เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี… ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ไทย’ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

สงกรานต์ผ้าข้าวม้าที่สยามสแควร์

นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปี 2566 เมื่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand Traditional Thai New Year Festival) ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566

“สงกรานต์ในประเทศไทย” จึงถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจาก “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ปี 2561 “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ปี 2564 ที่ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ไป 3 รายการก่อนหน้านี้

ถือเป็นดับเบิลข่าวดี เพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีมติรับรองการขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย

 

เพื่อเฉลิมฉลองกับข่าวดีๆ ส่งท้ายปี รัฐบาลไทย โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมคณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมงาน

โดยในงานยังมีพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม พร้อมขบวนตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน นำโดย แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอับดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ประจำปี 2567 ตามด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ขบวนแตรวงกลองยาว

ปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรี โดยวงสุนทราภรณ์

 

ทั้งนี้ นายกฯ เศรษฐา ได้กล่าวในโอกาสเฉลิมฉลองว่า ถือเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่สร้างความภาคภูมิใจของคนไทย ในนามของรัฐบาล และประชาชนไทย ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขอประกาศเจตนารมณ์ในการรักษา และสืบทอดประเพณีสงกรานต์ ดังนี้

1. จะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอด และสร้างสรรค์ ประเพณีสงกรานต์ ให้ปฏิบัติ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริม และรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพ และยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน

2. จะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน

และ 3. จะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้สามารถเข้าถึงประเพณีสงกรานต์ในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน และจะร่วมกับชุมชนนานาชาติ ในการรักษา และสืบทอดประเพณีสงกรานต์ในทุกที่ ด้วยจิตใจของความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

โดยนายกฯ เศรษฐา ยังประกาศว่ารัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยเตรียมจัดงานเทศกาลสงกรานต์ 2567 อย่างยิ่งใหญ่ตลอดเดือนเมษายน ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น มหกรรมทางด้านดนตรี มหกรรมทางด้านอาหาร มหกรรมทางด้านงานศิลปะ และมหกรรมทางด้านวัฒนธรรม

ซึ่งจะทำให้สงกรานต์ไม่ได้มีแค่การเล่นสาดน้ำอีกต่อไป!!

 

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการ วธ. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ระบุว่า วธ.ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริม และดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงได้จัดงานฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติขึ้น เพื่อเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง และเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการสงวนรักษา อนุรักษ์ สืบสาน ปกป้อง คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศชาติ

ที่สำคัญ ยังสร้างการรับรู้ให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ให้เข้าใจ และยอมรับในระบบสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอีกด้วย…

โดยจะจัดงานสงกรานต์ในไทยให้กระหึ่มทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม ไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 เพื่อเป็นหมุดหมายด้านการท่องเที่ยว ที่ทั่วโลกต้องเดินทางมาเล่นสงกรานต์ที่ประเทศไทย

ซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่า จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้เข้าประเทศ!!

 

อย่างไรก็ตาม การที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในครั้งนี้ มีการผลักดันตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ไฟเขียวให้ สวธ.ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทย ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

โดย วธ.ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนในประเทศ และได้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกตั้งแต่ปี 2563 โดยกระบวนการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียน ได้ร่วมกับชุมชนผู้ถือครอง และผู้ปฏิบัติ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และได้รับความยินยอมจากชุมชนไทยทุกทั่วประเทศ รวมถึงได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ซึ่งนายโกวิท ผกามาศ อธิบดี สวธ.ได้บอกเล่าถึงการนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ว่า สงกรานต์เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยทั่วไปมีกำหนด 3 วัน คือ วันที่ 13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ และเป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา ซึ่งเป็นวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่

ประเพณีเทศกาลสงกรานต์ของไทย ยังมีกิจกรรมที่ยึดถือแนวปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน แตกต่างกันตามความเชื่อ และแนวปฏิบัติของคนไทยแต่ละภูมิภาค รวมทั้งการแสดงความปรารถนาดีต่อกันด้วยการอวยพร และรดนํ้าดำหัว ตลอดจนการจัดกิจกรรมรื่นเริงสนุกสนาน มีการละเล่นของหนุ่มสาว

โดยบางท้องถิ่นจะทำความสะอาดสถานที่ และจับจ่ายในวันที่ 13 เมษายน ส่วนวันที่ 14 เมษายน เป็นวันสุกดิบ มีการทำอาหาร เพื่อเตรียมที่จะทำบุญ ส่วนวันที่ 15 เมษายน ไปทำบุญที่วัด หลังจากนั้นไปคารวะผู้ใหญ่ โดยการสาดนํ้าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13-14 เมษายน บางแห่งอาจต่อเนื่องไปอีก 2-3 วัน

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศวันสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสงกรานต์ คือวันขึ้นปีใหม่ไทย วันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว

 

เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนตลอดทั้งปี 2567 สวธ.จึงเร่งจัดทำแผนการดำเนินงาน การจัดงานจะมุ่งให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคม และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยจะเป็นผู้นำการขับเคลื่อน เผยแพร่สาระคุณค่า อัตลักษณ์ และความสำคัญของประเพณีสงกรานต์

และนำเข้าสู่ THACCA ของรัฐบาล อีกทั้งร่วมกับภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการจัดประเพณีสงกรานต์ในปี 2567

ต้องติดตามว่า รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้อง จะสร้าง “ซอฟต์เพาเวอร์” และ “ปักหมุด” สงกรานต์ในประเทศไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยได้หรือไม่!! •

 

| การศึกษา