ฟื้นกลิ่นอายไหมยกดอก จากคุ้มหลวงสู่รวงร้าน (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฉบับที่แล้วได้นำเสนอให้ผู้อ่านทราบว่า วัสดุที่นำมาใช้ทอผ้าไหมยกดอกลำพูนสมัยก่อนนั้น เจ้าหญิงลำเจียกเคยปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองทุกขั้นตอนภายในคุ้ม แต่แล้วเมื่อกาลเวลาล่วงเลยภายหลังจากที่คุ้มของท่านปิดโรงทอแล้ว

ผู้อ่านคงสงสัยเหมือนดิฉันใช่ไหมคะว่า ร้านรวงอื่นๆ นำเอา “เส้นไหม” มาจากที่ไหนเล่า ซื้อขายกันอย่างไร ต้นทุนแพงไหม

จากเวทีเสวนาทำให้ทราบมาว่า ต้องสั่งซื้อจากต่างอำเภอบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง และบางครั้งถึงกับต้องลงทุนสั่งซื้อจากต่างประเทศเลยทีเดียว

กี่ทอผ้าไหมยกดอก ในสถาบันผ้าทือมือหริภุญชัย ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ (ภายใต้การนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองการศึกษาของ อบจ.ลำพูน)

เส้นทางสายไหม จากลุ่มน้ำเมย-น้ำลี้

สู่อีสาน ญี่ปุ่น จีน กำนันจุล

“ไหม” คือหัวใจหลัก สำหรับใช้ทอผ้าไหมยกดอกลำพูน ดังนั้น จึงน่าสนใจมากว่า ช่างทอได้เส้นไหมมาจากแหล่งใดกันบ้าง?

ผู้ที่จะมาไขปริศนานี้ก็คือ อาจารย์ปรีชาเกียรติ บุญยเกียรติ “ครูศิลป์แผ่นดิน ผ้าไหมยกดอก”

“หากเรานับว่าช่วงที่ 1 ของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คือยุคของเจ้าหญิงลำเจียกต่อมาจนถึงยุคต้นๆ ของเจ้าหญิงพงษ์แก้ว ที่ผมใช้คำว่ายุคแรกๆ ก็เพราะว่าช่วงหลังนั้น เจ้าหญิงพงษ์แก้วก็ทออย่างเดียว ต้องสั่งไหมมาจากที่อื่น

ผมก็ขออธิบายต่อเลยว่า ช่วงที่ 2 หรือเส้นทางสายที่ 2 ของกระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในจังหวัดลำพูน มีขึ้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง แถวตำบลป่าพลู ในเขตชุมชนกะเหรี่ยง มีขึ้นราว 50-60 ปีที่แล้ว แต่ว่าเส้นไหมของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงจะเป็นปุ่มเป็นปมไม่สม่ำเสมอกันตลอดทั้งเส้น เพราะใช้วิธีสาวไหมด้วยมือ ไม่ได้สาวด้วยเครื่อง

แต่เท่าที่ผมสังเกต เห็นว่าเส้นไหมจากบ้านโฮ่งยุคนั้น ชาวต่างชาติกลับชื่นชอบ เพราะเมื่อนำไปทอแล้วเส้นห่างบ้าง ถี่บ้าง เป็นตะปุ่มตะป่ำ ไม่จำเป็นต้องราบเรียบเหมือนกันตลอดทั้งผืน ฝรั่งส่วนใหญ่ชอบแบบนี้เพราะมันมี texture ดี”

สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ต.ต้นธง อ.เมืองลำพูน สร้างในบริเวณเดียวกันกับ มจร.ลำพูน หอศิลป์สล่าเลาเลือง และวัดป่าศรีพุทธพจน์ โดยผู้บริจาคที่ดินทั้งหมดคือ “คุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน” ธิดาของเจ้าหญิงพงษ์แก้ว และเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน

เมื่อถามว่าชาวบ้านโฮ่งหยุดสาวไหมไปตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจารย์ปรีชาเกียรติตอบว่า น่าจะเป็นช่วงที่มีการบูมหรือรณรงค์ให้เมืองลำพูนเน้นการปลูกลำไยและหอมกระเทียม แทบทุกพื้นที่ในเขตอำเภอบ้านโฮ่ง จึงกลายเป็นดินแดนที่ปลูกหอมกับกระเทียมเป็นหลัก ครองแชมป์มากที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว เป็นห้วงเวลาเดียวกันกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็ค่อยๆ หายไปช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา

เส้นทางสายไหมช่วงที่ 3 มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอีกครั้งแถบพื้นที่ตอนในที่ราบสูงกึ่งหุบเขาของจังหวัดลำพูน ภายใต้การนำของ “นายเถกิงศักดิ์ พัฒโน” ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนระหว่างปี 2536-2539

โดยผู้ว่าฯ ท่านนี้ได้นำเอาหม่อนไหมไปบุกเบิกให้ชาวกะเหรี่ยงแถวทางขึ้นอ่างเก็บน้ำแม่เมย ที่ อ.แม่ทา เรื่อยไปจนถึงแหล่งเหมืองแร่รอยต่อทางเข้า ต.ปงแม่ลอบ อ.ทุ่งหัวช้าง เพื่อเสริมรายได้ให้แก่ชาวกะเหรี่ยง

น่าเสียดายที่เริ่มมาได้สักระยะหนึ่ง สุดท้ายก็เลิกไปอีก

อาจารย์ปรีชาเกียรติกล่าวว่า เส้นไหมที่นำมาทอผ้าไหมยกดอกลำพูนช่วงที่ 4 นี้จำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว

อันที่จริงญี่ปุ่นก็ไม่ได้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากเท่ากับจีน แต่ไหมของญี่ปุ่นคุณภาพดีเยี่ยมโดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้ขึงเป็นเส้นยืน เพราะเขามีเทคนิคตีเกลียวด้วยเครื่อง ทำให้โครงสร้างผ้าแข็งแกร่งแต่นุ่มนวล

ตั้งแต่ยุคคุณป้าบุญศรี มารดาของอาจารย์ปรีชาเกียรติเอง ราว 50-60 ปีก่อน โรงทอของท่านก็ต้องสั่งไหมเส้นยืนมาจากญี่ปุ่น สมัยนั้นกิโลกรัมละ 300 บาท ปัจจุบันนี้ราคา 3,800 บาท

กว่าจะทอผ้าได้แต่ละผืน เราต้องใช้ปริมาณไหมต่อซิ่น 1 ผืน จำนวนมากถึงเกือบครึ่งกิโลกรัม พูดง่ายๆ ก็คือต้นทุนค่าไหมปาไป 150 บาทแล้ว สูสีกับราคาผ้าไหมยกดอกที่ขายเมื่อทอสำเร็จ คือจะขายราคาแพงเกินไปก็ไม่ได้

สรุปแล้ว ช่างทอยุคก่อนแทบไม่ได้กำรี้กำไรใดๆ ทั้งสิ้น ทอด้วยใจรัก ด้วยความรู้สึกอยากสืบสานให้ผ้าไหมยกดอกยังคงอยู่คู่กับเมืองลำพูนโดยแท้

เส้นทางสายไหมเส้นที่ 5 เราต้องสั่งซื้อไหมจากประเทศจีน เพราะญี่ปุ่นเริ่มผลิตไหมน้อยลง เพราะประเทศเขาเป็นเกาะไม่ค่อยมีพื้นที่มากนัก แม้ไหมเส้นยืนของญี่ปุ่นจะมีคุณภาพสูงก็ตาม ทุกวันนี้ญี่ปุ่นเองก็ต้องสั่งซื้อไหมจากจีนด้วยเช่นกัน ไหมจีนเริ่มตีตลาด ที่ผมจำได้คือมีตราหรือยี่ห้อแปะติดมาด้วยคือ ยี่ห้อ “ต้นสน” กับยี่ห้อ “เหรียญทอง” ผลิตที่เมืองกวางเจา นำเข้ามาจำหน่ายโดยมีเอเย่นต์ชาวจีนที่พูดภาษาไทยได้

แม้ช่วงนั้นเราจะสั่งซื้อไหมจากจีน แต่จากการคลุกคลีกับช่างทอมาตั้งแต่รุ่นคุณแม่บุญศรีของผม ทุกคนสารภาพว่าไหมจีนอาจจะเนื้อดีตอนทำเส้นพุ่ง ทว่า สำหรับเส้นยืนแล้ว ทุกคนยังพอใจไหมญี่ปุ่นมากกว่า อย่างไรก็ดี เมื่อไหมญี่ปุ่นขาดตลาด พวกเราก็ต้องใช้ไหมจีนแทนทั้งเส้นพุ่ง เส้นยืน

เส้นทางสายไหมเส้นที่ 6 มีบางช่วงที่ไหมจีนขาดตลาด เอเยนต์ไม่นำมาส่งให้โรงทอ พวกเราต้องหันไปซื้อไหมจากภาคอีสานอีก แหล่งที่ซื้อมี 3 จังหวัดหลักๆ คือ ขอนแก่น ชัยภูมิ และเลย ไหมกลุ่มนี้เราจะสั่งแค่เส้นใยดิบๆ สาวเสร็จหมาดๆ ยังไม่ได้ลอกกาว โดยเราจะนำมาต้มมาย้อมมากรอเอง

การทอผ้าไหมยกดอกลำพูน ปัจจุบันผู้สนใจสามารถเดินทางไปศึกษาดูงานได้ที่ สถาบันวิจัยผ้าทอมือหริภุญชัย โดยท่านจะได้เห็นขั้นตอนทุกกระบวนการกว่าจะสำเร็จเป็นผ้าไหมยกดอก 1 ผืน

เมื่อถามถึงกรรมวิธีย้อมสีระหว่างสีสังเคราะห์กับสีธรรมชาติ อาจารย์ปรีชาเกียรติกล่าวแบบตรงไปตรงมาว่า ทุกวันนี้จำเป็นต้องย้อมคู่ขนานกันไปทั้งสองกรรมวิธี จริงอยู่แม้เทรนด์สมัยนี้อยากให้ลดสารเคมีและเน้นสีธรรมชาติมากขึ้น โดยกระบวนทำผ้าไหมยกดอกลำพูนก็เป็นไปตามนั้นด้วยเช่นกัน

แต่อย่าลืมว่าสีสันของผ้าไหมยกดอกนั้นค่อนข้างเน้นโทนหวาน สดใส ละมุนละไม มากกว่าออกไปทางสีตุ่นแบบธรรมชาติ ประเภทย้อมคราม ย้อมครั่ง ย้อมเปลือกไม้ หรือใช้สีเขียวจากใบไม้ต่างๆ ทั้งนี้ มิใช่ว่าเราจะใช้สีสังเคราะห์ล้วนๆ ทั้งหมด จำเป็นต้องเอาสีธรรมชาติเข้าไปเบรกสีสดจัดของสีเคมีนั้นด้วยในปริมาณที่ค่อนข้างมาก

เส้นทางสายไหมเส้นสุดท้าย คือสายล่าสุด อาจารย์ปรีชาเกียรติเล่าว่า ที่ผ่านมาเราก็ใช้ไหมจีนสลับกับไหมอีสาน กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กรมหม่อนไหมได้ส่งเสริมให้พี่น้องกะเหรี่ยงชาว อ.ทุ่งหัวช้างหวนกลับมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันอีกรอบ แต่ก็ผลิตได้ในปริมาณที่ยังไม่มากพอ

ทุกวันนี้ วัตถุดิบที่ทำมาใช้ทอผ้าไหมยกดอกลำพูนแทบทุกโรงทอ ไหมจากทุ่งหัวช้างนั้นไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องสั่งซื้อจากไร่กำนันจุล คุ้นวงศ์ หรือบริษัทจุลไหมไทย (เคยทำสวนส้มมาก่อน) จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งไหมที่นี่จะทำแบบเบ็ดเสร็จคือทั้งฟอก ทั้งย้อมสีมาแบบสำเร็จรูปตามที่เราสั่ง พร้อมทอได้เลย

