ผ่าคดี “พลเรือตรี-นาวาเอก” รับงานพ่อไต้หวันฆ่าเมียลูก ชนวนขัดแย้งธุรกิจพันล้าน

นาทีจับ พล.ร.ต.ประกายพฤกษ์ ศรีฟ้า คาบ้าน

ตีห้าวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ชุดปฏิบัติการหนุมาน กองปราบปราม นำโดย พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.2 บก.ป ทยอยออกเดินทางจากกองปราบปราม แยกย้ายกันเข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุดใน 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย จ.ชลบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

เพื่อจับกุมผู้ต้องหาคดีสำคัญ ตามที่ได้นัดแนะแผนกันไว้อย่างดี

ปฏิบัติการครั้งนี้ปิดฉากการสืบสวนคดีศึกสายเลือดที่มีธุรกิจมูลค่าพันล้านเป็นเดิมพัน

ชุดหนุมานกองปราบ บุกบ้าน อดีตนอ.

นาทีจับพลเรือตรี-นาวาเอก

จุดที่สำคัญคือการเข้าตรวจค้นบ้านในพื้นที่ลาดกระบัง จับกุม พล.ร.ต.ประกายพฤกษ์ ศรีฟ้า อายุ 64 ปี นายพลเกษียณตามหมายจับศาลอาญาในความผิดฐาน “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่น กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน”

ส่วนอีกหนึ่งเป้าหมายที่มีการเข้าตรวจค้นบ้านในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร จับกุมนายเทวราช มังกร อายุ 66 ปี อดีตนายทหารเรือยศนาวาเอก เป็นครูฝึกหน่วยซีล ในความผิดเดียวกัน ที่บ้านพักในซอยทวีวัฒนา 14 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ

สามารถตรวจยึดของกลางลูกระเบิดขว้าง ชนิด SFG-75 จำนวน 3 ลูก กระสุนปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 ม.ม. จำนวน 6 นัด ลูกระเบิดยิง ขนาด 40 ม.ม. จำนวน 10 ลูก อาวุธปืนลูกโม่ จำนวน 1 กระบอก และเสื้อเกราะกันกระสุน จำนวน 1 ชุด

นอกจากนี้ยังจับกุม นายฟงเหา จัง อายุ 68 ปี นักธุรกิจชาวไต้หวัน ได้ที่บ้านพักย่าน ถ.ศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ

ปฏิบัติการในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมีผู้เสียหายชาวไต้หวัน มาแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามว่าถูกขู่ฆ่า

พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รองผบก.ป.แถลงรายละเอียดคดี

เจ้าหน้าที่จึงขยายผล จนทราบตัวคนบงการ ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ของผู้เสียหายและกลุ่มคนรับงานเป็นอดีตข้าราชการทหาร จึงรวบรวมหลักฐานขอศาลออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 คน และเข้าค้นเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั้งหมด 8 จุดดังกล่าว

ต่อมาที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) แถลงรายละเอียดของปฏิบัติการครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมาตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) รับแจ้งจากนายชางชิน เยน อายุ 29 ปีผู้เสียหาย ว่า นายฟงเหา จัง บิดาของผู้เสียหาย ที่มีความขัดแย้งทางธุรกิจกับผู้เสียหายในเรื่องผลประโยชน์และอำนาจในการบริหารบริษัทผลิตและส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท

นายชางผู้เสียหายให้การว่ามีกลุ่มคนร้ายที่ถูกว่าจ้างมาจากกลุ่มคนมีสีระดับนายพล มุ่งจะปองร้ายมารดาทำให้ผู้เสียหายต้องพามารดาหลบไปพักอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ ซึ่งในส่วนผู้เสียหายยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อบริหารงานบริษัทด้วยความหวาดกลัว จึงเข้ามาขอความช่วยเหลือกับทางตำรวจสอบสวนกลาง (CIB)

หลังรับแจ้ง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. มอบหมายให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. สืบสวน โดยสั่งการให้ พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.2 บก.ป. ว่าที่ พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป. นำชุดสืบสวนทำการสืบสวนติดตามจับกุมขบวนการดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว

จากการสืบสวนทราบว่า เมื่อปี พ.ศ.2542 นายฟง ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทเกี่ยวกับการผลิตและส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สายไฟและอุปกรณ์ต่อพ่วงสายไฟ โดยดำเนินการทางธุรกิจโดยมีนางยอง ชุกเฮง อายุ 53 ปี ภรรยาคนที่สองและเป็นมารดาของนายชาง ผู้เสียหาย เป็นกรรมการบริษัท

