ฟื้นกลิ่นอายไหมยกดอก จากคุ้มหลวงสู่รวงร้าน (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทความที่ท่านจะได้อ่าน 2-3 ตอนต่อจากนี้ เป็นการสรุปกิจกรรมเสวนาที่ดิฉันจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2566 เวลาบ่ายคล้อย ณ โกดังเก็บของที่ปรับเปลี่ยนมาเป็น Exhibition Hall อยู่ใจกลางเมืองด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ทางไปวัดมหาวัน ถ.มุกดา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน วันปิดนิทรรศการ Long Lamphun (ชื่อนี้มีความหมายสองนัยยะ ทั้งเชิญชวนให้ “ทดลอง” มาเที่ยวลำพูน และ Long ที่แปลว่ายั่งยืน)

โดยดิฉันตั้งหัวข้องานเสวนาไว้ว่า “ฟื้นกลิ่นอายไหมยกดอก จากคุ้มหลวงสู่รวงร้าน” เพื่อให้สอดคล้องกับ theme งาน “ลองลำพูน” สัปดาห์สุดท้ายที่เน้นเรื่อง “Silk”

นั่นคือการเชิดชู “ผ้าไหมยกดอก” อีกหนึ่งอัตลักษณ์สำคัญของเมืองลำพูนที่ทำให้เราไม่เป็นสองรองใคร

วิทยากรท่านแรกเปิดเวทีด้วย พล.อ.ต.เจ้าวัฒนัน ณ ลำพูน หรือ “เจ้าเปี๊ยก” ผู้เป็นทายาทชั้นหลานของ เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย) ซึ่งปัจจุบันเจ้าเปี๊ยกมีอายุ 84 ปี ท่านเล่าให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนานับ 100 กว่าคนฟังว่า ท่านเกิดในช่วงสงครามโลกที่ 2 ก่อนญี่ปุ่นบุกสยาม 1 ปี คือ พ.ศ.2483 ท่านเป็นบุตรของ เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน ผู้เป็นโอรสองค์โตของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์

เจ้าพงศ์ธาดามีพี่สาวคนโตชื่อ เจ้าหญิงลำเจียก พี่สาวคนรองชื่อ เจ้าหญิงวรรณรา และมีน้องชายคนเล็กผู้มีใบหน้าคล้ายกันเสมือนฝาแฝดชื่อ เจ้ารัฐทาธร

โดยธิดาองค์โตของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์นาม เจ้าหญิงลำเจียก ท่านนี้เองเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เดิมนั้นการทำผ้าไหมยกดอกในลำพูนไม่เคยมีมาก่อน เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในคุ้มของเจ้าหญิงลำเจียก ผ่านการให้คำแนะนำของ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

คุ้มของเจ้าหญิงลำเจียกตั้งอยู่บริเวณจุดที่เรียกว่า “กาดพิกุล” (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) คืออยู่ฝั่งตะวันออกของถนนอินทยงยศ เยื้องกับคุ้มเจ้าหลวง

เจ้าเปี๊ยกเล่าประสบการณ์ตรงของท่านว่า ช่วงที่ยังมีสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ตัวท่านและครอบครัว ประกอบด้วยเจ้าพ่อพงศ์ธาดา และเจ้าแม่ หม่อมเจ้าหญิงจิตต์จง จักรพันธุ์ ต้องอยู่ในภาวะสงครามทั้งที่จังหวัดนครปฐม และสงขลา ในฐานะที่เจ้าพ่อพงศ์ธาดารับราชการเป็นอัยการ (ท่านเรียนจบวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ รุ่นเดียวกันกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พจน์ สารสิน และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)

กระทั่งเจ้าพ่อพงศ์ธาดาได้ส่งเจ้าเปี๊ยกมาอยู่ลำพูน เรียนชั้น ป.3-ป.4 ได้มีโอกาสเข้าไปนอนในคุ้มของเจ้าป้าลำเจียก ซึ่งเป็นโรงทอแห่งเดียวในลำพูนยุคหลังสงครามโลกที่เริ่มทอผ้าไหมยกดอก ในขณะที่ช่างทอผ้าแหล่งอื่นๆ ในยุคนั้น อาทิ ที่ อ.สันกำแพง อ.สารภี อ.สันป่าตอง หรือ อ.ป่าซาง เขาทอแต่ผ้าฝ้ายกันทั้งหมด

