สยามไม่ใช่คนไทย แต่-คนไทยมาจากสยาม

สยามไม่ใช่คนไทย มีหลักฐานดังนี้ (1.) สยามไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่เรียกตามชื่อชาติพันธุ์ตนเอง เช่น ลาว, มอญ, เขมร, มลายู, เอเด (เรอแดว์), กวย (กุย) ฯลฯ (2.) สยามพูดภาษาไท-ไต (ยังไม่เรียกภาษาไทย) เป็นภาษากลางสื่อสารต่างชาติพันธุ์ เมื่ออยู่ชุมชนตนเองก็พูดภาษาใครภาษามัน (3.) ถูกคนอื่นเรียกสยาม ไม่เรียกตนเองสยาม

แต่-คนไทยมาจากสยาม เพราะ (1.) กลุ่มสยามพูดไท-ไต-ไทย มีอำนาจเป็นกษัตริย์ในรัฐอโยธยา เรียกตนเองว่าไทย (2.) ชาวสยามหลายชาติพันธุ์ทั้งในอโยธยาและนอกอโยธยา ต่างทยอยกลายตนเป็นไทย เรียกตนเองว่าไทย เพื่อสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง เท่ากับคนไทยเป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” หรือ คนไทยมาจากสยาม

ประวัติศาสตร์ไทยมีต้นตอจากประวัติศาสตร์สยาม มีความหมายหลายอย่างดังนี้ (1.) เรื่องราวความเป็นมาทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว (2.) ของดินแดนและผู้คนทุกชาติพันธุ์ในสยามที่เปลี่ยนชื่อว่าประเทศไทย (3.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์อย่างแยกกันมิได้ (4.) ตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) สืบเนื่องถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ไทย คือ ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ต้องทำความเข้าใจ 2 เรื่อง ได้แก่ ชื่อประเทศ และเส้นกั้นอาณาเขต

ชื่อประเทศ ดั้งเดิมชื่อสยาม มีความเป็นมาหลายพันปีแล้ว ต่อมาเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เมื่อ 84 ปีมาแล้ว หรือตั้งแต่ พ.ศ.2482

เส้นกั้นอาณาเขต ประเทศไทยกำหนดเส้นกั้นอาณาเขต (ตามกติกาของนานาชาติ) คล้ายรูปขวาน เมื่อหลังสงความโลกครั้งที่ 2 ราว 80 ปีมานี้เอง

ดังนั้น ประวัติศาสตร์ไทย (ปัจจุบัน) จึงหมายถึง ประวัติศาสตร์ประเทศสยามที่สืบเนื่องเป็นประวัติศาสตร์ประเทศไทย

สยาม ไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ จึงไม่มีชนเชื้อชาติสยาม แต่สยามเป็นคำเรียกดินแดนหรือพื้นที่และผู้คน “ร้อยพ่อพันแม่” บริเวณนั้น หมายถึงบริเวณดินดำน้ำชุ่มหรือลุ่มน้ำ มีรากจากคำพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน-ลุ่มน้ำโขง ว่า ซำ หรือ ซัม หมายถึงพื้นที่มีน้ำพุหรือน้ำผุดจากใต้ดิน ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกน้ำซับน้ำซึม ครั้นนานปี (หรือนานเข้า) น้ำเหล่านั้นไหลนองเป็นหนองหรือบึงขนาดน้อยใหญ่ กลายเป็นแหล่งปลูกข้าว ด้วยการทำนาทดน้ำ ผลิตข้าวได้มากไว้เลี้ยงคนจำนวนมาก ทำให้ชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกเมื่อติดต่อชุมชนห่างไกลก็เติบโตเป็นเมือง (1.) กระจายหลายลุ่มน้ำ ไม่เป็นผืนเดียวกัน (2.) ลุ่มน้ำเหล่านั้น ได้แก่ โขง, สาละวิน, พรหมบุตร, เจ้าพระยา

