คุยกับทูต | ฟาน จี๊ ทัญ เตรียมอำลาไทย หลังสามปีที่ผูกพัน สานสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม (1)

เนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต (1976-2023) และครบรอบ 10 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เวียดนาม-ไทย (2013-2023) มติชนสุดสัปดาห์ได้สนทนากับนายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย ณ สถานเอกอัครราชทูต ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร

เอกอัครราชทูตฟาน จี๊ ทัญ เล่าถึงความสัมพันธ์เวียดนาม-ไทยในช่วง 47 ปีที่ผ่านมาทางด้านการเมืองที่มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น มีการเยือน การพบปะกันผ่านกลไกต่างๆ ที่มีระหว่างกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และอื่นๆ

“เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งของผมในประเทศไทยใกล้จะสิ้นสุดลงราวต้นปีใหม่นี้ เพราะมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องดำเนินกิจกรรมทางการทูตออนไลน์ แต่การทูตออนไลน์นั้นไม่ใช่การทูต เพราะเราสามารถทำได้มากกว่านี้หากไม่มีโควิด”

“อย่างไรก็ตาม การมาประจำที่นี่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำมาก ไทยเป็นประเทศที่สามที่ผมอยู่นานที่สุดเท่าที่เคยอยู่มา ได้ไปเยือนมาแล้วเกือบ 40 จังหวัด ได้พบปะผู้คนมากมาย เป็นความทรงจำที่สุดแสนประทับใจอย่างลึกซึ้งที่ไม่อาจลืมเลือน”

นายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย

กล่าวถึงเป็นอันดับแรกคือความประทับใจที่มีต่อเมืองไทย

“ผมมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกในปี 1995 เสน่ห์ของเมืองไทยและการต้อนรับแบบไทยได้ดึงดูดผมมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากมายเห็นได้ชัดจากกรุงเทพฯ”

“ไทยเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ด้วยความหลากหลายของภูมิประเทศ และชายหาดที่สวยงามมากมาย อีกทั้งเป็นแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์ โดยส่วนตัว ผมชอบวัดไทย สถาปัตยกรรมไทยที่สลับซับซ้อนอย่างสวยงาม ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม การผสมผสานระหว่างประเพณีโบราณและอิทธิพลสมัยใหม่นั้น ทำให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร”

“นอกจากนี้ ประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เพลิดเพลินกับประเพณีไทยอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น เทศกาลไทย ชุดประจำชาติไทย และอาหารไทย”

“ผมรู้สึกประทับใจมากที่ผู้คนเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ด้วยประเพณีการสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ในเทศกาลลอยกระทง ก็มีการประดิษฐ์กระทงหลากสีด้วยมือ เพื่อนำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง แลเห็นแสงไฟเป็นประกายระยิบระยับอย่างงดงามยามค่ำคืน”

“สำหรับโขน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความงดงามของศิลปะการแสดงประกอบดนตรีไทย ที่เรียกว่านาฏศิลป์ไทย ซึ่งผมมีโอกาสเข้าร่วมชมการแสดงโขนครั้งล่าสุดคือเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ‘กุมภกรรณทดน้ำ’ อันยิ่งใหญ่อลังการและน่าทึ่งมาก”

นายฟาน จี๊ ทัญ (Mr. Phan Chi Thanh) เฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ไทยและเวียดนามในปัจจุบัน

“ความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองประเทศ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานย้อนกลับไปหลายศตวรรษจนถึงสมัยราชวงศ์สุโขทัยและอยุธยา สำหรับความสัมพันธ์เวียดนาม-ไทยสมัยใหม่มีการอธิบายว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดซึ่งมีแม่น้ำโขงร่วมกัน เป็นสมาชิกอาเซียน และพันธมิตรที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน”

“เรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น ความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม ศาสนา ประเพณี เราอยู่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีความสนใจในหลักสันติภาพ ความมั่นคงในภูมิภาค มีความสัมพันธ์ทวิภาคีหลายแง่มุม ครอบคลุมทุกสาขาความร่วมมือ รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การป้องกันและความมั่นคง การศึกษา วัฒนธรรม กีฬา และอื่นๆ อีกมากมาย”

“ปีนี้เรายังได้ฉลองครบรอบ 10 ปีความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามและไทยด้วย ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างกัน มีความก้าวหน้าที่โดดเด่นในเกือบทุกด้าน”

“โดยไทยและเวียดนามกลายเป็นคู่ค้าสำคัญในภูมิภาค ปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้น 250% จาก 8,6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ต้นปี 2013 เป็นประมาณ 21,6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2022 และไทยยังเป็นหนึ่งในนักลงทุน 10 อันดับแรกในเวียดนาม”

“เวียดนามและไทยกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมร่วมกัน การท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นสองเท่า จากนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามประมาณ 530,000 คนที่มาเยือนประเทศไทย และชาวไทย 225,000 คนไปเยือนเวียดนามในปี 2012 มาเป็นนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม 1 ล้านคน ชาวไทยครึ่งล้านคนในปี 2019 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเราจะเห็นว่าจำนวนการท่องเที่ยวในปี 2023 เพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน”

“ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างไทยและเวียดนามยังคงให้ผลลัพธ์ที่ดีจากนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในทั้งสองประเทศที่มีจำนวนค่อนข้างสูง เรายังมีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเยี่ยมเยือน การประชุมเชิงปฏิบัติการ นิทรรศการ ฯลฯ และการติดต่อระหว่างประชาชนที่ได้รับการส่งเสริมอย่างแข็งขันโดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและเวียดนาม”

“ส่วนในด้านความร่วมมือระดับท้องถิ่นต่อท้องถิ่น ไทยและเวียดนามได้จัดตั้งเมืองพี่เมืองน้อง (Sister Cities) 19 คู่ ในขณะเดียวกับความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านอื่นๆ ก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน”

สถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม

ความร่วมมือทวิภาคีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเด่นคือ

“เราประสบความสำเร็จในความร่วมมือด้านการพัฒนาเกือบทุกสาขา ซึ่งผมคิดว่า ความสำเร็จในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้กลายเป็นคู่ค้าหลักและผู้ลงทุนชั้นนำในเวียดนาม ประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเวียดนามและเป็นประเทศอันดับหนึ่งในอาเซียน เวียดนามอยู่ในห้าอันดับแรกของตลาดส่งออกและตลาดนำเข้า 10 อันดับแรกของประเทศไทย”

“ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณการค้าในปี 1992 มีเพียง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะเกิน 21 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 โดยมีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 20% ต่อปีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป้าหมาย 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ที่ผู้นำได้กำหนดไว้นั้น จึงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”

“มูลค่าการลงทุนของบริษัทธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากที่สูงกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 เป็นมากกว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศและเขตปกครองที่ลงทุนในเวียดนาม 140 ประเทศ”

“กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เกือบ 700 โครงการในด้านการเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน การผลิต พลังงาน การค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่นๆ”

“ดังนั้น ผมจึงมีความภาคภูมิใจมากที่ได้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประเทศเวียดนามประจำประเทศไทย ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์เวียดนาม-ไทย เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากกว่าที่เคยเป็นในรอบ 47 ปีนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน” •

นายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin