มหิธรปุระ ของ ‘Golden Boy’ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มาจากไหน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

การที่มีคนเสนอว่า ประติมากรรมชิ้นหนึ่ง ที่ทาง The Metropolitan Museum of Art หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า The MET ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมอบคืนให้กับประเทศไทย อาจจะเป็นรูปฉลองพระองค์ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” แห่งราชวงศ์ “มหิธรปุระ” นั้น

ได้ทำให้เกิดกระแสความสนใจมากกว่าการส่งมอบคืนโบราณวัตถุ ที่ได้ถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยโดยทั่วไปอยู่มากพอสมควร

ยิ่งเมื่อประติมากรรมชิ้นนี้ รู้จักกันทั้งในหมู่ผู้สนใจในประวัติศาสตร์-โบราณคดี และนักสะสมโบราณวัตถุทั่วโลก ในชื่อเรียกอย่างลำลองว่า “Golden Boy” เพราะประติมากรรมชิ้นนี้หล่อขึ้นจากสำริด และกะไหล่ทอง จนทำให้ตัวประติมากรรมมีความโดดเด่นด้วยความสวยงามของเนื้อโลหะเป็นพิเศษ จนถูกเรียกด้วยชื่อดังกล่าว

ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมวงกว้างมากขึ้นไปใหญ่

แต่ว่า “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” คือใคร? และอะไรคือสิ่งที่เรียกกันว่า ราชวงศ์ “มหิธรปุระ” กันล่ะครับ? ทำไมพระองค์จึงได้สำคัญนัก จนถึงกับมีการสร้างรูปประติมากรรมฉลองพระองค์อย่างหรูหรางดงามด้วยโลหะมีค่าขนาดนี้?

 

กล่าวโดยสรุป ราชวงศ์ “มหิธรปุระ” นั้น ถือเป็นราชวงศ์ที่สำคัญอย่างใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ทั้งภูมิภาค และรวมไปถึงประวัติศาสตร์โลกด้วย

เพราะเป็นราชวงศ์ที่รุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์เขมรโบราณ โดยได้สร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เขมรโบราณ

ซ้ำยังได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่าง “ปราสาทนครวัด” ที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้เป็นหลานแท้ๆ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 กษัตริย์พระองค์เดียวกันกับมีผู้สันนิษฐานว่าคือประติมากรรม Golden Boy นั่นแหละ

นอกจากนี้ ยังเป็นมหิธรปุระยังเป็นราชวงศ์ที่สถาปนา “เมืองนครธม” (หรือพระนครหลวง ในโลกภาษาไทย) โดยกษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองที่ว่านี้ขึ้นมาก็คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หน่อเนื้อเชื้อไขพระองค์สำคัญในราชวงศ์มหิธรปุระอีกคนหนึ่ง

ที่สำคัญก็คือ เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์เขมรโบราณว่า รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น เป็นยุคสมัยที่วัฒนธรรมเขมรโบราณเรืองอำนาจมากที่สุดเลยทีเดียว

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า จากข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ก็จะเห็นได้ว่า มหิธรปุระนี้เป็นราชวงศ์สำคัญ ที่ได้สร้างทั้งปราสาท และเมืองที่ใหญ่โตที่สุด เท่าที่วัฒนธรรมเขมรเคยมีมา และพอจะกล่าวได้ว่า เป็นราชวงศ์ที่ทำให้วัฒนธรรมเขมรโบราณรุ่งเรืองมากที่สุดเหนือกว่าราชวงศ์ใดๆ ที่มีมาก่อน

 

สําหรับชื่อราชวงศ์ที่เรียกกันว่า “มหิธรปุระ” นั้น โดยปกติแล้วควรเป็นชื่อของเมือง เพราะคำว่า “ปุระ” แปลตรงตัวว่า “เมือง” ดังนั้น จึงไม่ควรจะเป็นชื่อที่แท้จริงของราชวงศ์ดังกล่าว

แต่ที่เรียกชื่อราชวงศ์นี้ว่า “มหิธรปุระ” นั้น เป็นเพราะว่าเรียกตามข้อมูลในจารึกต่างๆ ที่ก็ล้วนแล้วแต่ระบุว่า ราชวงศ์ที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับเมืองมหิธรปุระ

โดยเฉพาะจารึกปราสาทตาพรหม ซึ่งสร้างขึ้นโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระบุศักราชตรงกับปี พ.ศ.1729 ที่อ้างว่า ราชวงศ์ดังกล่าวมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่เมืองมหิธรปุระ

จึงมักจะเรียกชื่อราชวงศ์นี้ว่า มหิธรปุระ ตามถิ่นฐานดั้งเดิมของราชวงศ์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานที่จะช่วยให้ระบุอย่างแน่ชัดลงไปเลยว่า ดินแดนที่เรียกว่า “มหิธรปุระ” นั้นตั้งอยู่ที่ไหนแน่หรอกนะครับ

แต่จารึกหลายหลักนั้นระบุตรงกันว่า อยู่ทางทิศเหนือของเมืองพระนครขึ้นไป

ทำให้นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำมูล ในภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน

