเท่าสมัยกลางก็ตามแต่ยังคงเป็นเรื่องสำคัญอยู่

สวามีวิเวกานันทะ

นอกจากนี้ ดูเหมือนว่ามิติทางการเมืองและสังคมจะมีความสำคัญมากขึ้น คาฑเคบาบา (Gadge baba) ต้องการจะปฏิรูปสังคมให้เสมอภาคและล้มเลิกประเพณีของการไม่แตะต้องตัวของผู้อยู่ในวรรณะต่ำ อีกสิ่งที่ท่านรณรงค์คือการทำให้ชุมชนสะอาดและมีสุขอนามัย ท่านมักจะเดินกวาดถนนเองในที่ที่จะไปเทศน์สอน เพื่อให้ทุกคนทำตาม

นักบุญบางท่านนำเอาคำสอนของฮินดูไปสู่สากล ในแง่หนึ่งก็เพื่อทำให้เจ้าอาณานิคมและโลกเห็นว่า ศาสนาฮินดูมิใช่ศาสนางมงายไร้เหตุผลแต่มีคำสอนสูงส่ง สวามีวิเวกานันทะ (Swami Vivekananda) เป็นผู้รับบทบาทสำคัญในแง่นี้ ด้วยการศึกษาและภาษาที่ดีเยี่ยม ท่านนำศาสนาฮินดูไปสู่ตะวันตก และมีอิทธิพลอย่างมากมายในยุคนั้น

วิถีของนักบุญร่วมสมัยสอดรับไปกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของอินเดีย ยุคอาณานิคมเป็นอย่างหนึ่ง หลังอาณานิคมเป็นอีกอย่างหนึ่ง กระแสความเป็นชาตินิยมได้เข้ามาเป็นส่วนประกอบในวิถีนี้ด้วย ทุกวันนี้นักบุญยังคงมีอยู่อย่างมากมายในอินเดีย ซึ่งมาพร้อมกับกระแสชาตินิยมและฮินดูนิยม

ทว่า คำว่า “นักบุญ” ดูเหมือนจะถูกใช้กันอย่างง่ายดายขึ้น และหลายครั้งก็ชวนให้สงสัยถึงจิตวิญญานของคำคำนี้

หรือที่จริงคือชวนให้สงสัยต่อผู้ใช้คำคำนี้มากกว่า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง