ผักฝักคู่ ‘พืชถิ่นเดียว’ ของดีเมืองไทย

คนทั่วไปรู้จักต้นตีนเป็ด แต่เชื่อว่าพืชที่อยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) อีกหลายต้นคนไทยไม่ค่อยรู้จัก หรือรู้จักน้อยมาก จึงแนะนำพืชดีน่าสนใจ ชื่อ หยั่งสมุทร และ เครือเขาควาย โดยปกติพืชในวงศ์ตีนเป็ดจะมีลักษณะพิเศษ คือ มีน้ำยางสีขาวจำนวนมากในเกือบทุกส่วนของต้น และพืชวงศ์นี้มีทั้งชนิดที่เป็นไม้ยืนต้นและไม้เถา ที่เป็นลักษณะพิเศษสุดอีกอย่างหนึ่ง คือ ฝักหรือผลมีลักษณะเป็นคู่ เรามาเรียนรู้ไม้ไทยนี้ไปด้วยกัน

หยั่งสมุทร มีชื่อพื้นเมือง เช่น เครือกิ่วคา เครือข้าวนึ่ง หยั่งสมุทร (เชียงใหม่) แตงเถื่อน (เชียงราย) มะคะแนง มะจินดา ส้มจินดา ส้มจี ส้มป่อง ส้มมะแง่ง ส้มเสี้ยน (ภาคเหนือ) เสอะคอไป (ลาหู่) สี่แยะ (อาข่า) หมากสิม (ภาคอีสาน ลาว) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amalocalyx microlobus Pierre ex Spire พบที่จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน

ในไทยพบกระจายทั่วไป ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือบนเขาหินปูน ความสูง 100-1,300 เมตร ออกดอกเดือนมิถุนายน-กันยายน

 

หยั่งสมุทร เป็นไม้เถา เถาอ่อนมีขนสั้นนุ่มและขนสากปกคลุม เถาแก่เกลี้ยง มีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ ปลายใบแหลมยาวคล้ายหาง โคนใบหยักเว้า ผิวใบทั้งสองด้านมีขนละเอียด ช่อดอกแบบช่อกระจุก ดอกรูปแตร กลีบเลี้ยงรูปรีหรือรูปแถบ มีต่อมที่โคนด้านใน ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวอมชมพู ด้านในหลอดกลีบดอกสีเข้ม ดอกตูมกลีบดอกเรียงบิดเวียนด้านขวา เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใต้กึ่งกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก

ผลเป็นฝัก ออกเป็นคู่ รูปกรวยแหลมโคนและปลายเชื่อมติดกัน แตกตามแนวเดียว ปลายเมล็ดมีกระจุกขน สามารถขยายพันธุ์ง่ายด้วยการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำในปริมาณปานกลาง ชอบแสงแดดแบบจัดๆ เป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว

ส่วนผลและดอกมีรสเปรี้ยวนำมาจิ้มเกลือหรือน้ำปลารับประทานได้ หรือจะนำไปปรุงกับอาหารเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวได้ ชาวลาหู่-อาข่า กินผลสดกับน้ำผริก ในประเทศไทยไม่พบว่ามีการนำมาขายในตลาด ส่วนเส้นใยที่ได้จากเปลือกต้นสามารถนำมาสานเป็นตาข่ายจับปลา สรรพคุณทางยา ทั้งต้นใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย บรรเทาอาการท้องเสียได้

หยั่งสมุทร มีดอกสวยงามแปลกตาจึงนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ นำมาปลูกเป็นซุ้มร่มเงาก็ได้

มะเขาควาย เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dittoceras maculatum Kerr แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น Heterostemma maculatum (Kerr) Rodda จากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) รายงานไว้ว่าพืชชนิดนี้พบได้เฉพาะในประเทศไทยหรือภาษาทางราชการเรียกว่า “พืชถิ่นเดียว” พบได้ทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น และในท้องถิ่นที่น่านเรียกว่า “มะเขาควาย” หรือ “มะเขาวัว” ซึ่งเป็นพืชอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) เช่นกัน

มะเขาควายเป็นไม้เถาเลื้อยยาว มักเลื้อยพาดตามต้นไม้ใหญ่ ในทุกส่วนของมะเขาควายจะมีน้ำยางสีขาวลักษณะเหมือนน้ำนม ใบเดี่ยวรูปรี ปลายใบแหลม ใบจะออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ออกดอกเป็นช่อสีขาวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนผลจะออกเป็นฝักคู่ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนสิงหาคม-กันยายน พบในป่าดิบเขาที่มีความชื้น สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป

หากใครไปเที่ยวในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จะพบเห็นมะเขาควายที่บ้านแม่แจ๊ะ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร หรือไปที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ ก็พบเห็นได้ที่บ้านห้วยโทน ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ความสูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,200 เมตร มะเขาควายจัดเป็นผลไม้ป่าของชาวเขาเผ่าลัวะและม้ง มีรายงานว่าชุมชนนำผลมารับประทานสด และยังแปรรูปเป็นมะเขาควายดอง หรือแช่อิ่มขายกันกิโลกรัมละ 80-100 บาท ในบางพื้นที่ยังพัฒนาเป็นผลไม้เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาด้วย ช่วงไหนที่มีผลผลิตออกมามากสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน

นอกจากเป็นผลไม้หรืออาหารกินได้แล้ว ภูมิปัญญาดั้งเดิมนำมะเขาควายมาเป็นสมุนไพรช่วยป้องกันท้องเสีย รักษาโรคไต ช่วยให้กระปรี้กระเปร่าเพราะมะเขาควายมีวิตามินซีสูงมาก

ส่งท้ายปี 2566 นอกจากทบทวนย้อนอดีตเวลา 1 ปีแล้ว ชวนให้เห็นศักยภาพของดีบ้านเมืองไทย พืชถิ่นเดียว เช่น มะเขาควาย และ หยั่งสมุทร พืชท้องถิ่นใช้เป็นอาหารและสมุนไพร

ยังไม่สายที่เราจะหันมาส่งเสริมคนไทยให้รู้จักมากขึ้นและนำมามาปลูกเพื่ออนุรักษ์ขยายพันธุ์ และใช้ประโยชน์กันให้มากขึ้น •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org