อนารยชน ใต้ร่มอาณานิคมของคนขาว ในชิ้นงานศิลปะของปอล โกแกง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในช่วงระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2566-24 มีนาคม พ.ศ.2567 ที่หอศิลปะแห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ (National Gallery Singapore) ได้จัดให้มีนิทรรศการชั่วคราวที่น่าสนใจที่มีชื่อว่า “เรื่องราวต่างๆ ในเขตร้อน จากอุษาคเนย์และละตินอเมริกา” (Tropical Stories from Southeast Asia and Latin America)

อ่านเอาเฉพาะแค่จากชื่อหัวข้อแล้ว ก็ดูเหมือนจะเชื่อมโยงถึงกันได้ยากนะครับ ว่า “อุษาคเนย์” จะไปเกี่ยวอะไรกันกับดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไปทางอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างภูมิภาคอเมริกากลาง ไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้ อันเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมแบบที่เรียกว่า “ละตินอเมริกา” ได้?

แต่หากได้เข้าไปดูในตัวนิทรรศการแล้ว ก็จะเข้าใจได้ในพลันเลยทีเดียวว่า ดินแดนทั้งสองภูมิภาคนี้ถูกร้อยรัดเรื่องราวเข้าด้วยกันผ่านความเป็น “รัฐ” ที่ตกเป็น “อาณานิคม” ของคนขาว (white man) ในช่วงจุดสูงสูงของยุคล่าอาณานิคมในจักรวรรดิยุโรปคือ ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ตรงกับช่วงราวรัชกาลที่ 4-6 ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย)

และเมื่อเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงในหอศิลปะ แถมยังเป็นหอศิลปะแห่งชาติ ของประเทศที่ทุ่มทุนให้กับเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอย่างประเทศสิงคโปร์แล้ว เรื่องราวดังกล่าวก็ย่อมถูกเล่าผ่านชิ้นงานศิลปะในยุคสมัยอาณานิคม และชิ้นงานในยุคหลังที่ได้รับอิทธิพลสืบเนื่องมา โดยก็มีจัดแสดงทั้งงานของศิลปินในอุษาคเนย์ ศิลปินละตินอเมริกา รวมถึงศิลปินชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

แถมยังมีงานของศิลปินชื่อดังหลายคนมาจัดแสดงเอาไว้ เช่น งานของศิลปินสาวจอมอาภัพ ชาวเม็กซิกันอย่าง ฟรีดา กาห์โล (Frida Kahlo, พ.ศ.2450-2497) มาจัดแสดงให้ชมกันด้วย

แต่นอกเหนือจากความรู้ ความอิ่มเอิบใจ และความสนุกสนานที่ได้รับจากการเสพความงามของศิลปะแต่ละชิ้น, กลวิธีในการเล่าเรื่อง การนำเสนอ และถอดรหัสเบื้องหลังของชิ้นงานในนิทรรศการแล้ว ผมยังออกจะชอบใจกับส่วนที่คล้ายกับเป็นบทนำของนิทรรศการ ซึ่งเริ่มด้วยเรื่องราวของศิลปินคนสำคัญในช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ร่วมเคลื่อนไหวอยู่ในกระแสศิลปะแบบหลังอิมเพรสชั่นนิสม์ (Post-Impressionism) อย่าง ปอล โกแกง (Paul Gaugain, พ.ศ.2391-2446)

ข้อมูลในนิทรรศการดังกล่าวระบุว่า ครั้งหนึ่ง โกแกงได้ไปเข้าร่วมงาน The Exposition of Universelle of 1889 หรือที่เรียกกันเก๋ๆ ว่า EXPO Paris 1889 ซึ่งถือเป็นงาน world’s fair ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีการจัดขึ้นมาในโลกใบนี้เลยทีเดียว

ก็ยิ่งใหญ่ระดับที่สิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในโลกยุคนั้น อย่างอะไรที่เรียกกันว่า “หอไอเฟล” (สูง 330 เมตร เทียบได้กับตึกสูง 81 ชั้น) นั้น ก็คือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นประตูทางเข้าของงานในครั้งนั้นเลยทีเดียว

ส่วนที่ทางฝรั่งเศส (แน่นอนว่างานต้องจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้น จึงเรียกกันอย่างลำลองว่า EXPO Paris 1889) ต้องจัดงานยิ่งใหญ่ขนาดนี้ก็เป็นเพราะเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 (พ.ศ.2332) อันเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของชาติฝรั่งเศสนั่นเอง

โกแกงนั้นเป็นชาวฝรั่งเศส แถมยังลืมตาดูโลกที่กรุงปารีสเสียด้วย ดังนั้น ถ้าเขาจะมีโอกาสเข้าร่วมในงานมหกรรมสุดอลังการที่ว่านี้ก็ไม่เห็นที่จะแปลก

แต่ประเด็นที่ผู้จัดนิทรรศการชี้ชวนให้เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็เป็นเพราะทางผู้จัดทำนิทรรศการพยายามจะชี้ให้เห็นว่า โกแกงนั้นได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะในช่วงหลังจากการเข้าชมงาน EXPO Paris 1889 ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการมองชนพื้นเมืองที่ตกเป็นอาณานิคมว่า เป็นชนชาติที่ล้าหลัง ไม่มีวัฒนธรรมสูงส่งเท่ากับคนขาว คือชาวยุโรป

แต่ถึงจะมีพื้นฐานความคิดอย่างนี้แล้ว โกแกงก็เลือกที่จะไปตามหา “ความดิบ” ทางวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองในสถานที่ห่างไกลจากวัฒนธรรมของชาวยุโรป เพื่อที่นำมาถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานภาพจิตรกรรมที่งดงามต่างๆ จนทำให้โกแกงได้เดินทางไปยังใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะตาฮิติ ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้

ถึงแม้ว่าภายในนิทรรศการจะไม่ได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ศึกษางานของโกแกงว่า ที่นั่นเขาทั้งตื่นตาตื่นใจไปกับสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองบนเกาะ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ชาวยุโรปอย่างเขาคุ้นชินเลยสักนิด

จึงทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะออกมาเป็นจำนวนมาก (ถ้าจะว่ากันตามข้อเสนอของนิทรรศการแล้ว โกแกงกำลังมองชนพื้นเมืองผ่านสายตาของเจ้าอาณานิคม ที่มองวัฒนธรรมอื่นด้อยกว่าวัฒนธรรมของคนขาว คือมองด้วยสายตาที่ “แปลกถิ่น” [exotic])

ถ้าจะบรรยายภาพวาดของโกแกงในช่วงนี้ ผมคงจะอธิบายได้ไม่ดีเท่ากับที่คอลัมนิสต์ของมติชนสุดสัปดาห์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการศิลปะอย่างคุณภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ที่เคยเขียนถึงงานของโกแกงที่วาดในเกาะตาฮิติเอาไว้ ดังนั้น จึงขอยกข้อความที่คุณภาณุเคยพรรณนาเอาไว้มาเพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจในชิ้นงานของโกแกง ดังความที่ว่า

“เขา (โกแกง) วาดภาพที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชนพื้นเมืองออกมาอย่างอ่อนโยน ด้วยสีสันสดใสจัดจ้าน รูปทรงที่แบนราบ หยาบกระด้างบิดเบี้ยว หากแต่บริสุทธิ์ และซื่อตรง”

ชิ้นงานแบบที่คุณภาณุได้อธิบายเอาไว้นี่แหละครับ คือชิ้นงานแบบที่นิทรรศการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเป็นงานที่สร้างขึ้นภายใต้กรอบคิด และสายตาของคนขาว ที่มองชนกลุ่มอื่นที่ตกเป็นอาณานิคมด้อยกว่า และงานศิลปะแบบนี้เองที่ทั้งตอกย้ำ ผลิตซ้ำ และเผยแพร่ความคิดแบบนี้ออกไปผ่านชิ้นงานศิลปะ

Paul Gauguin. Pobre Pescador (Poor Fisherman). 1896.

อันที่จริงแล้ว ถ้าหากทราบชีวประวัติของโกแกงแล้ว ก็จะรู้ว่าความจริงแล้ว โกแกงนั้นถือได้ว่ามีชีวิตที่ซัดเซพเนจร จนต้องรอนแรมทางไปยังดินแดนส่วนต่างๆ ของโลกอยู่มากมายหลายที่ ก่อนที่เขาจะได้ไปเที่ยวชมงาน EXPO Paris 1889 เสียอีก

เพราะถึงแม้ว่าโกแกงจะเกิดที่กรุงปารีส แต่ชีวิตในวัยเด็กเขาก็ต้องอพยพลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในเมืองลิมา ประเทศเปรู (ซึ่งเขาก็ประทับใจจนแสดงมันออกมาผ่านชิ้นงานศิลปะในภายหลัง) แถมต่อมาในช่วงชีวิตวัยรุ่น เขาก็ดูจะโหยหาดินแดนอันห่างไกลจากยุโรป

ก่อนที่จะทิ้งอาชีพต่างๆ มาเป็นศิลปินเต็มตัวนั้น เขาเคยเป็นทั้งลูกเรือเดินสมุทร และทหารเรือ

