สัพเพเหระคดี

สวัสดีปีใหม่ครับ

ยังอยู่ในห้วงสบายๆ ที่ติดพันมาจากเทศกาลเฉลิมฉลอง ก็ขอหยิบเรื่องสัพเพเหระมาพูดคุยด้วยตามประสาช่วงหลายปีให้หลัง ที่พอถึงไม่สิ้นปีก็เป็นต้นปีมักจะคุยออกไปทางเรื่อยเปื่อย

เที่ยวนี้มีเรื่องโทรศัพท์เรื่องเดียวครับ เพราะมีประเด็นที่คาใจมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว พักใหญ่ๆ ที่ว่านี่ก็นานปีโขแล้วนะครับ แต่ระบุชัดไม่ได้ว่าตั้งแต่เมื่อไร

ภาพที่นึกได้กว้างๆ ก็น่าจะเป็นช่วงที่จากเรื่องไกลตัวมาเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้ชนิดที่โทรศัพท์กลายเป็นอวัยวะของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเมืองไปแล้วนั่นแหละครับ

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องที่เป็นประเด็น (ของผม) ขอขยายความที่ตะกี้พูดถึงเรื่องใกล้ตัว ไกลตัว (ในความหมายของการได้ครอบครอง) สักหน่อย

คือย้อนไปคราวสิบกว่าขวบที่แม่พาครอบครัวย้ายเข้าพระนครตอน พ.ศ.2508 นั้น โทรศัพท์ (ซึ่งมีแต่ติดบ้านที่เรียกกันว่าโทรศัพท์พื้นฐาน) ใช่ว่าจะมีกันได้ง่ายๆ ทุกบ้านดอกนะครับ

บางบ้านทำเรื่องขอไปที่องค์การนานนับสิบปีก็ยังไม่ได้เลย โดยมีคำตอบเดียวแบบสำเร็จรูปว่า ‘ไม่มีคู่สาย’ เป็นอันจบ

 

เมื่อก่อนโทรศัพท์จึงเป็นเรื่องไกลตัวผู้คนมาก แม้จะอยู่ในเมืองหลวงก็เถอะ แต่ก็ยังดีที่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบซุ้มให้บริการ มีลักษณะเป็นตู้เปิดแผงขายหนังสือพิมพ์ ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม ใครจะโทร.ก็ต้องแลกเหรียญกับแม่ค้า/พ่อค้าที่ขายของในซุ้มไปหยอดเครื่อง ซึ่งเป็นเหรียญกลมเล็กๆ สีทองเหลืองคล้ายสตางค์รู แต่หนากว่า

โทร.สาธารณะยุคนั้นดีอย่างตรงหยอดเหรียญโทร.ติดแล้ว ก็คุยไปเหอะ นานแค่ไหนก็ได้ ไม่ต้องหยอดเหรียญเพิ่มเพื่อต่อเวลาเหมือนเครื่องสาธารณะรุ่นหลังๆ ที่ใช้เหรียญกษาปณ์หยอด

โทรศัพท์ยุคนั้นและต่อมาอีกเป็นสิบปีถือว่าเป็นเรื่องไกลตัวมากจริงๆ อย่างจะโทร.ไปต่างประเทศก็ต้องไปโน่น ไปที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก นั่นแหละครับจึงจะได้ความ

จำได้ว่าช่วงกลางๆ พุทธทศวรรษที่ 2520 (ไม่แน่ใจว่าปี 2524 หรือ 2525) มีอยู่คืนช่วงต้นๆ ค่ำ ยังมีพรรคพวกที่ค้าเครื่องเสียงอยู่แถวสะพานเหล็ก มาชวนไปเป็นเพื่อนที่ ปณ.กลาง นี่ล่ะ เพราะมีธุระจะคุยผ่านโทรศัพท์กับคนที่สิงคโปร์อยู่เลยครับ

แต่ก็ออกจะเป็นเรื่องแปลก (ที่พอมองในมุมกลับ, กลับให้รู้สึกไม่แปลกอยู่ในที เพราะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชอบพูดๆ กัน ว่า Thailand Only ไงครับ) ที่ห้วงเวลานั้นโทรศัพท์บ้านที่ว่าขอติดตั้งยากเย็นแสนเข็ญ กลับหาได้ง่ายตามประกาศโฆษณาย่อยในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน เพราะมีบอกขายเบอร์กันเต็มไปหมด จะเอากี่เลขหมายก็ออร์เดอร์ได้ แต่ราคาออกจะโหดหน่อย หลายหมื่นอยู่ล่ะครับ

บางพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งเกินครึ่งแสนเลยนะครับ บรรดาบริษัท ห้าง ร้าน จะเปิดใหม่นี่ ต้องพึ่งพาพวกนี้แหละครับ ผมเองตอนช่วงออกมาซื้อตึกตั้งสำนักพิมพ์ ไปทำเรื่องขอที่องค์การ ก็ได้คำตอบสำเร็จรูปที่ว่า แต่พอติดต่อไปตามโฆษณาย่อยอย่างที่บอก (ประมาณปี 2532-2533 พ.ศ.นะครับ) จ่ายไปรู้สึกว่าจะสามหมื่นห้าก็ได้หมายเลขมาติดตั้งในสองสามวัน

แล้วจะไม่ให้บอกว่าเป็นหนึ่งในไทยแลนด์โอนลี่ได้ไง

 

จะว่าไปผมนี่พัวพันกับเรื่องโทรศัพท์ไม่ค่อยจะน้อยเลย เพราะตอนเช่าคอนโดฯ แถวสีลมทำสำนักงานก่อนย้ายเข้าตึกสองสามปี ตอนนั้นเริ่มมี ‘มือถือ’ แล้ว และไม่สะดวกกับการใช้โทรศัพท์กลางของคอนโดฯ ที่ทั้งตึกมีห้องกว่าสองร้อยยูนิต เลยกัดฟันจ่ายเงินแสนลงทุนกับเครื่องแรกของกรมไปรษณีย์ คลื่น 800

แต่ก็ออกจะไม่สะดวกนักเวลาไปต่างจังหวัด ยิ่งช่วงนั้นมีงานขึ้นเหนือ ล่องใต้ ไปอีสาน บ่อยมาก เลยไปเอาของ ทศท. คลื่น 470 มาติดรถอีกเครื่อง (ออกจากรถมาก็ถอดประกอบหิ้วติดตัวไปได้ เหมือนถือกระติกน้ำแข็งติดมือไปด้วยนั่นแหละครับ) จ่ายน้อยกว่าเครื่องแรกหน่อยหนึ่ง เพราะน้องนุ่งที่มักคุ้นกันเป็นเซลส์ให้กับเครื่องแบรนด์หนึ่ง เลยหมดไปเก้าหมื่นแก่ๆ

ช่วงนั้นใช้บริการสองคลื่นความถี่ก็สะดวกดีนะครับ เวลาออกต่างจังหวัดก็จะใช้ของ ทศท.เป็นหลัก เพราะโทร.ติดง่ายกว่า คลื่นสะอาดเสียงชัดเจนมาก โดยเฉพาะเวลาอยู่ในตัวเมืองแล้วโทร.กลับกรุงเทพฯ นี่ชัดแจ๋วเลย

มีอยู่หนขับรถขึ้นอีสานแล้วโทร.กลับมากรุงเทพฯ ถามสารทุกข์สุกดิบผู้ใหญ่ที่เคารพ คุยไปคุยมาท่านชวนกินข้าวเย็นด้วย บอกกลับไม่ทันเพราะอยู่อุดรฯ ท่านร้องอ้าวบอกเสียงดังฟังชัดยังกะอยู่แถวๆ นี้เลย

ขณะที่คลื่นของไปรษณีย์ใช้สะดวกในกรุงเทพฯ แต่ก็โทร.ติดค่อนข้างยากเพราะช่องสัญญาณออกจะน้อย

ที่บอกว่าใช้ของไปรษณีย์สะดวกเพราะเวลาโทร.ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องใส่รหัสจังหวัด 02 นำหน้า และหมายเลขประจำเครื่องเองก็ไม่มี 01 ระบุ เวลาโทร.ถึงกันไม่ว่าจะออฟฟิศโทร.หาหรือโทร.กลับเข้าที่ทำงาน ก็โทร.เหมือนผ่านโทรศัพท์พื้นฐานตามปกติ คือ กดหมายเลขเจ็ดหลักของแต่ละเครื่องถึงกันได้เลย

ขณะที่ของ ทศท. จะมี 01 กำกับหมายเลข ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ โทร.หาเบอร์ในกรุงเทพฯ ก็ต้องใส่ 02 นำหน้าเหมือนทุกวันนี้ ส่วนใครจะโทร.มาหาไม่ว่าจากที่ไหนก็ต้องกด 01 ก่อนแล้วค่อยตามด้วยตัวเลขเจ็ดหลัก

