หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๐๘)

บทความพิเศษ | ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๐๘)

 

ตอนฉันไปทำเลสิค ตั้งแต่ปี 1999 ตอนนั้นฉันอายุ ๔๖ ปี ฉันรู้ตัว ว่าดวงตาของฉัน มีต้อกระจก แต่ต้อของฉันยังเล็กอยู่ หมอบอกว่า วันหนึ่งต้องไปสลายต้อกระจก ฉันถามว่าเมื่อไหร่ หมอบอกว่า คุณจะรู้สึกตัวเอง เมื่อเกิดความรำคาญ

มันก็เป็นคำตอบที่ใช้ได้ แต่ทว่า ฉันก็ยังไม่สบายใจ เพราะความรำคาญของคนเราไม่เท่ากัน คนบางคนไม่ขี้รำคาญ เขาอาจจะอดทนสูง จุดที่ควรทำ จึงยังไม่ชัดเจน

หากหมอบอกว่า ให้ไปคอยตรวจทุกสามปี หรือทุกห้าปี หมอตาจะบอกฉันเอง จะยังดีกว่า แต่ฉันก็ไม่ได้ว่าอะไร

เวลาผ่านไปนานมาก ฉันเคยตรวจตาแค่สองสามครั้ง พบว่ามันโตขึ้น แต่ก็ยังไม่จำเป็นต้องทำอะไร แต่นานวันเข้า ฉันก็ลืม

ฉันรู้ตัวว่าวันหนึ่งต้องสลายต้อกระจก แต่ไม่รู้ว่าวันไหน ฉันไม่รีบร้อน เพราะรู้สึกเสียว กับการผ่าตัดดวงตา และเพราะรู้สึกว่า นี่จะเป็นครั้งสุดท้าย ฉันคงไม่มีโอกาสทำอีก แต่ความรู้สึกว่า แล้ววันหนึ่ง ดวงตาของฉันจะกลับมาดีขึ้น ก็เป็นความรู้สึกที่ซึ้งใจ ฉันรอคอยมัน

หลังทำเลสิค สายตาของฉันค่อยๆ สั้นลง

และคงเพราะต้อกระจก มีความมัวบางอย่างเกิดขึ้นด้วย เวลามองไกล

แต่มองใกล้ ยังดีอยู่ ฉันจึงรู้สึกว่า ไม่รำคาญ

หากขับรถ ฉันอาจรำคาญ แต่ทว่า ฉันก็ไม่ใช่คนขับรถ ทำไปทำมา ฉันก็รอมาเรื่อย จนอายุ ๗๐ ปี

 

พออายุ ๗๐ บังเอิญฉันต้องทำบอลลูน

วันนั้น ฉันตัดสินใจทันที ว่าจะทำต้อกระจก เพราะรอมานานแล้ว ควรจัดการในปีเดียวกัน ฉันจึงไปหาหมอ ที่บำรุงราษฎร์ หมอตรวจแล้วบอกว่า คุณอดทนมาก ต้อของคุณใกล้สุกแล้ว ยังทำได้ แต่ผลที่ออกมาอาจจะได้แค่ ๘๐% ฉันฟังแล้วรู้สึกตกใจ ถามตัวเองว่า ฉันช้าเกินไปอีกแล้วหรือ

หมอบอกในการทำ จะทำลำบาก อาจต้องฉีดยาชา

คุณหมอคุยถึงเคสของฉัน อย่างซีเรียส

ภาพที่เห็นบนจอ น่าสะพรึงกลัว

มันคือภาพดวงตาที่ใกล้บอด

แต่ฉันตัดสินใจจะทำต้อกระจก ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และหมอที่จุฬาฯ ไม่เห็นว่าอะไร เธออายุยังน้อย ตอบต่อเคสของฉันอย่างปกติ ฉันเข้าคิวเหมือนคนอื่น เวลาที่หมอให้กับฉันก็ไม่มากอะไร

ก่อนทำ ฉันไปหาหมอที่ TRSC ซึ่งเคยทำเลสิคให้ฉัน เพื่อตรวจตาอีกที และได้เจอหมอตาที่นั่น เธอบอกว่า เพราะดวงตาของฉันเคยทำเลสิค มันจะทำให้ดวงตาของฉันแตกต่างออกจากคนที่ไม่เคยทำเลสิค เวลาสลายต้อมันจะได้ผลไม่เต็มที่ อาจได้แค่ ๘๐% เท่านั้น ทำเสร็จแล้ว หากมองใกล้ ต้องใส่แว่นตา ฉันฟังแล้วตกใจ เพราะขนาดฉันสายตาสั้น และมีต้อ แต่เวลาอ่านหนังสือฉันไม่เคยใส่แว่นตาเลย เรียกว่าสายตาของฉันยังใช้งานได้ดี ทำไมมาทำต้อแล้วกลับต้องใส่แว่น มันสวนความรู้สึกของฉันอย่างแรง เรียกว่ารับไม่ได้เลย ฉันเชื่อว่าดวงตาของคนเรานั้นแตกต่างกัน เป็น case by case ฉันไม่ชอบให้ใครมากำหนด

