AI ‘ผู้ร้าย หรือ ผู้ช่วยพระเอก’

วัชระ แวววุฒินันท์

หลายคนอาจจะได้เคยทราบข่าวว่า ในการแข่งขันหมากล้อมหรือโกะ ครั้งหนึ่งในปี 2016 ระหว่างมนุษย์คือ “ดีเซดล ดั้ง 9” กับคู่แข่งที่เป็น “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) ผลปรากฏว่า AI สามารถเอาชนะไปได้ 4 เกมต่อ 1

นี่เป็นสัญญาณที่บอกอะไรเรา?

AI จะมาแทนที่มนุษยชาติได้จริงๆ หรือ?

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 ได้มีข่าวที่ชวนตกใจคือ ในระหว่างการแข่งขันหมากรุกในศึกทัวร์นาเมนต์มอสโกโอเพ่น ระหว่างเด็กชายวัย 7 ขวบ กับหุ่นยนต์เซียนหมากรุกจากรัสเซีย ปราฏว่าเจ้าหุ่นยนต์เกิดหักนิ้วเด็กน้อยเข้า ก่อนที่ผู้ใหญ่สองคนจะช่วยเด็กออกมาได้สำเร็จ

เหตุเกิดจากการที่เด็กชายเดินตัวหมากเร็วเกินไปกว่าที่หุ่นยนต์จะประมวลผลทัน จนเกิดการกดนิ้วของเด็กลงกับกระดานด้วยคิดว่าเป็นเบี้ย ยังดีที่เด็กชายแค่ใส่เฝือกที่นิ้วเท่านั้น

แต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวน่าตกใจยิ่งกว่าคือ ในโรงงานแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ คนงานวัย 40 ปีถูกแขนกลหุ่นยนต์ทำร้าย โดยแขนกลสับสนว่าเขาเป็นกล่องบรรจุของ จึงคว้าตัวชายคนนั้นวางลงบนสายพานลำเลียง ก่อนจะบีบอัดเขาที่ใบหน้าและส่วนอกอย่างแรง

สุดท้ายต้องมาเสียชีวิตหลังถูกนำส่งโรงพยาบาล

 

จากเหตุการณ์นั้นเกิดการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบระบบของหุ่นยนต์เพื่อให้มีความแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น

เหล่านี้น่าจะสร้างความกังวลให้กับมนุษย์ไม่น้อยว่า เราจะมั่นใจในความปลอดภัยกับ “AI” ได้จริงไหม?

และหากวันใดที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมมันได้ มันจะย้อนกลับมาทำลายมนุษย์หรือไม่?

สำหรับเรื่อง AI ทำร้ายมนุษย์ได้ปรากฏในโลกของภาพยนตร์มานานแล้ว แฟนๆ คงจำเจ้าหุ่นเหล็กพิฆาตในเรื่อง “The Terminator” ที่รับบทโดยอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ได้ นั่นเป็นจินตนาการถึงโลกในอนาคตที่ AI พัฒนาจนสามารถยึดครองโลกได้และเป็นศัตรูกับมนุษยชาติ

จะว่าไปความคิดนี้ได้ถูกพูดถึงมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 1968 จากภาพยนตร์เรื่อง “A Space Odyssey” เล่าถึงโลกในปี 2001 ที่ปัญญาประดิษฐ์ได้พัฒนาจนเกิดการสังหารมนุษย์เพื่อทำงานที่เรากำหนดให้สมบูรณ์แบบ

จากนั่นมา 55 ปี ที่วันนี้ AI ได้เข้ามามีบทบาทกับมนุษย์จริงๆ จังๆ แล้ว

AI ได้เข้ามาเกี่ยวดองกับกิจกรรมของคนเราในหลายๆ วงการ ไม่เพียงแต่ในอุตสาหกรรมการผลิตที่เราคุ้นเคย เสียงที่พูดโต้ตอบกับเราทางสมาร์ตโฟนก็คือ AI และใครจะรู้ว่าเพลงที่เราได้ฟังอยู่นี้ เป็นฝีมือการประพันธ์จากศิลปิน AI

เรารู้ว่า AI นั้นฉลาดล้ำ แต่ไม่นึกว่าจะเก่งกาจจนสามารถสร้างงานที่ต้องใช้ความคิดและจินตนาการสร้างสรรค์ได้

แต่วันนี้ AI พัฒนามาถึงจุดนี้แล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่อีกไม่เกิน 10 ปี มนุษย์อย่างเราๆ ต้องได้ประหลาดใจแน่นอน

 

มีหนังสือน่าอ่านเล่มหนึ่งชื่อ “การปฏิวัติคอนเทนต์ ในยุคแห่ง AI” เขียนโดย โคชันซู แปลโดย ภัททิรา จิตต์เกษม

หน้าปกหนังสือเขียนโปรยไว้ว่า “งานของคุณอาจหายไป เมื่อ AI ทำงานที่ใช้ความ คิดสร้างสรรค์ได้เหมือนมนุษย์ คนที่ปรับตัวและทำงานร่วมกับ AI เท่านั้น ถึงจะอยู่รอด”

โคชันซู ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ให้กับสถานี KBS ของเกาหลีใต้ เขามีความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี และนั่นนำพาให้เขาเกิดความสงสัยในการผสมผสานระหว่างสิ่งที่ดูไม่เข้ากันเลยสองสิ่ง คือ “ปัญญาประดิษฐ์ กับ คอนเทนต์”

เขาเขียนหนังสือนี้ไว้ในปี 2018 ตอนนี้ผ่านมา 5 ปีแล้ว เชื่อได้ว่า AI ได้พัฒนาก้าวล้ำเกินกว่าที่เขาได้ศึกษาไว้ไปอย่างมาก ซึ่งน่าจับตายิ่ง

จากข้อมูลในหนังสือ ทำให้เราได้เห็นว่า AI ได้สร้างคอนเทนต์ให้กับวงการสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ ไว้มากมาย คนที่เป็นนักดูทีวีหรือเสพคอนเทนต์ต้องได้เคยสัมผัสมาแล้วแน่นอน

ที่ชัดๆ เลยคือ “รายการกีฬา” พูดถึงกีฬาแล้ว นอกจากทักษะความสามารถของนักกีฬาเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่โค้ชใช้ในการวางแผนหรือซื้อตัวผู้เล่น คือ ข้อมูลจากการเก็บสถิติในเกมการแข่งขันต่างๆ ข้อมูลยิ่งละเอียดและแม่นยำเพียงไรก็ยิ่งพลาดเป้าน้อยลง

ซึ่งเรื่องนี้ AI ย่อมเหนือมนุษย์อยู่แล้ว

“การปฏิวัติคอนเทนต์ ในยุคแห่ง AI” เขียนโดย โคชันซู แปลโดย ภัททิรา จิตต์เกษม

ผมเคยเขียนถึงหนังเรื่อง “Money Ball” ที่สร้างจากเรื่องจริงของทีมเบสบอลทีมหนึ่งในอเมริกา ที่มีการเก็บสถิติมาใช้ในการจัดการทีมเป็นครั้งแรก ผลคือทีมนี้สามารถก้าวชิงแชมป์ได้ด้วยเม็ดเงินการลงทุนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับทีมใหญ่

แต่ความสำเร็จนั้นเกินคาดมากจนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับธุรกิจกีฬาแต่นั้นมา

ในยุคนี้คนดูกีฬาพร้อมเสพข้อมูลที่อัดแน่นเพื่อเสริมความสนุกในการเชียร์ไปด้วย นั่นก็คืองานของ AI

ตัวอย่างที่ AI ทำได้มากกว่านั้นคือ ในกีฬาเทนนิสซึ่งจะต้องมีการตัดไฮไลต์การแข่งขันมาให้ผู้ชมได้ชมวันๆ หนึ่งไม่รู้กี่คลิป

แต่ในศึกเทนนิส US Open ในปี 2017 แทนที่จะต้องใช้เงินทุน กำลังคน และเวลาจำนวนมากในการเลือกฉากที่จะนำไปตัดต่อเป็นไฮไลต์ ได้มีการใช้ AI ทำงานส่วนนี้แทนซึ่งประหยัดทุกอย่างไปอย่างมาก

