เกี่ยวข้าว

ก่ยฯวเข้า

เกี่ยวเข้า อ่านว่า “เก่วเข้า” หมายถึง เกี่ยวข้าว

เมื่อ “เข้าเกล็ด” อันหมายถึงรวงข้าวในนาสุกเหลืองแก่เต็มที่แล้ว ได้เวลาเก็บเกี่ยว ก่อนจะมีการเกี่ยวจะมีการหาวันดีสำหรับการเริ่มต้นเกี่ยวข้าวที่เรียกว่า “แฮกเกี่ยว” โดยจะเลือกเกี่ยวต้นข้าวที่เคยแรกปลูกไว้ เมื่อครั้งที่ทำพิธีแรกปลูก

กล่าวถึงการแรกเกี่ยว ชาวนาจะเลือกเอาวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ จึงจะถือว่าเป็นสวัสดิมงคลแก่เจ้าของ

และเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก

 

สําหรับพิธีกรรม ก่อนจะเกี่ยวจะต้องบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันได้แก่ พระแม่ธรณีผู้รักษาแผ่นดิน และพระแม่โพสพผู้เป็นขวัญข้าว เพื่อแสดงความนอบน้อม และขอความคุ้มครองป้องกันมิให้เกิดอันตรายใดๆ ด้วยการนำกระทงใบตองขนาดเล็กใส่อาหารและเครื่องสักการะไปวางไว้ในที่อันควร แล้วกล่าวคำบูชาขออนุญาตพระแม่ธรณีก่อนว่า

สาธุ ปัททะเมติ ริตติ กิตติ

มิตติจุติ มุตติจุติ

ธะระณีติ อิติ อิทัง ธาระณังติ

และกล่าวในส่วนของพระแม่โพสพว่า

สาธุ อุทุลา ทุฏฐุลา อุลุลา ตัณฑุลา

มะธุลา ปุปผะลาปัตตุลา กัลป์ละลา

ธัญญะเทวา ธัญญะรักขา รักขันตุ สุรักขันตุ

จากนั้นจึงจะลงเคียวเกี่ยวเอาฤกษ์ จำนวน 9 กอ โดยใช้บทสวดไตรสรณาคมน์ที่เรียก “สรณาคมน์เก้าบั้ง” เป็นคำโฉลกกำกับการเกี่ยวแต่ละกอ ด้วยบทขึ้นต้นว่า “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ” ไปจบที่ “ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ”

ต้นข้าวทั้งรวงที่ได้จากการแรกเกี่ยวนี้จะถูกมัดรวบไว้ แล้วนำไปแขวนในยุ้งสำหรับเป็น “ขวัญข้าว” ประจำยุ้งฉางต่อไป

เข้าเกลฯดะในนาฯแก่ดีก่ยฯวได้แล้วฯ อ่านว่า “เข้าเก็ดในนาแก่ดีเกี่ยวได้แล้ว” แปลว่า เมล็ดข้าวนาแก่ได้ที่ สมควรเกี่ยวได้แล้ว

การเกี่ยวข้าวของล้านนามิได้เกี่ยวเอาเฉพาะรวง หากแต่เกี่ยวเกือบทั้งต้น เหลือตอซังไว้ประมาณ 1-2 คืบ ซึ่งตอซังนี้ล้านนาเรียก “ตอเฟือง” ขณะที่เกี่ยวไปพอได้เต็มกำมือแล้วจะวางรวมกันไว้กะให้ได้ขนาดพอมัดได้ประมาณ 2 กำมือโดยรอบ เพื่อผึ่งแดดไว้รอการมัด

ในส่วนของการเกี่ยวข้าว ชาวล้านนามีประเพณีลงแขกคือช่วยกันเกี่ยวโดยผลัดเปลี่ยนช่วยกันไปในแต่ละเจ้าเพื่อให้งานเกี่ยวเสร็จลุล่วงเร็วขึ้น เรียกการไปช่วยกันนี้ว่า “เอามื้อ” หรือ “เอาวัน” ซึ่งประเพณีนี้เป็นประเพณีที่มีบรรยากาศสนุกสนาน เพราะมีผู้คนจำนวนมากต่างถือโอกาสพูดคุยหยอกล้อ

แถมยังได้สัตว์จากการเปิดผืนนา อาทิ ตั๊กแตน กบจำศีล นกคุ่ม หนูพุก หนูนา ปูนา กลับไปทำอาหารที่บ้านอีกด้วย

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป สังคมเกษตรอ่อนล้าลง ระบบการศึกษาส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบทุนนิยม พิธีกรรมเลือนรางจางหาย การใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ สารเคมีเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งที่เห็นคือ ทุ่งนาที่ผ่านกระบวนการการผลิตด้วยเครื่องยนต์แบบเบ็ดเสร็จ เกี่ยวเก็บเอาแต่เมล็ดไปจำหน่ายให้บริโภคอย่างที่พบเห็นโดยทั่วไป •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง