การเมือง ‘ภัยแล้ง’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Badwater Road at Death Valley National Park on August 20, 2022, in Death Valley, California.

การแก้ปัญหาภัยแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กำลังเป็นประเด็นการเมืองร้อนๆ ของที่นั่นเมื่อนายกาวิน นิวซัม (Gavin Newsom) ผู้ว่าการรัฐ พยายามผลักดันโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมืองที่อาศัยในพื้นที่ก่อสร้าง

อุโมงค์ส่งน้ำดังกล่าวมีความยาว 72 กิโลเมตร กว้างกว่า 10 เมตร ลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำภาคเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียมายังบริเวณภาคใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น

นายนิวซัมวัย 56 ปีเห็นว่า การสร้างอุโมงค์นี้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการแก้ปัญหาภัยแล้งทั้งในปัจจุบันและอนาคตเนื่องจากประเมินอนาคตอีก 17 ปีข้างหน้า รัฐแคลิฟอร์เนียจะเผชิญสภาวะภัยแล้งอย่างหนักหนาสาหัส ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำรองลดลงและน้ำใช้บริโภคลดลงอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์

ฟังดูเผินๆ ปริมาณน้ำลดลง 10% น่าเป็นสัดส่วนเล็กน้อยมาก แต่หากเอาปริมาณน้ำที่ชาวแคลิฟอร์เนียใช้ในแต่ละปีเฉลี่ย 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มาคำนวณกับปริมาณน้ำที่หายไปเพราะภัยแล้ง ฝนไม่ตก ประมาณ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. หายไปมากพอๆ กับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางๆ

 

รัฐแคลิฟอร์เนียเจอปัญหาภัยแล้งซ้ำซากมานานแล้ว ถ้านับย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2424 เกิดภัยแล้งรวม 13 ครั้ง บางครั้งภัยแล้งเกิดซ้ำซากนานต่อเนื่องถึง 8 ปีเต็มๆ ก็มีเช่นปี 2486-2494 มาปี 2554 เกิดภัยแล้งและสิ้นสุดในปี 2560 และปี 2563-2565

สถานการณ์ภัยแล้งของรัฐแคลิฟอร์เนียมาจากฝนไม่ตกหรือตกแต่มีปริมาณน้ำฝนน้อยมาก ส่วนพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยหิมะบนเทือกเขาเซียราเนวาด้าทางตอนเหนือซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ มีปริมาณหิมะลดลง การละลายของหิมะจึงน้อยลงไปด้วย

ในทางกลับกัน บางปีภูมิอากาศในรัฐแคลิฟอร์เนียแปรปรวนสุดขั้ว มีฝนตกหนักมากจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำเหนือเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำมีเยอะจนล้นต้องปล่อยน้ำจากแหล่งน้ำสำรองทิ้งลงมหาสมุทรแปซิฟิก และเคลื่อนย้ายอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยงเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำแตก

การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ทั้งฝนตกหนัก ภัยแล้งเกิดคลื่นความร้อนและอุณหภูมิเพิ่มสูงดังกล่าวนี้ นายนิวซัมเชื่อว่ามาจากภาวะโลกร้อน

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาทางปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยครั้งและเลวร้ายกว่าเดิม

 

สถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นห่วงใยนั่นคือผลกระทบกับชาวแคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เพราะในช่วงหลังตั้งแต่ปี 2558 นายเจอร์รี่ บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในเวลานั้น ได้ประกาศแบ่งสันปันส่วนการใช้น้ำ

ประชากรในรัฐแคลิฟอร์เนียมีทั้งหมด 39 ล้านคน ใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 670 ลิตร แต่ในช่วงเกิดวิกฤตภัยแล้งทางการแคลิฟอร์เนียออกมาตรการให้ใช้น้ำได้แค่ 390 ลิตรต่อวัน

บ้านใครมีสวนมีต้นไม้ ก็ให้รดน้ำได้อาทิตย์ละ 2 วัน

ถ้าฝนตกห้ามรดน้ำในสนามหญ้าหรือสวนในช่วง 48 ชั่วโมงหลังฝนหยุด

ทุกห้างร้านให้ปิดน้ำพุ ห้ามเสิร์ฟน้ำถ้าลูกค้าไม่สั่ง

และโรงแรมทุกแห่งจะต้องถามแขกที่เข้าพักว่าต้องการซักผ้าเช็ดตัวทุกวันหรือไม่

ในภาคการเกษตร แม้ทางการรัฐแคลิฟอร์เนียไม่ได้บังคับการใช้น้ำ แต่ต้องแจ้งข้อมูลการใช้น้ำ แหล่งน้ำสำรองอย่างละเอียด

พื้นที่บางแห่งแทบไม่มีน้ำ เกษตรกรพากันดิ้นสู้ด้วยการขุดน้ำบาดาล ปั๊มน้ำขึ้นมาใช้กันอย่างมโหฬารทำให้เกิดปัญหาดินทรุดและการกัดเซาะของน้ำทะเลตามชายฝั่ง คุณภาพของน้ำใต้ดินเสื่อมลงเพราะน้ำทะเลปนเปื้อน

ภัยแล้งยังมีผลทำให้ต้นไม้ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียราว 62 ล้านต้นแห้งตายซาก และยังเกิดภาวะไฟป่าตามมาด้วย

นายกาวิน นิวซัม (Gavin Newsom) ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย

เมื่อ “นิวซัม” ได้เป็นผู้ว่าการรัฐในปี 2562 มองเห็นปัญหาภัยแล้งจึงหยิบมาเป็นวาระสำคัญและนำเสนอโครงการอุโมงค์ส่งน้ำขนาดยักษ์เพื่อขออนุมัติงบฯ ก่อสร้าง

ในเบื้องต้นคำนวณมูลค่าโครงการอุโมงค์ส่งน้ำตกราวๆ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 570,000 ล้านบาท “นิวซัม” เชื่อว่าสามารถลำเลียงน้ำได้ชั่วโมงละ 600 ล้านลิตร และหล่อเลี้ยงชาวแคลิฟอร์เนียได้ประมาณ 19 ล้านคน

แต่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเห็นว่าการสร้างอุโมงค์ยักษ์และวิธีการขนย้ายน้ำในปริมาณมหาศาลจะมีผลต่อระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะบรรดาปลาชนิดต่างๆ อาจสูญพันธุ์ จึงรวมตัวต่อต้าน

การถกเถียงระหว่างทีมงานของนายนิวซัมกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเด็นอุโมงค์ส่งน้ำขนาดยักษ์ยืดเยื้อนานเกือบๆ 3 ปี

ต่อมาทีมงานนายนิวซัมยอมอ่อนข้อให้กลุ่มต่อต้านด้วยการแก้ไขปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การดูแลคุ้มครองแหล่งพันธุ์ปลาและสัตว์ป่า พร้อมกับเพิ่มงบฯ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำของรัฐแคลิฟอร์เนีย จัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมชิ้นล่าสุดยื่นให้คณะทำงานของนายนิวซัมพิจารณา

ตามข่าวคาดว่านายนิวซัมเดินหน้าโครงการอุโมงค์ยักษ์อย่างแน่นอนแม้ว่าจะต้องผ่านการอนุมัติในอีกหลายขั้นตอน และถ้าได้รับไฟเขียวอาจจะก่อสร้างในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

นอกจากโครงการอุโมงค์ยักษ์แล้ว ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียใช้เงินงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วมีผลกระทบกับรัฐแคลิฟอร์เนียและชาวอเมริกันมานาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดภายใต้สภาวะใหม่นี้ให้ได้

ในแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดสรรน้ำของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่นำมาใช้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เขียนเป้าหมายว่า เพื่อปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่ร้อนกว่า อนาคตที่แห้งแล้งกว่า (Adapting to a Hotter, Drier Future)

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ว่านิวซัมจัดงบประมาณกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในรัฐแคลิฟอร์เนียและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงเงินเยียวให้กับผู้ประสบภัย

เป้าหมายหลักมีอยู่ 4 ข้อ

1. รัฐแคลิฟอร์เนียจะต้องมีพื้นที่กักเก็บน้ำให้ได้มากกว่า 980 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้ำที่กักเก็บมาจากพายุฝนและเก็บเอาไว้ใช้ในฤดูแล้ง

2. ดึงน้ำที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิล เพื่อใช้ใหม่ ในพื้นที่กักเก็บน้ำไม่น้อยกว่า 660 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนียปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วทิ้งลงมหาสมุทรแปซิฟิก

3. จัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับการอนุรักษ์

และ 4.เอาน้ำทะเลมากรองเป็นน้ำดื่มน้ำใช้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคัดค้านแผนการใช้งบฯ ของ “นิวซัม” ก็ออกมาโต้แย้งว่า งบฯ ที่วางเอาไว้เว่อร์ไปหรือเปล่า

ทำไมจึงมีการแผนใช้งบฯ ก่อสร้างแต่ไม่มีแผนลดปริมาณการใช้น้ำลงเลย

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีชื่อว่า “ฟู้ด แอนด์ วอเตอร์ วอตซ์” ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงไม่เลิกใช้พลังงานฟอสซิล หันมาเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม วิธีการนี้จะช่วยประหยัดการใช้น้ำทันที 82 ล้าน ลบ.ม.

ฟู้ด แอนด์ วอเตอร์ วอตซ์ ยังไม่เห็นด้วยที่จะดึงน้ำทะเลมากรองเป็นน้ำจืดเพราะจะสร้างมลพิษคุกคามชีวิตสัตว์ใต้ท้องทะเล สิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ กำลังจะบอกว่า “ภัยแล้ง” เป็นปัญหาในทุกมุมโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทยเท่านั้น •