คุมนายเทวราช มังกร อดีตครูฝึกหน่วยซีลถึงกองปราบ

ปมแตกหักพ่อ แม่ ลูก
สู่คำสั่งตาย

ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ.2565 นายชาง ผู้เสียหาย ตรวจสอบพบการทุจริตในบริษัทมูลค่าหลายสิบล้านบาท จึงฟ้องร้องทางคดีเพื่อเพิกถอนนายฟงออกจากกรรมการผู้มีอำนาจ

ซึ่งทางนายฟง ก็ฟ้องร้องทางคดีกับผู้เสียหายด้วยเช่นกัน รวมคดีอาญาและคดีแพ่งที่ฟ้องร้องกันไป-มารวมกว่า 20 คดี

จุดแตกหักจนนำมาสู่คำสั่งตายแม่ ลูกชาย เกิดจากช่วงต้นปี พ.ศ.2566 ศาลมีคำสั่งให้นายชางผู้เสียหาย ชนะคดีฟ้องร้องเพิกถอนนายฟงออกจากกรรมการผู้มีอำนาจ

มีผลให้นายชางผู้เสียหาย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริหารจัดการบริษัทดังกล่าวอย่างเด็ดขาดมาจนถึงปัจจุบัน

พอแพ้คดีและกำลังจะสูญเสียบริษัทที่สร้างมากับมือ นายฟงนำเรื่องไปปรึกษากับ พล.ร.ต.ประกายพฤกษ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาบริษัท ก่อนที่ พล.ร.ต.ประกายพฤกษ์ จะให้นายเทวราชซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน ติดต่อหามือปืนมาจัดการนายชางชิน เยน อายุ 29 ปี ลูกชาย นางยอง ชุกเฮง อายุ 53 ปี ภรรยาตัวเอง และนายวีรวัฒน์ สุขเกษา ทนายความ

ต่อมาช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ช่วงที่นายชาง ผู้เสียหายดำเนินการทางธุรกิจ พบความผิดปกติ โดยมีกลุ่มคนร้ายกว่า 10 คนเข้าไปข่มขู่ที่บริษัท และมีคนสะกดรอยตามจึงส่งนางยอง มารดากลับไปไต้หวัน และนำเรื่องเข้าร้องตำรวจ

ชุดสืบสวนกองปราบปราม ตรวจสอบบุคคลที่เข้าไปก่อเหตุและจับตัวมาสอบสวนกระทั่งทราบข้อมูลว่า กลุ่มคนดังกล่าวเป็นมือปืนรับจ้างรับงานมาจ้างนายเทวราช อดีตทหารเรือ ยศนาวาเอก โดยมี พล.ร.ต.ประกายพฤกษ์ เป็นผู้สั่งการมาอีกทอดหนึ่ง

ซ้ำยังซัดทอดไปถึงตัวนายฟง โดยยืนยันว่าเป็นผู้สั่ง เนื่องจากปมขัดแย้งในเรื่องบริษัทกับทางผู้เสียหาย

อาศัยลำพังเพียงคำซัดทอดของมือปืนคงไม่พอให้ลงโทษถึงตัวการ ตำรวจจึงซ้อนแผนโดยให้เหยื่อไปหลบซ่อนตัวในที่ปลอดภัย พร้อมให้มือปืนติดต่อรายงานผู้จ้างวานว่า ได้จัดการกับสองแม่ลูกเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้ข้อมูลการติดต่อดังกล่าวเป็นหลักฐานมัดตัวผู้จ้างวาน ขอศาลอนุมัติหมายจับผู้บงการทั้ง 3 คนดังกล่าว

นาทีจับ พล.ร.ต.ประกายพฤกษ์ ศรีฟ้า คาบ้าน

ขณะที่การตรวจสอบประวัตินายเทวราชพบว่าไม่ธรรมดา เป็นอดีตนายทหารสังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือที่รู้จักกันในนามหน่วยซีล แต่เจ้าตัวเข้าไปพัวพันกับธุรกิจลักลอบขนแรงงานต่างด้าวผ่านทางชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งกับตำรวจในพื้นที่

นายเทวราช ลงมืออุ้มฆ่าฝังดินตำรวจคู่กรณีเมื่อปี 2549 จนถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดี ศาลตัดสินประหารชีวิต ก่อนได้รับการอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต สุดท้ายได้รับการลดหย่อนโทษและเพิ่งได้รับอิสรภาพในปีที่ผ่านมา

