ปรากฏการณ์ ‘อีวี’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ปรากฏการณ์คนไทยแห่ซื้อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรืออีวี (electric vehicle) อย่างถล่มทลาย ทำให้เห็นแนวโน้มกระแสนิยมใช้อีวีมาแรงแซงหน้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้นเรื่อยๆ

จะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่ยุคของพลังงานสะอาดเร็วขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

ยอดจดทะเบียนรถอีวีใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีมากถึง 8,982 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.15 เปอร์เซ็นต์ของรถใหม่ เป็นอีวีที่ผลิตจากจีนเป็นส่วนใหญ่

เมื่อดูสถิติการจดทะเบียนตลอดช่วง 11 เดือน ตั้งแต่มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ปรากฏว่ามีคนยื่นขอจดทะเบียนอีวีมากถึง 67,056 คัน เทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 8,483 คัน หรือ 7.9 เท่า

คุณลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง คุยว่านี่เป็นผลสำเร็จจากการกระตุ้นนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งจากการผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โครงการผลิตชิ้นส่วนและสถานีชาร์จแบตเตอรี่กว่า 6 หมื่นล้านบาท

 

กระแสความนิยม “อีวี” แผ่ไปทั่วโลกมาหลายปีโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ยอดขายอีวีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

อย่างเช่น มาร์เก็ตแชร์ของอีวีในตลาดรถยนต์เยอรมนี 31 เปอร์เซ็นต์ เนเธอร์แลนด์ 35 เปอร์เซ็นต์ ฟินแลนด์ 38 เปอร์เซ็นต์ เดนมาร์ก 39 เปอร์เซ็นต์ สวีเดนทะลุขึ้นไปถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ไอซ์แลนด์ 70 เปอร์เซ็นต์ และนอร์เวย์สูงสุด 88 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่คนหันมาใช้ “อีวี” มีทั้งเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเห็นว่าการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และมาจากการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานสะอาดของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก

รัฐบาลนอร์เวย์วางนโยบายพลังงานสะอาดและมุ่งส่งเสริม “อีวี” มากว่า 30 ปี ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ประกาศยกเว้นภาษีให้กับผู้ใช้อีวี แถมยังลดราคาค่าผ่านทาง ค่าจอด 50 เปอร์เซ็นต์ นโยบายของนอร์เวย์จึงเป็นแรงผลักดันให้กระแสความนิยมอีวีไปไกลกว่าประเทศใดๆ ในโลก

ส่วนไอซ์แลนด์ไม่น้อยหน้า มีการลดภาษียกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ใช้อีวีเป็นเวลา 5 ปีเต็ม รัฐบาลสวีเดนส่งเสริมการใช้อีวีมาไม่น้อยกว่า 30 ปี ด้วยการลดภาษี สนับสนุนเงินให้กับเอกชนติดตั้งแท่นชาร์จแบตเตอรี่

รัฐบาลเดนมาร์กหนุนคนซื้ออีวีมาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการลดภาษี ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน และเอกชนที่สร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่จะมีส่วนลดหย่อนภาษี เช่นเดียวกับฟินแลนด์ ลดภาษี ค่าธรรมเนียมผ่านทาง และสนับสนุนเงินให้กับผู้ติดตั้งแท่นชาร์จแบตเตอรี่เป็นสัดส่วน 35 เปอร์เซ็นต์

ด้านรัฐบาลเยอรมันใช้เงินงบประมาณกว่า 600 ล้านยูโรช่วยสนับสนุนการซื้อรถอีวี 3 แสนคัน และแจกเงินโบนัสให้กับผู้ซื้อรถอีวีคันใหม่ 4,000 ยูโร

 

ที่น่าสนใจก็คือรัฐบาลจีนมองการณ์ไกลมาตั้งแต่ปี 2552 ด้วยการสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ผลิตรถอีวี ในหลากหลายประเภท ตั้งแต่รถบัส รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์ ทำให้รถจีนมีราคาถูก

ขณะที่การออกแบบของรถแต่ละรุ่นมีความโฉบเฉี่ยว สวยงามไม่แพ้รถจากสหรัฐ ยุโรป ประกอบกับเทคโนโลยีภายในรถยนต์ซึ่งทันสมัยมาก

อีวีของจีนจึงผงาดเป็นผู้ผลิตอีวีรายใหญ่และมียอดขายเมื่อเดือนกันยายนปี 2566 สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

เฉพาะสัดส่วนยอดขายรถอีวีในจีนเอง ทะลุไปถึง 29 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถทั้งประเทศ