คณะกรรมการนำเสนอผ้าไหมยกดอกลำพูนสู่งานหัตถกรรม GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ประชุมที่สถาบันวิจัยผ้าทอมือหริภุญชัยตั้งแต่ปี 2549 คนขวามือสุดคือ คุณชีระโชติ สุนทรารักษ์ ขณะนั้นเป็น ผอ.สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ถัดมาเป็นตัวแทนจากยูเนสโก ถัดมาคือดิฉันผู้เขียน บุรุษที่ยืนถัดจากดิฉันคือ อ.ปรีชาเกียรติ บุญยเกียรติ ครูศิลป์แผ่นดิน ผ้าไหมยกดอกลำพูน สุภาพสตรีสามท่านซ้ายมือเป็นข้าราชการระดับสูงจากกรมหม่อนไหม

หากเส้นไหมขาดสาย

แล้วลมหายใจผ้าไหมยกดอก?

คุณชีระโชติ สุนทรารักษ์ อีกหนึ่งผู้คร่ำหวอดด้านผ้าไหมยกดอกลำพูน เจ้าของ ร้านเพ็ญศิริไหมไทย และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัยคนแรก ร่วมแสดงความเห็นว่า หัวใจหลักของการถักทอผ้าไหมยกดอกลำพูนก็คือ “ตัวเส้นไหม” ตนเคยสอบถามช่างทอผ้าไหมในเขต อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ว่าได้เส้นไหมมาจากไหนทำไมเนื้อจึงเนียน ในเมื่อไม่เคยเห็นแปลงปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเลยที่สันกำแพง

ได้คำตอบมาว่า ยุค 50-60 ปีก่อน ยังพอมีคาราวานพ่อค้าวัวต่างลาต่าง เอาสินค้าของทางเชียงใหม่ขึ้นไปขายที่ชายแดนพม่าแถวเมืองลา (บ้างเรียกเมืองล้า) รอยต่อจีน ตอนขากลับเขาจะเอาเส้นไหมบ้าง ผ้าไหมบ้างจากจีนลงมาขายเรา เมื่อช่างทอได้มาก็มักเอาไหมมาทำเส้นยืน ส่วนเส้นพุ่งบางทีก็หาไหมตามภาคอีสาน

พอคุณชีระโชติมาได้ฟังข้อมูลเรื่องเส้นทางสายไหมของอาจารย์ปรีชาเกียรติวันนี้ ที่บอกว่าไหมของลำพูนนั้น ช่วงแรกทอกันเองในคุ้ม ช่วงที่สองสั่งซื้อจากบ้านโฮ่งบ้าง แม่ทาบ้าง ไปถึงทุ่งหัวช้างก็ดี จึงขออยากร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ดูบ้างว่าจะถูกหรือผิดอย่างไร นั่นคือประเด็นที่ว่า

“ทำไมผ้าไหมยกดอกลำพูนในอดีต ยุคที่ยังไม่ได้ซื้อเส้นไหมยืนจากญี่ปุ่นและจีน ไฉนกลับมีเส้นไหมที่มีคุณภาพดีมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเส้นยืนนั้นค่อนข้างเรียบ แน่นอนว่าเส้นพุ่งอาจมี texture เล็กน้อยก็ตาม เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความสามารถในการทำเส้นไหมยืนให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากลของคนลำพูนยุคก่อนนั้น ได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดมาจาก พระราชชายาเจ้าดารารัศมี”

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินโรดม หลังจากเล่าเรียนวิชา ณ ประเทศในยุโรป กลับมารับราชการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ มีหน้าที่เฉพาะจัดการในกรมช่างไหม และตระเตรียมตั้งเป็นอธิบดีกรมเพาะปลูก (ภาพและข้อมูลจากหนังสือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป หน้า 325)

