รัฐนาวาไทย 2567 (จบ) ความท้าทาย 5 ประการ | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ยุทธศาสตร์ที่ดีคือ ยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดผลกระทบทางยุทธศาสตร์ที่เพียงพอในการตอบสนองต่อความต้องการในการทำนโยบาย”
Colin S. Gray

 

กล่าวนำ

บทความนี้เป็นการนำเสนอข้อพิจารณาที่กล่าวถึงภารกิจของรัฐบาลในปีใหม่ คือการฟื้นฟูสถานะของรัฐไทย

โดยในตอนแรกได้นำเสนอใน 3 มิติ คือ การฟื้นฟูสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ส่วนในตอนที่ 2 จะนำเสนอเพิ่มในอีก 2 มิติ คือ การฟื้นฟูสถานะด้านการต่างประเทศ

และสุดท้ายคือ ด้านความมั่นคง

 

4) การฟื้นฟูสถานะด้านการต่างประเทศ :
ประเทศไทยต้องกลับสู่จอเรดาร์โลก

การพาประเทศไทยกลับเข้าสู่ “จอเรดาร์โลก” ต้องถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของรัฐบาลสำหรับการทำงานในปี 2567 เนื่องจากสถานะของไทยในเวทีสากลตกต่ำลง อันเป็นผลโดยตรงจากการยึดอำนาจที่เกิดในปี 2557

ซึ่งก่อนการรัฐประหารนั้น ตัวชี้วัดประชาธิปไตยของไทยจากการดำเนินการของรัฐบาลพลเรือนอาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่ก็มิใช่ตัวชี้วัดที่ตกต่ำลงอย่างมากในแบบยุคของรัฐบาลทหาร

เพราะการเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารนั้น เป็นด้านลบประการสำคัญ เพราะรัฐประหารคือการบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่พาประเทศออกจาก “ระบอบประชาธิปไตยแบบสภาผู้แทนราษฎร” (parliamentary democracy) ไปสู่การเป็น “ระบอบอำนาจนิยม” ของรัฐบาลทหาร

ดังนั้น หลังจากรัฐประหาร 2557 แล้ว สถานะทางการเมืองของประเทศที่ถูกมองผ่านตัวชี้วัดประชาธิปไตยและนิติรัฐ จึงเป็นประเด็นที่เห็นได้อย่างชัดเจน หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า ไม่จำเป็นต้องวัดก็เห็นได้ชัดเจนจากการกำเนิดของ “ระบอบทหาร” ที่มีนัยถึงการสิ้นสุดของ “ระบอบเลือกตั้ง”

และสถานะเช่นนี้ดูจะตกต่ำลงไปอีกเมื่อพิจารณาในรายละเอียดของระยะห่างของการรัฐประหาร ที่รัฐประหารทั้ง 2 ครั้งล่าสุดนั้น มีระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 10 ปี อันเท่ากับเป็นสัญญาณของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างมาก

ฉะนั้น รัฐประหารจึงเป็นภาพสะท้อนถึงความเป็น “การเมืองของประเทศกำลังพัฒนา” หรือบางคนอาจเรียกให้ต่ำลงว่า “การเมืองประเทศด้อยพัฒนา”

ภาวะเช่นนี้ทำให้การเมืองของประเทศเข้าไปติดอยู่ใน “วงจรรัฐประหาร” ที่มีนัยอีกว่าการเมืองในประเทศเช่นนี้ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว มักจะพาตัวเองออกจากการรัฐประหารไม่ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า เมื่อใดที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมการเมืองแล้ว เมื่อนั้นความขัดแย้งนี้มักจะจบลงด้วยการยึดอำนาจของผู้นำทหาร ที่เป็นเครือข่ายสำคัญของชนชั้นนำในการควบคุมการเมือง

หากมองในบริบทระหว่างประเทศแล้ว ความสำเร็จของการรัฐประหารคือ การพาประเทศถอยออกไปจาก “บรรทัดฐานเสรีประชาธิปไตย” อันเป็นการส่งสัญญาณว่า การเมืองไทยจะไม่อยู่ในกระแสของระเบียบโลกที่เป็นเสรีนิยม (liberal international order) และการสร้างระบอบทหารมีนัยถึงการต้องพาตัวเองให้เข้าไปอยู่ในค่ายทางการเมืองที่เป็นอำนาจนิยม

หากแต่เราคงต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า กระแสหลักในเวทีโลกเป็นกระแสเสรีนิยม แม้ในช่วงที่ผ่านมา กระแสเสรีนิยมในเวทีโลกอาจจะไม่ได้พัดแรงเท่ากับในช่วงต้นของยุคโลกาภิวัตน์ก็ตาม

ดังนั้น การสร้างระบอบอำนาจนิยมในบ้านจึงเป็นการเดินสวนกระแสโลกที่เป็นเสรีนิยม ซึ่งย่อมจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารไทยมาโดยตลอด

ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน ซึ่งทำให้ในด้านหนึ่งนั้น รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ จำเป็นต้องพึ่งพาความสนับสนุนทางการเมืองจากรัฐมหาอำนาจใหญ่ฝ่ายตะวันออก ที่มีท่าทีชัดเจนในการเป็น “โล่” เพื่อต้านทางแรงกดดันของรัฐบาลประชาธิปไตย

และในอีกด้านหนึ่ง ก็จะต้องพาประเทศไทยหลีกหนีออกไปจากเวทีโลก เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายของการวิจารณ์ ในอีกด้าน การไม่อยู่ในจอเรดาร์โลก ก็ทำให้โลกไม่ต้องมาสนใจไทยด้วย

ฉะนั้น การไม่อยู่ในจอเรดาร์โลกจึงเป็นผลประโยชน์โดยตรงของรัฐบาลทหาร เพราะไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงกระแสเสรีนิยมของระเบียบโลก

กล่าวคือ ไม่ต้องสนใจกับความเป็นประชาธิปไตย นิติรัฐ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในสังคม และทั้งยังไม่ต้องเคารพในเรื่องของสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

และการไม่ต้องสนใจกับบรรทัดฐานของโลก จึงทำให้ระบอบทหารสามารถใช้อำนาจทางการเมืองในแบบต่างๆ โดยเฉพาะการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง ตลอดรวมถึงฝ่ายค้านในสังคม

แม้จะเกิดการเลือกตั้งในปี 2562 แต่ก็เป็นเพียงการใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้นำรัฐประหารเดิมขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง ด้วยการจัดตั้ง “ระบอบไฮบริด” (hybrid regime)

แต่ระบอบนี้ก็ไม่สามารถพาประเทศเดินทางไปกับกระแสโลกที่เป็นเสรีนิยมได้จริง ระบอบพันทางของผู้นำทหารไทยจึงยังคงต้องพึ่งพิงอยู่กับรัฐมหาอำนาจฝ่ายตะวันออก

ดังนั้น การเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้ง 2566 จึงเป็นโอกาสที่จะฟื้นฟูสถานะของรัฐไทยในเวทีโลก พร้อมกับการสร้างความเป็นการเมืองแบบเสรีนิยม อันจะเป็นเงื่อนไขของการพาประเทศกลับสู่กระแสโลกในปี 2567 ไม่ใช่การต้องยึดโยงอยู่กับฝ่ายอำนาจนิยมในเวทีโลก เพียงเพราะสถานะของการเมืองภายในเป็นอำนาจนิยมด้วย

แน่นอนว่าการฟื้นฟูสถานะของรัฐไทยในเวทีโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความท้าทายที่สำคัญของสภาวะระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก และเห็นชัดจากปัญหาสงครามยูเครนหลังปี 2565 และสงครามกาซาหลังปี 2566

ดังนั้น การประคองสถานะของประเทศในเวทีโลกที่แรงเสียดทานจากการแข่งขันเช่นนี้ จะเป็นประเด็นที่ต้องคิดในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และทั้งยังต้องพิจารณาถึงแรงกระทบที่เกิดจากปัญหาสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สงครามกลางเมืองในเมียนมา ที่อาจจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในปีหน้าอีกด้วย

 

5) การฟื้นฟูสถานะด้านความมั่นคง :
ความมั่นคงเก่าผสมผสานความมั่นคงใหม่

ปัญหาความมั่นคงเป็นโจทย์สำคัญอีกประการของรัฐบาลปัจจุบัน เพราะในช่วง 5 ปีของการปกครองของรัฐบาลทหาร และอีก 4 ปีต่อมาของรัฐบาลพันทางของผู้นำทหาร หรือในเวลา 9 ปีของผู้นำรัฐประหารในการเมืองไทยหลังการยึดอำนาจในปี 2557 นั้น ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งในปี 2567 หรือในปีใหม่นี้จะเป็นระยะเวลาครบรอบ 20 ปีของความรุนแรงของสงครามก่อความไม่สงบในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ของไทย

ในวาระครบรอบ 20 ปีเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสของการพิจารณาทบทวนครั้งใหญ่ของรัฐไทยต่อปัญหาความรุนแรงชุดนี้ (ไม่อยากใช้คำว่า “สรุปบทเรียน” เพราะสุดท้ายแล้วมักจะกลายเป็น “บทลืม” มากกว่าจะเป็นบทเรียนที่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง!)…

การต่อสู้ที่เกิดขึ้นทั้งจากการก่อความไม่สงบ และการต่อต้านการก่อความไม่สงบล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยความใคร่ครวญ ทั้งยังมีนัยถึงการกำหนด “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” ในปีที่ 21 มากกว่าจะปล่อยไปภายใต้สิ่งที่ผู้เขียนอยากขอเรียกว่า “ยุทธศาสตร์ตามน้ำ” คือทิศทางยุทธศาสตร์ของรัฐถูกกำหนดจากกระแสและสภาพแวดล้อมของเหตุการณ์

ซึ่งยุทธศาสตร์เช่นนี้ไม่เอื้อต่อการกำหนดการเดินไปสู่ความสำเร็จของการยุติ “สงครามภาคใต้” อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความมั่นคงไทยมิได้มีเพียงการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นในแบบที่สงครามคอมมิวนิสต์เป็นสถานการณ์หลักของปัญหาความรุนแรงในยุคสงครามเย็น หากแต่ยังมีปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ หรือที่เป็นความมั่นคงในแบบที่ไม่ดั้งเดิม (non-traditional security) ที่ปรากฏให้เห็นชัดในบริบทโลกมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น

หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งว่า เป็นปัญหาความมั่นคงในยุคโลกาภิวัตน์ ที่เป็นยุคสมัยของโลกในศตวรรษที่ 21

ตัวอย่างของความใหม่ของปัญหาความมั่นคงในเวทีโลกเช่นนี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น “วิกฤตอากาศ” (climate crisis) ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศของโลก

ปัญหา “ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข” (health security) ที่ปรากฏชัดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ซึ่งหากพิจารณาในกรอบมหภาคแล้ว ผลพวงจากวิกฤต 2 ชุดนี้ ทำให้เกิด “วิกฤตอาหาร” (food crisis) และทั้งยังทำให้เกิดการอพยพของประชากรภายใน

และเมื่อวิกฤตเหล่านี้ถูกถาโถมจาก “วิกฤตสงคราม” ที่เกิดจากปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นจากตัวแสดงภายในรัฐ หรือตัวแสดงภายนอกรัฐ การหลอมรวมเช่นนี้จะยิ่งทำให้วิกฤตในหลายพื้นที่ของโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น

และบางส่วนของวิกฤตเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในบริบทไทย หรือเป็นปัจจัยที่ส่งกระทบต่อรัฐและสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

อีกทั้งสภาวะของปัญหาความมั่นคงใหม่เช่นนี้ยังมีนัยถึงการเป็นภัยคุกคามที่มีลักษณะข้ามชาติ การแก้ปัญหาจึงมีนัยถึงความต้องการในการมีความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค เช่น การผลักดันผ่านความร่วมมืออาเซียน

การรับมือกับปัญหาความมั่นคงใหม่เหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะส่วนหนึ่งปัญหาความมั่นคงมีความหลากหลาย และจำเป็นต้องอาศัยการทำงานและประสานหลายหน่วยงาน

ขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายต่อการกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหา

ตัวอย่างที่เป็นปัญหาความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขเฉพาะหน้าในปัจจุบันคือ ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) ที่เป็นวิกฤตสำคัญหนึ่งของสังคมไทยขณะนี้ หรือปัญหาความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติและอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัญหาความมั่นคงสำคัญอีกส่วนเป็นประเด็นที่กล่าวแล้วในข้างต้น คือผลกระทบของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาสงคราม ตลอดรวมถึงความขัดแย้งในเวทีโลก และในเวทีภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไทย

ซึ่งคงได้แต่หวังว่า จากสงครามยูเครน สู่สงครามกาซาแล้ว… ปี 2567 จะมีสงครามใหญ่เกิดขึ้นตรงจุดไหน ที่จะกลายเป็นวิกฤตโลกอีกหรือไม่

 

ความท้าทายไม่เคยจบ!

ความท้าทายทั้งหมดเช่นนี้ จึงเป็นเสมือน 5 เส้นทางที่รัฐบาลต้องเดินในอนาคต

ดังนั้น จึงอยากเปรียบเทียบว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ควบคุมการเดินรถทั้ง 5 สายให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อบรรลุความสำเร็จในนโยบายที่ได้ตั้งไว้

ขณะเดียวกันก็ต้องการคนขับรถทั้ง 5 สายนี้ ที่มีความรู้และความชำนาญในเส้นทาง ไม่ใช่คนขับที่พารถหลงทาง

หรือแย่ที่สุดคือ คนขับรถไม่เป็น แต่อยากขอขึ้นมาถ่ายรูปว่า เป็นคนที่นั่งหลังพวงมาลัย

ในปีหน้า ปัญหาน่าจะรุนแรงขึ้น เช่นที่ความท้าทายก็น่าจะมีมากขึ้นด้วย เราจึงไม่น่าจะมีเวลาขับรถหลงทาง หรือใช้คนที่ขับรถไม่เป็นไปเรื่อยๆ แล้ว!