ผมเพิ่งไปจีนเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เห็นรถอีวีทั้งเป็นรถยนต์ รถบัส มอเตอร์ไซค์วิ่งเกลื่อนเมือง อย่างในมหานครเซี่ยงไฮ้ มีแท่นชาร์จแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ได้รับการออกแบบให้ดูสวยงามกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและชาร์จได้เร็วขึ้นติดตั้งอยู่ทั่วไป (ดูในรูปประกอบ)

 

หันมามองเมืองไทย เวลานี้รัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน วางเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีในภูมิภาคอาเซียน

เริ่มจากปี 2567 ไปถึงปี 2570 จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และจะผลิตรถอีวีให้ได้ 725,000 คัน รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 675,000 คัน ภายในปี 2573

ในภาพรวมตลาด “อีวี” ทั้งโลก คาดว่าปี 2566 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ มียอดขายมากกว่า 14 ล้านคัน โตขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเทียบกับปี 2565 ยอดขายโตกว่า 39 เปอร์เซ็นต์

แนวโน้มทิศทางตลาดรถยนต์ของโลกจึงเปลี่ยนโฉมไปมาก ประเมินกันว่า ใน 5 คนที่ต้องการซื้อรถยนต์คันใหม่ จะมีอย่างน้อยๆ 1 คนตัดสินใจเลือกซื้ออีวี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดภายในปี 2573 รถอีวีจะยึดครองตลาดรถยนต์ของโลกแซงหน้ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และจะมียอดขายมากกว่า 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

 

แต่ใช่ว่า อนาคตของ “อีวี” จะสดใสซาบซ่าเสียทีเดียว เพราะมีปัญหาคาใจรถอีวีในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ที่ใช้เวลาชาร์จนาน ระยะทางวิ่งสั้น กินไฟ น้ำหนักแบตเตอรี่และราคาที่แพง

รวมไปถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อม เมื่ออีวีกลายเป็นซากจะทำอย่างไรจึงสามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆ ของโลกกำลังขบคิดปัญหาที่ว่านี้อยู่ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเรียกว่า “โซลิด สเตต เทคโนโลยี” (solid state techonology) คาดว่าเป็นแบตเตอรี่ในอนาคตอันใกล้ที่จะนำมาทดแทนแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่ติดตั้งในรถอีวีปัจจุบัน

โซลิด สเตต แบตเตอรี่ ได้รับการทดสอบเบื้องต้นแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการชาร์จสูงกว่าแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ขนาดเล็กกว่า เบากว่า และให้พลังงานแรงกว่าอีกทั้งปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดประกายไฟเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน

ความแตกต่างระหว่างแบตเตอรี่โซลิด สเตตและแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนคือ ส่วนประกอบที่เรียกว่า อิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) ในแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน อิเล็กโทรไลต์เป็นของเหลวเหนียวเหนอะหนะ

หากแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนถูกกระแทกแรงๆ อิเล็กโทรไลต์เหลวจะแตกไหลออกมาและเกิดไฟลุกไหม้

ต่างกับแบตเตอรี่โซลิด สเตต ที่มีอิเล็กโทรไลต์เป็นของแข็ง อิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของแข็งนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้แบตเตอรี่โซลิด สเตตอาจปลอดภัยกว่าแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน

 

ผู้ผลิตโซลิด สเตตแบตเตอรี่ มั่นใจว่าการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ผลิตแบตเตอรี่รุ่นใหม่ จะทำให้รถอีวีราคาถูกลง ปลอดภัยมากขึ้น

ขณะที่กระบวนการผลิตใช้วัตถุดิบ “ลิเธียม” (Lithium) ซึ่งอยู่ในกลุ่มโลหะอัลคาไลน้อยลงกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตโซลิด สเตตแบตเตอรี่ยังมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน เนื่องจากใช้พลังงานน้อยลง ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศลดลงไปด้วย

แต่กระนั้นก็มีผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนบางรายเห็นช่องทางการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดนี้ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ชาร์จได้เร็ว วิ่งได้ไกล มีความปลอดภัยมากขึ้น และราคาถูกลง

“แบตเตอรี่” คือหัวใจสำคัญของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผู้ผลิตรายใดสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน หรือโซลิด สเตตแบตเตอรี่ ให้มีคุณภาพเยี่ยมราคาถูกลงได้ ผู้ผลิตรายนั้นจะยึดครองชิ้นส่วนสำคัญที่สุดในอาณาจักร “อีวี” ของโลกอย่างแน่นอน

สวัสดีปีใหม่ครับ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]