รู้เมื่อไหร่ ว่าสงกรานต์ไม่ใช่แค่ 13 เมษายน | คำ ผกา

คำ ผกา

ยูเนสโกประกาศให้งานสงกรานต์ของไทยเป็นมรดกโลกในหมวดของ intangible heritage แปลเป็นไทยว่าจับต้องไม่ได้ก็จะแปลกๆ หน่อย แต่มันหมายถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต การกินอยู่ อาหาร หรืออะไรที่ไม่ใช่โบราณวัตถุ โบราณสถาน

หรืออาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมที่ดำรงอยู่กับผู้คน มีชีวิต เปลี่ยนแปลงได้ เพราะมันยังไม่ “ตาย” ไม่เหมือน heritage ที่เป็นโบราณสถาน ที่หมายถึงสถานที่อัน “ตาย” ไปแล้วจึงไม่เติบโต เปลี่ยนแปลงอีก

ก่อนหน้านั้นยูเนสโกประกาศให้โขน โนรา และนวดไทย เป็นมรดกโลกในหมวดหมู่นี้มาแล้ว

และเราต้องเข้าใจอีกว่านี่ไม่ใช่การประกวดประขันว่าภูมิปัญญา วัฒนธรรมของชาติไหนดีกว่าชาติไหน

การประกาศยกย่องก็คือการประกาศยกย่อง ไม่ได้ว่าเราดีกว่าใคร เป้าหมายของยูเนสโกก็คืออยากให้ทุกวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาของทุกชาติทุกภาษาได้รับการยกย่อง ได้รับการเผยแพร่

อยู่ในธีมโลกสวยแบบยูเนสโก นั่นคือโลกทั้งผองพี่น้องกันนั่นแหละ

 

สอดคล้องกับที่คณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์ประกาศให้เดือนเมษายนทั้งเดือนเป็นเทศกาลสงกรานต์

และหากเราเชื่อมโยงเรื่องนี้กับ 11 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ งานสงกรานต์ก็อยู่ในหมวดของอุตสาหกรรมเทศกาล

ถามว่า รัฐบาลคาดหวังอะไรกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น hub ของ festival

ฉันคิดว่าไม่มีอะไรซับซ้อน นอกจากพยายามหารายได้เข้าประเทศจากอุตสาหกรมท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด?

ถามว่าทำไมต้องเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว?

คำตอบก็ง่ายมาก นั่นคือ หากพิจารณาศักยภาพของประเทศไทยตอนนี้ มันมีอุตสาหกรรมหรือที่พร้อมกดปุ่มสตาร์ต และหาเงินเข้าประเทศได้เลย เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเราเป็นประเทศที่หยุดพัฒนาไปเกือบสิบปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์

เราไม่มีการเจรจาเอฟทีเอ เราไม่มีการออกไปเจรจาการค้ากับใครอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

เราไม่มีการทำงานเชิงรุกเรื่องการสร้างพื้นฐานสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ

โครงการ EEC ก็เหมือนมีแต่ชื่อ และนอกจากชื่อก็ไม่มีอะไรให้เก็บเกี่ยวเป็นรายได้ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าของประเทศ

 

เมื่อรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหาร โจทย์แรกที่เจอคือ รายได้ของประเทศน้อยมาก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเราต่ำมาก หนี้ครัวเรือนของประชาชนสูงมาก

คำตอบจึงเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเราต้องไม่ลืมด้วยว่า โควิด-19 ทำให้เราสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปมหาศาล คิดเป็นร้อยละสิบของจีดีพี หรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเลือกฟื้นฟู หารายได้เข้าประเทศด้วยวิธีนี้

ซึ่งฉันจะยกตัวอย่างสงกรานต์นี่แหละ

 

เราเคยสงสัยกันไหมว่า สงกรานต์คืออะไรกันแน่ และทำไมเราจึงมีภาพจำว่า สงกรานต์ เท่ากับ เชียงใหม่

ย้อนไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อกำหนดให้วันปีใหม่ตรงกันทุกปีแทนที่จะยึดเอาเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของแต่ละปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ ได้กำหนดให้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของปี 2432 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่

ลองจินตนาการว่าในยุคที่ไม่มี “สื่อสารมวลชน” เรื่องนี้ก็รับรู้และปฏิบัติกันในวงแคบๆ ในพิธีทางการ

ส่วนชาวบ้านก็ฉลองปีใหม่ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า ซึ่งแต่ละปี “วัน” ก็จะไม่ตรงกัน

ต่อมาในปี 2477 รัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่าทำไมปีใหม่ของเราไม่รื่นเริง ไม่มีเทศกาล เลยประกาศว่า ปีใหม่ทั้งทีเราต้องจัดงานเฉลิมฉลอง (ถ้าเป็นสมัยนี้คงซ้ำคำว่าเราต้อง festive ให้เหมือนอารยประเทศกันหน่อย)

ปี 2479 จึงประกาศให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวัน “ตรุษสงกรานต์” และขอให้ประชาชน หน่วยราชการของทุกจังหวัดจงจัดงานรื่นเริงอย่าได้แผ่ว

ต่อมาในปี 2484 จอมพล ป. ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของเราให้เป็นสากลคือ วันที่ 1 มกราคม เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงเรียก “สงกรานต์” ว่าปีใหม่ไทย

 

อ่านมาถึงตรงนี้จะได้สบายใจกันว่า การกำหนดวันสงกรานต์ก็เป็นเรื่องที่ “ราชการ” ในสังคมที่ก้าวเข้าสู่ความเป็น “ยุคใหม่” กำหนดขึ้นให้ตรงกัน หรือเรียกว่า เมื่อสังคมก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ก็ต้องมีการ standardization อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการมีระบบราชการแบบใหม่

รู้เช่นนี้ก็จะได้ไม่ช็อก ไม่ตกใจ ไม่กรี๊ดกร๊าด หากในสมัยปัจจุบันนี้ เราจะบอกว่า “เอาละ เมษาฯ ทั้งเดือนคือเดือนแห่งการฉลองสงกรานต์”

ที่เชียงใหม่ สงกรานต์ ฉลองกัน 3 วันคือ วันสังขารล่อง วันเนาหรือวันเน่า และวันพญาวัน ปัจจุบันกำหนดเป็นวันที่ 13, 14 และ 15 ตามลำดับ สิ่งที่ทำคือทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เตรียมขนทรายเข้าวัด ทำ “ตุง” หรือธงนักษัตรไปวัด

วันพญาวันก็ทำอาหารยิ่งใหญ่อลังการไปทำบุญ หลังจากนั้นตลอดทั้งเดือนก็ตระเวนไปรดน้ำดำหัว คนเฒ่าคนแก่ เปรียบเสมือนการยกกระเช้าของขวัญไปให้ผู้ใหญ่ของคนสมัยนี้

 

ส่วนการสาดน้ำนั้นไม่แน่ใจว่าสาดมากหรือน้อยแค่ไหน แต่นี่น่า มันน่าจะเป็นห้วงเวลาแห่งการ “ละเล่น” สนุกสนาน

แต่สงกรานต์ที่เรารู้จักและจดจำกันนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านใดๆ ช่วงทศวรรษที่ 2520 เป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีรัฐบาลมาบริหารประเทศหลังเกิดวิกฤตการเมือง 6 ตุลาคม

พูดง่ายๆ ว่า ปราบนักศึกษา คอมมิวนิสต์เสร็จ รัฐบาลก็เร่งสร้างความชอบธรรมด้วยนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว

จังหวัดเชียงใหม่จัดทั้งงานสงกรานต์ งานแห่ไม้ดอกไม้ประดับ สงกรานต์นั้นทำขบวนแห่ ขบวนช่างฟ้อน วงดนตรีพื้นเมือง วารสาร อสท. เข้ามาถ่ายทำสารคดี

งานสงกรานต์เชียงใหม่ มีภาพคนเล่นน้ำ ห้อยคอด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ และมีภาพคนเชียงใหม่เล่นน้ำในตัวเมืองกันอย่างสนุกสนาน

