อย่าให้เพื่อนอาเซียนระแวง อย่าให้ทหารพม่าหลอกใช้ (1)

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

อย่าให้เพื่อนอาเซียนระแวง

อย่าให้ทหารพม่าหลอกใช้ (1)

 

ข่าวจากพม่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ไปในทางที่สถานการณ์พลิกผันอย่างหนักเพราะการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้านถูกยกระดับขึ้นอย่างหนักหน่วง

ถึงขั้นที่มีการอ้างจากฝ่ายรัฐบาลคู่ขนาน NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) ว่ารัฐบาลทหารของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย อาจจะกำลังตกอยู่ในสภาพ “ใกล้ล่มสลาย”

เพราะข่าวแจ้งมาค่อนข้างถี่ว่าฝ่ายชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มสามารถรวมพลังกันโจมตีที่ตั้งทางทหารของฝ่ายทหารและยึดไว้ได้หลายจุด

และยังสามารถยึดเมืองหลักทางภาคเหนืออันเป็นที่ตั้งของรัฐฉานตรงชายแดนจีนกับพม่าได้ด้วย

อีกทั้งยังอาจจะมี “คลื่นการโจมตีรอบใหม่” ที่ดุเดือดและรุนแรงกว่าเดิมใน “อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้”

 

ในจังหวะเดียวกันนี้ ณ กรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเราก็เห็นการพบปะพูดคุยระหว่างไทยกับรัฐบาลทหารพม่า

และจีนกับตัวแทนของรัฐบาลทหารพม่าเช่นกัน

คุณปรานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำกับพม่าว่าไทยสนับสนุนสันติภาพในเมียนมา

และพร้อมทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับความช่วยเหลือมนุษยธรรม

คุณปานปรีย์ พบหารือกับนายตาน ฉ่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมา ในโอกาสเดินทางเยือนจีนเพื่อร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 8

คุณปานปรีย์ขอบคุณตาน ฉ่วย ที่ช่วยเหลือในการอพยพคนไทยในเมืองเล้าก์ก่าย และยืนยันความปรารถนาดีที่ไทยมีต่อเมียนมา

และย้ำว่าไทยสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเมียนมา

และหารือแนวทางในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

โดยย้ำว่าไทยดำเนินการเช่นนี้สอดคล้องกับ “ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน”

อีกทั้งยังจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา

 

อีกมุมหนึ่งของปักกิ่ง ตาน ส่วย ก็พบกับหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีน

ที่น่าสนใจมากคือข่าวจากสื่อ Irrawaddy News ของพม่าว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของมิน อ่อง ลาย ได้ขอให้จีนใช้อิทธิพลบารมีเหนือกลุ่ม “พันธมิตรภราดรภาพ” (Three Brotherhood Alliance) ให้หยุดการสู้รบ

เพื่อเข้าสู่การเจรจาสันติภาพกับรัฐบาล

อย่างนี้แปลว่าผู้นำทหารพม่ายอมรับว่ากำลังเพลี่ยงพล้ำจนต้องนั่งลงเจรจากันแล้วหรือ?

ข่าวบอกด้วยว่า ตาน ฉ่วย ได้ขอคุยเป็นการส่วนตัวกับหวัง อี้ ทันทีที่ไปถึงปักกิ่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ก่อนเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศล้านช้าง-แม่โขงในวันต่อมา

เป็นไปได้ว่าสำหรับพม่าแล้วเรื่องให้จีนกดดันกลุ่มต่อต้านในพม่ามีความสำคัญกว่าการประชุมเรื่องความร่วมมือว่าด้วยแม่โขงด้วยซ้ำ

 

จังหวะของการพบปะที่ปักกิ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารพม่าสูญเสียการควบคุมแนวชายแดนอันกว้างขวางที่ติดกับจีน

“พันธมิตรฝ่ายเหนือ” ของพม่าเป็นการรวมตัวที่เหนียวแน่นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ประกอบด้วยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army หรือ TNLA)

รวมกับกองกำลังโกก้างหรือพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA)

ซึ่งประกาศเปิดปฏิบัติการใหญ่ที่เรียกว่า “ยุทธการ 1027” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมปีนี้

การเยือนปักกิ่งของตาน ส่วยรอบนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การโจมตีโดยพันธมิตรเริ่มต้นขึ้นอย่างเกรียวกราว

ปักกิ่งส่งน้ำเสียงแบบผู้ใหญ่ขอร้องให้เด็กๆ ข้างบ้านเลิกตีกัน

“จีนหวังว่าเมียนมาจะบรรลุความปรองดองในระดับชาติ และดำเนินกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่อไปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด” หวัง อี้ กล่าวในการประชุม

นั่นแปลว่าเรื่องพม่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุมของประเทศลุ่มน้ำแม่โขงกันจีนไปแล้ว

หวัง อี้ กับ ตาน ฉ่วย ยังคุยกันถึงเรื่องความร่วมมือทวิภาคีที่ปักกิ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

นั่นคือการเร่งรัดการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจอก์พยูในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมา

และโครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างรัฐยะไข่กับมณฑลยูนนานทางใต้ของจีนผ่านเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมา

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหวัง อี้ จึงต้องยกสองโครงการนี้ขึ้นมาใส่ในวาระการพูดคุยอย่างเป็นทางการ

เพราะทั้งสองเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนนั่นเอง

นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องการยกระดับการต่อสู้กับยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการหลอกลวงทางออนไลน์ ตลอดจนความร่วมมือในภาคไฟฟ้าและพลังงาน

 

ที่น่าจะเป็น “ไฮไลต์” ของการพบปะพิเศษครั้งนี้ตามความเห็นของ “แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับการเจรจา” คือ “สารส่วนตัว” จากมิน อ่อง ลาย จากกรุงเนปิดอว์ถึงหวัง อี้

นั่นคือการขอให้ปักกิ่งเป็น “ตัวกลาง” ในการจัดให้มีการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารพม่า หรือ SAC กับกลุ่มภราดรภาพ

จะมาในรูปแบบทางการหรือไม่เป็นทางการก็ค่อยว่ากันอีกที

ที่มีนัยสำคัญคือข้อเสนอการเจรจาจากมิน อ่อง ลาย นั้นมีประเด็น “เงื่อนไขใหม่” ติดมาด้วย

ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ

เพื่อจะได้ปรับยุทธศาสตร์ทางการทูต, ความมั่นคง, การเมืองและสังคมของเราให้สอดคล้องกับ “ฉากทัศน์” ที่เปลี่ยนไป

 

เป็นที่รู้กันว่าจีนมีอิทธิพลต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มใกล้ชายแดนของเมียนมา รวมถึงสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจหากรัฐบาลทหารพม่าจะเชื่อว่าจีนสามารถจะใช้บารมีของตนทำให้เกิดเงื่อนไขที่จะนำมาซึ่งการ “หยุดยิง” ในพม่า

แต่คำถามอยู่ที่ว่าฝ่าย “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” จะยอมหยุดยิงในขณะที่ตนกำลังได้เปรียบในยุทธการหลายๆ สนามรบตรงชายแดนติดกับจีนได้หลายแห่งหรือไม่

จึงอยู่ที่ว่าจีนจะสามารถน้าวโน้มฝ่ายที่คิดว่าตนกำลังได้เปรียบในสนามรบยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจาหรือไม่

นั่นแปลว่าจะต้องมี “ข้อเสนอ” ที่ “น่าสนใจ” เพียงพอที่จะเป็นแรงจูงใจให้สิ้นเสียงปืนอย่างน้อยก็ชั่วขณะ

ข่าวไม่เป็นทางการบอกว่ารัฐบาลพม่าสูญเสียการควบคุมเมืองเกือบ 20 เมืองนับตั้งแต่ปฏิบัติการ 1027 เปิดตัว

ในจำนวนนี้ 7 แห่งอยู่ในภาคเหนือของรัฐฉาน

ขณะที่ฝ่ายกองทัพพม่าก็เสียที่ตั้งทางทหารทั้งเล็กใหญ่ไปกว่า 300 แห่ง

กว่า 200 จุดอยู่ใกล้ชายแดนเมียนมา-จีนทางตอนเหนือของรัฐฉาน

แต่เรื่องนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนพอสมควร

เพราะสองสัปดาห์ก่อนที่ตาน ฉ่วย จะเยือนจีน รัฐบาลทหารพม่าดูเหมือนจะยอมให้มีการประท้วงต่อต้านจีนในกรุงเนปีดอว์และย่างกุ้ง

โดยกลุ่มชาตินิยมที่ได้รับการให้ท้ายโดยรัฐบาลทหารกล่าวหาว่าปักกิ่งว่าได้พยายามทำลายเมียนมาด้วยการขายอาวุธให้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้ชายแดนทางตอนเหนือของเมียนมาเช่นกัน

ซึ่งก็มีส่วนช่วยเสริมกำลังสู้รบของ “กองกำลังป้องกันประชาชน” (People’s Defence Force หรือ PDF) เป็นปีกสู้รบของรัฐบาลคู่ขนานหรือ National Unity Government หรือ NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) ที่มีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอดีตผู้นำออง ซาน ซูจีน

ซึ่งวันนี้ยังถือว่าเป็น “นักโทษ” เพราะโดนศาลทหารตัดสินจำคุกรวมกันกว่าสิบปีจากข้อหาของฝ่ายกองทัพ

มิน อ่อง ลาย แจ้งกับที่ประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ว่าที่มั่นของรัฐบาลทหารทางตอนเหนือของรัฐฉานถูกทิ้งระเบิดด้วยโดรนที่ผลิตในจีนซึ่งหาซื้อได้ง่ายในเมียนมา

แต่หนึ่งสัปดาห์ต่อมา รัฐบาลเปลี่ยนโทนเสียง และประกาศซ้ำๆ ว่ามีความสัมพันธ์ “ที่แน่นแฟ้นและเป็นมิตร” กับปักกิ่ง

และตอกย้ำว่าความสัมพันธ์เช่นว่านี้จะ “แข็งแกร่ง” ยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

(สัปดาห์หน้า : โอกาสสำหรับ “การทูตเชิงรุก” ของไทยมาถึงแล้ว)