รัฐบาลทหารเนปิดอร์ เพลี่ยงพล้ำ รัฐบาลไทยตื่นได้แล้ว! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

นับจากการเปิดยุทธการของกองกำลังชนกลุ่มน้อยในวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ “ยุทธการ 1027” จะเห็นได้ถึง ชัยชนะของชนกลุ่มน้อย และการถอยร่นของกองทัพเมียนมา ประเด็นที่น่าสนใจในสถานการณ์ปัจจุบันคือ กองกำลังชนกลุ่มน้อยได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง และกองทัพเมียนมากลับเป็นฝ่ายถอยร่นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ว่าที่จริง กองทัพเมียนมาตกเป็นฝ่ายรับทางการเมืองมาตั้งแต่การรัฐประหารในตอนต้นปี 2564 แล้ว การตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางอองซานซูจีนั้น ทำให้โอกาสของการพัฒนาประชาธิปไตยในเมียนมาต้องยุติลงทันที และถูกต่อต้านจากหลายประเทศในเวทีโลก

การยึดอำนาจของผู้นำทหารในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเปราะบางของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ เพราะในประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบทหารที่มาจากการรัฐประหารมาอย่างยาวนานนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายของฝ่ายทหารที่พยายามจะดำรงอำนาจไว้ในระบอบใหม่ให้ได้ และในกรณีนี้เห็นถึงการที่ผู้นำกองทัพมองว่า การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคาม เพราะยิ่งประชาธิปไตยพัฒนาไปมากเท่าใด อำนาจของกองทัพในทางการเมืองก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น (อาจเทียบเคียงในบางมุมได้กับรัฐประหาร 2549 และ 2557 ในการเมืองไทย ที่เป็นความพยายามของผู้นำทหารและกลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดในการหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย)

อย่างไรก็ตาม รัฐประหาร 2564 ในเมียนมา ดูจะไม่ง่ายเช่นในอดีต และแตกต่างอย่างมากจากการยึดอำนาจในปี 2531 ดังจะเห็นได้ว่า การควบคุมทางการเมืองหลังรัฐประหารครั้งนั้น มีการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง ในที่สุดก็สามารถควบคุมการต่อต้านได้ และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผลสืบเนื่องอย่างสำคัญคือ การต่อต้านไม่สามารถยกระดับขึ้นจนเป็นสถานการณ์สงครามได้จริง

แต่หลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจในปี 2564 สถานการณ์ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง … ทันทีที่การยึดอำนาจจบลง พร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลทหาร และการกวาดล้างจับกุมผู้เห็นต่างและฝ่ายต่อต้านแล้ว สิ่งที่ตามมาแทบจะทันทีคือ การประท้วงและการต่อต้านรัฐบาลทหารเกิดในหลายพื้นที่ของประเทศ และขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางด้วย อีกทั้งรัฐบาลทหารยังเผชิญกับแรงกดดันของประชาคมระหว่างประเทศ

การต่อต้านของฝ่ายประชาธิปไตยขยายตัวอย่างชัดเจนและอย่างรวดเร็ว ทั้งการเข้าร่วมของคนหนุ่มสาวชาวเมียนที่สมทบกับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และการยกระดับการต่อสู้ด้วยการจัดตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” ในชื่อของ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (The National Unity Government หรือ NUG) และจัดตั้งกองทัพของรัฐบาลนี้คือ “กองกำลังของประชาชน“ (The People’s Defense Force หรือ PDF)

 

ข่าวที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องคือ การต่อสู้ระหว่างกองทัพของรัฐบาลทหารกับกองทัพของฝ่ายต่อต้านเป็นไปอย่างรุนแรง มีการรบหนักในหลายพื้นที่ จนต้องถือว่าสถานการณ์การต่อสู้ที่เกิดขึ้นได้ยกระดับขึ้นเป็น “สงครามกลางเมือง” อย่างชัดเจน และกองทัพเมียนมาอาศัยความได้เปรียบของการเป็นกองทัพขนาดใหญ่ ใช้อำนาจทางทหารที่เหนือกว่าในการปราบปรามการต่อต้านอำนาจรัฐ ตลอดจนถึงการใช้อาวุธหนัก เช่น การโจมตีของอากาศยานดังที่ปรากฏเป็นข่าว เป็นต้น

 

