ความเป็นไปได้เรื่อง ‘Golden Boy’ ที่ไทยจะได้คืนจากอเมริกา คือรูปฉลองพระองค์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก Southeast Asian Archaeology

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมานี้ The Metropolitan Museum of Art หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า The MET ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แจ้งกับทางประเทศไทยว่า มีประติมากรรมสำริด 2 ชิ้น ซึ่งจัดแสดงอยู่ภายใน The MET ที่สืบประวัติแล้วพบว่า เป็นโบราณวัตถุถูกลักลอบนำออกมาจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงจะดำเนินการส่งคืนให้กับประเทศไทย

ประติมากรรมสำริดทั้ง 2 ชิ้นที่ว่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นประติมากรรมที่จัดอยู่ในศิลปะแบบเขมร (แต่ถ้าพบภายในเขตประเทศไทยแล้ว ก็มักจะถูกนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐอย่างกรมศิลปากร เรียกว่า ศิลปะลพบุรี หรือศิลปะเขมรในประเทศไทย อย่างมีนัยยะสำคัญทางลัทธิชาตินิยม, เชื้อชาตินิยม รวมไปถึงการเมือง)

โดยชิ้นหนึ่งนั้นเป็นประติมากรรมสำริดรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือชูขึ้นเหนือศีรษะ

ส่วนอีกชิ้นหนึ่ง (ซึ่งก็คือชิ้นที่ผมอยากจะชวนคุยในที่นี้) เป็นที่รู้จักกันทั้งในหมู่ผู้สนใจในประวัติศาสตร์โบราณคดีโบราณคดี และนักสะสมโบราณวัตถุทั่วโลก ในชื่อเรียกอย่างลำลองว่า “Golden Boy”

ที่เรียกกันว่า “Golden Boy” นั้น เป็นเพราะว่า ประติมากรรมชิ้นนี้หล่อขึ้นจากสำริดและกะไหล่ทอง จนทำให้ตัวประติมากรรมมีความโดดเด่นด้วยความสวยงามของเนื้อโลหะเป็นพิเศษนั่นเอง

 

ประติมากรรมสำริดชิ้นนี้หล่อเป็นรูปบุคคลเพศชายในอิริยาบถประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างแสดงมุทรา (คือ ท่ามือ) ด้วยการจีบนิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือเข้าด้วยกัน (ที่ไม่เรียกนิ้วต่างๆ ด้วยคำราชาศัพท์เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ) ในขณะที่งอนิ้วกลางกับนิ้วนางลง ส่วนนิ้วก้อยชูขึ้น ซึ่งไม่ต้องตรงกับแม่แบบการแสดงมุทราโดยทั่วไปของอินดีย แต่อาจเป็นไปได้ว่า คือปางแสดงธรรม (วิตรรกะมุทรา) อย่างพื้นถิ่นอุษาคเนย์ โดยพระหัตถ์ขวาของประติมากรรมอยู่ในท่วงท่าชูขึ้นเล็กน้อย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหงายลงทางด้านล่าง

และแม้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้จะมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่จากทั้งมุทรา และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวประติมากรรมนั้นกลับไม่แสดงให้เห็นเลยว่า หมายถึงเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใด และศาสนาไหน?

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นที่หลายแห่ง ซึ่งก็รวมถึงข้อมูลอย่างเป็นทางการของ The MET เองนั้น ก็ยังมักจะอธิบายเกี่ยวกับ Golden Boy ว่า อาจเป็นรูปพระอิศวร (องค์เดียวกันกับพระศิวะ)

แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่า “อาจจะ” เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ประติมากรรมชิ้นนี้ไม่มีลักษณะใดๆ ที่แสดงถึงความเป็นพระอิศวรเลย เช่น ไม่ปรากฏพระเนตรที่สามอยู่กลางพระนลาฏ (หน้าผาก), ไม่มีสังวาลคล้องพระองค์เป็นรูปพญานาค (ตามปรัมปราคติของพราหมณ์ว่า พระอิศวรทรงพญานาควาสุกรีเป็นสังวาล) และไม่มีแม้กระทั่งตรีศูล อาวุธประจำกายของพระอิศวรเสียด้วยซ้ำ (แน่นอนว่า ด้วยมุทราอย่างนี้ Golden Boy คงจะถือตรีศูลได้ไม่ถนัดมือแน่)

