Collective by Cloud 11 เทศกาลสร้างสรรค์สุดล้ำ ในอาคารเก่าแห่งย่านสุขุมวิท

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีมหกรรมศิลปะครั้งใหญ่ของประเทศไทยในจังหวัดเชียงราย เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเทศกาลทางศิลปะและงานออกแบบงานหนึ่งที่น่าสนใจและเต็มไปด้วยความล้ำยุคล้ำสมัยมา เลยถือโอกาสหยิบมาเล่าให้ฟัง เทศกาลนั้นมีชื่อว่า Collective by Cloud 11 ที่สำคัญ งานในครั้งนี้จัดขึ้นในอาคารเก่าสุดเท่แห่งหนึ่ง ที่เราเคยได้แต่ผ่านไปผ่านมาแต่ไม่กล้าเข้าไปดูข้างในอีกด้วย

นนทวัฒน์ เจริญชาศรี แห่ง DUCTSTORE คิวเรเตอร์หลักผู้เป็นตัวตั้งตัวตีของงาน Collective by Cloud 11 กล่าวถึงที่มาที่ไปของเทศกาลสร้างสรรค์สุดล้ำในครั้งนี้ให้เราฟังว่า

“Collective by Cloud 11 เป็นครีเอเตอร์เฟสติวัลครั้งแรกของย่านสุขุมวิทใต้ ที่จะแสดงให้เห็นว่าย่านนี้มีความสำคัญ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และเราต้องการเป็นพื้นที่อันปลอดภัยให้ชุมชนครีเอเตอร์ของไทย และเปิดโอกาสให้เหล่าครีเอเตอร์หน้าใหม่ได้มีโอกาสเติบโต และเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้การสร้างสรรค์ได้พัฒนาไปสู่ระดับสากล”

“งานนี้เราจัดในพื้นที่ของอาคารฟีฮาแล็บ (Fehalab) อดีตอาคารสำนักงานและโรงงานผลิตยาแอนตี้ไบโอติกแห่งแรกของไทย ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งยุคโมเดิร์นนิสต์ของสุขุมวิทใต้ ซึ่งออกแบบโดย ศ.ดร.เรืองศักดิ์ กันตะบุตร อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชาวไทยเพียงคนเดียวที่ได้เป็นศิษย์ของลุดวิก มีส์ ฟาน เดอร์ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) สุดยอดสถาปนิกแห่งยุคโมเดิร์น”

“สิ่งที่เราทำคือการเติมคอนเทนต์เข้าไปในอาคารเก่าแห่งนี้เพื่อให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ของเหล่าครีเอเตอร์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีจากแวดวง Film, Art, Commercial, Visual Creators, Music กว่า 50 ชีวิต มาร่วมกันสร้างสีสันให้กับอาคารแห่งนี้”

กิจกรรมต่างๆ ในงาน Collective by Cloud 11 ถูกนำเสนอผ่านพื้นที่ 7 โซนในอาคาร

เริ่มต้นด้วยโซน Collective Exhibitions พื้นที่จัดแสดงผลงานจากเหล่าครีเอเตอร์ผ่านนิทรรศการสุดล้ำที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะหลากหลายแขนง จนเกิดเป็นผลงานที่มอบประสบการณ์การชมนิทรรศการศิลปะในรูปแบบใหม่อันน่าตื่นตา ผ่านการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ จากฝีมือการสร้างสรรค์ของเหล่าบรรดาครีเอเตอร์ชื่อดัง ที่ชักชวนศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานไปพร้อมๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ “Cloud Falling” ผลงาน Facade Light Installation ที่ผสานงานออกแบบและเทคโนโลยีแสง เข้ากับงานสถาปัตยกรรม เพื่อสร้างปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของควันจากดรายไอซ์แนวดิ่งให้มีลักษณะเหมือนเมฆที่ตกลงมาคล้ายน้ำตกผ่านโครงสร้างของตึกด้านหน้า (Fa?ade) พร้อมใช้เทคนิคออกแบบจังหวะการเคลื่อนไหวของแสงเพื่อสร้างจังหวะและแสงสีอันน่าตื่นตาให้แก่ตัวอาคาร

หรือห้องนิทรรศการ “Dark Frequency Room” ที่ผสานงาน Visual Design เข้ากับดนตรีและงานซาวด์ดีไซน์โดยใช้จอแอลอีดีขนาดใหญ่ เป็นสื่อหลักในการสร้างองค์ประกอบและเรื่องราวใหม่ ที่ผสานไปกับบริบทพื้นที่ซึ่งดูดิบและชวนพิศวง รวมถึงมีการแสดงสดของศิลปินดนตรีและดีเจมาร่วมสร้างความสดใหม่ให้กับนิทรรศการที่จะแตกต่างกันในแต่ละวัน

