เหื่อ – เหงื่อ – ไคล

ญาดา อารัมภีร
"สังข์ทอง" ©️ Artist: Chatreenaluk Thongcallam

เหื่อ – เหงื่อ – ไคล

 

‘เหื่อ’ และ ‘เหงื่อ’ คือ น้ำที่ซึมออกตามขุมขนผิวหนังของร่างกาย, น้ำที่ร่างกายขับออกทางผิว, ของเหลวที่ร่างกายขับออกทางผิวหนัง จะความหมายใดก็ใช่ทั้งนั้น “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5 ให้ความหมายไว้ครือๆ กันว่า

“เหื่อ, คือน้ำที่เกิดจากกาย, เมื่อกายถูกแดดฤๅทำการหนักเปนต้นนั้น”

ทั้ง ‘เหื่อ’ และ ‘เหงื่อ’ เป็นน้ำที่ออกมาจากร่างกายคนเรา สำหรับ ‘ไคล’ มีรายละเอียดต่างไปบ้าง หมายถึง เหงื่อที่ปนกับฝุ่นละอองติดกรังอยู่กับหนังกำพร้า

สมัยสุโขทัยคงจะใช้คำว่า ‘เหื่อ’ และ ‘ไคล’ แยกจากกัน ดังที่ “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงผ้าเช็ดหน้าทิพย์ที่เทพยดานำมาถวายพระญาศรีธรรมมาโศกราชเพื่อให้ ‘เช็ดหน้าแลเนื้อตัวพระองค์ทุกวัน’

“อันว่าผ้าทิพย์ฝูงนั้นโสด ถ้าแลว่าแปดเหื่อแลไคลแลเก่าหม่นหมองไปไส้ บมิพักซักฟาดด้วยน้ำเลย ก่อไฟขึ้นให้ลุกเป็นเปลวแล้ว เอาผ้าฝูงนั้นทอดเข้าในเปลวไฟ ไฟบ่มิไหม้ผ้านั้นเลย เหื่อแลไคลซึ่งบันดาลติดแปดผ้านั้นหมดสิ้นแล แลดูผ้านั้นใหม่ออกหมดใสงามดี มีพรรณดั่งผ้าใหม่แล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

วิธีทำความสะอาดผ้าทิพย์แทนที่จะซักด้วยน้ำเหมือนผ้าทั่วไป ต้องซักด้วยไฟจึงจะขจัดเหงื่อและไคลให้หมดสิ้น

 

นอกจากนี้ ‘เบญจบุพนิมิต’ นิมิต หรือลางบอกเหตุ 5 ประการที่เกิดแก่เทพยดาเมื่อใกล้เวลาจุติ (ดับจากความเป็นทิพย์) ไปปฏิสนธิ (เกิด) ในโลก “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่า หนึ่งในลางทั้งห้า คือเหงื่อไหลออกจากรักแร้ 2 ข้าง

“๑ นิมิต อันหนึ่งคือว่าอยู่สุขแล้วอุปัตติหาสุขบมิได้ แลมีเหื่อแลไคไหลออกแต่รักแร้ตน เพราะว่าแต่ก่อนไส้ย่อมมีสุขทุกเมื่อ เหื่อแลไคลบ่ห่อนไหลออกจากตัวไส้ แลรู้ด้วยดั่งนี้” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

คำในข้อความข้างต้นมิได้มีเพียง ‘เหื่อ’ แต่มีทั้ง ‘เหื่อ’ และ ‘ไคล’ สังเกตไหมว่า ‘ไคล’ และ ‘ไค’ เป็นคำเดียวกัน ใช้ในวรรณคดีเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกับคำว่า ‘เหื่อ’ และ ‘เหงื่อ’ สำนวน ‘เหงื่อไหลไคลย้อย’ ที่ใช้กันทุกวันนี้ “ไตรภูมิพระร่วง” ใช้ว่า ‘เหงื่อหายอายย้อย’ ดังตอนที่พระเจ้าอชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ใช้กำลังแย่งแหวนจากโชติกเศรษฐีจนเหงื่อโซมพระวรกาย

“พระญาอชาตศัตรูผู้มีกำลังนักหนาดั่งนั้นตระเบงเร่งบิดตนไปมาเบื้องขวา แล้วจิงถอดเอาแหวนในมือโชติกเศรษฐี ทั้งล้มทั้งลุกกระคุหัวเข่า เหงื่อหายอายย้อยนักหนาดั่งนั้นก็ดี บมิอาจเอาแหวนนั้นได้”

