10 ปี ‘สีกากี’ สูญหาย มั่นคง-มั่งคั่ง สำคัญกว่า ‘ยุติธรรม’

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ทําไมถึงตั้งหัวเรื่องว่า “10 ปี” ทั้งที่ “ตำรวจ” สั่งสมปัญหามานาน

เกือบ 20 ปีมาแล้วที่มีรายงานของคณะกรรมการต่างชุดชุดวาระค้นคว้าศึกษาเอาไว้มากมายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบงานตำรวจ แนวทางปฏิรูปตำรวจ แต่จนแล้วจนเจ๊ง “ปฏิรูปตำรวจ” ก็ไม่สัมฤทธิผลสักที

จวบจนถึง “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” คสช.จอมขี้โม้โอ่โฆษณาล้อแนวทาง “กปปส.” ว่า จะต้องปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจะต้อง “ปฏิรูปตำรวจ”

จากนั้น “คสช.” ก็ขยันตั้งคณะทำงานแทบทุกปี มีด้วยกันหลายชุด แต่สุดท้าย นิยามของความเป็นตำรวจไทยก็ยังคงเหมือนเดิม

นั่นคือเป็น “เครื่องมือ” ชิ้นหนึ่งของผู้มีอำนาจรัฐ ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะมาจาก “การเลือกตั้ง” หรือมาจาก “รัฐประหาร” ต่างก็ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือ จะสั่งซ้ายหันขวาหัน ทำคุณหรือให้โทษแก่ใครล้วนเป็นไป!

หนึ่ง เพื่อประโยชน์สุขแห่งหมู่คณะ (ผู้มีอำนาจ)

และสอง เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งที่กีดขวางหรือก่อความรำคาญแก่ผู้มีอำนาจ

ความเป็น “ตำรวจอาชีพ” หรือที่ชอบเรียกกันสวยหรูว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” จึงไม่มีปรากฏให้เห็น!

อำนาจการบริหารที่ควร “กระจาย” ไปเพื่อความสะดวกรวดเร็วก่อประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมส่วนรวม กลับถูก “รวบ”

 

ตั้งแต่ปี 2557 ไล่เรียงเรื่อยมาเกือบสิบปี ไม่มีงานตำรวจด้านไหนรุดหน้าก้าวไกล

ไม่มีการปรับโครงสร้างที่สร้างสรรค์เพื่อรับมือสถานการณ์หรือปัญหาในอนาคต ไม่มีการวิเคราะห์วิจัยที่นำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สายบังคับบัญชาที่ว่า ยาวไป ก็ยังคงปล่อยยาว และยิ่งต่อความยาวขึ้นไปอีก เป็นองค์กรที่หัวโตตัวลีบ ไร้ประสิทธิภาพ

ไม่จัดลำดับความสำคัญภารกิจ ปะผุ ปนเป เกิดความอลหม่านชุลมุน นั่นก็เนื่องจากการเอาประโยชน์บุคคลเป็นตัวตั้ง ไม่ได้สนใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง งานสืบสวนสอบสวนก็ไม่ได้พัฒนา พนักงานสอบสวนเสียขวัญ ตำรวจนักสืบสิ้นหวัง แหงนหน้ามองขึ้นไปเจอแต่ “นาย” ที่ทำงานไม่เป็น ในรอบหลายปีมานี้ผู้บังคับบัญชาเติบโตมาจากการวิ่งเต้น เป็นเส้นสายของผู้มีอำนาจ

ไม่มี “ตัวแบบ” ที่ดีพอจะเรียกว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

อันตรายที่สุดก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจของ “สถานีตำรวจเพื่อประชาชน” ที่เคยพยายามสร้างกันเมื่อสามสิบปีก่อนถูกทำลายลงสิ้นแล้ว!

คนที่เดือดเนื้อร้อนใจขึ้นไป “โรงพัก” ทุกวันนี้มักจะมีอาการ “หลอน”

ไม่แน่ใจว่าจะได้พบกับคนดีหรือคนร้าย!?

 

ถ้าหากตำรวจไม่ได้มุ่งสนใจทุกข์ร้อนของประชาชนก็จะเกิดคำถามว่า “มีตำรวจเอาไว้ทำไม” เหมือนๆ กับที่เคยมีคนถาม “มีทหารเอาไว้ทำไม”

เป็น “คำถาม” ไม่ใช่ “คำด่า”!