และนิทรรศการ “Healing House” โดย DECIDEKIT และ PHUM VIPHURIT งานศิลปะในรูปของมิวสิกวิดีโอของบทเพลง “Healing House” ของ ภูมิ วิภูริศ ศิลปินนักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลง ที่ไม่ใช่มิวสิกวิดีโอทั่วไป หากแต่นำเสนอในมิติใหม่ด้วยการใช้เทคนิค Projection Mapping หรืองานศิลปะดิจิทัลที่ใช้แสงฉายภาพลงบนวัตถุต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเข้าถึงเสียงเพลงที่ผสานระหว่างดนตรี ศิลปะ พื้นที่ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

หรือนิทรรศการกลุ่ม “Collective Canvas” โดย YELLABAN, STUPID SHIT, PAVEE และ Charlie N. ที่จัดแสดงงาน Interactive Generative Art ในรูปแบบผืนผ้าใบดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนไหวของผู้ชม และเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถสร้างหรือดัดแปลงภาพและเสียงได้ด้วยตัวเอง

ทั้งผลงาน “Lucid Dream” โดย YELLABAN ในรูปของศิลปะจัดวางเสมือนจริงเชิงโต้ตอบ (Immersive Interactive Installation) ที่เชิญชวนให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ ควบคุม และมีประสบการณ์กับผลงานผ่านภาพ เสียง และประสาทสัมผัส ผ่านเทคนิค Interactive Projection Mapping หรือการฉายภาพเชิงโต้ตอบในพื้นที่ เพื่อสลายเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างความจริงกับความฝัน ด้วยการสร้าง Lucid Dream หรือ “ความฝันที่ผู้ฝันรู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่” ในรูปแบบของตัวเอง

หรือผลงาน “ตด ประสานเสียง” โดย STUPID SHIT ศิลปะจัดวางที่สร้างผลงานที่ผสมผสานระหว่างภาพ เสียง และการเคลื่อนไหวของผู้ชม ให้กลายเป็นวาทยกรควบคุมวงดนตรีที่บรรเลงด้วยการประสานเสียงตดอย่างน่าชวนหัว

และผลงาน “Synthetic Microorganisms” โดย PAVEE ศิลปะจัดวางเชิงทดลองที่ใช้เทคนิค Projection Mapping ที่จำลองภาพของสิ่งมีชีวิตดิจิทัลขนาดเล็กจิ๋วอย่าง จุลินทรีย์สังเคราะห์ ที่คล้ายถูกขยายผ่านกล้องจุลทรรศน์ให้เราเห็นภาพของสิ่งมีชีวิตที่ปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และถูกตัดต่อทางพันธุกรรมจนกลายเป็นงานศิลปะนามธรรมอันเย้ายวนสายตา ผลงานชิ้นนี้ยังเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่อาคาร ที่เคยเป็นสำนักงานและโรงงานผลิตยาแอนตี้ไบโอติกอีกด้วย

หรือผลงาน “The Impeccable Art of Connextor” โดย Charlie N. นำเสนอศิลปะจัดวางเสียง (Sound Installation) ที่เชื่อมต่อโสตประสาทเข้ากับการมองเห็น ด้วยการเชื่อมต่อกลองไฟฟ้าเข้ากับชุดคำสั่งในภาษาคอมพิวเตอร์ ที่ควบคุมแสง สี เสียง และภาพเคลื่อนไหวให้แปรเปลี่ยนไปตามการเคาะจังหวะของเครื่องดนตรี

และนิทรรศการ “SANCTUM : RETREAT YOUR MIND” โดย From / Object / To Studio, ANOFFICERDIES, UNIVIRTAR.IO และ YOUTH BRUSH กับผลงานศิลปะจัดวางที่ใช้เทคนิค Immersive Projection Mapping art เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมปล่อยใจให้ล่องลอย และผ่อนคลายไปกับบรรยากาศและเสียงเพลง ที่จะช่วยบรรเทาจิตใจที่วุ่นวายให้พบกับความสงบ ด้วยการนำพาทุกคนย้อนเวลากลับไปยังบรรยากาศแห่งความสงบของย่านสุขุมวิทในอดีต มาสู่การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ผ่านภาพ Motion Graphic