ดังนั้น จึงมีผู้เสนอขึ้นมาว่า อะไรที่ถูกเรียกกันด้วยชื่อเล่นว่า “Golden Boy” นี้ อาจจะไม่ใช่เทวรูป แต่เป็นประติมากรรมรูปบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์เสียมากกว่า และหากว่าใครคนนั้นจะได้รับเกียรติถึงเพียงนี้แล้ว เขาก็ควรที่จะเป็นชนชั้นสูง โดยเฉพาะกษัตริย์

ซึ่งก็มีผู้ชี้เฉพาะลงไปให้ชัดเจนเลยด้วยว่า ประติมากรรมรูปนี้น่าจะเป็นรูปฉลองพระองค์ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6”

 

การที่นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า จากลักษณะทางศิลปะที่แสดงอยู่นั้น Golden Boy ควรจะสร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.1600-1650 จึงชวนให้เชื่อได้ว่า ใครคนที่เป็นต้นแบบของประติมากรรมชิ้นนี้ ควรจะเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว

แน่นอนว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนคร (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา) คาบเกี่ยวอยู่กับช่วงเวลาดังกล่าว (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1623-1650)

นักวิชาการผู้ช่ำชองเกี่ยวกับศิลปะ และวัฒนธรรมเขมรโบราณชนิดหาตัวจับยากอย่าง คุณทนงศักดิ์ หาญวงศ์ ถึงกับระบุลงไปชัดๆ เลยว่า เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะที่ปรากฏอยู่บนการประดับประดา และรูปแบบของการนุ่งผ้าของ Golden Boy แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นประติมากรรมในศิลปะแบบพิมาย (พ.ศ.1623-1650 โดยระบุตามรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6) โดยกำหนดชื่อศิลปะตามลักษณะที่ปรากฏชัดในปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา

(โดยปกติแล้ว ศิลปะเขมรโบราณจะถูกแบ่งออกเป็น 15 สมัย/ศิลปะ แต่ไม่มีการแบ่ง “พิมาย” ออกมาเป็นยุคสมัยอย่างเป็นเอกเทศ หรือมีรูปแบบศิลปะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ แต่คุณทนงศักดิ์เสนอว่าควรจำแนกออกมาต่างหาก เพราะมีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน อันเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้เชี่ยวชาญในศิลปะเขมรโบราณ อีกท่านหนึ่งอย่าง อ.สมิทธิ ศิริภัทร์ [ล่วงลับ] แห่งคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้อย่างไม่เป็นทางการ)

ที่สำคัญก็คือ ศิลาจารึกหลักเก่าที่สุดที่เอ่ยถึงพระนามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นั้น พบที่ปราสาทพนมวัน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ระบุศักราชตรงกับเรือน พ.ศ.1625 ซึ่งก็ตั้งอยู่ไม่ห่างจากปราสาทพิมายนัก

ซึ่งก็ทำให้นักวิชาการผู้สนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมเขมรโบราณส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบเมืองพิมาย (น่าสังเกตด้วยว่า ปราสาทพิมายนั้นสร้างขึ้นในพุทธศาสนาแบบมหายาน และก็มีหลักฐานด้วยว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นั้นทรงนับถือพุทธศาสนามหายานด้วยเช่นกัน)

ดังนั้น ข้อสังเกตเรื่องลักษณะทางศิลปะของ Golden Boy เป็นแบบพิมาย ของคุณทนงศักดิ์ จึงมีนัยยะที่น่าสนใจอยู่มากเลยทีเดียวนะครับ

Golden Boy

และก็เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้สนใจเรื่องประวัติศาสตร์เขมรโบราณอีกเช่นกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นั้นได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ที่ศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง และวัฒนธรรมของเขมรโบราณ คือเมืองยโสธรปุระ (ชื่อในจารึกของเมืองพระนคร) โดยถือเป็นกษัตริย์ผู้สถาปนาอำนาจของ “ราชวงศ์มหิธรปุระ” ขึ้นในเมืองพระนครพระองค์แรก

ราชวงศ์มหิธรปุระนั้น ถือเป็นราชวงศ์ที่สำคัญอย่างใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ทั้งภูมิภาค และรวมไปถึงประวัติศาสตร์โลกด้วย

เพราะเป็นราชวงศ์ที่รุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์เขมรโบราณ โดยได้สร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เขมรโบราณ โดยเฉพาะ “ปราสาทนครวัด” ที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้เป็นหลานแท้ๆ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และ “เมืองนครธม” (หรือพระนครหลวง ในภาษาไทย) ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หน่อเนื้อเชื้อไขพระองค์สำคัญในราชวงศ์มหิธรปุระอีกคนหนึ่ง ได้สถาปนาขึ้น จนถือเป็นยุคสมัยที่วัฒนธรรมเขมรโบราณเรืองอำนาจมากที่สุด

