วาฬบนฟ้ากับ PCR ในแล็บ (4) (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 22)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

วาฬบนฟ้ากับ PCR ในแล็บ (4)

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 22)

 

Cetus ยื่นจดสิทธิบัตรเทคนิคและการประยุกต์ใช้ PCR ในปี 1985 และสิทธิบัตร Taq DNA polymerase ในปี 1987 หลังจากซุ่มเงียบอยู่หลายปี Cetus พร้อมเปิดตัว PCR สู่สาธารณชน

ในมุมผู้บริหาร Cetus แม้จะเริ่มเห็นลู่ทางทำเงินจาก PCR แต่โฟกัสหลักของบริษัทก็ยังคงเป็นการผลิตและจำหน่ายยาโปรตีนที่ผลิตจากการพันธุวิศวกรรม ส่วนโปรเจ็กต์เรือธงยังคงเป็น IL-2 ยาภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็ง

ดังนั้น แทนที่จะกระโดดมาเล่นเรื่อง PCR เต็มตัว Cetus เน้นไปที่การขายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ก็หาพันธมิตรมาร่วมลงทุน ยอมได้ส่วนแบ่งน้อยหน่อยแต่ก็ลดความเสี่ยงและไม่เสียโฟกัสจากงานหลัก

พันธมิตรเจ้าใหญ่ๆ ที่มาร่วมกับ Cetus มีทั้ง PerkinElmer (PCR เพื่องานวิจัย), Kodak และ Hoffmann la Roche (PCR เพื่องานวินิจฉัยโรค)

ผลงาน PCR สร้างชื่อให้ Mullis ในบริษัทแต่เขาก็ยังคงเป็นตัวป่วนจอมสร้างปัญหาเหมือนเดิม

นอกจากเรื่องทะเลาะวิวาทกับชู้สาวแล้ว Mullis ยังเป็นคนที่เสพยาหลอนประสาทพวก LSD อย่างเปิดเผย

เขาเคยเล่าในบทความและการสัมภาษณ์หลายครั้งว่ายาหลอนประสาทคือหนึ่งในเคล็ดลับความคิดสร้างสรรค์และประตูสู่ความจริงของจักรวาล (Tom White หัวหน้างานและรุ่นน้องคนสนิทสมัยเรียนเล่าว่า Mullis สังเคราะห์ยาไว้พี้เองตั้งแต่ตอนทำปริญญาเอก)

ปี 1985 ปีเดียวกับที่ PCR ออกสู่สายตาชาวโลก Mullis แจ้งความว่าเขาถูกมนุษย์ต่างดาวหน้าตาคล้ายแรคคูนเรืองแสงลักพาตัวไปหลายชั่วโมงระหว่างที่เดินเล่นอยู่แถวบ้าน!

ความล้มเหลวของโครงการ IL-2 พาบริษัท Cetus สู่วิกฤตการเงิน
Cr : ณฤภรณ์ โสดา

ปี 1986 Mullis ได้โอกาสไปนำเสนอผลงาน PCR ณ การประชุมใหญ่ด้านชีวโมเลกุลของมนุษย์ที่ Cold Spring Harbor คราวนี้ผู้ฟังทั้งหอประชุมถึงกับยืนขึ้นปรบมือเกรียวกราวเมื่อเห็นผลการทดลองที่น่าทึ่งและได้เข้าใจการประยุกต์ใช้ร้อยแปดพันเก้าจากเทคนิคอันเรียบง่ายที่สามารถก๊อบปี้เพิ่มจำนวนดีเอ็นเออะไรก็ได้อย่างจำเพาะตำแหน่งเป็นสิบๆ ล้านเท่าในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

Mullis โด่งดังไปทั่วในฐานะผู้คิดค้นเทคนิคสุดวิเศษนี้

นักวิจัยทั่วโลกรับเอาเทคนิคนี้ไปใช้อย่างรวดเร็ว เปเปอร์แรกจากทีมวิจัยนอก Cetus ที่ใช้ PCR ตีพิมพ์ออกมาภายในเพียงไม่กี่เดือนหลังจากการนำเสนอของ Mullis เอนไซม์ Taq DNA polymerase ถูกยกย่องให้เป็น “โมเลกุลแห่งปี” จากวารสาร Science

ส่วนเปเปอร์รายงานการทำ PCR ด้วย Taq DNA polymerase กลายเป็นงานวิจัยที่ถูกกล่าวอ้างสูงสุดในสาขาชีววิทยาต่อเนื่องกันหลายปี

ทุกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดีเอ็นเอไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ จุลชีววิทยา เกษตร สิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา วิวัฒนาการ ฯลฯ ต่างมีโอกาสได้ใช้ PCR ทั้งนั้น

 

ชื่อเสียงของ Mullis กลับสร้างความตึงเครียดระหว่างเขากับทีมวิจัย PCR ที่เหลือของ Cetus ซึ่งไม่ได้รับเครดิตเท่าที่ควร

Mullis เอาแต่พูดว่าเขาคือผู้คิดค้นหลักหนึ่งเดียวของเทคนิคนี้ พวกที่เหลือแค่มาเกาะหวังผลประโยชน์

ปี 1986 ปีเดียวกับที่ Mullis ได้รับเสียงปรบมือลั่นหอประชุม เขาถูกเชิญให้ออกจากบริษัทได้เงินเดือนชดเชยห้าเดือนกับโบนัสอีก 10,000 เหรียญสหรัฐ จากผลงานคิดค้น PCR

Cetus ยังคงเดินหน้าต่อ ชุด PCR สำเร็จรูปและเครื่อง thermal cycler ที่พัฒนาร่วมกับ PerkinElmer ออกวางตลาดครั้งแรกในปี 1987 ยอดขายปีแรกอยู่ที่ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ และพุ่งขึ้นไปถึง 26 ล้านเหรียญสหรัฐภายในเพียงสองปีถัดมา