แต่ถ้าจะว่ากันตามหลักฐานศิลาจารึกหลักเก่าที่สุดที่เอ่ยถึงพระนามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งเป็นกษัตริย์สายเลือดมหิธรปุระที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พอจะมีหลักฐานจับต้องได้อย่างชัดเจนนั้น ก็คือจารึกพบที่ปราสาทพนมวัน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา

ระบุศักราชตรงกับเรือน พ.ศ.1625 ซึ่งก็ตั้งอยู่ไม่ห่างจากปราสาทหินพิมายนัก ซึ่งก็ทำให้นักวิชาการผู้สนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมเขมรโบราณส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบเมืองพิมาย

นอกจากนี้ ยังควรสังเกตด้วยว่า ปราสาทพิมายนั้นสร้างขึ้นในพุทธศาสนาแบบมหายาน และก็มีหลักฐานด้วยว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นั้นทรงนับถือพุทธศาสนามหายานด้วยเช่นกัน

จารึกเขมรโบราณหลายหลักแสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินขนาดใหญ่หลายหลังในเขต จ.นครราชสีมา และ จ.พนมรุ้ง โดยเฉพาะปราสาทพนมวัน และปราสาทพนมรุ้ง ก็สร้างขึ้นในอำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระนี่เอง ดังนั้น จึงอาจจะเห็นได้ถึงเครือข่ายอำนาจของราชวงศ์ดังกล่าวที่กระจายอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำมูลอย่างชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม สารานุกรมที่ว่าด้วยการอ่าน และแปลจารึกเขมรโบราณ ที่ชื่อว่า “Inscriptions Du Cambodge” ขนาด 8 เล่มจบ ของนักอ่านจารึกระดับปรมาจารย์ ชาวฝรั่งเศส อย่างศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (George C?d?s, พ.ศ.2429-2512) ทำให้เราทราบถึงลำดับวงศ์ตระกูลชนชั้นสูง ของพวกกัมพูชาสมัยโบราณ หนึ่งในหลายๆ สายตระกูลนั้นก็รวมถึงวงศ์ของเมือง “มหิธรปุระ” ด้วย

เซเดส์ ได้จัดทำสาแหรกของราชวงศ์จากเมืองมหิธรปุระ โดยใช้จารึกสองหลักเป็นสำคัญคือ จารึกในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จากพนมรุ้ง และจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากปราสาทตาพรหม ในบริเวณเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา จนสามารถสรุปได้ว่า ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มหิธรปุระมีพระนามว่า “หิรัณยวรมัน” โดยมีพื้นเพมาจาก “เมืองกษิตีนทราคราม” (ยังไม่ทราบร่องรอยว่าหมายถึงที่ไหนแน่เช่นกัน?)

เรื่องนี้ค่อนข้างน่าแปลกใจ เพราะตามธรรมเนียมขอมโบราณชื่อเมืองมักจะเป็นชื่อเดียวกับชื่อกษัตริย์ผู้สถาปนาวงศ์ หรือเมืองนั้นขึ้นมา อย่างเช่น ชื่อเมืองพระนคร คือยโศธรปุระ ก็ตั้งตามพระเจ้ายโศวรมัน เศรษฐปุระ ของเจ้าชายจิตรเสน ก็ตั้งตามชื่อเศรษฐวรมัน เป็นต้น

ซ้ำยังมีหลักฐานปรากฏชื่อ “มหิธรวรมัน” (ชื่อเดียวกับเมืองมหิธรปุระ) อยู่ก่อนสมัยของหิรัณยวรมันแล้ว เช่นในจารึกจากปราสาทกระวัน ที่พูดถึงชื่อนี้ว่าเป็นเจ้าชายจากเมืองภีมปุระ และยังมีชื่อเดียวกัน (แต่เซเดส์ว่าเป็นคนละคนกัน) ปรากฏอยู่ในจารึกบางหลักจากปราสาทพระวิหารด้วย (เป็นที่น่าสังเกตว่า จารึกทั้งหลายในดินแดนเขมรต่ำจะอ้างว่า มหิธรวรมัน มาจากทางตอนเหนือของตนเองทั้งสิ้น ไม่ต่างจากเมื่อกล่าวถึงเมืองมหิธรปุระ)

“หิรัณยวรมัน” มีชายาชื่อ “หิรัณยลักษมี” จากจารึกพระองค์ทรงมีพระโอรสด้วยกันอย่างน้อย 3 พระองค์ และพระธิดาอีก 1 พระองค์ คือ ธรณีนทรวรมันที่ 1 ซึ่งได้ครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนครต่อจากน้องชายคนรอง (ครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.1650-1656), ชัยวรมันที่ 6 ซึ่งได้ครองราชย์ที่เมืองพระนครก่อนพี่ชายของตนเอง (พ.ศ.1623-1650) และน้องชายคนสุดท้องที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพระองค์นอกจากชื่อเรียกที่ว่า ยุวราชา (คำนี้ในจารึกขอมหมายถึง รัชทายาท)

ส่วนพระธิดานั้นไม่มีหลักฐานว่าชื่ออะไร แต่จากการสอบทานจารึกของเซเดส์ ทำให้รู้ว่าพระธิดาองค์นี้ได้ให้กำเนิดพระธิดาองค์น้อยอีกองค์หนึ่ง ซึ่งปรากฏชื่อในจารึกว่า “นเรนทรลักษมี” โดยพระนางได้เสกสมรสกับ “กษิตีนทราทิตย์” แห่งเมืองกษิตีนทราคราม (ซึ่งก็คือเมืองพื้นเพดั้งเดิมของ หิรัณยวรมัน ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของพระนางนั่นแหละ) จนมีพระโอรสคือ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” ผู้สร้างปราสาทนครวัด ซึ่งจะขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.1656-หลัง พ.ศ.1688

และนี่ก็หมายความด้วยว่า หิรัณยวรมัน เป็นตาทวดของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และปราสาทนครวัด สร้างขึ้นจากสายราชวงศ์ที่มีฐานกำลังอยู่แถบลุ่มน้ำมูล

หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์คือ “พระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ 2” ซึ่งมีพระบิดาคือ มหิธรทิตย์ พี่น้องท้องเดียวกันกับ นเรนทรลักษมี พระมารดาของสุริยวรมันที่ 2 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนคร (ราว พ.ศ.1703)

 

จากสาเหรกตระกูลที่เซเดส์ทำขึ้นจะเห็นได้ว่า พระธรณีนทรวรมันที่ 2 ทรงมีเชื้อสายมหิธรปุระที่เข้มข้น

แต่การเมืองในยุคสมัยของพระองค์น่าจะรุนแรงอยู่มาก เพราะภายในปีเดียวกันกับที่พระองค์ครองราชย์นั้นเอง “พระเจ้ายโศวรมันที่ 2” ซึ่งเรารู้เพียงแค่เป็นพระญาติพระองค์หนึ่ง (และไม่อาจแน่ใจด้วยว่าเป็นสาย มหิธรปุระหรือไม่?) ก็ขึ้นครองราชย์แทน

จนกระทั่ง 5 ปีต่อมา ก็ได้เกิดรัฐประหารขึ้นในเมืองพระนครโดยขุนนางคนหนึ่ง ที่มีพระนามหลังครองราชย์ว่า ตรีภูวนาทิตยวรมัน

ตรีภูวนาทิตยวรมันครองราชย์อยู่ 12 ปี จนเมื่อ พ.ศ.1720 เมืองพระนครก็ถูกกองทัพจามตีแตก พระโอรสพระองค์หนึ่งของพระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ 2 คือ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ซึ่งซ่องสุมกำลังอยู่ทางทิศตะวันออกของกัมพูชา (นี่เป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจเลยเมื่อพิจารณาว่า พระมารดาของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ของสุริยวรมันที่ 1 ผู้สร้างปราสาทพระวิหาร มีฐานกำลังเดิมอยู่บริเวณนี้) ได้ตีเอาเมืองพระนครคืนมาได้ในปี พ.ศ.1724 และขึ้นครองราชย์ในปีดังกล่าว

สายสกุลของมหิธรปุระยังได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ที่นครธม (ซึ่งหมายถึงเมืองที่ ชัยวรมันที่ 7 สถาปนาขึ้นใหม่แทนเมืองพระนคร) อีก 2 รัชสมัย ได้แก่ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ผู้เป็นพระโอรสของชัยวรมันที่ 7 (หลัง พ.ศ.1763-1786) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ซึ่งเป็นโอรสของ อินทรวรมันที่ 2 อีกทอดหนึ่ง (พ.ศ.1786-1838)

อำนาจของราชวงศ์สายมหิธรปุระดูจะเสื่อมคลายลงในรัชกาลต่อมา เพราะผู้ที่ครองราชย์ต่อคือ ศรีนทรวรมัน ซึ่งเป็นเพียงลูกเขย ถัดจากรัชสมัยของ ศรีนทรวรมัน อีกสองรัชกาล เมืองพระนครก็ค่อยๆ เสื่อมความสำคัญลงพร้อมๆ กับอำนาจของเมืองนครธม และไม่มีเชื้อสายของมหิธรปุระขึ้นครองราชย์ที่เมืองแห่งนั้นอีกเลย

อันที่จริงแล้ว เราก็ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุลงไปได้อย่างชัดเจนหรอกนะครับว่า เจ้าประติมากรรมสำริดที่มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “Golden Boy” นี้ จะเป็นรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แห่งราชวงศ์มหิธรปุระจริงหรือเปล่า?

มีก็เพียงแต่ความน่าจะเป็นจากหลักฐานแวดล้อมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กระแสความสนใจเรื่องของ Golden Boy นี้ ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้สังคมไทยทำความรู้จักกับทั้งราชวงศ์มหิธรปุระ และกษัตริย์พระองค์ต่างๆ ในราชวงศ์ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