เจ้าเปี๊ยกเล่าว่า เคยเห็นกระบวนการทำผ้าไหมยกดอกกว่าจะเสร็จ 1 ผืน หมดทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองในคุ้ม เห็นเจ้าป้าลำเจียกทำการกวักไหม ย้อมไหม เขียนลาย คัดลาย ขึ้นหูก ขึ้นฟืมเอง ผูกตะกรอ ทอเองทุกขั้นตอน รู้ว่าเป็นการทำงานที่ยากลำบาก แทบไม่มีใครอยากทำเพราะกว่าจะสำเร็จสัก 1 คืบ ต้องใช้เวลานานมากเป็นอาทิตย์

สิ่งที่คนทั่วไปไม่เคยทราบก็คือ นอกจากเจ้าป้าลำเจียกจะทอผ้าไหมยกดอกแล้ว ช่วงฤดูหนาวท่านยังทอผ้าพันคอแจกลูกๆ หลานๆ อีกด้วย แต่ใช้เส้นฝ้ายทอ ซึ่งเด็กผู้ชายสมัยก่อนนิยมใช้ผ้าพันคอแล้วสวมแจ๊กเก็ตทับอีกชั้น ตัวเจ้าเปี๊ยกเองได้รับผ้าพันคอจากเจ้าป้าลำเจียกที่แจกให้อยู่หลายผืน

เจ้าหญิงลำเจียก (ณ ลำพูน) เกษมสันต์ ธิดาองค์โตของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ผู้วางรากฐานผ้าไหมยกดอกลำพูน

เจ้าป้าลำเจียกสมรสกับ ม.จ.เกียรติประวัติ เกษมสันต์ จึงย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ บั้นปลายชีวิตท่านสุขภาพไม่ดี เคยมอบหมายธิดาชื่อ ม.ร.ว.ภาณีพิจิตร (เกษมสันต์) ชุณหะมาน ให้สืบทอดงานผ้าไหมยกดอกอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทำตลอด

ต่อมา เจ้าป้าลำเจียกเคยมาฝากฝังงานนี้กับเจ้าแม่ของเจ้าเปี๊ยก (ม.จ.หญิงจิตต์จง จักรพันธุ์) ให้เผอิญว่าเจ้าแม่ก็ไม่ถนัดนัก เจ้าป้าลำเจียกจึงฝากฝังต่อที่ เจ้าหญิงพงษ์แก้ว ชายาของเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน ผู้เป็นโอรสของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ กับเจ้าแม่สวนบุญ ในที่สุด เจ้าพงษ์แก้วยินดีรับสืบทอดงานทอผ้าไหมยกดอกจากเจ้าป้าลำเจียก ทำให้ผ้าไหมยกดอกของเราไม่สูญหาย

เมื่อคุ้มเจ้าป้าลำเจียกปิดตัวลงทั้งสองโรงทอขนาดใหญ่ ช่างทอที่เคยช่วยงานแต่ละคนก็แยกย้ายกลับไปทอกันเองตามบ้านของตน

ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองลำพูนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง เช่น บ้านหลวย บ้านยู้ บ้านเวียงยอง บ้านต้นแก้ว

คนเหล่านี้ได้เรียนรู้เรื่องการทอแบบยกดอก จากเดิมที่ทอพื้นฐานแค่ลายจก ลวดลายดอกดวงต่างๆ ที่เจ้าป้าลำเจียกเขียนมากับมือ

ช่างทอสตรีเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพสืบรุ่นลูกรุ่นหลานจวบจนทุกวันนี้

แต่วัสดุที่ชาวบ้านใช้ทอนั้น มักใช้ผ้าฝ้ายแทนผ้าไหม เพราะผ้าไหมต้นทุนสูง

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผ้าไหมยกดอกของคุ้มเจ้าหญิงลำเจียกกระจายสู่ชาวบ้านลำพูน

