รัฐธรรมนูญ และปชป. | สถานีคิดเลขที่12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

รัฐธรรมนูญ และปชป.

 

หลังคณะราษฎรทำการอภิวัฒน์สยาม เมื่อ 24 มิถุนายน 2475

เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” เมื่อ 27 มิถุนายน 2475

ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับแรกของไทย

ต่อมา 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)ทรงพระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย

ทำให้ทุกวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็น วันรัฐธรรมนูญ

แต่ก็คงเป็นเพียง “สัญลักษณ์”เท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญไทย มิได้มีภาวะเสถียร

มีการเปลี่ยน รื้อ ยกเลิก กระทั่งฉีกทิ้ง อย่างต่อเนื่อง

จนไทยติดอันดับประเทศต้นๆของโลกที่มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมากที่สุด

เรามี รัฐธรรมนูญ มาแล้ว 20 ฉบับ

และตอนนี้ กำลังตั้งไข่ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นฉบับ ที่ 21

จะสำเร็จ หรือเป็นประชาธิปไตย มากขึ้น หรือไม่

ไม่มีใครรับประกัน เพราะตอนนี้ ยังค้างเติ่ง อยู่ในขั้นตอน การรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ

เพื่อถามว่าประชาชนว่า จะแก้ไข หรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ หรือไม่ จะแก้หรือร่างอย่างไร ถ้าร่างใหม่จะตั้งสภาร่างอย่างไร

เป็นเส้นทางอันคดเคี้ยว เลี้ยวลด

ที่ยังไม่แลเห็นเส้นชัยข้างหน้าแต่อย่างใด

หากถามว่า ชาวบ้านรู้สึกอย่างไร

ขอยกให้ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่แถลงในนามพรรค เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม เป็นตัวแทนสะท้อนความรู้สึก แทนชาวบ้าน ดังนี้

1)การพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้น ผ่านมายาวนานพอสมควรแล้ว มีความเคลื่อนไหวที่น้อยมาก อาจเป็นการยื้อเวลาเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาไว้

2)สภาผู้แทนราษฎรมีการศึกษาในเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้หลายชุด อยากเรียกร้องให้นำผลการศึกษาในสภาผู้แทนราษฎรมาประกอบ เพื่อที่จะให้ระยะเวลาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความรวดเร็วรอบคอบ ไม่ใช่ยื้อเวลาไปวันๆ

3)รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อที่จะอธิบายในกรอบระยะเวลาและกระบวนการในการดำเนินการทั้งหมดให้กับประชาชนรับทราบ

เชื่อว่า หลายคน เห็นสอดคล้องกับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์นี้

และ ที่ให้เครดิตพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนส่งเสียง เพราะเห็นว่าเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุด ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับรัฐธรรมนูญหลายฉบับ

จึงน่าจะมีประสบการณ์และมุมมอง ที่มากกว่าพรรคอื่น

ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์ กำลังเปลี่ยนผ่าน ไปสู่ ผู้บริหารชุดใหม่ ตั้งแต่หัวหน้าพรรคยันไปถึงกรรมการบริหารพรรค

ซึ่งแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นการย้อนกลับคืนสู่การเมือง “แบบเก่า”

แต่ หากสามารถพิสูจน์ถึง ความเอาจริงเอาจัง และมี”สมาธิ” กับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ทำให้ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ก็จะทำให้ ลบคำสบประมาทต่างๆนานาลงได้

แต่กระนั้น หาก หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ สมาธิแตก

หันไปให้น้ำหนัก กับประเด็นการเมือง หรือผลประโยชน์เฉพาะหน้า

เช่นจะพลิกบทบาทจากฝ่ายค้าน ให้ไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างที่ส.ส.ส่วนใหญ่ ของพรรคในปัจจุบันต้องการอย่างไร

จนละลืมประเด็นรัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ที่โฆษกพรรคแถลงเป็นจุดยืนไว้ ก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย

และอาจทำให้ประชาธิปัตย์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วในปัจจุบัน ย่ำแย่ลงไปอีก

คงน่าวังเวงใจหาก ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะกลายเป็นพรรคต่ำสิบ