ล้มทฤษฎี ‘ความอ้วนเกิดจากไขมัน’ เพราะต้นเหตุคือ ‘น้ำตาลฟรุกโตส’?

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

มนุษย์เราไม่มีการจำศีลเหมือนหมี หรือกบ เพราะระบบร่างกายเราต่างจากกบ และหมี ที่ต้องเร่งกินผลไม้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ก่อนถึงฤดูจำศีล เพื่อสะสม “น้ำตาลฟรุกโตส”

โดยเจ้า “น้ำตาลฟรุกโตส” นี้เอง ที่ช่วยให้หมีสามารถเก็บรักษาไขมันเอาไว้ในร่างกายได้ตลอดฤดูหนาว ที่ไร้ซึ่งอาหารการกิน และสภาพอากาศก็สุดแสนจะโหดร้าย

“น้ำตาลฟรุกโตส” นิยมใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ “น้ำตาลฟรุกโตส” พบมากในผลไม้รสหวาน หรือผักบางชนิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำผึ้ง” ที่หลายคนคิดว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่อันที่จริง “น้ำผึ้ง” มี “น้ำตาลฟรุกโตส” เป็นส่วนประกอบมากถึง 40%

“น้ำตาลฟรุกโตส” แตกต่างจาก “น้ำตาลซูโครส” เพราะ “น้ำตาลฟรุกโตส” ไม่ช่วยสร้างพลังงานให้กับกล้ามเนื้อ และสมอง แต่จะถูกนำไปสะสมที่บริเวณตับโดยตรง

ดังนั้น หากรับประทาน “น้ำตาลฟรุกโตส” ในปริมาณมาก อาจจะทำให้เกิดภาวะ “ไขมันพอกตับ” ได้

 

ดังที่กล่าวไป ว่า “น้ำตาลฟรุกโตส” มีอยู่มากในผลไม้ แต่การกินผลไม้ตามธรรมชาติในสภาพที่ยังมีวิตามิน และกากใย หรือไฟเบอร์ นั้นเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบริโภค “น้ำตาลฟรุกโตส” ในปริมาณที่พอเหมาะพอควร จะไม่ทำให้อ้วน หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ร่างกายคนเรามีความสามารถในการผลิต “น้ำตาลฟรุกโตส” เองได้เพียงเล็กน้อย หากมีการกินอาหารซึ่งประกอบด้วย “น้ำตาลกลูโคส” และ “โซเดียม” ในปริมาณมาก

ซึ่งหมายถึง การกินอาหาร “หวานจัด” และ “เค็มจัด” เช่น อาหารที่ผ่านการแปรรูปอย่างหนัก หรือ Ultra-Processed Food จะเริ่มเป็นอันตรายต่อร่างกาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการเติม “น้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตสสูง” หรือ High-Fructose Corn Syrup หรือ HFCS ที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมอาหารลงไปด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณ “น้ำตาลฟรุกโตส” ที่จะเข้าสู่ร่างกายให้สูงมากขึ้นไปอีก

 

อย่างไรก็ตาม การเผาผลาญ “น้ำตาลฟรุกโตส” ทั้งจากที่ร่างกายเราผลิตได้เอง และทั้งจากที่เรากินเข้าไป จะส่งผลกระทบทางลบต่อ “กระบวนการผลิตสารที่ให้พลังงานกับเซลล์” หรือ ATP (Adenosine Triphosphate)

โดยการเผาผลาญ “น้ำตาลฟรุกโตส” จะทำให้ ATP ลดลง จนร่างกายอ่อนล้า และขาดพลังงาน ทำให้เกิดอาการ “โหยน้ำตาล”

นำไปสู่อาการหิวบ่อย และรู้สึกอยากจะกินแต่อาหารไขมันสูงตลอดเวลา ทำให้ต้องรีบแสวงหาข้าวปลาอาหารที่ไม่มีประโยชน์มาใส่ท้องอยู่เสมอ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ Richard Johnson แห่ง Colorado State University หัวหน้าทีมวิจัยของ Colorado State University ได้เปิดเผยผลการศึกษาของทีมวิจัย ที่ตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ในวารสาร Obesity ฉบับล่าสุด

ที่อธิบายถึงต้นตอของกลไกการสะสมไขมัน อันเป็นเหตุผลที่แท้จริงของการเกิดภาวะอ้วน โดยได้นำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า “สมมุติฐานการอยู่รอดด้วยน้ำตาลฟรุกโตส” หรือ Fructose Survival Hypothesis

“น้ำตาลฟรุกโตส คือตัวกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญ หรือ Metabolism ของคนเรา ให้เข้าสู่ภาวะประหยัดพลังงาน หรือ Low Power Mode” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ Richard Johnson กระชุ่น

Low Power Mode คือการที่ร่างกายมนุษย์ไม่ยอมให้มีการเผาผลาญไขมันที่เก็บไว้เป็นไขมันสำรอง ในขณะเดียวกัน ภาวะนี้ยังกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากกินอาหารที่มีไขมันสูง

“ร้ายที่สุดก็คือ Low Power Mode จะทำให้เราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการกินของตัวเองได้” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ Richard Johnson กล่าว และว่า