แต่มรสุมการเงินของ Cetus กำลังเริ่มตั้งเค้า ปี 1987 Cetus ขาดทุนกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐจากการทุ่มงบประมาณมหาศาลอย่างต่อเนื่องไปกับงานฝั่งพัฒนายาจากพันธุวิศวกรรมโดยเฉพาะ IL-2

หลังจากปีนั้น Cetus ก็ขาดทุนเพิ่มเรื่อยๆ แทบทุกปีจนมาอยู่ที่ตัวเลขขาดทุนกว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 1990 โดยยังไม่มียาใหม่ตัวไหนออกตลาดสำเร็จ

ผลการทดสอบประสิทธิภาพการรักษามะเร็งในระดับคลินิกของ IL-2 ไม่ดีอย่างที่คาด แถมผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ

แม้ IL-2 ของ Cetus จะผ่าน FDA ได้วางขายในแปดประเทศยุโรปแต่ยอดขายไม่ดีเท่าไหร่

ส่วนในสหรัฐ กรรมการ FDA ตัดสินยังไม่ให้ IL-2 ผ่าน

ในปี 1990 ปีเดียวกับที่ Cetus ขาดทุนหนัก โปรเจ็กต์เรือธงกลายเป็นเรือล่มและ Cetus ก็เข้าตาจน

ปี 1991 Cetus ที่กำลังถังแตกถูกบีบให้ขายสิทธิในเทคโนโลยี PCR ทั้งหมดให้กับ Roche ที่ราคา 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

หน่วยวิจัย PCR ย้ายค่ายไปอยู่ภายใต้ Roche ส่วนที่เหลือของบริษัทที่ทำงานด้านพันธุวิศวกรรมผลิตยาถูกควบรวมไปอยู่ภายใต้ Chiron Corporation บริษัทไบโอเทครายใหญ่อีกเจ้าที่มูลค่า 660 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปิดตำนานบริษัทไบโอเทครายแรกของโลกหลังจากก่อตั้งมาได้ครบ 20 ปีพอดี

 

Cetus บริษัทไบโอเทคที่มีเพียบพร้อมทุกอย่างทั้งคน (นักวิจัยระดับโนเบลเต็มบอร์ดที่ปรึกษาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง), ทั้งเงิน (IPO ได้ทุนมาเป็นร้อยล้านเหรียญ สูงสุดในประวัติศาสตร์วอลล์สตรีต), ทั้งนวัตกรรมสุดล้ำ (เครื่องคัดแยกเชื้อของ Donald Glazer, เทคนิค PCR ของ Mullis และ IL-2 จากการพันธุวิศวกรรม) ล่มสลายลงจากการตัดสินใจผิดพลาด

“พวกเราเดิมพันทุกอย่างกับ IL-2 และเราแพ้” Ron Cape อดีต CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Cetus กล่าว ที่น่าเจ็บใจกว่านั้นคือเพียงหนึ่งปีให้หลัง Chiron Corporation ที่รับงาน IL-2 ไปทำต่อก็เข็นยาตัวนี้ผ่าน FDA สหรัฐได้สำเร็จ

ส่วน Roche ก็เอา PCR ไปทำต่อจนกลายเป็นเทคนิคสามัญประจำแล็บที่แทบทุกคนคุ้นเคยในปัจจุบัน

ผลกระทบอันใหญ่หลวงของเทคนิคนี้ทำให้คณะกรรมการโนเบลตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 1993 ให้กับ Kary Mullis นักวิจัยหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์ที่สังกัดบริษัทเอกชน (ซึ่งปิดตัวไปได้สองปีแล้ว)

หลังออกจาก Cetus แล้ว Mullis ก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทไบโอเทคหลายบริษัท และยังได้ร่วมตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ StarGene เสนอขายเครื่องเพชรพลอยฝังดีเอ็นเอของดาราดังผู้ล่วงลับ เขายังคงเสพยาหลอนประสาทและเล่นแผลงๆ ผิดมารยาท

ระหว่างไปงานรับรางวัลโนเบล Mullis เกือบถูกตำรวจจับที่สวีเดนเพราะเอาเลเซอร์ไปส่องคนเดินถนนจากห้องพักโรงแรม

ครั้งหนึ่งเขาเคยโชว์รูปโป๊เปลือยระหว่างสัมมนาใหญ่แล้วเคลมว่า “มันคือศิลปะ” เขาไม่เชื่อเรื่องหลุมโอโซน (ozone hole) และสภาวะโลกร้อน (global warming) กล่าวหาว่าเป็นเพียงการสมคบคิดระหว่างนักสิ่งแวดล้อมและรัฐบาล ส่วน HIV เป็นเรื่องกุขึ้นของนักวิจัยฉ้อฉล

Mullis เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “Dancing Naked in the Mind Field” เล่าประสบการณ์วิจัยและวีรกรรมประหลาดของตัวเองไว้

“โดยนิสัยแล้ว Kary Mullis คือ Donald Trump แห่งวงการชีวโมเลกุล” เพื่อนนักวิจัยคนหนึ่งกล่าวเปรียบเทียบ

ตอนหน้าเราจะเข้าสู่ทีเทคโนโลยีตัวที่สี่ (นอกจากการอ่านลำดับโปรตีน สังเคราะห์ดีเอ็นเอ และ PCR) ก็คือเทคโนโลยีอ่านลำดับดีเอ็นเอ (DNA sequencing) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของยุค Genomics และทำให้ Applied Biosystems (ABI) กลายเป็นตำนานแห่งบริษัทเครื่องมือไบโอเทคอย่างแท้จริง