ภาคธุรกิจต้องพึ่งตนเอง

ภาวะกำลังซื้อ “หดหาย” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียมซึ่งเป็นสินค้าราคาสูงเท่านั้น สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็เจอสภาพเดียวกัน ยอดขายลดลงถ้วนหน้า

ธุรกิจบ้าน คอนโดฯ เจอสภาพผู้สนใจแวะเยี่ยมชมน้อยลง ยอดจองซื้อน้อยลง และที่ “โหด” สุดก็คือบรรดาลูกค้าที่จองซื้อ ผ่อนดาวน์แล้ว แต่ขอสินเชื่อจากธนาคารไม่ผ่านสูงถึง 50%

ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของกินของใช้ราคาไม่แพง ก็ประสบปัญหาเช่นกัน ข้อมูลคำบอกเล่าจากนักพัฒนาอสังหาฯ ที่เป็นเจ้าของมอลล์ เจ้าของตลาด บอกว่า

ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้ลดต่ำลงน่าตกใจ คนเดินตลาดน้อยลง ยอดซื้อก็น้อยลง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่เป็นผู้เช่าร้านค้าและแผงขายสินค้าอยู่ไม่ได้ เทียบกับปี 2565 ที่เป็นปีแรกหลังโควิดกับปีนี้ 2566 พ่อค้าแม่ค้า 100 ราย ตอนนี้อยู่ไม่ได้ เลิกกิจการไปแล้ว 40-50 ราย

ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนผ่านทางตัวเลขของหน่วยงานราชการ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/2566 ว่าหดตัวติดลบ 0.9% เป็นการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ติดลบ 0.2% และการปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายย่อย SME ติดลบ 5.7% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

สุดท้ายหน่วยงานเศรษฐกิจราชการก็ต้องออกมาปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจปี 2566 ใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับลดจาก 2.5-3.0% ลงเป็น 2.5% ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดจาก 2.8% ลงเป็น 2.4%

 

แนวโน้มต่อไปจะเป็นอย่างไร รัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐจะเข้ามาแก้ไขอย่างไร

ด้านรัฐบาล เห็นความพยายามลดหนี้สินประชาชนโดยเริ่มจากหนี้สินกับธนาคารของรัฐ เห็นความพยายามกระตุ้นกำลังซื้อโดยการออกดิจิทัลวอลเล็ต แต่ยังติดปัญหาอีกหลายด้าน และเห็นความพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลักดันการส่งออกสินค้าและชักชวนการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ

ซึ่งทั้งหมดนี้หมายถึงการสร้างรายได้หรือการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน แต่จากสภาพทางการเมืองและสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็นผู้บริหารนโยบายการเงินประเทศ ล่าสุด ผู้ว่าการ ธปท.ได้ออกมาให้ความคิดเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง บางเซ็กเตอร์กลับมาแล้ว แต่บางเซ็กเตอร์ยังไม่กลับมา ส่วนปัญหาการเติบโตเนื่องจากศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำ ต้องแก้ด้วยนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่กระตุ้นด้วยการบริโภค

ดูแล้วคงต้องใช้เวลายาวนาน

ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนเฉพาะหน้าระยะใกล้ๆ นี้ คงต้องพึ่งตนเองเป็นหลักไปก่อน •

 

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.