Fructose Survival Hypothesis หรือ “สมมุติฐานการอยู่รอดด้วยน้ำตาลฟรุกโตส” ชี้ว่า จากกลไกข้างต้น น้ำตาลฟรุกโตสจะยับยั้งการผลิตพลังงาน และการเผาผลาญไขมันสำรองดังกล่าว ถือเป็นกลไกเชิงวิวัฒนาการตามธรรมชาติที่พบใน “สัตว์จำศีล” เช่น กบ หรือหมี

“ด้วยกระบวนการนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสที่กบ หรือหมี มีโอกาสรอดชีวิตจากความอดอยากยากแค้นตลอดฤดูหนาวอันยาวนาน” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ Richard Johnson กล่าว และว่า

โดยหมีจะเร่งกินผลไม้ก่อนถึง “ฤดูจำศีล” เพื่อให้ได้ “น้ำตาลฟรุกโตส” ที่มีส่วนช่วยเก็บรักษาไขมันในร่างกายของหมี อีกทั้งยังกระตุ้นให้หมีขวนขวายหาอาหารที่มีไขมันสูงมากินเพิ่มเติมมากขึ้น จนกระทั่งเพียงพอต่อความต้องการ

 

ในอดีต ความเชื่อที่ว่า ดรรชนีชี้วัด “ความอ้วน” คือการที่ร่างกายบวมฉุ ลงพุง พุงหลาม ไขมันเต็มพุง เพราะคนเรากินอาหารไขมันสูง ซึ่งให้พลังงาน หรือแคลอรีมากเกินไป

เป็นความเชื่อในอดีตที่ว่า การบริโภคไขมัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำหนักตัวพุ่งทะยาน ไขมันเพียบแปล้ ไปจนถึงเกิดความอ้วน หรือเป็นโรคอ้วน

แต่จากข้อมูลของศาสตราจารย์ นายแพทย์ Richard Johnson แห่ง Colorado State University หัวหน้าทีมวิจัยของ Colorado State University ข้างต้น

ถือเป็นการ “ล้มทฤษฎี” ที่เชื่อต่อๆ กันมาว่า “ความอ้วนเกิดจากไขมัน” เพราะสาเหตุที่แท้จริงของ “ความอ้วน” อาจเกิดจาก “น้ำตาลฟรุกโตส”

นับเป็นองค์ความรู้ใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์อาหาร วิทยาศาสตร์การโภชนาการ และวิทยาศาสตร์สารอาหาร

ที่ชี้ว่า ไขมันอาจไม่ใช่ตัวต้นเหตุที่ทำให้คนเราอ้วนโดยตรง แต่น่าจะเป็นอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตบางชนิด ที่นำ “น้ำตาลกลูโคส” เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมากกว่า

ส่งผลให้มีการค้นคิดประดิษฐ์แนวทางลดความอ้วนที่แตกต่างกันออกมา 2 วิธี

1. คือการกินอาหารไขมันต่ำ หรือ Low-Fat

2. คือการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต หรือแป้ง และน้ำตาลต่ำ หรือ Low-Carb

แม้พิจารณาโดยผิวเผินแล้ว ดูเหมือนว่าการลดความอ้วน 2 แนวทางข้างต้น จะมีความขัดแย้งกันก็ตาม

เพราะข้อมูลของศาสตราจารย์ นายแพทย์ Richard Johnson แห่ง Colorado State University ได้ระบุว่า การลดความอ้วนนั้น ไม่ว่าจะเลือกกินอาหารไขมันต่ำ หรือคาร์โบไฮเดรตต่ำ ล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางที่ถูกต้องทั้งคู่

โดยวิธีการทั้ง 2 แบบดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกัน และจะส่งผลกระทบถึงกลไกการสร้าง “น้ำตาลฟรุกโตส” ของร่างกาย ที่เป็นรากเหง้าของความผิดปกติในระบบเผาผลาญ และเป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงของความอ้วนนั่นเอง

 

ทั้งนี้ แม้การบริโภค “น้ำตาลฟรุกโตส” จะมีประโยชน์ต่อความอยู่รอดของ “สัตว์จำศีล” เช่น กบ หรือหมี แม้กระทั่งมนุษยชาติในอดีต ซึ่งในยุคก่อน อาหารพลังงานสูงเป็นของหายาก

แต่สำหรับมนุษย์ยุคใหม่อย่างเราๆ ท่านๆ ที่ผ่านทั้งการปฏิวัติเกษตรกรรม และการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว การกินอาหารแปรรูปที่ทั้ง “หวานจัด” และ “เค็มจัด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภค “น้ำตาลฟรุกโตส” เข้าไปโดยตรง กลับจะเป็นโทษเสียมากกว่า

เพราะนอกจากนำไปสู่โรคอ้วน และโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs : Non-Communicable Diseases) หลายชนิด ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำตาลฟรุกโตส” เป็นแหล่งอาหารของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงมะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเม็ดเลือด

รวมทั้งเกิดการสะสมของ Triglyceride (ไขมันชนิดหนึ่งซึ่งร่างกายสังเคราะห์ขึ้นในตับ หรือได้รับจากการรับประทานอาหารประเภทไขมันโดยตรง) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า “น้ำตาลฟรุกโตส” มีทั้งคุณและทั้งโทษ ดังนั้น ควรจะบริโภค “น้ำตาลฟรุกโตส” ในปริมาณพอดี

โดยให้เลือกผลไม้ที่มีปริมาณ “น้ำตาลฟรุกโตส” น้อย และเลือกบริโภคผลไม้สดที่มีกากใยเยอะๆ เท่านี้ก็ไม่อ้วนแล้ว