 

ข้อความว่า ‘เหงื่อหายอายย้อย’ หนังสือ “ภาษาไทยวันละคำ” ฉบับรวมเล่มของ กาญจนา นาคสกุล และคณะอธิบายว่า

“ในภาษาถิ่นพายัพ ภาษาถิ่นภาคใต้ และภาษาไทในต่างประเทศ คำว่า ‘อาย’ หมายถึง ไอน้ำ ก็ได้ ไอน้ำก็มีลักษณะเป็นน้ำเช่นเดียวกับเหงื่อ

‘ย้อย’ พจนานุกรมให้ความหมายว่า ‘ห้อยเป็นทางลงมา, ไหลเป็นทางลงมา

ส่วน ‘หาย’ สันนิษฐานว่าเป็นพยางค์ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อให้ได้จังหวะเป็น 4 พยางค์ และมีสัมผัสกลางคำทำนองเดียวกับ ส้มสูกลูกไม้ สีสันวรรณะ สูก และ สัน เป็นพยางค์ที่เพิ่มเข้ามา ไม่มีความหมาย

‘เหงื่อหายอายย้อย’ หมายความว่า เหงื่อและน้ำไหลเป็นทางลงมา ส่วน ‘เหงื่อไหลไคลย้อย’ หมายความว่า เหงื่อก็ไหลและมีขี้ไคลอยู่ด้วย ใช้หมายถึง เหงื่อโซมกาย อาจเป็นเพราะความร้อนหรือใช้กำลังมาก”

 

แม้ “ไตรภูมิพระร่วง” จะแยกคำว่า ‘เหื่อ’ และ ‘ไคล’ ออกจากกัน แต่ก็มักใช้ควบคู่กันว่า ‘เหื่อแลไคล’ อย่างไรก็ดี วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ บทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” ใช้สองคำนี้คู่กัน ตอนที่ลันได พระเอกของเรื่องกำลัง ‘ล้างหน้า’ และ ‘อาบน้ำ’ ด้วยลีลาเฉพาะตัว

“ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง โก้งโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า

เสร็จเสวยข้าวตังกับหนังปลา ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง

กระโดดดำสามทีสีเหงื่อไคล แล้วย่างขึ้นบันไดเข้าในห้อง”

ที่น่าคิดคือ วรรณคดีสมัยเดียวกับ “ระเด่นลันได” ใช้คำว่า ‘เหื่อ’ อย่างแพร่หลาย เช่น บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ตอน ประไหมสุหรีดาหาประทับเรือไปเยี่ยมสียะตรา

“พวกฝีพายเงื้อง่าตั้งท่าจ้ำ

เหล่าขอเฝ้าลงท้ายเต็มลำ ออกเรือเหื่อเป็นน้ำจ้ำไป”

ไม่ต่างจากเรื่อง “สิงหไตรภพ” ตอนนางเทพกินรากับนางสร้อยสุดาวิวาทกันเพราะหึงหวง ผลคือ

“ทั้งสองข้างต่างเจ็บต่างเล็บหัก ต่างหอบฮักเหื่อโทรมชะโลมไหล”

ในขณะที่เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” และบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ใช้คำว่า ‘เหงื่อกาฬ’ (เหงื่อของคนใกล้จะตาย; โดยปริยายหมายถึงเหงื่อแตกด้วยความตกใจกลัว) แทนที่จะใช้ว่า ‘เหื่อกาฬ’ ดังจะเห็นได้จากภาพของขุนช้างเมื่อรู้ว่าขุนแผนพาวันทองหนีไปที่ไหน

“ขุนช้างได้ฟังคลั่งเดือดดาล เหงื่อกาฬไหลตกซกซกไป”

ใกล้เคียงกับภาพท้าวสามลยามเห็นหกเขยตีคลีไม่ได้เรื่อง

“ท้าวคิดเคืองขุ่นงุ่นง่าน ตัวสั่นสะท้านเหงื่อกาฬไหล”

เอาเป็นว่า สมัยก่อนคำว่า ‘เหื่อ’ กับ ‘เหงื่อ’ ใช้แทนกันได้ แต่สมัยนี้ คำว่า ‘เหื่อ’ ใช้พูดเท่านั้น

ถ้าต้องการทั้งพูดและเขียนก็ใช้ ‘เหงื่อ’ แล้วกัน •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร