ประชากรหดตัวรุนแรง กรณีศึกษาจากเกาหลีใต้

เกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วในแถบเอเชียตะวันออก กลายเป็น “กรณีศึกษา” ในทางประชากรศาสตร์มาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว เพราะปัญหาในเชิงประชากรของเกาหลีใต้มีลักษณะพิเศษจำเพาะ แม้จะจัดได้ว่าอยู่ใน “เทรนด์” เดียวกันกับประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทั้งโลกก็ตามที

ประเทศพัฒนาแล้วเกือบทั้งหมดมีอัตราการเกิดอยู่ต่ำกว่าระดับการทดแทน (ผู้หญิงหนึ่งคนต้องมีลูกมากกว่าสองคนขึ้นไป ในทางประชากรศาสตร์มักกำหนดอยู่ที่ 2.12 คนต่อประชากรหญิง 1 คน) กล่าวคือ อยู่ในย่าน 1.5 บวกหรือลบ เช่น ตามข้อมูลในปี 2021 อัตราการเกิดของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1.7 ฝรั่งเศส 1.8 อิตาลี 1.3 และแคนาดา 1.4 เป็นต้น

ประชากรเกาหลีใต้มีอัตราการเกิดลดลงต่ำกว่าระดับการทดแทนตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ลักษณะพิเศษของเกาหลีใต้ก็คือ ยิ่งนับวันอัตราการเกิดดังกล่าวยิ่งลดลงต่อเนื่อง เมื่อถึงปี 2018 อัตราการเกิดของเกาหลีใต้ลดลงต่ำกว่า 1

แล้วลดต่อลงมาเหลือเพียงแค่ 0.8 หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ข้อมูลที่สำรวจล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2023 นี้ อัตราการเกิดของเกาหลีใต้ลดวูบลงอีกเหลือเพียง 0.7 คนต่อประชากรหญิง 1 คน

หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่า ทุกๆ ประชากร 200 คนในเจเนอเรชั่นหนึ่ง (ชาย-หญิง 100 คู่) เมื่อถึงเจเนอเรชั่นถัดไปจะหลงเหลือประชากรเพีย 70 คน

และถ้าอัตราการเกิดยังคงทรงตัวอยู่ในระดับเช่นนี้ต่อไป เมื่อถึงเจเนอเรชั่นที่ 3 จากจำนวน 200 คนแต่เดิม จะหลงเหลือประชากรต่ำกว่า 25 คน

และเพียงแค่ถัดไปอีก 1 เจเนอเรชั่นเท่านั้น จากจำนวนเดิม 200 คน ประชากรจะลดลงจนใกล้ถึงระดับ “ฟุบ” หรือ “หายไป” เกือบหมด

นั่นคือสิ่งที่นักประชากรศาสตร์เรียกว่า “ภาวะประชากรหดตัว” (depopulation) ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะฟุบหรือพังพาบ (population crash) ภายในไม่กี่เจเนอเรชั่นของประชากรเท่านั้น

 

นักวิชาการส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังในทางที่ดีว่า ในความเป็นจริงแล้วอัตราการเกิดของเกาหลีใต้คงไม่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำมากๆ เช่นนั้นไปยาวนานนัก ด้วยเหตุที่ว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง จำนวนประชากรเกาหลีใต้ซึ่งในเวลานี้อยู่ที่ราวๆ 51 ล้านคน จะหลงเหลือเพียงไม่ถึง 10 ล้านคนในราวปลายทศวรรษ 2060

เมื่อนำการผันแปรและตัวแปรต่างๆ เข้ามาพิจารณาประกอบด้วย นักวิชาการส่วนใหญ่จึงประมาณการไว้ว่า จำนวนประชากรของเกาหลีใต้ภายในแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จะหลงเหลือเพียงไม่ถึง 35 ล้านคนเมื่อถึงปลายทศวรรษ 2060

จาก 51 ล้านคนเหลือไม่ถึง 35 ล้านคน เท่านี้สังคมเกาหลีใต้ก็เข้าขั้นวิกฤตได้แล้วเช่นเดียวกัน

เพราะเมื่อประชากรหดตัวลงถึงระดับนั้น เศรษฐกิจของประเทศจะดิ่งลงเร็วราวเครื่องบินปักหัวลงพื้น หากไม่ต้องการให้เกิดภาวะเศรษฐกิจเช่นนั้น ประเทศก็ต้องอ้าแขนรับแรงงานอพยพเข้ามามากจนถึงระดับที่สามารถกลายเป็นเครื่องบั่นทอนเสถียรภาพได้

ภาพของผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งจะเป็นภาพปกติของสังคม เช่นเดียวกับเมืองที่ถูกทิ้งร้าง ตึกระฟ้าที่เคยสูงสง่าและจอแจ อาจหลงเหลือเป็นเพียงแค่ซากอาคารเก่าแก่ทรุดโทรม

คนหนุ่มสาวทิ้งถิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องเพราะมองไม่เห็นอนาคตใดๆ ในการทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ดูแลบรรดาเฒ่าชแรแก่ชราทั้งหลายเท่านั้น

ในแง่ของความมั่นคง การหดตัวของประชากร มีผลเท่ากับการหดตัวของแรงงานและแน่นอนของทหารในกองทัพ ถึงเวลานั้น เกาหลีใต้อาจมีทหารไม่เพียงพอต่อการรับมือ หากเกาหลีเหนือ (อัตราการเกิดในปัจจุบันอยู่ที่ 1.8) ตัดสินใจกรีฑาทัพลงมารุกรานก็เป็นได้

 

สถานการณ์ประชากรของเกาหลีใต้ จึงเป็นเสมือน “ตัวอย่าง” และ “สัญญาณเตือน” สำหรับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกว่า ปัญหาการหดตัวของประชากรของประเทศหนึ่งๆ อาจไม่เป็นไปตามแนวโน้มทั่วๆ ไปที่ปรากฏให้เห็นแก่ตา แต่อาจย่ำแย่กว่ามากและทรุดตัวลงเร็วมากกว่า “เทรนด์” ที่เห็นๆ กันก็เป็นได้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีพัฒนาการไปในทิศทางเดียวกันกับเกาหลีใต้เสียทั้งหมด นักวิเคราะห์ชี้ว่า รูปแบบปัญหาในสังคมของเกาหลีใต้หลายๆ อย่างเป็นรูปแบบเฉพาะที่ไม่แน่นักว่าจะเกิดขึ้นในสังคมอื่น ประเทศอื่น

ตัวอย่างเช่น รูปแบบของระบบการศึกษาที่แข่งขันกันสูงชนิด “เอาเป็นเอาตาย” จนกลายเป็นแรงกดดันต่อบรรดาพ่อแม่และตัวลูกๆ สูงมากจนถึงระดับที่ทำให้การใช้ชีวิตเป็น “ครอบครัว” เปรียบเสมือนการใช้ชีวิตอยู่ใน “นรกภูมิ” จนทำให้หลายๆ คนในสังคมตัดสินใจไม่เอาด้วย ไม่แม้แต่จะทดลองอีกด้วย

หรือแม้แต่ในมิติของสังคมว่าด้วย “ปฏิสัมพันธ์” ระหว่างวัฒนธรรมอนุรักษนิยมกับความพยายามเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจให้ก้าวไปสู่ความทันสมัย กรอบประเพณีและวัฒนธรรมที่ยังคงยึดถืออย่างเคร่งครัดส่งผลสูงยิ่งต่ออัตราการเกิดโดยตรง

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดนอกการสมรสต่ำมากๆ ประเทศหนึ่ง

 

ในขณะที่ขบวนการเพื่อสิทธิเสรีภาพของสตรีพยายามต่อต้านและหลีกหนีกรอบแห่งความคาดหวังของสังคม ก็เกิดการต่อต้านจากเพศชายที่อยู่ตรงกันข้าม

นักสังคมวิทยาบางคนเชื่อว่าสภาวะเช่นนี้นำไปสู่การแบ่งขั้วระหว่างเพศ ที่ลุกลามไปจนกระทั่งกลายเป็นตัวกำหนดรูปแบบการเมืองของประเทศ พร้อมๆ กับการทำให้อัตราการแต่งงานในเกาหลีใต้ลดลงจนถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ในเวลานี้

วิวัฒนาการของเทคโนโลยี เกมและอินเตอร์เน็ต นำพาคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่หลีกเร้นจากโลกแห่งความเป็นจริง ดิ่งลึกลงไปในโลกเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งห่างออกไปจากเพศตรงกันข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

ประเทศไหน สังคมไหน มีสภาพ เงื่อนไข และแนวโน้มเดียวกับที่เกาหลีใต้มี ก็ควรวิตกกันไว้ตั้งแต่บัดนี้