ดังนั้น ถ้างาน EXPO Paris 1889 จะมีอิทธิพลต่อโกแกง ก็คงจะเป็นในส่วนของมุมมองที่มีต่อวัฒนธรรมที่แปลกถิ่น มากกว่าความโหยหาดินแดนนอกพื้นทวีปยุโรป

อย่างไรก็ตาม งาน EXPO Paris 1889 ก็น่าจะมีอิทธิพลถึงมุมมองถึงวัฒนธรรมที่แปลกถิ่นต่อโกแกงจริงๆ

เพราะถึงแม้ว่าภายในนิทรรศการจะไม่ได้บอกถึงรายละเอียดของงาน world’s fair ในครั้งนั้น

แต่อุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังของเจ้างาน world’s fair หรือ EXPO ต่างๆ ในยุคนั้น การจัดแสดงสิ่งของนานาชาติ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้านำสมัยในแต่ละด้าน หรือวัฒนธรรมอันวิจิตรพิสดารพันลึกของประเทศตนเองต่อสายตาของชาวโลก ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก และมีการจัดขึ้นหลายครั้งในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา

โดยมีงาน EXPO Paris 1889 เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพราะภายในงาน EXPO ครั้งนี้ได้เกิดการแบ่งส่วนพื้นที่การจัดแสดงเป็นสองส่วน

ซึ่งมักจะเรียกรวมๆ กันว่า โซน “White City” กับ “Colonial section” ขึ้นเป็นครั้งแรก

แน่นอนว่า “White” ใน “White City” นี่ก็หมายถึง “คนขาว” หรือพวกฝรั่งนี่แหละ

แค่ชื่อก็เห็นกันอยู่ชัดๆ แล้วว่า เป็นการเหยียดชนชาติอื่นที่ไม่ขาว ไม่ว่าผิวคุณจะเหลือง หรือว่าจะดำ ก็ถูกเหยียดแบบ “เสมอภาค” เหมือนกันทั้งหมด

ส่วนอะไรที่ถูกจัดแสดงอยู่ใน “เมืองของคนขาว” นี้ก็คือ ความก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ของกลุ่มประเทศที่ศิวิไลซ์เขา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การขนส่ง เทคโนโลยีล้ำสมัยในยุคโน้น การเกษตรแบบทันสมัย และอีกสารพัด

ในขณะที่โซน “Colonial section” หรือส่วนของพวกที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นโซนที่มีแต่ชาติใต้อาณานิคมของพกฝรั่งในยุคนั้นเท่านั้น

แต่หมายถึงโซนของพวกคนที่ไม่ขาวอย่างฝรั่ง (ซึ่งหมายถึงพวกที่ไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเลย ในสายตาของฝรั่งเจ้าอาณานิคม) ไม่ว่าจะเป็นอาณานิคมของใครหรือไม่ก็ตาม

ส่วนข้าวของที่ถูกจัดแสดงอยู่ในโซนของชนชาติที่ไม่ขาว ก็ไม่ใช่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอะไรเหมือนทางฝั่งเมืองคนขาว แต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ และข้าวของแปลกๆ ดูยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาในสายตาฝรั่งจากประเทศเหล่านั้นต่างหาก

“EXPO Paris 1889” จึงเป็นเหมือนกับการจำลอง และย่อขนาดโลกของพวกฝรั่งเศส พร้อมๆ ไปกับมีการจัดระเบียบโลกสมมติดังกล่าวด้วยการลำดับชั้นวรรณะไปด้วยว่า พวกฉันเป็นคนขาวและอารยะ ส่วนพวกคนอื่นๆ ที่ไม่เหลืองก็ดำนั้น ไม่ได้ศิวิไลซ์เอาเสียเลย

ที่สำคัญก็คือ เป็นที่ยอมรับกันดีว่า งาน EXPO Paris 1889 มีอิทธิพลในการเผยแพร่ความคิด และอุดมการณ์แบบนี้มากเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าโกแกงจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าวเข้าไปด้วย (โดยต้องอย่าลืมด้วยว่า โกแกงนั้นเป็นคนที่อยู่ในสังกัดของดินแดนที่เป็นศูนย์กลางความเป็นเจ้าอาณานิคมขนานแท้อยู่แล้ว) ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียหน่อย

นอกเหนือจากเรื่องของโกแกงแล้ว ภายในนิทรรศการยังมีอะไรชวนให้ดู และขบคิดอีกมาก ใครที่สนใจในเรื่องของงานศิลปะ, ศิลปวัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ แล้วบังเอิญมีโอกาสแวะไปสิงคโปร์ในช่วงนี้ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง •

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