จุดพลิกของสถานการณ์ที่สำคัญมาจากการขยายตัวของ “ธุรกิจผิดกฎหมาย” หรือที่เรียกกันว่า “จีนเทา” ที่ส่วนหนึ่งได้สร้างปัญหาอย่างมากกับคนจีน และคนในภูมิภาคที่ถูกหลอกลวงจาก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” จนทำให้รัฐบาลปักกิ่งตัดสินใจใช้ความสัมพันธ์ที่มีกับชนกลุ่มน้อยด้วยการจัดตั้ง “พันธมิตรสามพี่น้อง” ในการจัดการกับบรรดาตระกูลหลักที่ควบคุมธุรกิจดังกล่าวในพื้นที่ภาคเหนือของเมียนมา ที่ติดกับแนวชายแดนจีน โดยไม่รอให้รัฐบาลทหารจัดการ แต่ปฏิบัติการทางทหารของชนกลุ่มน้อยทับซ้อนอยู่กับปัญหาสงครามกลางเมือง และกลายเป็นโอกาสของการผลักดันทหารเมียนมาออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะจาก “ยุทธการ 1027”

 

นับจากยุทธการดังกล่าวในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว การรบที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการรุกของฝ่ายชนกลุ่มน้อยในหลายพื้นที่ แม้หลายฝ่ายจะเชื่อด้วยความมั่นใจว่า กองทัพเมียนมามีขนาดใหญ่มากกว่ากองกำลังของชนกลุ่มน้อยมาก น่าจะสามารถยันการรุกทางทหารที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ความพ่ายแพ้ที่เกิดในหลายจุดมีนัยถึงการสูญเสียกำลังพล และยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ตลอดรวมถึงเครื่องกระสุนต่างๆ แม้กองทัพจะได้รับความสนับสนุนจากรัฐมหาอำนาจภายนอก เช่น จากรัสเซีย แต่ความช่วยเหลือทางทหารจากจีนดูจะเปลี่ยนไปให้กับชนกลุ่มน้อย เช่นที่เห็นจากยุทธการทางตอนเหนือ

 

สภาวะความเพลี่ยงพล้ำของกองทัพเมียนมาเช่นนี้ ทำให้คาดคะเนได้ว่าสถานการณ์การสู้รบในช่วงหลังปีใหม่น่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันความสนับสนุนจากภายในสังคมที่มีต่อรัฐบาลทหารนั้น มีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนหลายฝ่ายประเมินว่า รัฐบาลทหารเมียนมาน่าจะถึงจุดจบในระยะเวลาอีกไม่นานนัก!

 

ถ้าการล่มสลายของรัฐบาลทหารเกิดขึ้นจริง อาจจะมีนัยถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่ ที่จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญให้พี่น้องจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถ “กำหนดใจตนเอง” กับอนาคตของตนเองได้มากขึ้น (หลักการ self determination) ซึ่งอาจจะทำให้เกิด “ภูมิทัศน์ใหม่” ในการเมือง และเกิดการจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ในเมียนมาอีกด้วย

หากสถานการณ์ในอนาคตหลังปีใหม่เดินมาถึงจุดดังกล่าว รัฐบาลกรุงเทพฯ จะทำอย่างไร … ทิศทางของรัฐบาล คสช. ที่ยืนแนบแน่นกับรัฐบาลทหารเนปิดอร์เช่นที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่ต้องยกเลิก นายทหารระดับสูงของไทยคนไหนจะ “จูบปาก” กับนายพลที่กุมอำนาจในเมียนมา ไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลปัจจุบันต้องใส่ใจ สิ่งที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา และรัฐมนตรีต่างประเทศปานปรีดิ์ ต้องคิดคือ นโยบายของไทยที่จะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นให้ได้

 

วันนี้ ไฟไหม้ข้างบ้าน และไฟกำลังโหมแรง รัฐบาลจะทำตัวเป็น “คนนอนหลับสนิท” ไม่รับรู้ไม่ได้แล้ว เว้นแต่ยังเชื่อลมปากของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ “ประเมินแบบไม่ประเมิน” ว่า รัฐบาลทหารเมียนมายังเข้มแข็ง ไม่มีอะไรต้องคิด ต้องกังวล แต่ข้อมูลจาก “ข่าวกรองแหล่งเปิด” ในหลายส่วน ไม่ได้บ่งชี้ไปในทิศทางเช่นนั้นแต่อย่างใด … จนอดที่จะขอให้ “ท่านนายกฯ กับรัฐมนตรีต่างประเทศ” ตื่นได้แล้วครับ และถ้าตื่นแล้ว อย่าลืมปลุกผู้นำทหารไทยที่ยัง “หลับฝันดี” กับผู้นำทหารเมียนมาด้วยนะครับ!