ฉันอยากเสี่ยงแบบของฉันเอง อย่ากำหนดได้ไหม

แต่เวลากลับมาจุฬาฯ ก็ไม่เห็นหมอว่าอะไร เธอไม่ได้รับประกันว่าผลจะออกมาเพอร์เฟ็กต์ แต่ก็ไม่ได้ขู่ฉัน เราเลือกเลนส์ว่าควรเอาแบบไหน ก็แค่นั้นเอง และฉันเลือก Mono Vision คือเลือกดวงตาเด่น คือเลนส์ตาขวา ให้เป็นเลนส์ธรรมดา มองไกลได้แบบปกติ แต่ตาซ้าย กลับเลือกเลนส์ที่คงสายตาสั้นไว้ ประมาณ ๑๕๐ สมัยฉันทำเลสิคก็ทำแบบนี้ ฉันจึงชอบ ตัดสินใจได้ทันที ไม่ลังเล ฉันรู้สึกมันเหมาะกับดวงตาของฉัน

ฉันเลือกทำดวงตาสองข้างพร้อมกัน แต่ก็ต้องขออนุญาตหมอก่อน และเธอก็อนุญาต บอกว่า ทำทีละข้าง หรือสองข้างพร้อมกัน ก็ต่างกันแค่เล็กน้อย แต่สำหรับฉันแล้ว มันสะดวกกว่ากันเยอะเลย แปลกใจว่า ทำไมคนส่วนใหญ่เลือกทำทีละข้าง

วันที่ทำการสลายต้อกระจก หมอใช้เวลา ๓๐ นาที ต่อการทำสองข้าง มันไม่เจ็บอะไร เพียงแต่ตึงๆ หมอบอกให้จ้องมองดวงไฟสองดวง ฉันก็จ้องมอง พบว่ามันแปรเปลี่ยนรูปร่างและสีสันตลอดเวลา อย่างน่าพิศวง เหมือนเป็นยานอวกาศ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังดูหนัง SF เรื่องหนึ่ง หากแต่มันเป็นความจริง ดวงตาของฉันกำลังทำความมหัศจรรย์กับภาพที่เห็นตรงหน้า

ฉันกำลังดูสนุกๆ หมอก็บอกว่าเสร็จแล้ว

 

จากนั้น หมอให้ฉันนอนพัก ๑ ชั่วโมง ระหว่างนั้นเธอปิดดวงตาของฉันสนิท

หลังจากนั้นก็เปิดตา ใส่รวงผึ้ง กลับบ้านได้

ฉันเดินขึ้นรถ กลับบ้าน ระหว่างทางก็ยังมองได้ เพียงแต่ดวงตายังระบม และแสบตา ไม่สู้แสง คงเนื่องมาจากการขยายม่านตา

กลับมาบ้านก็ได้แต่นั่งๆ นอนๆ และคอยหยอดตาทุกสองชั่วโมง

จนถึงกลางคืน หลับไป

๑๐

วันรุ่งขึ้น ฉันก็สามารถถอดรวงผึ้งได้ มองได้ปกติ และไปหาหมออีกครั้ง เพื่อตรวจตา เพียงแต่เวลาออกไปข้างนอกฉันต้องใส่แว่นกันแดด ต้องคอยระวังอย่าไปขยี้ตา หรืออย่าให้น้ำเข้าตา

นอกจากนั้น ฉันก็ใช้ชีวิตปกติ

ที่จริงเขียนหนังสือได้ ทำงานคอมพิวเตอร์ได้

ทุกอย่างชัดเจน

ฉันรู้ตัวตั้งแต่ตอนหยอดตา เพราะเวลาหยอดตา ฉันต้องถอดรวงผึ้ง ซึ่งเวลาถอด โลกข้างนอกก็สวยงาม สดใส

 

๑๑

วันต่อมา ฉันไปเที่ยวแล้ว ไปเยี่ยมญาติ และไปช้อปปิ้ง

เพียงแต่ใส่แว่นกันแดด เวลาออกข้างนอก เพราะกลัวฝุ่น มากกว่ากลัวแดด

เวลาอยู่ในคอนโดฯ ฉันก็ถอดแว่น เพียงแต่คอยระวังแสงแดด ไม่ให้จ้าเกินไป ด้วยการปิดผ้าม่านชั้นนอก และใช้ชีวิตตามปกติ เพียงแต่เวลานอนต้องใส่รวงผึ้ง เพราะเวลานอนหลับ เราอาจไม่รู้ตัว ไปขยี้ตาเวลาหลับ