ส่วนคุ้มของเจ้าหญิงพงษ์แก้ว (ปัจจุบันคือที่ตั้งมูลนิธิเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ อยู่ทางด้านขวาของถนนที่มุ่งหน้าจากตัวเมืองจะข้ามสะพานท่าขามไปฝั่งเวียงยอง) ก็เป็นโรงทอแห่งเดียวที่ราชนิกุลในวังจากส่วนกลาง และคุณนายผู้ว่า คุณนายอำเภอต่างๆ มาสั่งทอ

บางรายสั่งแล้วไม่มารับเพราะสู้ราคาไม่ไหว เจ้าพงษ์แก้วก็ยกให้เจ้าเปี๊ยกฟรีๆ ก็มี

บางครั้งเจ้าพงษ์แก้วเอามาขายให้เครือญาติแบบราคาถูกเท่าทุนก็มี ผ้าไหมยกดอกสมัยก่อนผืนละ 150.- (ยุคที่ราคาทองบาทละ 400)

เจ้าพงษ์แก้วไม่คิดอะไรมาก ท่านทอไปเรื่อยๆ และมักทอแจกลูกหลานทุกคนที่จะแต่งงาน ให้เจ้าสาวเอาไปตัดชุดไทยจักรี ไทยจิตรลดา หรือไทยบรมพิมาน อะไรก็แล้วแต่

ภาพซ้าย เจ้าหญิงลำเจียกคือคนยืนซ้ายมือ ถ่ายร่วมกับเจ้านายสตรีฝ่ายเหนือ ภาพขวา เจ้าหญิงลำเจียกถ่ายคู่กับอนุชา เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน ในวัยเยาว์

จากคุ้มหลวงสู่รวงร้าน

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหมยกดอกลำพูนมากที่สุดในประเทศไทย ที่จะมาช่วยไขปริศนาเรื่องการกระจายตัวของผ้าไหมยกดอกลำพูนที่เริ่มจากคุ้มของธิดาเจ้าหลวง (เจ้าหญิงลำเจียก) ไปสู่ร้านรวงต่างๆ หนีไม่พ้น ท่านอาจารย์ปรีชาเกียรติ บุญยเกียรติ “ครูศิลป์แผ่นดิน ผ้าไหมยกดอก” ในฐานะที่มารดาของท่านชื่อ “คุณป้าบุญศรี” (ล่วงลับไปแล้ว) เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ก้นกุฏิที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทุกแง่มุมมาจากเจ้าหญิงลำเจียก

อาจกล่าวได้ว่า อาจารย์ปรีชาเกียรติคือ “ข้อต่อ” คนสำคัญ ที่ได้เรียนรู้กรรมวิธีเทคนิคการทอผ้าไหมยกดอกรุ่นก่อนจากคุ้มเจ้าหญิงลำเจียกผ่านคุณแม่บุญศรี (โรงทอผ่องพรรณ) ส่งต่อมาสู่รุ่นลูกของท่านคือ ร้านเพ็ญศิริไหมไทย และร้านปรางค์ดีไซน์

อาจารย์ปรีชาเกียรติเริ่มต้นกล่าวถึงบรรยากาศของช่างทอที่ร่วมสมัยกับคุณแม่บุญศรี ที่มาทอและเรียนรู้เรื่องผ้าไหมยกดอกในคุ้มเจ้าหญิงลำเจียกว่า

“เจ้าลำเจียกเป็นคนไม่หวงวิชา มีอะไรสอนหมด นอกจากคุณแม่บุญศรีของผมแล้ว ช่างทอยุคนั้นที่เด่นๆ ก็มีคุณป้าคำแหว้น คุณป้าบัวผัน โนตานนท์ คุณป้าทองคำ อินทพันธ์ กับช่างทอที่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านยู้ บ้านสันต้นธง ฯลฯ…

“ลวดลายดั้งเดิมของผ้าทอลำพูนในอดีตยังไม่มีความหลากหลาย ช่างทอชาวลำพูนส่วนใหญ่รู้จักเพียงไม่กี่ลายเท่านั้น หลักๆ แค่ลายดอกพิกุล กับการทอตีนจกในกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ซึ่งเป็นลายขนาดเล็ก ดูแข็งเพราะเป็นลายเรขาคณิต ไม่อ่อนช้อยเลื่อนไหลไหวพลิ้ว กระทั่ง พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ถ่ายทอดวิธีการสร้างแพตเทิร์นลวดลายแปลกๆ ใหม่ๆ จากภาคกลางให้เจ้าหญิงลำเจียกนำไปปรับผสมผสานกับลายพื้นเมือง เช่น ลายกระหนกเปลว ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ จนทำให้ผ้าไหมยกดอกลำพูนในยุคเจ้าหญิงลำเจียกมีลวดลายที่ดูอ่อนช้อย แปลกตากว่าผ้าทอพื้นเมืองทั่วไป