ภาพจำวันสงกรานต์กับเชียงใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว กลายเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ที่คนเชียงใหม่เองก็สนุกสนาน จริงจังกับมันเพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามันเป็นเทศกาลที่โคตรสนุก จะมีอะไรสนุกไปกว่าในวันที่อากาศร้อนที่สุด เราได้ปล่อย “จอย” เล่นน้ำ สาดน้ำ ได้เฟลิต ได้หยอก ได้เจ้าชู้ใส่กัน หรือแม้แต่เล่นกันแรงๆ แบบไม่มีใครโกรธใคร

และการได้สาดน้ำใส่คนแปลกหน้าพร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ก็เป็นสิ่งที่สนุกและ “ปลดปล่อย” เราทุกคนออกจากความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน

 

ดังนั้น เทศกาลสงกรานต์จึงเป็น artifact มาตั้งแต่ต้น เป็นผลผลิตของราชการ เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวและการสร้างรายได้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 แล้ว

การเป็น artifact ของมันก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่ท้ายที่สุดคนท้องถิ่นก็สมาทานเอาสิ่งนี้มาเป็นอัตลักษณ์ ประดิษฐ์ต่อ สร้างเสริมเติมแต่งอะไรเข้าไปใหม่ไม่มีที่สุด

สงกรานต์จึงมีทั้งส่วนที่เป็น invention ของราชการ ของเอกชน ของกะเทย ของวัด-พระ และกลุ่มศิลปินพื้นบ้านที่ขยันสร้างความตระการตาใหม่ๆ ออกมาอย่างไม่จบสิ้น

เราจึงเห็นสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร ข้าวเจ้า ข้าวนึ่ง สร้างกันขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ

แม้จะอ้างว่าเป็นประเพณี แต่ความหมายหรือหน้าที่ของมันในโลกทุนนิยมสมัยใหม่คือการสร้างเทศกาลให้คนได้มาสนุกร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ

สร้างความคึกคักทางเศรษฐกิจและดึงดูดการท่องเที่ยว

 

การประกาศให้เดือนเมษายน เป็นมหกรรมสงกรานต์กันตลอดเดือน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่เลย สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ เราจะมีความสามารถทำให้มันสนุกได้แค่ไหน หรือเรามี “กึ๋น” ที่จะครีเอตเทศกาลสงกรานต์ให้ถูกใจนักท่องเที่ยวได้อย่างไร เพราะเอาเข้าจริงๆ ความสนุกของสงกรานต์ขึ้นอยู่กับตัว “นักท่องเที่ยว” เองที่มาสร้างสีสันแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี เพลง เสื้อผ้า แฟชั่น ปืนฉีดน้ำ บรรยากาศคาร์นิวัลที่ทุกคนรู้สึกว่าสามารถนุ่งน้อยห่มน้อย หรือแต่งตัวแปลกๆ ได้อย่างสนุก และที่สำคัญคือปลอดภัย

ฉันคิดถ้าเราจะมีสงกรานต์ตลอด 1 เดือน สำหรับฉันไม่มีอะไรที่ต้องตกใจเลย มีแค่จะต้องลุ้นว่า เราจะทำได้สนุกแค่ไหน ตื่นตาตื่นใจจนเป็นที่ชื่นชอบรอคอยของนักท่องเที่ยวแค่ไหน

ที่สำคัญ เราจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการเดินทาง ที่พัก ความปลอดภัย หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างห้องน้ำสาธารณะ ถังขยะ การจัดเตรียมความพร้อมเรื่องการแยกขยะ การจัดการกับขยะ สิ่งแวดล้อม การอำนวยความสะดวกแก่ร้านค้า

สตรีตฟู้ดที่เราใฝ่ฝันอยากให้เป็น soft power เราสร้างอะไรไว้รองรับสำหรับมาตรฐานทางสุขาภิบาลของเรื่องเหล่านี้แล้วแค่ไหน เพราะโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้แหละจะการันตีความยั่งยืนของอุตสาหกรรม festival ที่สำคัญที่สุด

ฉันก็เป็นหนึ่งในคนที่เฝ้ามองว่า festival จะไม่ใช่ความสนุกสนาน เม็ดเงิน และนักท่องเที่ยว แต่หมายถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและการจัดการเมืองที่ดี เป็น “ทุน” ทางคุณภาพชีวิตระยะยาวของประชาชนด้วย