33 ปี ชีวิตสีกากี (49) | อยากถามอาจารย์ จะต้านอำนาจชั่วร้ายได้อย่างไร

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ส่วนประกอบของสถานที่เกิดเหตุ Components of Crime scene

สถานที่เกิดเหตุ ย่อมมีความสัมพันธ์กับผู้ต้องสงสัยและผู้เสียหาย

ส่วนประกอบของสถานที่เกิดเหตุ

1. เมื่อคนร้ายมาถึงสถานที่เกิดเหตุ

2. จุดทางเข้าสถานที่เกิดเหตุ

3. เส้นทางที่คนร้ายใช้ในสถานที่เกิดเหตุนั้น

4. จุดต่างๆ ที่คนร้ายสัมผัสในสถานที่เกิดเหตุ

5. การสัมผัสกันระหว่างผู้เสียหายกับคนร้าย

6. จุดที่เป็นทางออกของสถานที่เกิดเหตุ

7. การจับกุมคนร้าย

– คนร้ายเข้ามาได้อย่างไร เช่น เดิน หรือใช้รถ ซึ่งอาจพบร่องรอยจากพาหนะที่ใช้หรืออาศัยมาในการกระทำผิดนั้น ก็จะเริ่มจากจุดนี้ไปเพื่อหาร่องรอยต่างๆ

– ถ้ามีการงัดแงะเข้าไป ก็มีร่องรอยที่สามารถตรวจพิสูจน์เป็นหลักฐานได้ เพราะว่าจุดที่มีการทำลายเพื่อเข้าไปนั้น จะมีร่องรอยต่างๆ อยู่รวมทั้งเศษกระจกต่างๆ ถ้าทางเข้ายิ่งลำบากมากเท่าใด ก็อาจทำให้ผู้ร้ายนั้นเกิดบาดแผลได้ และเกิดริ้วรอยติดอยู่ตามเนื้อตัว รวมทั้งเศษสี เศษแก้วต่างๆ ซึ่งอาจติดอยู่ที่ตัวผู้ร้ายได้ แต่ถ้าเป็นทางที่สะดวก เช่น เปิดประตูหน้าต่างไว้ ก็หาร่องรอยลำบาก

– ในเส้นทางที่เดินผ่านสถานที่เกิดเหตุ เช่น มีอะไร หกล้ม เกะกะ ถ้าเป็นคดีโจรกรรม ก็ต้องสมมุติเอาว่า คนร้ายควรจะไปทางใด

– สิ่งที่เราสามารถจะพิจารณาถึงตัวคนร้ายอีกอย่างหนึ่ง คือ แผนประทุษกรรม

– จุดที่ควรสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ห้องน้ำ ซึ่งอาจเป็นแหล่งที่มีร่องรอยต่างๆ ติดอยู่ เพราะในห้องน้ำนั้นมีกระจก กระเบื้องเคลือบ หรือบางทีคนร้ายอาจจะใช้ห้องน้ำด้วยก็ได้ ซึ่งอาจมีลายนิ้วมือติดอยู่ หรืออาจเป็นที่ซ่อนอาวุธก็ได้ เช่น ในถังน้ำ และที่ควรตรวจก็คือ ลูกบิดประตู

– สิ่งใดก็ตามที่มีลักษณะเคลื่อนย้าย ก็ให้ระลึกถึงลายมืออยู่เสมอ กระดาษต่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดลายนิ้วมือขึ้นมาได้ ดังนั้น กระดาษที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งคาดว่าอาจมีการแตะต้อง ก็ให้นำมาตรวจ

– จะมีความรุนแรงมากน้อยเท่าใด แล้วแต่ชนิดของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นกรณีที่มีการกอดปล้ำกัน ก็ต้องพิจารณาถึงร่องรอยต่างๆ เช่น รอยกัด หรือเศษเล็กๆ น้อยๆ ในคดีข่มขืน หรือร่องรอยพวกโลหิต น้ำลาย อสุจิ ซึ่งติดอยู่ตามเนื้อตัวเสื้อผ้าของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ที่สำคัญที่สุด ที่จะแสดงสาเหตุของการตาย ได้แก่ รอยอาวุธ หรือบาดแผลว่ามีลักษณะอย่างไร ควรจะตั้งข้อหาอย่างไร

– ในกรณีการตายนั้น เกิดจากกระสุนปืน และหัวกระสุนยังฝังอยู่ในศพ จะต้องเอาลูกกระสุนออกจากศพให้ได้ เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ ไม่ว่าจะหาอาวุธปืนได้หรือไม่ก็ตาม

– ทางออก แล้วส่วนมากร่องรอยไม่ค่อยมี แต่บางกรณีที่คนร้ายรีบร้อนออกไป เพราะมีเหตุบางอย่างมาขัดขวาง ก็อาจมีร่องรอยเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ทางออกตามปกติ ก็อาจมีร่องรอยปรากฏอยู่ เช่น ลายนิ้วมือ รอยเท้า หรือรอยยางรถยนต์ต่างๆ

– กรณีที่จับคนร้ายได้ สิ่งที่ได้คือวัตถุพยานที่เป็นของกลาง หรือเครื่องมือเครื่องใช้ หรือร่องรอยต่างๆ ที่ติดอยู่กับตัว เช่น รอยเลือด รอยของเสื้อผ้า อาวุธต่างๆ ซึ่งติดอยู่กับตัว

 

ความรู้ที่ได้รับจากการบรรยายของอาจารย์ในตอนเรียน ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อเวลาที่ยังไม่ได้ไปทำงาน ฟังการบรรยาย ผมจะนึกถึงเหตุการณ์ของคดีได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อไปทำงาน ลงมือปฏิบัติจริง มีข้อขัดข้องมากมาย

หากย้อนเวลากลับไปในตอนเรียนได้

ผมคงจะมีคำถามที่จะถามอาจารย์หลายคำถาม

และจะถามวิธีการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องอย่างไร

ถ้าเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายในระหว่างที่ทำงานจะทำอย่างไร โดยเฉพาะการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่จากผู้มีอำนาจ

พนักงานสอบสวนจะมีพลังไปต้านอำนาจที่ชั่วร้ายได้อย่างไร คดีจึงจะสำเร็จ และตัวพนักงานสอบสวนรอดปลอดภัย

 

พ.ต.ต.อนันต์ อุณหนันทน์ ได้เข้ามาในตอนเรียนเพื่อเป็นอาจารย์สอนนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ในเทอมต้นด้วยหัวข้อ ลายนิ้วมือ ลายฝ่ามือ ลายฝ่าเท้า ที่ใช้ในการพิสูจน์หาตัวคนร้าย

ความรู้ในวิชาการพิมพ์ลายนิ้วมือ นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 ได้เรียนมาก่อนแล้ว และมาเรียนเพิ่มเติมละเอียดกว่าเดิม ในชั้นปีที่ 3 ในปีนี้เพิ่มเติมจากเดิม เพราะลายนิ้วมือ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญของตำรวจทั่วโลก เป็นหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ตัวบุคคล แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จึงต้องเรียนรู้ว่า กฎเกณฑ์ในการพิจารณาลายนิ้วมือ ที่ทั่วโลกเขาศึกษาและนำมาใช้กันนั้น ทำกันอย่างไรคงไม่ต้องให้หมอดูลายมือเป็นคนสอน

แต่ความรู้ที่นักเรียนนายร้อยตำรวจได้รับ คือ อาจารย์จากกองพิสูจน์หลักฐาน และกองทะเบียนประวัติอาชญากร กรมตำรวจ ที่มีความเชี่ยวชาญและมีอาชีพพิสูจน์ลายนิ้วมือ ลายฝ่ามือ ลายฝ่าเท้า เป็นอาจารย์สอน

พ.ต.ต.อนันต์ อุณหนันทน์ บรรยายไว้ว่า ลายนิ้วมือของกองพิสูจน์หลักฐานที่ใช้อยู่ เป็นแบบลายนิ้วมือเดี่ยว หาร่องรอยคนร้าย ลายนิ้วมือของกองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นแบบลายนิ้วมือ 10 นิ้ว หาประวัติต้องโทษ

กองพิสูจน์หลักฐาน แบ่งลายนิ้วมือเดี่ยวเป็น 7 ชนิด ผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือฝ่าเท้า จะเน่าเปื่อยช้ากว่าบริเวณอื่น

การเปรียบเทียบลายนิ้วมือ ถ้าเหมือนกันถึง 10 จุด ก็ยืนยันได้ว่าเป็นลายนิ้วมือของคนคนเดียวกัน (ในต่างประเทศก็ใช้ยืนยันเช่นเดียวกัน) ลายนิ้วมือในสถานที่เกิดเหตุนั้น ไม่จำเป็นต้องเต็มนิ้ว เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็สามารถที่จะใช้พิสูจน์ได้

ลายนิ้วมือในสถานที่เกิดเหตุ เรียกว่า ลายนิ้วมือแฝง (หรือลายฝ่ามือแฝง)

เส้นลายนิ้วมือของคนเรา จะไม่ขนานกันตลอดทุกเส้น จะต้องมีรอยแตก ตัดจุด อยู่เสมอ แต่รอยเหล่านี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต

 

เหตุที่ทำให้เกิดลายนิ้วมือ เพราะมีเส้น 2 เส้น คือ

1. เส้นนูน (Ridges)

2. เส้นร่องหรือรอยร่อง (Furrows)

เส้นนูน คือ การเกิดของรอยนูน ที่อยู่สูงขึ้นมา จากผิวหนังส่วนนอก

เส้นร่อง คือ รอยลึกที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเส้นนูน

เส้นนูนและเส้นร่อง จะอยู่สลับกันไป เมื่อเอาหมึกทา หมึกจะติดแต่เส้นนูน เมื่อกดนิ้วลงบนกระดาษ เส้นที่เห็น จะเป็นเส้นที่เกิดจากเส้นนูน ดังนั้นในการพิสูจน์หลักฐานจะใช้เส้นนูนเท่านั้น

– คนที่มีลักษณะผอมสูง ลายนิ้วมือจะมีรูปลักษณะยาว เช่น ถ้าเป็นมัดหวายก็จะมีลักษณะยาวผอม เช่น

ถ้าเป็นก้นหอย ก็จะมีลักษณะวงรีผอม

– คนที่มีรูปร่างอ้วนเตี้ย ลายนิ้วมือจะมีรูปลักษณะกลม เช่น ถ้าเป็นมัดหวาย ก็จะมีลักษณะกลมอ้วน เช่น

ถ้าเป็นก้นหอย ก็จะมีลักษณะกลม

ลายเส้น เด็กในครรภ์อายุ 4 เดือนเริ่มมีลายเส้น

ความสำคัญของเส้นนูนลายนิ้วมือ

1. ลักษณะลายเส้นของลายนิ้วมือจะไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

2. ลักษณะลวดลายลายเส้นของลายนิ้วมือ จะไม่ซ้ำกันในแต่ละคน