นอกจากพระราชายาฯ แล้ว บุคคลในวังหลวงอีกพระองค์หนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจในการผูกลวดลายผ้าทอได้อย่างวิจิตรต่อเจ้าหญิงลำเจียกก็คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระองค์ท่านมีความสันทัดในการเขียนลายผ้าทอยกดอกไว้จำนวนมาก ผมเชื่อว่าความอ่อนหวานของลวดลายก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผ้าไหมยกดอกลำพูนมีเสน่ห์ชวนมอง”

เจ้าพงษ์แก้ว ณ ลำพูน ชายาของเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน ผู้เป็นโอรสของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าพงษ์แก้วรับหน้าที่สืบสานการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนต่อจากเจ้าหญิงลำเจียก

หลังจากที่คุ้มเจ้าหญิงลำเจียกปิดตัวลง คุณแม่บุญศรี บุณยเกียรติ ได้ออกมาเปิดโรงทอผ้าชื่อ “ร้านผ่องพรรณ”

“คุณแม่ผมให้ชาวบ้านมาเป็นลูกมือ ส่วนใหญ่เป็นสตรีเชื้อสายยอง คนเหล่านี้มีพื้นฐานในการทอผ้ามาก่อนแล้ว เพราะคนสมัยก่อนแม่ญิงแทบทุกบ้านต้องทอผ้าใช้เองในชีวิตประจำวัน แต่กรรมวิธีทำลวดลายนั้น พวกเขายังใช้วิธี ‘จก’ กันอยู่ อันเป็นเทคนิคโบราณของชาวล้านนาที่ทำสืบทอดกันมา ยังไม่ใช่การ ‘ยกดอก’ แบบราชสำนักสยามที่รับมาจากนครศรีธรรมราชอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือ ยังไม่มีการเก็บตะกรอไว้ กระทั่งคุณแม่ผมสอนให้ช่างทอเรียนรู้วิธีเก็บตะกรอ อันเป็นหัวใจของการทอผ้าไหมยกดอก…

เมื่อช่างทอได้เรียนรู้วิธีการทอผ้าไหมยกดอกด้วยวิธีการใช้ด้ายพุ่ง ด้ายยืน เก็บตะกรอที่แตกต่างจากการทอผ้าทั่วไปอย่างไรแล้ว การทอผ้ายกดอกก็ค่อยๆ กระจายตัวจากคุ้มเจ้าหญิงลำเจียก มาสู่โรงทอผ่องพรรณของคุณแม่ผม ไปถึงชาวยองฝั่งแม่สารบ้านตอง…

ทว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านที่ทอผ้ายกดอก ณ ฟากตำบลเวียงยองในยุคแรกๆ นั้น นิยมใช้ผ้าฝ้ายแทนผ้าไหม เนื่องมาจากเส้นไหมเป็นวัสดุที่ต้นทุนสูงมาก จากการที่คุ้มเจ้าหญิงลำเจียกเคยปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง กวักไหม สาวไหม ย้อมสีเองหมดทุกขั้นตอน เมื่อกระจายมาสู่ชาวบ้าน ที่มีต้นทุนไม่สูงมากนัก ไม่สามารถสู้ราคาเส้นไหมที่แพงมากได้ จึงเปลี่ยนวัสดุไปใช้ฝ้ายแทน ทำให้เกิดความนิยมในผ้าฝ้ายยกดอกตามมาด้วย”

สัปดาห์หน้า จะว่าด้วยเรื่อง “เส้นทางสายไหม” ว่าพัฒนาการของเส้นไหมที่นำมาทอเป็นผ้าไหมยกดอกลำพูนนั้น ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านฝนมาจากแหล่งใดกันบ้าง ·

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