๑๒

ตอนแรกไม่กล้าสระผม เพราะกลัวน้ำเข้าตา

แต่คิดอีกที ไม่สระผม ไม่ล้างหัว หัวจะสกปรก ฉันคิดจะไปที่ร้าน ให้เขาสระให้ แต่เปลี่ยนใจ คิดว่าไม่จำเป็น ฉันใส่ goggles ที่ใช้เวลาว่ายน้ำ มันกันน้ำเข้าตาได้ แล้วก็สระผมตามปกติ ทำไปทำมาฉันก็อาบน้ำตามปกติ เพียงแค่สวมแว่นเท่านั้นเอง

๑๓

ต่อมา ฉันก็ออกมาเดินเล่นตามเดิม เพราะการไม่ว่ายน้ำ และไม่เดินเล่นไกลๆ จะทำให้ฉันขาดการออกกำลังกาย ซึ่งฉันรับไม่ได้ ฉันออกมาเดินเล่นเหมือนเคย แต่ยังไม่กล้าว่ายน้ำ หมอบอกให้รอหนึ่งเดือน และฉันก็ทำตาม

ต่อมา ฉันโกนผมให้ตัวเอง เหมือนที่เคย

ฉันควรใส่รวงผึ้งนอนกี่วันดี ฉันแปลกใจ

ถามคุณพ่อของแฟน เขาเคยทำต้อ เขาบอกว่า ๕ วันก็พอ

พอถามคุณแม่ของแฟน เธอก็เคยทำต้อเช่นกัน เธอบอกว่า ๗ วัน

พอโทร.ไปถามโรงพยาบาล พยาบาลบอกว่า ๑ เดือน

ข้อมูลไม่ตรงกัน ฉันก็ยังลังเล

๑๔

ฉันใส่รวงผึ้งนอนทุกคืน จนเวลาผ่านไป ๑๔ วัน ฉันจึงเริ่มรู้สึกรำคาญ วันนั้นฉันลองถอด แต่นอนไม่ค่อยหลับ มีกังวล กลัวว่าเวลาหลับไปจะเผลอเอามือไปขยี้ตา วันถัดมาฉันจึงกลับมาใส่รวงผึ้งนอนอีก คิดว่าใส่ให้ครบเดือนเลยดีกว่า เพราะจิตของฉันมีกังวล

แต่น่าประหลาด พอมาถึงวันที่ ๑๖

อยู่ๆ จิตของฉันก็ปล่อยวาง พร้อมจะถอดรวงผึ้ง

เวลานอนก็ไม่กังวล

ไม่รู้เพราะอะไร เหมือนวันนั้น อยู่ๆ จิตของฉันก็พร้อมขึ้นมา

ในขณะที่สองวันก่อน จิตของฉันยังไม่พร้อมดี ฉันไปฝืนมันนิดหนึ่ง

สรุปคือ ฉันก็ไม่เชื่อใครทั้งนั้น เชื่อจิตตัวเอง

เวลาไม่กังวล มันเหมือนมีอะไรหลุดออกมา

 

๑๕

ประสบการณ์การทำต้อของฉัน ก็เรียบง่าย แต่ก็ซึ้งดี หากเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งมีความหลากหลายเป็นอันมาก ด้วยดวงตาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีปัญหาแทรกซ้อน หมอบอกดวงตามีโรคได้หลายอย่าง

แต่ของฉันเรียบง่าย และผลที่ออกมาก็น่าพอใจ

ฉันให้คะแนน ๙๕% มองไกลชัด มองใกล้ชัด

เวลาอ่านหนังสือ หากตัวเล็ก บางครั้งต้องเพ่ง บางครั้งต้องปรับไฟ ปรับดวงตาตัวเอง ปรับระยะ แต่ทว่า ก็เป็นเรื่องปกติ แค่นี้ฉันก็พอใจ

ฉันอยากเสี่ยงแบบของฉันเอง อย่ากำหนดได้ไหม

๑๖

หลักการของฉันคือ หากเป็นการผ่าตัด หรือโรคร้ายแรง ฉันอยากใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐ เพราะพวกเขามีหมอเก่ง และมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย และพวกเขาจะไม่ใส่ใจฉันมากนัก

โรงพยาบาลเอกชนเหมาะกับโรคภัยไข้เจ็บที่ธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน เพราะฉันไม่อยากเข้าคิว

แต่ทว่า หากเป็นโรคร้ายแรง หรือการผ่าตัด ฉันกลับไม่ชอบ เพราะพวกเขาจะโอ๋ฉันมากเกินไป ซึ่งฉันกลับหวาดกลัว