ทั้งกลม

เห็นชื่อเรื่องอย่างนี้ แวบแรกที่นึกถึงคงไม่พ้นเรื่องผีๆ สางๆ จะว่าเกี่ยวก็เกี่ยว จะว่าไม่เกี่ยวก็ไม่เกี่ยว

เพราะคำว่า “ทั้งกลม” เป็นแค่ส่วนขยายที่ไม่ได้เจาะจงใช้เฉพาะผี เป็นคำเก่าแก่มาแต่สมัยสุโขทัย (อาจจะก่อนหน้านั้นก็ได้ แต่ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐาน) ที่แน่ๆ คือมีใช้ใน “จารึกหลักที่ ๑” ซึ่งเรียกขานกันอย่างแพร่หลายว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ดังนี้

“กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดั่งบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึ่งได้เมืองแก่กูทั้งกลม”

ความหมายคือ “กู (พ่อขุนรามคำแหง) ไปทำศึกสงครามกับเมืองใด ก็กวาดต้อนช้าง บริวารชายหญิง เงินทอง นำมามอบให้พ่อกู (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) หลังจาก ‘พ่อกูตาย’ พี่กู (พ่อขุนบานเมือง) ครองเมืองต่อ กู (พ่อขุนรามคำแหง) ก็หมั่นปรนนิบัติรับใช้พี่ชาย ไม่ต่างจากที่ปรนนิบัติพ่อ เมื่อพี่ชายตาย ‘จึ่งได้เมืองแก่กูทั้งกลม’ บ้านเมืองจึงตกเป็นของกูทั้งหมด”

คำว่า ‘ทั้งกลม’ ในที่นี้ความหมายคือ ทั้งปวง ทั้งหมด ทั้งสิ้น นั่นเอง

ต่อมามักใช้คำนี้กับคำว่า ‘ตาย’ เป็น ‘ตายทั้งกลม’ ความหมายคือ ตายทั้งหมดทั้งแม่ทั้งลูกที่อยู่ในท้อง จะตายเพราะคลอดลูกตาย เกิดอันตรายระหว่างคลอด หรือด้วยสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น ป่วยตาย ถูกฆ่าตาย ฯลฯ จนแม่ลูกลาโลกไปด้วยกัน

 

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ อธิบายคำ 2-3 คำที่มีความหมายเดียวกันว่า

“ตายทั้งกลม, ตายพราย, คือ ความตายแห่งหญิงที่ลูกยังอยู่ในท้องตัวตายนั้น

ตายทั้งท้อง, คือ ความตายแห่งหญิงที่ตายทั้งลูกอยู่ในครรภ.”

“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ระบุว่า ความหมายหนึ่งของ ‘กลม’ ซึ่งเป็นคำโบราณ ได้แก่ ปวง, หมด, สิ้น เรียกหญิงที่ตายพร้อมกับลูกที่อยู่ในท้องว่า หญิงตายทั้งกลม หมายถึง ตายทั้งหมด คือ ตายทั้งแม่ทั้งลูก ใช้เรียกหญิงที่ตายขณะตั้งครรภ์ พร้อมกับลูกในท้อง

คำว่า “ตายทั้งกลม” พบในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่หมื่นหาญให้นางบัวคลี่ลูกสาววางยาพิษฆ่าขุนแผนผู้เป็นลูกเขย โดยให้เหตุผลว่า

“อ้ายแก้วมันยากจนคนเข็ญใจ จะมิให้เลี้ยงดูอยู่ด้วยกัน

จะให้เจ้าตั้งตัวมีผัวใหม่ จะมอบทรัพย์นับให้ทุกสิ่งสรรพ์

เอาที่เขาเป็นผู้ดีมีเผ่าพันธุ์ เงินทองกองกันให้ถึงใจ”

นางบัวคลี่สองจิตสองใจ ใจหนึ่งก็รักผัว อีกใจก็เกิดความโลภอยากได้ ‘ด้วยพ่อเอาเงินทองเข้าทับถม’ ดังที่กวีบรรยายว่า

“เป็นอกุศลดลจิตคิดนิยม จะต้องตายทั้งกลมจึงกลับใจ

ด้วยพ่อแม่มีทรัพย์นั้นนับถัง ตัวก็ยังสาวอยู่ดูสดใส

ถ้าคลอดลูกจากตัวกลัวอะไร คนจะไขว่กันมาขอกรอทุกวัน

เป็นเวรตนคนจะตายให้หน่ายผัว เชื่อคำพ่อตัวทุกสิ่งสรรพ์”

เมื่อบัวคลี่ตัดสินใจผิด ชีวิตก็ดับสูญด้วยฝีมือผัว ผ่าท้องเมียเอาลูกออกมายามดึกสงัดผู้คนหลับสนิท ขุนแผนนำศพลูกชายไปทำพิธีย่างจนแห้งกรอบเป็นกุมารทองผีรับใช้ในเวลาต่อมา

 

คําว่า ‘ตายทั้งกลม’ ยังพบในตอนขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น หนึ่งในจำนวนเหล็กสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการตีดาบครั้งนี้คือ ‘เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม’ นายตำรา ณ เมืองใต้ และกาญจนาคพันธุ์ ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน” ว่า

“เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม คือ เหล็กตัวปลิงหรือเหล็กตะปูที่เขาทำพิธีตอกโลงสำหรับใส่ศพหญิงตายทั้งกลม หญิงตายทั้งกลมนั้นถือกันว่าเป็นผีตายโหงดุร้าย ถ้าไม่ทำพิธีขนันมักจะอาละวาด เวลาเอาศพใส่โลงจึงต้องขนัน พิธีขนันแล้วแต่อาจารย์หมอผีจะทำ

ผีพราย หมายถึง ผีตายโหง คือ คนที่ต้องตายผิดปกติ ไม่ได้เจ็บไข้ ตายตามธรรมดา ตายทั้งกลม คือ หญิงมีครรภ์ตายขณะเด็กยังอยู่ในท้อง ผีตายโหงผีตายทั้งกลมพวกนี้ดุร้าย พวกไสยศาสตร์เลี้ยงผีชอบเอามาเลี้ยง เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม หมายถึง ขนันโลงผีทั้งสองอย่าง”

ผีตายโหงและผีตายทั้งกลม ทำให้นึกถึงข้อความตอนหนึ่งใน “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) ที่บันทึกว่า สมัยอยุธยาไม่มีการเผาศพเหล่านี้

“ชาวสยามไม่เผาศพคนที่ตายด้วยต้องรับพระราชทัณฑ์ประหารชีวิต หรือทารกที่ตายมาแต่ในครรภ์เลยเป็นอันขาด หรือหญิงที่ตายทั้งกลม หรือคนที่จมน้ำตาย หรือคนที่ตายด้วยอุบัติเหตุวิสามัญ เช่น ถูกฟ้าผ่า เป็นต้น

เขาเหมาเอาว่า คนจำพวกเหล่านั้นเป็นคนมีความผิดคิดมิชอบ ด้วยชาวสยามเชื่อว่าบาปเคราะห์เช่นนั้นจะมิบังเกิดขึ้นแก่ผู้ที่มีความบริสุทธิ์เลยเป็นอันขาด”

ตอนมีชีวิตก็ตายน่าเวทนา

ตอนตายแล้วผู้คนยังรังเกียจ

เฮ้อ! •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร