ตรึงค่าไฟ 3.99 บาท แค่ประชานิยมสุดลิ่ม หรือ โครงสร้างต้นทุนจริงที่คนไทยโดยเอาเปรียบ!!

ย้อนกลับไปวันที่ 10 พฤศจิกายน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระบุ กกพ.มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 รวม 3 ทางเลือก ประกอบด้วย

1. จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนของงวดใหม่ 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย

2. จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนของงวดใหม่ 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละ 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

3. จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนของงวดใหม่ 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย

ทั้ง 3 ทางเลือก ถูกนำไปรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. วันที่ 10-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

พร้อมย้ำว่า 3 แนวทางเป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ กฟผ. ภายใต้โครงสร้างราคาก๊าซในปัจจุบัน

 

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่ระดับ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 เท่ากับก๊าซหายไป 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาตเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อชดเชย หากต้นปีมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มมากขึ้นด้วย

หลังการรับฟังความเห็นสิ้นสุดลง วันที่ 29 พฤศจิกายน กกพ.มีมติรับทราบค่าเอฟทีแนวทางที่ 3 ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ค่าไฟอัตราดังกล่าว ทั้ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่างมีอาการเดียวกันคือ “รับไม่ได้”

จึงมีคำถามถึง กกพ. เหตุใดไม่หารือกับรัฐบาลก่อนประกาศราคา สอบถามเหตุผลได้คำตอบว่า เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ส่วนนโยบายการลดราคาเป็นหน้าที่ของรัฐบาลสั่งผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

 

ฟากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คัดค้านค่าไฟ 4.68 บาทต่อหน่วย เพราะแพงขึ้นจาก 3.99 บาทต่อหน่วย ถึง 17% ซ้ำเติม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่เปราะบางสูง พร้อมเรียกร้องตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) รื้อโครงสร้างพลังงาน

กระทั่งกระทรวงพลังงานต้องรีบชี้แจงว่าจะหารือกับ กกพ. เพื่อกดค่าไฟลงเหลือระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย และจะแยกช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย หรือกลุ่มเปราะบาง ให้ใช้ไฟราคาเดิม 3.99 บาทต่อหน่วย แต่ต้องของบประมาณกลางเข้าช่วย

ล่าสุด พีระพันธุ์ยืนยันจะพยายามทำราคา 3.99 บาทต่อหน่วยให้ได้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ประชาชนทุกกลุ่ม

กลุ่มแรก กลุ่มเปราะบาง 17.7 ล้านราย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คิดเป็น 75% ของผู้ใช้ไฟทั้งประเทศ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรึงค่าไฟงวดมกราคม-เมษายน 2567 ไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ใช้งบฯ กลางปี 2567 กว่า 2,000 ล้านบาท

กลุ่มสอง คนไทยอีก 25% แม้จำนวนไม่มากแต่ใช้ไฟส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 13 ธันวาคม สนับสนุน 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. ขยายหนี้ กฟผ.ออกไปอีก 1 งวด

2. ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ

และ 3. กำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท. จะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดลง

แนวทางการปรับโครงสร้างค่าไฟทั้งระบบ นายพีระพันธุ์ได้สั่งคณะทำงานเข้าแก้ปัญหาให้ กฟผ. เพื่อปลดภาระหนี้หลักแสนล้านบาทที่รับภาระค่าไฟแทนประชาชน ขณะที่การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ระบุจะเป็นการปรับโครงสร้างที่เน้นความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย และไม่เป็นการสร้างภาระในอนาคต เพื่อไม่ต้องมานั่งลุ้นราคารายงวดเช่นปัจจุบัน รวมทั้งจะกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท. จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดราคาค่าไฟได้

ลงลึก 3 แนวทางของพีระพันธุ์ คาดว่าจะกดค่าไฟลงอย่างน้อย 4.20 บาทต่อหน่วย ส่วนจะลดลงถึง 3.99 บาทต่อหน่วยหรือไม่ รอลุ้นผลประชุม กพช.

 

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ย่อมเกิดเหรียญ 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง คือ การเดินหน้าประชานิยมแบบสุดลิ่มของรัฐบาลเศรษฐา 1 ทั้งตัวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอง แห่งพรรคเพื่อไทย และตัวนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเอง แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติ

แม้ประชาชนได้ประโยชน์ รายจ่ายลดลง ความนิยมรัฐบาลท่วมท้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการใช้พลังงานแก่นสำคัญคือการประหยัด รัฐบาลต้องเดินหน้ารณรงค์ ขณะที่ราคาค่าไฟที่ถูกเกินไป อาจไม่สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงจริง กลไกผิดเพี้ยน เป็นภาระของรัฐบาลทั้งปัจจุบันและอนาคตที่ต้องหาเงินมาอุดหนุน

อีกด้านหนึ่ง การทำราคาดังกล่าวอาจเป็นต้นทุนจริงที่คนไทยโดนเอาเปรียบมาตลอด จากทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ตามยุคสมัยของการใช้พลังงาน ที่เดิมการขุดก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยขึ้นมาใช้ต้องป้อนให้ปิโตรเคมีก่อนในราคาพิเศษ เพื่อการพัฒนาประเทศอุตสาหกรรมประเทศในยุคเริ่มต้น

จนถึงปัจจุบันยังใช้กลไกดังกล่าวอยู่ อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะอุตสาหกรรมไทยพัฒนาไปไกล ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนคนไทยทั้งประเทศ และการนำเข้าก๊าซมาจากหลายแหล่ง ควรเฉลี่ยราคาเดียวกันหรือไม่

มุมมองเหล่านี้มีคำตอบ เพียงแต่ผู้รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง จะยอมเปิดข้อมูลแบบ 100% หรือไม่

และรัฐบาลจะมีฝีมือในการบริหารที่เล็งเห็นประโยชน์คนไทยจริงๆ หรือทำเพื่อประโยชน์คนใดคนหนึ่งเท่านั้น!!