กำลังใจ

วัชระ แวววุฒินันท์

ปีใหม่มาถึงแล้ว มาพร้อมกับความหวังว่าปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เราได้รับรู้ทั้งจากนักวิชาการ นักวิเคราะห์ หรือแม้กระทั่งจากปากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เองที่เอ่ยด้วยความกังวลว่า

“ห่วงใยเศรษฐกิจปี 2567 ว่ายังมีวิกฤตที่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องพลังงาน”

ถึงอย่างนั้น การมีความหวังก็ยังดีกว่าไม่มี เลยอยากมอบเรื่องราวที่อาจจะเป็น “กำลังใจ” ให้กับทุกคนในการดูแลชีวิตของตน ไม่แต่เฉพาะในปีนี้ แต่ตลอดไป

ผมขอเก็บตกจากการได้ฟังสัมภาษณ์บุคคลในรายการต่างๆ มาประมวลให้ได้อ่านกันครับ

 

เริ่มจากรายการ “เจาะใจ” กับ “คุณตั๊ก-นภัสรัณชน์ มิตรธีรโรจน์” ที่มีชื่อเดิมว่า “นภัสกร มิตรเอม” นักแสดงที่อยู่ในวงการมานาน ครั้งนี้ ดู๋ สัญญา ได้พูดคุยกับเขาจากประเด็นที่ตั๊กเพิ่งเรียนจบปริญญาเอก ในสาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาหมาดๆ

เป็นการพิสูจน์ถึงความตั้งใจจริงหากคิดจะทำอะไร ท่ามกลางเสียงที่ดูแคลนว่าจะเรียนได้จริงเหรอ? แต่เขาได้ทำให้เห็นว่า “ทำได้ แม้จะช้าก็ตาม”

ตั๊กจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นภาคอินเตอร์ ปีแรก ที่นั่นเขาใช้เวลาเรียน 3 ปีครึ่ง ตอนอยู่ปี 2 เขาอยากเก็บเกรดเพื่อให้จบเร็วขึ้น จึงไปลงเรียนวิชาเลือกสมทบที่เป็นวิชา Acting, Dancing และต้องไปเรียนที่ภัทราวดีเธียเตอร์ กับ “ครูเล็ก ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์” ซึ่งตอนนั้นเขาไม่เคยรู้จักครูเล็กมาก่อน

เมื่อได้ไปเรียนที่นั่น มันได้เปิดโลกใหม่ในเรื่องศิลปะการแสดงให้กับเขา โดยเฉพาะศิลปะของไทยร่วมสมัย ที่มีการแสดงโขนเป็นส่วนหนึ่งที่เขาได้สัมผัส มันทำให้เขาติดใจใน “เสน่ห์ของโขน” อย่างมาก

 

เมื่อจบปริญญาตรี เขาก็เรียนต่อโททันทีที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ของกรมศิลปากร เพื่อเข้าไปให้ถึงแก่นของโขน และเพื่อได้เป็น “คนใน” ของที่นั่น

เดิมทีนั้น แม้เขาจะได้ฝึกปรือศิลปะการแสดงของโขนมาพอสมควร แต่ในสายตาของครูโขน เขาก็ยังเป็น “คนนอก” เพราะไม่ได้จบโดยตรงจากศิลปากร การเข้าเรียนที่นี่ทำให้เขาได้รับการยอมรับว่าเป็น “เลือดหยดหนึ่งของนาฏศิลป์” แม้จะใช้เวลาถึง 9 ปีกว่าจะจบได้ แต่เขาก็ตั้งใจและเรียนรู้ทุกอย่างตรงหน้า

เขาหาความรู้ให้กับตัวเองไม่หยุดด้วยการลงเรียนปริญญาเอก ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยทำเรื่อง “โขน” เป็นผลงานวิทยานิพนธ์

จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 25 ปีแล้วที่ตั๊กได้คลุกคลีอยู่กับโขน เขายังได้เป็นครูพิเศษสอนการแสดงโขนที่โรงเรียนจิตรลดา รวมทั้งที่วัดมหาธาตุ ที่เปิดสอนในวันอาทิตย์ให้กับเยาวชนที่สนใจด้วย

ที่นั่นเขาไม่ได้สอนเฉพาะเด็ก แต่ได้ชวนให้ผู้ปกครองมามีส่วนร่วมด้วย อย่างมาฝึกแต่งหน้าโขน ฝึกแต่งตัวชุดโขน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงโขนร่วมกับลูกๆ

ทุกวันนี้เขาก็ยังคงไม่หยุดนิ่ง หากหาโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป

ตั๊กบอกว่า เขาได้แง่คิดมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก”

“พระมหาชนกนั้นว่ายน้ำไม่หยุด แต่ผมใช้เดิน ผมเดินจากก้นทะเล แม้จะเป็นการเดินอย่างช้าๆ แต่นั่นคือการไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่”

“ถึงผมจะไปช้าๆ แต่ผมก็ไม่หยุดเดิน”

และการไม่หยุดเดินของเขาก็ได้รับผลสำเร็จคือปริญญาเอกในวันนี้ ที่สำคัญกว่านั้นคือความรักและหลงใหลในศิลปะการแสดงโขนอย่างจับจิตจับใจ ที่เขาตั้งใจจะส่งมอบให้กับคนอื่นต่อไป เพราะได้เกิดมาทั้งที เขาก็อยากจะทิ้งอะไรให้กับโลกใบนี้บ้าง

 

อีกหนึ่งบุคคลที่ผมขอนำความคิดของเขามาถ่ายทอดคือ “คุณต๋อย-ไตรภพ ลิมปพัทธ์” หนึ่งในพิธีกรแถวหน้าของเมืองไทย โดยนำมาจากรายการ “ตีท้ายครัว” และ “บทเรียนชีวิต”

พี่ต๋อยเริ่มต้นอาชีพพิธีกรที่ เจ เอส แอล เมื่อ 40 ปีก่อน เดิมทีมีอาชีพทนาย และไม่เคยคิดจะเอาดีทางด้านอื่น แต่เมื่อโอกาสมาถึงก็ทดลองทำดู ปรากฏว่าทำได้ดี และทำต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

ในรายการ “ตีท้ายครัว” พิธีกรได้ถามถึงหลักการทำงานของพี่ต๋อยว่าคืออะไร? พี่ต๋อยได้ให้ความคิดเกี่ยวกับการทำงานไว้ว่า

“คนเราไม่ใช่ทุกคนจะได้ทำในสิ่งที่รัก แต่อยากให้ทุกคนรักในสิ่งที่ทำ”

พี่ต๋อยยกตัวอย่างว่า อย่างคนเก็บขยะ คิดหรือว่าเขาจะรักในการเก็บขยะเหม็นๆ เฉอะแฉะมาตั้งแต่แรก แต่ด้วยอะไรก็ตาม เมื่อเขาต้องมาทำ เขาก็ควรจะทำให้ดี เพราะมันเป็น “หน้าที่”

เรื่อง “หน้าที่” นี้ พี่ต๋อยให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะคำคำนี้เป็นตัวตอบโจทย์ยากๆ ของชีวิตที่วุ่นวายได้ทั้งหมด พี่ต๋อยได้ซึมซับคำนี้และความสำคัญของ “หน้าที่” มาจากการได้อ่านหนังสือของ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” สมัยอายุแค่ 8-9 ขวบ

อ่านเที่ยวแรกก็ยังไม่เข้าใจ อะไรเนี่ยหน้าที่เต็มไปหมด หน้าที่ของการเป็นพ่อ เป็นแม่ หน้าที่ของการเป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นครู เป็นนาย และอื่นๆ แต่เมื่ออ่านซ้ำๆ ก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นๆ ว่า “หน้าที่” ที่ท่านพุทธทาสสอนมีค่าอย่างไร และคิดว่า ถ้าเราอยู่ด้วยสิ่งนี้ ชีวิตจะมีค่าแค่ไหน

“เมื่อเรารู้จักหน้าที่ เราจะรักในสิ่งที่ทำ อยากทำให้ดีที่สุด”

 

ในรายการ “บทเรียนชีวิต” ที่ เอ๋ นิ้วกลม เป็นพิธีกร ได้ถามถึงเรื่องการแบ่งเวลาในการใช้ชีวิตของพี่ต๋อยว่าทำอย่างไร เขาตอบว่า

“ไม่ต้องแบ่ง แต่เราทำหน้าที่ของเราในแต่ละส่วนให้ดีที่สุดก็พอ”

“อย่างตอนไปทำงาน ผมทำหน้าที่เป็นเจ้านายของลูกน้องที่บริษัท แต่พอกลับมาถึงบ้านผมทิ้งหน้าที่เจ้านายไว้หน้าประตูบ้าน แล้วเปลี่ยนหน้าที่เป็นคนในบ้านแทน”

