คดียิ่งลักษณ์ ! นายกฯย้ายข้าราชการได้หรือไม่? : | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

รายงานข่าวที่ปรากฏในสื่อเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม น่าสนใจอย่างมากเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

ความผิดในคำฟ้องนี้เกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 เมื่อนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งให้เลขา สมช. ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ย้ายผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเป็นเลขา สมช แทน

ในที่สุด การต่อสู้ในคดีนี้ใช้เวลาเดินทางในศาลถึง 12 ปี จึงยุติลงด้วยการที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ นส. ยิ่งลักษณ์ โดยเห็นว่าในมีความผิดตามข้อกล่าวหาของอัยการสูงสุด

หากย้อนกลับไปขณะนั้น จะพบว่านายถวิล ผู้ถูกย้ายได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลดังกล่าวมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายในกรณีนี้ เพราะถือว่าเป็น “การใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ” และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ นส. ยิ่งลักษณ์พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี

คำถามทางรัฐศาสตร์

หากตีความตามคำตัดสินเช่นนี้ในทางกฎหมาย เราอาจกล่าวได้ว่า นายกรัฐมนตรีในทางนิติศาสตร์ไม่มีอำนาจในการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งในกรณีนี้คือ เลขา สมช. แต่คำตัดสินเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามในทางรัฐศาสตร์ตามมาอย่างมากว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการเพียงใดหรือไม่ เพราะอำนาจเช่นนี้น่าจะเป็น “เอกสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร” ที่สามารถกระทำการได้โดยไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย และเอกสิทธิ์เช่นนี้ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ “ฝ่ายตุลาการ” ใช้อำนาจแทรกแซงได้ มิฉะนั้นแล้ว อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านการโยกย้ายข้าราชการจะอยู่กับฝ่ายตุลาการ

ถ้าการโยกย้ายข้าราชการของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำความผิดในทางกฎหมายแล้ว ย่อมทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างแน่นอนในอีกด้านหนึ่งว่า กระบวนการบริหารราชการแผ่นดินจะดำเนินไปอย่างไร เพราะนายกรัฐมนตรีในความเป็น “หัวหน้าของฝ่ายบริหาร” ไม่สามารถโยกย้ายข้าราชการได้

แต่ว่าที่จริงแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าคดีนี้เป็น “คดีการเมือง” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผลที่เกิดในทางคดีเป็นการก่อกระแสเพื่อลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาล ซึ่งจะปูทางไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลที่เป็นเป้าหมายของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และปีกอนุรักษ์นิยมขวาจัด หรืออาจกล่าวได้ว่า ปัญหาเรื่องนี้คือบันไดขั้นหนึ่งที่ปูทางไปสู่การรัฐประหารในเวลาต่อมานั่นเอง เพราะถ้าเราสาวความต่อในเชิงข้อมูลแล้ว ย่อมเห็นถึงผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยตรงกับความอยู่รอดของรัฐบาล และยังรวมถึงผลตอบแทนกับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงในช่วงหลังรัฐประหารอีกด้วย

 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ปัญหาทางรัฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในบริบททางการเมืองแล้ว คดีนี้คือจุด “พลิกผัน” ทางการเมือง ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสภาพไป ด้วยเหตุผลของการโยกย้ายข้าราชการในระดับสูง อันบ่งชี้ถึงความเป็น “คดีการเมือง” ในตัวเอง ฉะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาผลกระทบในการเมืองไทย ดังนี้

1) ในการสร้างอำนาจทางการเมืองของปีกอนุรักษ์นิยมขวาจัดนั้น กลไกของสถาบันตุลาการเป็นประเด็นสำคัญ การใช้อำนาจเช่นนี้ ชี้ให้เห็นถึง อำนาจในแบบ “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy) ที่อำนาจของฝ่ายตุลาการจะเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมือง และทั้งยังชี้ให้เห็นอีกว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อำนาจของฝ่ายตุลาการอยู่เหนืออำนาจของฝ่ายบริหาร อันส่งผลต่อ “ทฤษฎีถ่วงดุลย์” ในความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการในกระบวนการของระบบรัฐสภา หรืออาจกล่าวได้ว่า ระบบการเมืองไทยกำลังสร้างสถานะที่ “เหนือกว่า” ของฝ่ายตุลาการ

2) สภาวะเช่นนี้อาจทำให้เกิดข้อสังเกตถึงการมีบทบาททางการเมืองและ/หรือการขยายบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการหรือไม่ เพราะคำตัดสินดังกล่าวย่อมมีผลต่อการล้มรัฐบาลได้โดยตรง (อาจไม่แตกต่างจาก “คดีทำกับข้าว” ของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช) และเป็นการล้มรัฐบาลโดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์ในทางการเมืองได้ว่า รัฐบาลกระทำผิดกฎหมายตามคำตัดสินที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจนอกระบบแทรกแซงเพื่อให้เกิดการล้มรัฐบาล แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า การกระทำเช่นนี้คือ การล้มรัฐบาลด้วยกระบวนการทางกฎหมายนั่นเอง

