เหรียญรูปเหมือน-รุ่นแรก หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป พระป่าศิษย์สายหลวงปู่มั่น

“หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป” อดีตเจ้าอาวาสวัดปาประทีปปุญญาราม ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร พระสายป่านักปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่มีวัตรปฏิบัติอันน่ายกย่อง เป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย

จัดสร้างวัตถุมงคลกว่า 40 รุ่น แต่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ “เหรียญรุ่น 1 พ.ศ.2521” สร้างโดย “นายเซียมฮ้อ” หรือ “เจ๊กฮ้อ” ถวายไว้แจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาทำบุญ

ลักษณะรูปไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 4,200 เหรียญ

เหรียญหลวงปู่ผ่าน (หน้า)

ด้านหน้า ขอบรอบวงรีมีเส้นสันนูน ขอบชั้นในมีลวดลาย ใต้หูห่วงเหนือรูปหลวงปู่มียันต์ตัว “นะ” ใกล้ขอบชั้นในจากซ้ายไปขวาเป็นอักขระ ตรงกลางมีรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ บนอาสนะ ด้านล่างสุดเขียนว่า “พระอาจารย์ผ่าน ปัญญาปทีโป”

ด้านหลัง มีเส้นสันนูนหนา ใกล้ขอบเหรียญจากซ้ายไปขวา มีตัวหนังสือนูนคำว่า “วัดป่าปทีปปุญญาราม บ้านเซือม” ตรงกลางเหรียญมีอักขระ ล้อมรอบตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ภายในช่องสี่เหลี่ยม มีตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบ่งเป็น 4 ช่อง ในแต่ละช่องสี่เหลี่ยมเล็กมีอักขระ 4 ตัว เป็นอักขระ ด้านล่างสุดระบุ “พ.ศ.๒๕๒๑”

เป็นอีกเหรียญที่ควรเก็บสะสม

เหรียญหลวงปู่ผ่าน (หลัง)

มีนามเดิมว่า ผ่าน หัตถสาร เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2465 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 2 ปีจอ ที่บ้านเซือม ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร บิดา-มารดาชื่อ นายด่าง และนางจันทร์เพ็ง หัตถสาร

เมื่อปี พ.ศ.2480 อายุ 15 ปี บรรพชาที่วัดทุ่ง ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร มีพระครูวิรุฬห์นวกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2485

อายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดทุ่ง ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร โดยมีพระครูวิรุฬห์นวกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมาก เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2490 ที่พัทธสีมาวัดจอมศรี ต.พันดอน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี มีพระครูพิทักษ์คณานุการ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระสมุห์ภา เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลังจากนั้นได้ศึกษาพระปริยัติธรรม รวมทั้งข้อวัตรปฏิบัติกับพระเถราจารย์กรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เช่น หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดอรัญญวิเวก อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร, หลวงปู่อุ่น อุตตโม วัดอุดมรัตนาราม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เป็นต้น

เมื่อปี พ.ศ.2490 จำพรรษากับหลวงปู่อุ่น อุตตโม ณ วัดอุดมรัตนาราม ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร และหลวงปู่อุ่นได้พาหลวงปู่ผ่านไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร หลายครั้ง

ครั้นออกพรรษาแล้วได้กราบลาเพื่อไปอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงปู่มั่น โดยเดินทางไปกับสามเณรน้อยรูปหนึ่ง พอไปถึงกราบนมัสการหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านพูดว่า “ท่านผ่านมากับเณรน้อยแท้ มันไข้ได๋” (มีสามเณรอายุน้อยมาด้วย จะเป็นไข้ป่าได้ง่าย)

หลวงปู่ผ่าน ตอบว่า “ครับผม ไม่มีคนมา กระผมจึงมากับเณรน้อย”

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป

เวลาเย็นก็พากันไปสรงน้ำพระอาจารย์มั่น หลวงปู่ผ่านเป็นพระผู้น้อยเพียง 1 พรรษา จึงได้ถูหลังเท้า พระรูปอื่นก็ได้ถูแข้ง ถูขา ถูแขน หลวงปู่บอกว่า “เท้าของหลวงปู่มั่นนิ่มมากๆ ถึงแม้ว่าจะเดินธุดงค์มาตลอดแต่เท้ากลับนิ่ม” ซึ่งตรงกับที่หลวงปู่หลุย จันทสาโร เคยบอกไว้ว่า “เท้าท่านพระอาจารย์มั่นนิ่ม ท่านเป็นผู้มีบุญมาก เราคนเท้าแข็งเป็นคนบาป”

ในครั้งนั้นมีพระเณร 10-20 รูป อาทิ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร, พระอาจารย์วัน อุตตโม, พระอาจารย์หลุย จันทสาโร, พระอาจารย์คำพอง ติสโส, พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต, สามเณรบุญเพ็ง (หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู)

หลวงปู่ผ่าน เป็นพระเถระพระป่าอีกรูปหนึ่งที่มีศีลาจารวัตรที่งดงามน่าเลื่อมใส แม้สังขารจะล่วงเข้าวัยชรา แต่ยังได้ออกมารับญาติโยมที่เดินทางมาจากแดนใกล้ไกลไปคารวะนมัสการทุกวันไม่เว้น มิได้ขาดจำนวนมาก

ทุกครั้งที่ญาติโยมขอพรขอศีล ท่านจะบอกว่า มีหลักอยู่ 3 อย่าง คือ “ขออย่าได้เจ็บ อย่าได้ป่วยไข้ และสุดท้ายอย่าลืมหายใจ”

เมื่อใครได้เข้ากราบไหว้ทำให้จิตใจสงบและร่มเย็นเป็นสุข เมื่อได้สดับฟังหลักธรรมจากท่าน

หลังออกพรรษา ปี พ.ศ.2553 เริ่มอาพาธ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายนเป็นต้นมา แต่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่วัด จนกระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน อาการอาพาธเริ่มหนักขึ้น คณะศิษย์จึงนำท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร โดยคณะแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยโรค และผลปรากฏว่าอาพาธด้วยโรคเนื้องอกในกระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ

ภายหลังการผ่าตัด อาการมีแต่ทรงกับทรุด ไตไม่ตอบสนอง

จนเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง จึงละสังขารด้วยอาการอันสงบ

สิริอายุ 89 ปี พรรษา 64 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]