“พอเข้าบ้าน แล้วคนที่บ้านถามว่า เหนื่อยไหม? ก็จะตอบว่า ปกติธรรมดา เพราะเราได้ทิ้งหน้าที่เจ้านายที่เหนื่อยไว้ข้างนอกแล้ว ไม่ได้นำเข้ามาในบ้านเพื่อเหนื่อยให้เขาเห็น ตอบอย่างนี้ทุกวันจนเขาเลิกถามไปแล้ว”

เอ๋ได้ถามถึงเรื่อง “อัตตา” เพราะคนที่ทำงานมามากและประสบผลสำเร็จมักจะมีกันทุกคน ไม่มากก็น้อย เรื่องนี้สำหรับพี่ต๋อยแล้วเป็นอย่างไร?

พี่ต๋อยเล่าว่า ตอนที่ทำงานพิธีกรมาได้สักพัก แล้วไปร่วมงานประกาศรางวัลหนึ่งซึ่งมีชื่อลุ้นในสาขารางวัลพิธีกรยอดเยี่ยมด้วย ตอนนั่งอยู่ข้างล่างก็อดลุ้นอดใจเต้นไม่ได้ และพอประกาศว่าเป็นชื่อเรา ตอนเดินขึ้นเวทีก็ยังตื่นเต้นอยู่ แต่พอได้สัมผัสกับตัวรางวัลที่ได้รับ พี่ต๋อยเล่าให้ฟังถึงความคิดในใจในวินาทีนั้นว่า

“นี่เองเหรอ สิ่งที่จะเปลี่ยนตัวเรา…มันเหมือนยูเรก้าเลยนะว่า ถ้าเราได้รับรางวัลมา แล้วทำให้เราหยิ่งผยองว่า เราแน่ เราเก่ง ก็จบเลย นั่นคือ อัตตา เพราะทุกอย่างมันคือสิ่งสมมุติทั้งนั้น”

“ทุกวันนี้รางวัลที่ได้รับมาก็เก็บไว้ใต้บันไดที่บริษัท ทีมงานใครอยากได้ก็เอาไป”

พี่ต๋อยยังเปรียบเทียบด้วยว่า Playground ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในนี้ (ชี้ที่อก) คือ จิตใจของเรา เราต้องเล่นมันทุกวัน

ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา พี่ต๋อยจะคิดกับตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกว่า “นี่ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา”

นั่นคือทำให้เราไม่ไปยึดติดกับสิ่งใดๆ แม้แต่ตัวตนของเรา ซึ่งวิธีการคิดนี้ได้ตอบคำถามของเอ๋เมื่อถามถึงตอนที่นั่งสัมภาษณ์คนอื่น แล้วเรื่องราวของเขาเราไม่อยากรู้ มีบ้างไหม? พี่ต๋อยตอบว่า

“ถ้ามี ก็คือการที่เรามีตัวตนของเรา ว่าเราเบื่อ เราไม่อยากรู้ แต่ถ้าเราตัดตัวตนไป เราจะอยากรับรู้เรื่องของแขกรับเชิญทุกคนเสมอ”

และสิ่งที่ทำให้เราไม่ยึดติดกับตัวตนได้ก็คือ “คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า”

“สังคม ทำให้เราต้อง ดำรงตน เพื่อให้มีที่ยืน”

“แต่ ศาสนา สอนให้เรา ออกจากตน”

การสนทนาเริ่มต้นด้วยเรื่อง “หน้าที่” และเมื่อเอ๋ถามตอนท้ายว่า แล้วหน้าที่ของพี่ต๋อยในชีวิตทุกวันนี้คืออะไร คำตอบคือ

“หน้าที่ของผม คือ อย่าเกิดอีก”

เป็นคำตอบสั้นๆ แต่กินความหมายได้ลึกซึ้งมากมาย

 

กับบทสัมภาษณ์ของสองบุคคลที่ผมนำมาถ่ายทอดนี้ หากสามารถเป็นกำลังใจและเป็นแนวคิดให้กับผู้อ่าน ไม่ว่าจะในด้านใดๆ ได้ ก็จะถือว่าเป็นความดีใจรับปีใหม่ของผมอย่างยิ่ง

ขอชื่นชม และขอบคุณเจ้าของเรื่องทั้งสองท่านมา ณ ที่นี้ด้วย

สวัสดีปีใหม่ทุกท่านนะครับ •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์