ด้าน พ.ต.อ.เอนก เปิดเผยว่า คดีนี้มูลเหตุจูงใจที่นักธุรกิจชาวไต้หวันจ้างวานฆ่าภรรยาและลูกของตนเอง คาดว่ามาจากความขัดแย้งเรื่องธุรกิจในบริษัท โดยนักธุรกิจไต้หวันที่เป็นตัวการได้ติดต่อขอให้พลเรือตรีที่รู้จักกัน ให้จัดหาทีมสังหารให้ พลเรือตรีจึงได้ติดต่ออดีตครูฝึกนาวิกโยธินเพื่อนร่วมรุ่นอีกทอด เพื่อให้จัดหาทีมมือปืน

ซึ่งตำรวจจับกุมได้ครบทั้ง 3 คน เพราะผู้ต้องหาเข้าใจว่าสามารถสังหารเหยื่อได้สำเร็จ ทำให้เกิดความตายใจ ทั้งที่เหยื่อทั้งสองคนยังปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนยังคงให้การปฏิเสธ แต่พฤติการณ์กระทำความผิดสำเร็จแล้ว เพราะกรณีการจ้างวานฆ่า แม้มือปืนจะยังไม่ทันได้ก่อเหตุ แต่ถือว่าผู้ว่าจ้างได้มีการว่าจ้างให้กระทำผิดเรียบร้อยแล้ว และตามกฎหมายต้องรับโทษ 1 ใน 3 หากมือปืนยังไม่ได้ลงมือ

นำตัวนายฟงเหา จัง นักธุรกิจไต้หวัน ส่งฝากขัง

วันที่ 23 ธันวาคม พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ป. คุมตัวทั้งสามคนส่งฝากขังที่ศาลอาญา รัชดา คำร้องบรรยายว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายฟงต้องการฆ่านายชางชิน เยน และนางยอง ชุกเฮง บุตรและภรรยาของตัวเอง และนายวีรวัฒน์ สุขเกษา ทนายความ สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งและพิพาทในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ถึงพันล้านบาท

นายฟงขอให้ผู้ต้องหาที่ 1 (นายเทวราช) ไปจ้างมือปืนมาฆ่า ไปติดต่อจ้างจ่าเอก ฉ. นาย ส. และนาย อ. พร้อมมอบปืนกลเออาร์ 15 พร้อมเครื่องกระสุน 5.56 ม.ม.จำนวนหนึ่ง ระเบิดขว้างสังหาร 3 ลูก ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 1.5 ล้านบาท

ต่อมานางยอง ชุกเฮง เดินทางออกนอกประเทศ จึงเหลือคนให้ฆ่าแค่ 2 คน ขอลดค่าจ้างเหลือ 1.2 ล้านบาท จ่ายล่วงหน้าไปแล้ว 5 แสนบาท แต่จ่าเอก ฉ. กับพวกไม่ทำ เป็นความผิดฐานจ้างวานใช้ให้ฆ่าโดยไตร่ตรองฯ และทราบว่าผู้ต้องหาที่ 2 (พล.ร.ต.ประกายพฤกษ์) ร่วมจ้างวานใช้ด้วย ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ตามการสืบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 20 ปาก รอผลตรวจพิสูจน์ของกลาง ผลตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ ประวัติต้องโทษ ผลตรวจการใช้งานโทรศัพท์ ผลสอบธุรกรรมการเงิน ขอฝากขัง 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567

ท้ายคำร้อง หากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากการกระทำของ 3 ผู้ต้องหา ร่วมกันใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่นให้ก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรงเป็นคดีอุกฉกรรจ์ คดีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยทางผู้เสียหายร่วมยื่นคัดค้านการประกันตัวด้วย

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ภายหลังผู้ต้องหายื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฝากขังจำนวนหนึ่ง ศาลพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

ทั้งนี้ ระหว่างการควบคุมตัวพาขึ้นรถกองปราบฯ ไปส่งศาลอาญา ผู้ต้องหาทั้งสามมีสภาพอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากถูกสอบปากคำอย่างเคร่งเครียดตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา

ซึ่งจากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งสาม มีเพียงนายฟงเหา จัง ที่ให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ส่วน พล.ร.ต.ประกายพฤกษ์ และนายเทวราช ยังให้การแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ค่อยมีประโยชน์กับรูปคดีเท่าที่ควร

แม้ตอนนี้ผู้ต้องหายังคงยืนกรานปฏิเสธ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่หนักใจ เพราะมั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่ แม้คดีจะเป็นแค่การวางแผน ยังไม่ได้ลงมือฆ่า

แต่ถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ตำรวจจึงไม่สามารถปล่อยผ่านหรือรอให้เกิดเหตุขึ้นเสียก่อนได้