และได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสียอีก

ในวงการข่าว ก็มีการใช้ AI มาช่วยคนทำงานอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ข่าวๆ หนึ่งจะดีและน่าสนใจถ้ามีข้อมูลนำเสนอที่ถูกต้องและหลากหลาย

งานอย่างนี้ AI ทำได้สบายมาก เพราะสามารถนำข้อมูลออกมากองให้เลือกใช้ได้ในพริบตา เมื่อเทียบกับแรงงานคนแล้วก็เทียบกันไม่ติด

ไม่เท่านั้น ยังได้มีการพัฒนาให้ AI สามารถเขียนข่าวออกมาได้แล้ว ซึ่งข่าวประเภทรายงานข้อมูลเช่น ข่าวตลาดหุ้น หรือข่าวเศรษฐกิจนั้นไม่ต้องการความสละสลวยจากการเขียน ขอแต่ข้อมูลที่ดีและถูกต้องเป็นใช้ได้

 

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างแอมะซอน ได้เข้าซื้อหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ และได้ใช้ AI ช่วยในการสร้างข่าวแบบตามใจผู้บริโภค เหมือนสินค้าในร้านแอมะซอนอย่างนั้น โดยทำข่าวเรื่องหนึ่งให้มีหลายเวอร์ชั่นเพื่อค้นหาว่าผู้บริโภคชอบคอนเทนต์แบบไหน แล้วจะผลิตข่าวให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค แทนที่จะผลิตตามความคิดเห็นของบรรณาธิการและนักข่าวเช่นเดิม

ผลคือแค่เวลา 2 ปี ยอดของผู้เข้าใช้เว็บไซต์ของเดอะ วอชิงตันโพสต์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในโลกของภาพยนตร์ ได้มีการใช้ AI มาตัดต่อตัวอย่างภาพยนตร์กันแล้ว AI เรียนรู้จากภาพยนตร์ที่คนได้ป้อนข้อมูลไว้ และได้สร้างตัวอย่างภาพยนตร์ขึ้นมาเอง แต่เดิมการทำความเข้าใจในภาพยนตร์สักเรื่องและนำฉากที่น่าสนใจมาทำเป็นตัวอย่าง ต้องใช้เวลาและความคิดพอสมควร ซึ่งปกติอาจต้องใช้เวลาทำ 4-5 วัน แต่กลับเสร็จสิ้นได้ในไม่กี่ชั่วโมงโดยฝีมือของ AI

ความน่าตื่นตาตื่นใจในภาพและเอฟเฟ็กต์จากคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ดึงดูดคนดูนั้น มีการใช้ AI ทำงานร่วมกับมนุษย์มานานแล้ว และนับวันก็ยิ่งพัฒนาจินตนาการและฝีมือมากขึ้น

ที่ถูกจับตามองอย่างมากคือ งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์จ๋าอย่าง “การเขียนบท” ก็ได้มีการพัฒนา AI ให้ช่วยทำงาน

“เบนจามิน” เป็น AI ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำการเขียนบท แม้งานที่ออกมาจะยังไม่ถึงขั้นดีเลิศ แต่บทภาพยนตร์เรื่อง “Sunspring” ที่เบนจามินเขียนขึ้นมา ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมถล่มทลาย

ในวงการโทรทัศน์ หลายสถานีได้มีการใช้ AI ช่วยในการจัดผังของสถานีเพื่อให้โดนใจผู้บริโภค

ดังตัวอย่างที่เราเห็นได้จาก Netflix คือ ระบบการแนะนำหนังให้กับสมาชิกตามความสนใจเป็นรายบุคคล

ไม่รวมถึงการใช้ AI เพื่อย่นระยะเวลาในการตัดต่อ และการทำตัวอย่างรายการ

มีการใช้ AI ในการแต่งเพลง ในการสร้างภาพศิลปะ ในการเขียนบทกวีที่มนุษย์เชื่อมาตลอดว่าเป็นทักษะทางจินตนาการและภาษาเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ AI เรียนรู้ได้แล้ว

เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะต้องทำตัวอย่างไร?

 

แน่นอนที่เราไม่สามารถปฏิเสธ AI ได้ แต่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับมันให้ได้

ในโรงงาน คนงานจำนวนมากได้เสียตำแหน่งงานให้กับหุ่นยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว และหากวันหนึ่งที่หุ่นยนต์สามารถทำงานที่ต้องใช้ “ความรู้เฉพาะทาง” ได้มากขึ้น ความคุ้มค่าทางการเงินจากการเลิกใช้มนุษย์จะเป็นคำตอบสุดท้าย นั่นรวมถึงกระทั่งความรู้เฉพาะทางอย่างแพทย์ ทนายความ และเจ้าหน้าที่การเงิน

ผู้เขียนได้คาดหมายและให้ภาพในอนาคตไว้ว่า เมื่อคนถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์มากขึ้น ตำแหน่งงานจะลดลงจนคนกลายเป็น “คนว่างงาน” ก่อน แล้วหลังจากนั้นเมื่อ AI ได้จัดระบบเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมดเสร็จแล้ว งานใหม่ๆ จึงจะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ในช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้ คนจำนวนมากจะต้องเจ็บปวด ต้องอึด และอดทน จนกว่าจะมีตำแหน่งงานใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน

และคนที่สมควรได้รับตำแหน่งงานใหม่ที่ว่านี้ คือคนที่ได้ปรับตัวเรียนรู้ในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์อย่างถ่องแท้นั่นเอง

จนเกิดมีข้อกังวลว่า มนุษย์เริ่มต้นด้วยการสร้างปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นผู้ช่วยเราอีกที แต่วันข้างหน้าที่มันไปไกลกว่าเรามากแล้ว และหันกลับมาทำร้ายเรา เมื่อนั้นมันอาจจะกลายร่างเป็นผู้ร้ายขึ้นมาในทันที

 

ไม่นานมานี้มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งออกมาว่า บริษัทเทคโนโลยี่ทาง AI ที่มีชื่อว่า OpenAI ที่ได้สร้างปัญญาประดิษฐ์ที่มาแรงอย่าง ChatGPT ได้มีมติจากบอร์ดบริหารให้ขับ “Sam Altman” ที่เป็น CEO และเป็นผู้พัฒนา AI ที่ว่านี้จนประสบผลสำเร็จขึ้นมาออกจากตำแหน่ง

เหตุผลที่ซ่อนอยู่คือ “ความกังวลในเรื่อง ความเสี่ยงของ AI ต่อมวลมนุษย์” ซึ่งเป็นข้อมูลที่กลุ่มนักวิจัยของบริษัทได้พบและเตือนภัยไปให้กับบอร์ดบริษัท

โดยมีที่มาที่ไปว่าได้มีการพัฒนา superintelligence AGI (ปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดกว่ามนุษย์) ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นระบบ AI แห่งอนาคตที่จะมีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ ทั้งการคิดและวิเคราะห์

อย่างไรก็ดี ในภายหลัง แซมก็ได้กลับมานั่งเก้าอี้ CEO ใหม่ เพราะพนักงานของ OpenAI ร่วม 97% ไม่เห็นด้วย และยื่นหนังสือว่า ถ้าไม่นำแซมกลับมา พวกเขาจะลาออกตามไปด้วย

นั่นเป็นไม้ตาย เพราะบริษัทหนึ่งจะเดินอย่างไร ถ้าไม่มีคนทำงาน

เมื่อแซมกลับมาครั้งนี้ เขาได้ประกาศภารกิจไว้ว่า จะต้องสร้าง AI ที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ให้ได้

จะว่าไป การกระทำของเหล่าพนักงานนี้ที่เป็นการ “Save Sam” แต่ก็เป็นการ “Save AI” ไปด้วยในตัว

หวังว่าในอนาคตเมื่อ AI ถูกพัฒนาจนถึงขีดสูงสุดแล้ว ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะช่วย “Save Human” ด้วย

ไม่แน่นะครับ คอลัมน์ “เครื่องเคียงข้างจอ” ที่คุณอ่านอยู่นี้ วันหนึ่งอาจจะถูกเขียนขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์ที่ชาญฉลาด รอบรู้ และมีจินตนาการที่กว้างไกลว่าผู้เขียนเดิมก็ได้

เมื่อถึงเวลานั้น ก็ตัวใครตัวมันแล้วกัน

ว่าแล้วก็ดึงปลั๊กออก…จบข่าว •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์