ดังนั้น หากต้องการเข้าใจจริงเรื่องประวัติศาสตร์ไทย ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องสยามและประวัติศาสตร์สยาม ตามพระราชดำรัส ร.5 ดังนี้

“กรุงสยามเป็นประเทศแยกกันบ้างบางคราว รวมกันบ้างบางคราว ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง ต่างวงษ์กันบ้าง”

“เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใดชาติใดวงษ์ใดสมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศสยาม”

[พระราชดำรัส ร.5 ทรงเปิดโบราณคดีสโมสร ราว 116 ปีที่แล้ว หรือเมื่อ พ.ศ.2450]

จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายเรื่องประวัติศาสตร์ไทยไว้นานแล้ว ว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกต้องจะต้องเริ่มกันใหม่ นั่นคือศึกษาประวัติความเป็นมาแห่งสังคมบนผืนดินอันเป็นเอกภาพผืนนี้ ศึกษาย้อนขึ้นไปตามลำดับ จากอยุธยาไปสู่ละโว้, พิมาย, สุโขทัย, โยนก, ศรีธรรมราช, ไชยาหรือศรีวิชัย, จานาศปุระ, ทวารวดี, พนม หรือฝูหนาน ฯลฯ

ทั้งหมดนี้รวมกันคือประวัติศาสตร์ของประชาชาติไทย อันประกอบด้วยหลายชนชาติ และผ่านยุคสมัยมาหลายสมัย บางสมัยก็ชนชาตินี้เป็นชนชั้นปกครอง บางสมัยก็ชนชาตินั้นเป็นชนชั้นปกครอง;

การศึกษาด้วยทรรศนะเช่นนี้เท่านั้น จึงจะได้รับความรู้ที่เป็นประวัติศาสตร์แห่งสังคมในรัฐเอกภาพหนึ่งๆ ที่แท้จริง และ จะไม่ก่อให้เกิดลัทธิคลั่งชาติหรือหลงเชื้อชาติ อันนำมาซึ่งความเพ้อฝันแผ่อิทธิพล หรือน้อยเนื้อต่ำใจคิดแบ่งแยกเอกภาพ. ทั้งนี้ เพราะประวัติศาสตร์ที่ศึกษาในแนวนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ของสังคมที่ทุกชนชาติเป็นเจ้าของ, เป็นผู้เคยมีบทบาทมาแล้ว, และก็ยังจะมีบทบาทต่อไปอีกในอนาคตภายในเอกภาพแห่งดินแดนนี้.

เอกภาพของรัฐหรือสังคม เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจและความไหวตัวทางการเมือง มิได้เกิดขึ้นจากหรือกำหนดขึ้นจากเชื้อชาติ

[ปรับปรุงใหม่บางตอนจากหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2547 หน้า 173-181)

อยุธยาคือศูนย์กลางของสยามประเทศ เป็นหลักฐานชัดเจนในแผนที่ยุโรปเรียก “ราชอาณาจักรสยาม” มีประชากรหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ต่อมาเรียกตนเองว่าไทย (แผนที่จากหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2566 หน้า 142-143)

เครือญาติและเครือข่ายการค้า

ไม่มีไทยแท้ เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์ เพราะความเป็นคนไทยมาจากชาวสยามซึ่งเป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ในภูมิภาคอุษาคเนย์

รัฐบาลไทยควรสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอุษาคเนย์ (SEA) ด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนไทยที่ผสมกลมกลืนจากทุกชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ (และในโลก) รวมทั้งวัฒนธรรมไทยก็เป็น “วัฒนธรรมร่วม” ของอุษาคเนย์

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์โบราณ ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบล่าเมืองขึ้นที่หมายถึงทำสงครามยึดดินแดนฝ่ายตรงข้าม แล้วส่งคนของตนไปปกครองเมืองขึ้น

แต่ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์โบราณ มีความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบเครือญาติ หมายถึงเจ้าเมืองหนึ่งส่งลูกสาวเป็นเมียของอีกเจ้าเมืองหนึ่ง ทำให้เจ้าเมืองทั้งสองเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน บางทีเจ้าเมืองหนึ่งมีลูกสาวหลายคนก็ส่งไปเป็นเมียเจ้าเมืองหลายแห่ง ซึ่งเท่ากับมีเครือญาติหลายเมือง และต่างเมืองก็ทำเหมือนๆ กันทั่วภูมิภาคเป็นกลุ่มๆ ไป

ทั้งนี้ โดยยกย่องเมืองที่มีเครือญาติเป็นกลุ่มใหญ่ มีอำนาจใหญ่ หรือ “หัวโจก” หรือ “เจ้าพ่อ” ทำหน้าที่คุ้มครองเมืองบริวารที่มีเครือญาติไม่มาก ขณะเดียวกันในหมู่เครือญาติมีความขัดแย้งกันด้วย จึงมีสงคราม แต่เป็นสงครามกวาดต้อนผู้คน (ไม่ยึดครองดินแดน) เพราะภูมิภาคนี้มีคนไม่มาก แต่พื้นที่มีมากรกร้างกว้างขวาง ดังนั้น แต่ละเมืองต้องการคนเป็นกำลังสำคัญและเป็นกองกำลังป้องกันตนเอง ส่งผลให้เกิดการประสมประสานทางชาติพันธุ์และสังคมวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบเครือญาติทำให้มีเครือข่ายทางการค้ากว้างขวาง

ข้อดีอย่างยิ่งของประวัติศาสตร์ไทยตามหลักฐานเป็นจริงเรื่องความสัมพันธ์แบบเครือญาติในอุษาคเนย์ มีอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

(1.) คนไทยเข้าใจข้อมูลจริง ในความเป็นมาแท้จริงของตนเองและของเพื่อนบ้าน ตามหลักฐานวิชาการที่มีจริงและพบจริง ทำให้ลดอคติต่อเพื่อบ้านซึ่งล้วนได้จากประวัติศาสตร์บาดหมางที่ถูกเสกสรรปั้นแต่งโดยชาวยุโรป แล้วชนชั้นนำรับมาใช้มอมเมาคนไทย หากจะเหลือตกค้างในความทรงจำแต่จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ในที่สุดจะหมดไปเอง

(2.) โน้มน้าวและเหนี่ยวนำประเทศเพื่อนบ้านให้ยอมรับการมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกันแบบเครือญาติ แล้วพัฒนาประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศเพื่อลด “อคติ” ทางประวัติศาสตร์ต่อกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่การลดความบาดหมางในปัจจุบันเพื่อเข้าสู่สันติภาพถาวรต่อไปข้างหน้า

(3.) ความมั่นคงและมั่งคั่งทางการตลาดปัจจุบัน สนองทุกประเทศถ้วนหน้า

ประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์เพื่อนบ้าน ที่ใช้งานราว 100 ปีผ่านมา เชื่อถือตามแนวทางการศึกษาค้นคว้าและสันนิษฐานของชาวยุโรปสมัยล่าอาณานิคม แม้จะศึกษาด้วยตนเองบ้างไม่มากก็ค้นคว้าตามแนวทางทั่วไปที่ชาวยุโรปวางไว้ ซึ่งเป็นอันตรายใหญ่หลวงแก่การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและเพื่อนบ้าน ดังนั้น นักปราชญ์ชาวยุโรป-ดี.จี.อี ฮอลล์ เคยเขียนในคำนำหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า “พวกฝรั่งเศสรุ่นก่อน เขียนประวัติศาสตร์เอเชียเพื่อประโยชน์ของชาวยุโรป” (อ้างในหนังสือ ข้อเท็จจิงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2547 หน้า 151) ซึ่งสร้างความบาดหมางทั่วไปดังรู้กันอยู่แล้ว

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