3) การใช้อำนาจของกระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” นั้น ส่งผลอย่างมากในอีกด้านหนึ่งต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณว่า การเปลี่ยนผ่านเช่นนี้จะถูกควบคุมโดยสถาบันตุลาการ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำถึงบทบาททางการเมืองของสถาบันนี้โดยตรง หรืออาจทำให้ผู้คนสังคมของอีกฝ่ายหนึ่งขาดความเชื่อถือในสถาบันตุลาการ หรือดังที่มีการเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า “กฎหมายเลือกข้าง” หรือคำเรียกในอดีตคือ “สองมาตรฐาน” ในทางกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งสภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น และคนขาดความเชื่อถือต่อคำตัดสินในทางกฎหมาย เพราะถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่ใช่ฝ่ายตนแล้ว อาจถูกอำนาจ “ตุลาการธิปไตย” ล้มรัฐบาลได้ไม่ยาก

4) คำตัดสินว่าการใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการของนายกรัฐมนตรีเป็นความผิดทางกฎหมายนั้น สะท้อนชัดเจนถึงอำนาจของ “รัฐราชการ” ที่เชื่อว่า อำนาจของฝ่ายข้าราชการมีความชอบธรรมมากกว่าอำนาจของฝ่ายการเมือง และการโยกย้ายข้าราชการต้องเป็นไปตามความเห็นของฝ่ายข้าราชการ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เลขา สมช. ต้องเป็นข้าราชการใน สมช. เท่านั้น ซึ่งสำหรับหน่วยงานความมั่นคงในระดับนโยบายทั่วโลก ไม่มีรัฐบาลของประเทศใดยึดความเป็นรัฐราชการในแบบรัฐไทย ที่ต้องใช้คนจากข้าราชการในหน่วยเดิมกับการเป็นผู้บริหารงานความมั่นคงในระดับนโยบาย ซึ่งเท่ากับยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจในการเลือกตัวบุคคล แต่ถ้าเป็นรัฐบาลของรัฐราชการที่มาจากรัฐประหาร หรือเป็นรัฐบาลฝ่ายตนกลับทำได้ทุกอย่างโดยไม่มีข้อจำกัด

5) ในยุคหลังรัฐประหาร 2557 นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการจำนวนมากออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งน่าสนใจว่า บรรทัดฐานที่เคยใช้ในกรณีนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กลับไม่ถูกนำมาใช้ และไม่มีเสียงวิจารณ์จากผู้เห็นต่างในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด แม้กระทั่งผู้ที่ถูกโยกย้ายในกรณีนี้ ก็ไม่เคยกล่าวถึงบรรทัดฐานที่ตนเป็นผู้ฟ้องในคดีดังกล่าว จนนายกรัฐมนตรีต้องหลุดจากตำแหน่งแต่อย่างใด เว้นแต่เราเชื่อเอาเองว่า ผู้นำทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีและมาจากการรัฐประหารนั้น เป็น “ผู้มีคุณธรรมสูงสุด” ในการโยกย้ายข้าราชการ

อนาคต

ทั้งหมดนี้สรุปได้ประการเดียวว่า กระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” มีพลังในการเปลี่ยนรัฐบาลที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาสุดไม่พึงประสงค์ให้อยู่ในอำนาจได้เสมอ ว่าที่จริง การใช้อำนาจเช่นนี้ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำได้ง่ายกว่าการรัฐประหารหลายเท่า ขณะเดียวกันคดีนี้ก็ เตือนเราถึงความเปราะบางของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่ปัญหา “ตุลาการธิปไตย” เป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาสำหรับ “การปฏิรูปการเมืองไทย” ในอนาคต และตอบว่าปัญหาการเมืองไทยไม่ได้มีแต่มุมมองทางนิติศาสตร์เท่านั้น หากแต่มีประเด็นและมุมมองทางรัฐศาสตร์กำกับอยู่ด้วยอย่างแยกไม่ได้ด้วย

แต่ถ้าไม่คิดมากแล้ว 12 ปีของเรื่องนี้คือ “ตลกร้ายที่เจ็บลึก” ของการเมืองไทยนั่นเอง เพราะเท่ากับตอบในอีกมุมหนึ่งว่า ประชาธิปไตยไทยยังคงเป็น “ลูกไก่ในกำมือ” ของอำนาจตุลาการธิปไตย!