ตามที่คุณชีระโชติศึกษาค้นคว้ามา ทำให้ทราบว่า ยุคที่พระราชชายาฯ ยังประทับอยู่ ณ พระราชวังดุสิต สมัยนั้น พระราชโอรสองค์หนึ่งของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ชื่อ “พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม” มีหน้าที่ดูแลเรื่องการเกษตรทุกประเภท ในฐานะ “อธิบดีกรมเพาะปลูก”

ครั้งหนึ่ง ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาสอนกรรมวิธีปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างถูกต้องในราชสำนักสยาม ช่วงนั้นตรงกับห้วงเวลาที่พระราชชายาฯ เองก็ทรงสนพระทัยด้านผ้าไหมยกดอกอย่างมาก เป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่าเมื่อคราวเสด็จนิวัติกลับคืนสู่นครเชียงใหม่เป็นการถาวร พระองค์ท่านน่าจะมีส่วนในการเอาเทคนิคเคล็ดลับเฉพาะอะไรบางประการเกี่ยวกับการทำเส้นไหมให้มีคุณภาพ มาถ่ายทอดให้แก่เจ้าหญิงลำเจียกสู่เจ้าหญิงพงษ์แก้วต่ออีกชั้นหนึ่ง ทำให้เส้นไหมที่แม้จะทอกันเองในคุ้มเจ้าหญิงลำเจียกยุคแรกๆ นั้น มีคุณภาพเทียบเคียงได้กับไหมญี่ปุ่น ไหมจีน ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้เริ่มสั่งซื้อนำเข้ามาเลย

นอกจากนี้แล้ว คุณชีระโชติยังแสดงความกังวลถึงอนาคตของวงการผ้าไหมยกดอกลำพูนอีกด้วยว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีน้อยเหลือเกินในดินแดนล้านนา จริงอยู่ที่อาชีพนี้ต้องอุทิศกายใจ ดูแลยาก สิ้นเปลืองพื้นที่มาก ซ้ำไม่ได้ราคาเท่ากับการปลูกผักผลไม้ สามารถเก็บขายรายวัน ผ้าไหมยกดอกลำพูนจึงต้องพึ่งพาแต่เส้นไหมจากบริษัทกำนันจุลเพียงช่องทางเดียว

อนุสาวรีย์ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี หน้าพระตำหนักดาราภิรมย์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานเรื่องผ้าไหมยกดอกให้แก่เมืองลำพูน สมัยยังประทับ ณ พระราชวังดุสิต ทรงสนพระทัยในวัฒนธรรมญี่ปุ่น อาทิ การทำทรงผมยกสูงด้านหน้า และเรียนรู้กรรมวิธีปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นในวังหลวง

ผิดกับชาวอีสานที่เขาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันเองจนกลายเป็นวิถีชีวิต สามารถใช้ต้นทุนในพื้นที่ของตัวเองมาต่อยอด ฤดูกาลไหนน้ำไม่เพียงพอ หรือน้ำล้นเกินไป ชาวอีสานจะไม่เดือดร้อนต่อการทอผ้าไหม เพราะเขามีอาชีพเกษตรกรอื่นๆ เป็นหลัก ยามว่างเมื่อมีรังไหมมากพอก็หันมาทอผ้าเสริม

ในขณะที่ของเรา ช่างทอคือทออย่างเดียว ไม่ได้มีอาชีพหลักอย่างอื่น และเราไม่ได้เป็นผู้ควบคุมวัตถุดิบคือการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยตัวเอง ต้องอาศัยเส้นไหมจากต่างถิ่น บางครั้งก็ขาดช่วงขาดตอน ไม่ได้ส่งมายังโรงทอตามที่เราต้องการได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะการเลี้ยงไหมขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศมากกว่าปัจจัยอื่น

ผมจึงเชื่อว่า ผ้าไหมยกดอกลำพูน ในอนาคตอาจกลายเป็นสินค้า Rare Item จึงขอความร่วมมือให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ช่วยกันหันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้กระจายอย่างกว้างขวางทั่วเมืองลำพูน •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