และเปิดโอกาสให้ผู้ชมสร้าง Avatar หรือตัวตนเสมือนของตัวเอง เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานชิ้นนี้ได้

ตามด้วยโซน Collective Arts กับนิทรรศการศิลปะของศิลปินดาวรุ่งของวงการอย่าง ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล, TEMPORARY WEST, ธนชัย อุชชิน (ป๊อด โมเดิร์นด็อก), เมธี น้อยจินดา (เมธี โมเดิร์นด็อก), Nev3r, Kob B.O.R.E.D, ธีธัช ธนโชคทวีพร (Tetat) และแก้วตระการ จุลบล จากการคัดสรรของคิวเรเตอร์สาว พิมพ์ปวีณ สุนทรธรรมรัต รวมถึงกิจกรรมเวิร์กช็อปงานศิลปะภาพพิมพ์จาก PPP Studio และร้านค้าศิลปะจากศิลปินและดีไซเนอร์มากหน้าหลายตา รวมถึงร้านขายผลงานของศิลปินรุ่นเยาว์และนักศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ และคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย

ต่อด้วยโซน Collective Photo Exhibition กับนิทรรศการภาพถ่ายจากสองช่างภาพชั้นนำแห่งวงการถ่ายภาพไทยอย่าง พรพจน์ กาญจนหัตถกิจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ พจน์ Sixtysix ช่างภาพรุ่นใหม่เจ้าของผลงานที่ถ่ายทอดมุมมองอันเปี่ยมเสน่ห์ของอาคารฟีฮาแล็บ ผ่านเลนส์กล้องอันเฉียบคม

และชำนิ ทิพย์มณี ช่างภาพชั้นนำรุ่นใหญ่แห่งวงการภาพถ่ายโฆษณา ที่นำเสนอคอลเล็กชั่นภาพถ่ายแฟชั่นที่เล่าเรื่องราวที่หลอมรวมอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เข้าดัวยกัน โดยเชื่อมโยงผ่านบริบทของอาคารฟีฮาแล็บ และคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่ออกแบบโดยนักศึกษาแฟชั่นรุ่นใหม่

และโซน Collective Music ที่นำเสนอการแสดงสดจากศิลปินดนตรีรุ่นใหม่มากมายที่มาร่วมเติมชีวิตชีวาด้วยเสียงดนตรีให้อาคารสถาปัตยกรรมเก่าสุดคลาสสิคแห่งนี้

หรือโซน Collective Talks ที่รวบรวมครีเอเตอร์มากประสบการณ์จากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งภาพยนตร์ แอนิเมชั่น ดนตรี ดีไซน์ และทัศนศิลป์ มาร่วมเสวนาและจุดประกายความคิดให้กับครีเอเตอร์และนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่

และโซน Collective Food & Beverage กับร้านอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายจากเหล่าบรรดาครีเอเตอร์ในวงการอาหารที่คัดสรรรสชาติให้ผู้เยี่ยมชมงานได้ลิ้มลอง

ปิดท้ายด้วยโซน Collective Networking Session โดยทีม Studio 11206 ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ร่วมงานมีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์การสนทนาในแบบใหม่ ในหัวข้อ “Talk That Talk : Does AI Dream of Electric Sheep?” กับเรื่องเด่นประเด็นร้อนแห่งยุคสมัยปัจจุบัน เพื่อสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ให้กับชุมชนครีเอเตอร์ และส่งต่อแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ยกระดับให้ครีเอเตอร์ไทยก้าวไปสู่ระดับสากลได้

“ผมมองว่าอาคารนี้มีความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ที่แสดงตัวตนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ไปสู่อนาคตได้ Collective by Clound 11 เป็นงานแรกที่พูดถึงชุมชนครีเอเตอร์ ซึ่งสามารถนิยามได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่ศิลปิน หรือดีไซเนอร์ แต่รวมถึงคนทำคอนเทนต์ คนทำดนตรี คนออกแบบเกม ฯลฯ ซึ่งเราชวนมารวมตัวกันในพื้นที่อาคาร ที่เคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ถูกใช้งาน เราก็เอาไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ จอภาพ และงานศิลปะใส่เข้าไป เหมือนเอาชีวิตและความคิดสร้างสรรค์ไปเติมเต็มให้กับพื้นที่แห่งนี้” นนทวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

Collective by Cloud 11 จัดแสดงในอาคารอุดมพร-ฟีฮาแล็บ (Phihalab) ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ขอบคุณภาพจาก www.iameverything.co

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์