แต่คนที่ไม่มีปัญญาพอก็จะพานคิดว่าเป็นการพูดจาหยามศักดิ์ศรี หมิ่นเกียรติ

คนที่ลุแก่อำนาจจะเข้าใจว่า “รัฐ” เป็นเทวดา

แต่บัณฑิตหรือคนมีปัญญารู้ทั่วกันว่า “รัฐ” ดำรงอยู่ด้วยพันธะ มีภาระที่ต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของผู้คนในรัฐ และ “อำนาจรัฐ” นั้นหมุนผลัดเปลี่ยนมือได้เสมอ ด้วยกติกาสันติวิธี ไม่ใช่การ “ปล้นชิง”

เกียรติภูมิศักดิ์ศรีทั้งหลายของคนและองค์กรจึงเกิดจาก “การปฏิบัติ” ไม่ใช่ทึกทักเอาจากตำแหน่งแห่นหนที่ดำรง

เช่น ถ้าเป็นตำรวจแล้วไม่จับโจร ไม่สืบสวนสอบสวน ไม่รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี ปล่อยให้คนผิดลอยนวลแล้ว ถามว่า จะมีตำรวจเอาไว้ให้สิ้นเปลืองเนื้อที่ของอาคารสถานที่ เปลืองค่าจ้างและงบประมาณแผ่นดินไปทำไม ซึ่งก็เหมือนกับองค์กรอื่นๆ ทั้งที่อิสระและไม่อิสระ

ถ้าไม่ทำหน้าที่ หรือทำอย่างคดๆ แล้วจะมีเอาไว้ทำไม

 

เมื่อมีองค์กรตำรวจ สังคมก็ต้อง “คาดหวัง” จากตำรวจ

บ้านเมืองจะพัฒนา เศรษฐกิจจะเจริญ การศึกษาจะก้าวหน้า ผู้คนจะมีวัฒนธรรมอันดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งหมดก็ต้องอาศัย “ตำรวจ”

เพียงแต่ นับจากหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา กิจการตำรวจตกอยู่ในสภาพเลวร้ายที่สุด!

การแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ มีการวิ่งเต้น ซื้อขายเก้าอี้ การบังคับใช้กฎหมายไม่เที่ยงธรรม ตำรวจไม่ทำหน้าที่ หรือ “ทำหน้าที่ผิดไป” โจรผู้ร้าย ผู้กว้างขวาง ผู้มีอิทธิพล นักเลงอันธพาล หรือกระทั่งกเฬวรากข้างถนนอหังการ ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ยำเกรงตำรวจ ดังตัวอย่างที่ “ผู้กำกับการตำรวจ” ชวนผู้ใต้บังคับบัญชาไปกินอาหารที่บ้านกำนัน แต่กลับถูกลูกสมุนของกำนันกระหน่ำยิง “สารวัตร” ที่เป็นลูกน้องตายคาโต๊ะอาหาร ต่อหน้าต่อตา “นายพันตำรวจเอก” ถึง 3 นาย!

ม่มีใครทำลายศักดิ์ศรี หยามเกียรติตำรวจไทย!!

ไม่มี “ไพร่พลเลว”

จะมีก็แต่ “ผู้บังคับบัญชาเลว” กับ “การเมืองเลว”

 

ยังจำกันได้หรือไม่ในยุค “คสช.” มีการยุบเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนและยกเลิกเงินตำแหน่งพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนเลื่อนไหลไปสู่ตำแหน่งอื่นใดก็ได้ การแต่งตั้งโยกย้ายตั้งแต่ผู้กำกับการ ขึ้นไปจนถึงรองผู้บัญชาการ ให้ “ผบ.ตร.” กำหนดหลักเกณฑ์ละเลงได้เลย อำนาจที่ควร “กระจาย” กลายเป็น “รวบ” ที่ควรเปิดเผยโปร่งใสให้ตรวจสอบ กลายเป็นปิดบัง อำพราง ซ่อนเร้นจนถึงขั้นทำตามอำเภอใจ

“นายพล” บางคนจึงรวยขึ้นๆ แต่งานทุกด้านของตำรวจเลวลง

ได้ยินเสียงเรียกร้องต้องการ “เป็นกลางทางการเมือง” แต่ในทางปฏิบัติมอบราบคาบแก้วเป็น “เครื่องมือทางการเมือง”

ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ข้อที่จะพิจารณา

ปากปกป้องหวงแหน “อำนาจสอบสวน” แต่ไม่ส่งเสริมพัฒนา “วิชาชีพสอบสวน” ให้มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ในวงการยุติธรรม ผู้บังคับบัญชาระดับสูงลิ่วผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ทำคุณสร้างประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น

ถ้า “กิจการตำรวจ” ไม่ได้ตอบโจทย์ของสังคมก็เป็นธรรมดาที่จะถูกมองว่า เป็นแค่ “กลุ่มอาชีพหนึ่ง” ที่ชีวิตต้องขวนขวาย

ตำรวจระดับชนชั้นล่าง ก็ดิ้นรนเพียงเพื่อให้อยู่รอด ที่ทนต่อระบบไม่ไหวก็จำใจต้องลาออก

แต่ถ้าเป็น “ตำรวจชนชั้นสูง” ย่อมดำรงคงความเป็นอภิสิทธิ์ชนต่อไปเพื่อยศและลาภ

การอำนวยความยุติธรรมของตำรวจที่เสื่อมทรามตกต่ำ ไม่เห็นใครจะรู้สึกเสียเกียรติสิ้นศักดิ์ศรี!?!!