จดหมาย

• เรื่องดี-ดี (1)

ในวาระที่ร่างพระราชบัญญัติเพื่อรับรองการสมรสเท่าเทียม

เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาของประเทศไทย

ทำให้ไทยมีโอกาสเป็นชาติที่สามในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายรับรองการสมรสเท่าเทียมระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน

นับเป็นโอกาสที่ไทยจะเป็นต้นแบบด้านการสนับสนุนสิทธิของผู้มีที่ความหลากหลายทางเพศในภูมิภาค

แม้ว่ายังมีหลายอย่างที่ต้องได้รับการดำเนินการอีกมาก เพื่อให้มีการคุ้มครองบุคคลกลุ่มนี้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่จะได้รับการปรับปรุงออกมาในขั้นตอนสุดท้าย

ต้องไม่ลดทอนข้อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิในการมีครอบครัวอย่างเต็มรูปแบบ

อันหมายรวมถึงสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม

สิทธิเกี่ยวกับมรดกของคู่สมรสหลากหลายทางเพศ

รวมทั้งการยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกันตามกฎหมาย ในฐานะ “คู่สมรส” ที่มีสถานะเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ

ร่างพระราชบัญญัตินี้จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในเส้นทางใหม่ที่จะนำไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ในอดีต

เมื่อร่างกฎหมายนี้ผ่านพิจารณาวาระแรกแล้ว รัฐสภาของประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเร่งดำเนินการให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้อย่างรวดเร็ว

โดยสมาชิกรัฐสภาควรพิจารณาการเฉลิมฉลองของประชาชนว่า เป็นเสมือนสัญญาณว่าผู้คนในประเทศไทยกำลังโหยหาความเท่าเทียม

สมาชิกรัฐสภาควรพิสูจน์ตัวเองต่อชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องว่าพร้อมรับฟังและให้คุณค่าของเสียงสะท้อนความปรารถนาและมุมมองของพวกเขา

การประกันคุ้มครองสิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมโดยสมบูรณ์ภายใต้หลักกฎหมาย ไม่เพียงเป็นการส่งสัญญาณบวกต่อประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ แต่รวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกด้วย ในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ล้าหลัง และพยายามสรรสร้างสังคมที่มีความครอบคลุมทุกคนมากขึ้น

อนึ่ง ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศในปี 2558

โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดความคุ้มครองประชาชนจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพตามกฎหมาย อันครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ยังเปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยเหตุผลด้านศาสนาหรือความมั่งคงของรัฐ

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ที่อนุญาตให้คนข้ามเพศและคนนอนไบนารี (บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในระบบสำนึกทางเพศแบบชาย-หญิง) สามารถเปลี่ยนสรรพนาม หรือเพศสภาพของตนในฐานข้อมูลของทางการได้

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยยืนยันคำวินิจฉัยว่า กฎหมายที่รับรองการสมรสเฉพาะผู้ชายกับผู้หญิงไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่ได้ระบุเช่นกันว่า สมาชิกรัฐสภาของประเทศไทยควรจัดทำร่างกฎหมายเพื่อประกันสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย

ไต้หวันเป็นชาติแรกในเอเชียที่รับรองการสมรสเพศเดียวกันในปี 2562 ในปีนี้

เนปาลเป็นชาติที่สอง โดยในเดือนพฤศจิกายน หน่วยงานระดับท้องถิ่นได้จดทะเบียนสมรสของคู่สมรสผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคู่แรก

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์

นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

ผ่านวาระรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎร

อย่างท่วมท้นไปแล้ว

ถือเป็นเรื่องดี-ดี ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ก็หวังว่าเมื่อผ่านวาระที่ 2-ที่ 3

และนำเข้าสู่วุฒิสภา ในห้วงปีใหม่-2567

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คงไม่ถูกแปลงร่าง

จนเกิดภาวะ “ไม่เท่าเทียม” ขึ้น

• เรื่องดี-ดี (2)

ผม–นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ขอลาบวช

โดยได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดป่ามะไฟ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา เวลา 12.59 น.

ได้รับฉายา ‘สิริภทฺโท’ แปลว่า “ผู้มีสิริอันเจริญ” โดยมีพระครูภาวนาธรรมธารี (สัมพันธ์ ปญฺญาปทีโป) เจ้าคณะอำเภอเมืองปราจีนบุรีเป็นอุปัชฌาย์

การเข้าพิธีอุปสมบทนี้ ได้ทำตามที่ได้ปวารณากับญาติๆ ไว้ว่าจะบวชเพื่อถวายในหลวง และบูรพมหากษัตริย์ไทยในอดีตทุกพระองค์ บิดา มารดา บรรพชน และผู้มีพระคุณ

โดยจะถือศีลปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมเพิ่มเติมเป็นเวลา 15 วัน โดยจะเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ 9 วัน 9 คืน ที่วัดป่ามะไฟ (25 ธันวาคม 2566 ถึง 5 มกราคม 2567) ตลอดทุกวันคืนด้วย

นายศรีสุวรรณ จรรยา

ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน

 

ปกติอีเมลของ “ศรีสุวรรณ จรรยา”

มักจะเป็นเรื่องร้อน-ร้อน

แต่ครั้งนี้ เป็นเรื่องเย็น

อย่างน้อยก็ 15 วันในร่มธรรม

ส่วนหลังจากนั้นจะร้อน หรือเย็น

จะดี-ไม่ดี อย่างไร

คงต้องติดตามบทบาท “นักร้อง” ต่อไป

แต่เชื่อว่า คงไม่เหนือการคาดเดาของหลายๆ คน •