สมเด็จหลังยันต์ตรีนิสิงเห หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก พระเกจิดังประจวบคีรีขันธ์

“หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโณ” หรือ “พระครูนิยุตธรรมสุนทร” วัดหนองจอก ต.ดอนยายหนู อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังไว้มากมายหลายชนิด ที่ขึ้นชื่อคือ ปลัดขิก โดดเด่นในทางเมตตามหานิยม เป็นที่นิยมกว้างขวางในหมู่ทหารและตำรวจ

ปี พ.ศ.2536 จัดสร้าง “พระสมเด็จหลังยันต์ตรีนิสิงเห” แจกเป็นที่ระลึกในงานทอดผ้าป่าสามัคคี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2536 นำทุนทรัพย์จัดสร้างกุฏิสงฆ์ สำนักสงฆ์ไร่เนิน

โดยมีพระไชยา ปัญญาธโร ดำเนินการจัดสร้าง พระนำโชค เตชธัมโม นำมวลสารว่าน 108 ผสมผงยาจินดามณี วัดกลางบางแก้ว พร้อมเส้นเกศาหลวงพ่อยิด และเกศาหลวงพ่อหวล วัดประดิษฐนาราม ใส่ในเนื้อพระ แร่เกาะล้านใส่ในเนื้อพระด้วย ปลุกเสกเดี่ยว 1 เดือนเต็ม

พระสมเด็จหลังยันต์ตรีนิสิงเหนี้ฝังตะกรุดทองคำ 15 องค์, ฝังตะกรุดเงิน 128 องค์ และไม่ฝังตะกรุด 5,999 องค์

จารตะกรุดทุกดอกที่ใส่ไว้ในองค์พระด้วยตัวท่านเอง และปรารภว่า พระสมเด็จชุดนี้หากผู้ใดจะปลูกบ้านยกเสาเอกไม่มีผ้ายันต์แขวนหัวเสา ให้เอาพระสมเด็จหลังยันต์ตรีนิสิงเหแขวนแทนได้

ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปนูนพระพุทธนั่งสมาธิในซุ้มหวาย

ด้านหลังตรงกลางเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีอักษรไทย “ว.น.จ.”

เป็นพระผงที่ได้รับความนิยมในพื้นที่เมืองประจวบฯ และใกล้เคียง

พระสมเด็จหลังยันต์ตรีนิสิงเห

มีนามเดิมว่า ยิด ศรีดอกบวบ เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2476 บิดา-มารดา ชื่อนายแก้วและนางพร้อย ศรีดอกบวบ

อายุ 9 ขวบ บรรพชาในวัดบ้านเกิด ฝึกปฏิบัติสมาธิ ศึกษาอักขระเลขยันต์ ศึกษาพระปริยัติธรรม กระทั่งอายุ 14 ปี จึงสึกออกมาช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท มีหลวงปู่อินทร์ วัดยาง เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอธิการหวล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่ศุข วัดโตนดหลวง เพื่อศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติม และยังได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ ในหลายพื้นที่ รวมทั้งได้เดินเท้าเข้าไปในฝั่งประเทศพม่า เป็นต้น

จนกระทั่งปี พ.ศ.2487 บิดาล้มป่วย จึงเดินทางกลับมา ด้วยความกตัญญูรู้คุณ ลาสิกขาออกมาดูแล และแต่งงานมีครอบครัว

ท้ายที่สุด เมื่อบิดา-มารดาถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2518 จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง ที่วัดเกาะหลัก มีเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์

อยู่จำพรรษาเป็นพระลูกวัดที่วัดทุ่งน้อย อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ต่อมาชาวบ้านหนองจอก ต.ดอนยายหนู ทราบข่าวจึงยกที่ดินให้จำนวน 21 ไร่ 2 งาน เป็นพื้นที่ป่า เพื่อให้สร้างวัดขึ้น

หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน

ได้รับความศรัทธาจากนายทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ประชาชน เป็นจำนวนมาก ที่เข้ามาขอรับวัตถุมงคล อาทิ ตะกรุด พระเครื่อง ปลัดขิก เนื่องจากเชื่อกันว่า วัตถุมงคลมีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการพระเครื่อง

วัตรปฏิบัติ ใน 1 ปี จะสรงน้ำปีละครั้งเท่านั้น โดยอนุญาตให้ใช้แปรงทองเหลืองที่ใช้ขัดเหล็ก ขัดตามตัว แขนขา แต่แปรงทองเหลืองไม่ได้ระคายผิวหนังแม้แต่น้อย หลังจากขัดตัวแล้วเสร็จ จะมอบวัตถุมงคลให้นำไปบูชากันอย่างทั่วถึง

สำหรับปัจจัยที่ได้รับจากการบริจาค จะนำไปสมทบทุนการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา สังคมและชุมชน จนกลายเป็นประเพณีถือปฏิบัติต่อมา

ได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนาที่มีฝีมือรูปหนึ่ง เห็นได้จากการสร้างสรรค์พัฒนาให้วัดหนองจอก จนเป็นวัดที่สมบูรณ์มีถาวรวัตถุทางศาสนาครบ สร้างได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังพัฒนาจิตใจและการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างเต็มที่ โดยสนับสนุนด้านทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนหลายแห่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งร่วมสร้างสาธารณประโยชน์แก่สถานที่ราชการและหน่วยราชการมากมาย

มีกิจนิมนต์ในการปลุกเสกพระเครื่องและเครื่องรางของขลังทั่วประเทศ จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ในวันเสาร์ 5 ปลุกเสกวัดแรกที่ จ.นครสวรรค์ วัดสุดท้ายที่วัดหนองจอก แต่ละวัดจะปลุกเสกวัดละ 30 นาที รวมทั้งหมดวันเดียวปลุกเสก 9 วัด

แต่ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง จึงมรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 สิริรวมอายุ 71 ปี พรรษา 30

 

แม้จะมรณภาพลง ชาวบ้านในพื้นที่จึงได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพระครูนิยุตธรรมสุนทร (หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโณ) เพื่อบำรุง บูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน เป็นทุนภัตตาหาร การศึกษา และพยาบาล พระภิกษุ สามเณร ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ส่งเสริมและสนับสนุนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์

แต่ละปีจะมีการนำดอกผลบริจาคให้กับสาธารณะมาโดยตลอด มอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สงเคราะห์ผู้สูงอายุ บำรุงการศึกษาให้แก่พระภิกษุ สามเณร ที่เล่าเรียนพระธรรมวินัย พร้อมทั้งบำรุงซ่อมแซมถาวรวัตถุวัดหนองจอก ค่าบำรุงการศึกษานักเรียนในเขตอำเภอกุยบุรี จำนวนทั้งสิ้น 26 โรงเรียน

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงศาลาอเนกประสงค์หมู่บ้านหนองจอก มอบเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสื่อการเรียนการสอนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ค่าอาหารเสริมให้นักเรียน ปรับปรุงห้องสมุด โรงเรียน สนับสนุนงบในการจัดทำโครงการพัฒนายกระดับคุณภาพกระบวนการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]