และตรงนี้แหละครับที่มีประเด็นคาใจผมมานาน

นั่นก็คือเรื่องการเขียนหมายเลขโทรศัพท์ครับ

คือแต่ก่อนนั้นเวลาเขียนจะระบุพื้นที่จดทะเบียนของหมายเลขแล้วกำกับไว้ด้วยวงเล็บ ตามด้วยหมายเลขโดยแบ่งด้วยการใช้ขีดแยก

เช่น พวก Mobile ก็จะเขียนแบบ (01)-XXX-XXXX กรุงเทพฯ ก็จะเป็น (02)-XXX-XXXX บางจังหวัดทางภาคเหนือ (053)-XXX-XXX เป็นต้น

ต่อมาเมื่อกำหนดการโทร.ถึงกันแม้จะในพื้นที่เดียวกัน ก็ต้องกดรหัสพื้นที่ด้วย ซึ่งไล่ๆ กันพวกโมไบล์ให้ใช้รหัส 08X รูปแบบการเขียนก็จะไม่มีวงเล็บ แต่ยังแบ่งกลุ่มตัวเลขด้วยขีดแทน แบบ 02-XXX-XXXX หรือ 081-XXX-XXXX ต่างจังหวัดก็เช่น 053-XXX-XXX ซึ่งก็ดูเข้าใจได้ง่าย ทั้งยังพอจะรู้ที่มาที่ไปของเบอร์นั้นๆ อยู่ในทีด้วย

และเป็นช่วงนี้เองที่ผมรู้สึกว่ามันน่าจะเปลี่ยนจากขีดคั่น เป็นสัญลักษณ์อื่น โดยเฉพาะกับโทรศัพท์พื้นฐานของบ้าน หรือสำนักงาน ที่มีมากกว่าหนึ่งเลขหมายและมีหมายเลขติดต่อกัน จะได้ใช้ ‘ขีด’ แสดงความต่อเนื่องจากเลขตัวท้าย ‘ถึง’ ตัวเลขไหน

แล้วด้วยความรู้สึกที่ว่านั้นแหละครับ ผมจึงเขียนหมายเลขโทรศัพท์จากที่ใช้ขีดมาเป็น ‘จุด’ คั่น แล้วแบ่งกลุ่มตัวเลขแบบเดิมมาอย่าง 081.XXX.XXXX หรือของสำนักงานที่มีสามหมายเลขติดกันก็เขียน 02.XXX.XXX7-9 ซึ่งผม (คิดเอาเอง) ว่ามันดูเข้าใจได้ง่ายดี เวลาทำงานพิมพ์หรืองานเอกสารของลูกค้า

ผมก็ใช้ลักษณะนี้มาโดยตลอด

 

แต่ช่วงหลังๆ ให้รู้สึกตงิดๆ แบบคาใจก็คือ เวลาเห็นเอกสารราชการทำไมต้องเอาเลข 0 มาลอยหน้า แล้วแบ่งกลุ่มตัวเลขด้วยการเว้นวรรคแบบ 0 2XXX XXXX ต่างจังหวัดก็อย่าง 0 53XX XXXX หรือพวกมือถือก็แบบ 08 1XXX XXXX ดูๆ ไปเหมือนจะบอกอยู่ในที ว่าให้แบ่งกลุ่มตัวเลขทีละสี่หลักจากหลังมา เหลือเศษเท่าไรไปไว้ข้างหน้า, อะไรทำนองนั้น

ซึ่งมันก็ดูแปลกๆ ในความรู้สึกที่คุ้นชินกับการดูเลขสามตัวชุดหน้า แล้วรู้ว่ามาจากไหน หรือที่ใด อย่างเห็น 081 ก็รู้ว่าเป็นพวกมือถือ เห็น 053 ก็รู้ว่าเป็นจังหวัดทางภาคเหนือ เห็น 075 ก็รู้ว่าเป็นจังหวัดทางภาคใต้, อะไรแบบนี้เป็นต้น

ก็พูดบ่นมาตามประสาเห็นสิ่งที่คุ้นตามาตลอดชีวิตเปลี่ยนไป, อะไรแถวๆ นั้นแหละครับ

ทั้งยังนึกประโยชน์การแบ่งกลุ่มตัวเลขแบบเอกสารราชการไม่ออก ว่ามันดี มีประโยชน์ หรือง่ายต่อการจดจำตรงไหน? •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]