ส่วนที่เรียกชื่อราชวงศ์ว่า “มหิธรปุระ” ซึ่งเป็นชื่อของเมือง (ปุระ แปลตรงตัวว่า เมือง) นั้น เป็นการเรียกชื่อราชวงศ์ตามข้อมูลในจารึกต่างๆ เช่น จารึกปราสาทตาพรหม ที่ระบุศักราชตรงกับปี พ.ศ.1729 (ซึ่งก็เป็นจารึกที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์เชื้อสายมหิธรปุระอย่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ว่า ราชวงศ์ดังกล่าวมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่เมืองมหิธรปุระ โดยมีต้นวงศ์คือ หิรัณยวรมัน ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 อีกทอดหนึ่ง

ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ดินแดนที่เรียกว่า “มหิธรปุระ” นั้นตั้งอยู่ที่ใดแน่?

แต่จารึกหลายหลักนั้นระบุตรงกันว่า อยู่ทางทิศเหนือของเมืองพระนครขึ้นไป ทำให้นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำมูล ในภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน

แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านเสนอว่า “เมืองพิมาย” นั่นแหละครับ ที่เป็นศูนย์กลางของราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นอย่างนั้น (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง)

 

จารึกเขมรโบราณหลายหลักแสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินขนาดใหญ่หลายหลังในเขต จ.นครราชสีมา และ จ.พนมรุ้ง โดยเฉพาะปราสาทพนมวัน และปราสาทพนมรุ้ง ก็สร้างขึ้นในอำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระนี่เอง ดังนั้น จึงอาจจะเห็นได้ถึงเครือข่ายอำนาจของราชวงศ์ดังกล่าวที่กระจายอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำมูลอย่างชัดเจน

ที่สำคัญก็คือมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ระบุว่า อะไรที่เรียกว่า “Golden Boy” นั้น ถูกขุดพบในเขตปราสาทบ้านยาง (ปัจจุบันเสื่อมสภาพเพราะการถูกลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ และกลายสภาพเป็นบ่อน้ำไปนานแล้ว โดยที่ไม่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรเสียด้วยซ้ำ) หรือบ้านยางโปร่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งก็ถือได้ว่าอยู่ในอาษาบารมีของเขาพนมรุ้ง ซึ่งอยู่ในขอบข่ายอำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ

ดังนั้น ข้อเสนอเรื่องประติมากรรมชิ้นนี้เป็นรูปฉลองพระองค์ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” จึงมีเค้าความเป็นไปได้ทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากธรรมเนียมการสลักรูปบุคคล อยู่ร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าทั้งหลาย ที่มีปรากฏให้เห็นอยู่หลายแห่งในปราสาทสำคัญที่สร้างขึ้นในราชวงศ์มหิธรปุระ โดยมีตัวอย่างสำคัญคือ ภาพขบวนทหารของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ระเบียงคตปราสาทนครวัด หรือภาพสลักสงครามระหว่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กับพวกจาม ที่ปราสาทบายน ศูนย์กลางของเมืองนครธม ซึ่งต่างก็เป็นภาพสลักที่ยกย่องวีรกรรมของกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ราวกับเป็นปกรณัมของเทพเจ้าที่สลักอยู่รายล้อมปราสาทเช่นเดียวกัน

และนี่ยังไม่นับว่า มีการสลักประติมากรรมลอยตัวรูป พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกับการาลักพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ หรือเทวรูปต่างๆ ให้เพียบอีกด้วยนะครับ

การที่ประติมากรรมสำริด “Golden Boy” ซึ่งไม่มีสัญลักษณ์บ่งชี้ว่าเป็นเทพเจ้า หรือพระโพธิสัตว์องค์ใด จึงควรจะเป็นรูปบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะกษัตริย์ ถูกพบที่ปราสาทบ้านยาง ซึ่งอยู่ในปริมณฑลอำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ

จึงชวนให้น่าคิดว่า ประติมากรรมรูปนี้เป็นรูปฉลองพระองค์ของกษัตริย์ในราชวงศ์ดังกล่าว และเมื่อพิจารณาถึงอายุสมัยจากรูปแบบศิลปะบนชิ้นงานแล้ว ก็อาจเป็นรูปฉลองพระองค์ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” จึงเป็นข้อเสนอที่น่าฟังมากพอสมควร ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางตรงใดๆ ระบุเอาไว้เลยก็ตาม •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