“สายน้ำกับวิถีล้านนา”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า "สายน้ำกับวิถีล้านนา"
อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สายน้ำกับวิถีล้านนา”

 

น้ำคือชีวิต คนเรานั้นเกิดจากน้ำ ร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำถึงร้อยละ 70 ขาดน้ำไม่นานเราก็จะตาย ชนชาติไทไม่ว่าเผ่าพันธุ์ใดมีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ คนล้านนาก็เช่นกัน คนเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง และแม่ฮ่องสอน มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือตั้งถิ่นฐานอยู่กับแม่น้ำและภูเขา

เมื่อครั้งพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่นั้นก็เลือกทำเลเช่นนี้ ถือเอาแม่น้ำปิงเป็นชัยมงคลประการที่ 7 ในการพิจารณาสร้างเมือง ตัวเมืองเชียงใหม่เป็นที่ราบอยู่ระหว่างภูเขาคือดอยสุเทพทางทิศตะวันตก และมีแม่น้ำปิงอยู่ทางทิศตะวันออก

ทุกเมืองใหญ่ในล้านนาจะมีแม่น้ำไหลผ่านเสมอ เชียงใหม่มีแม่น้ำปิง รวมทั้งน้ำแม่กวงกับน้ำแม่แตงด้วย ลำปางมีแม่น้ำยม น่านมีแม่น้ำว้า แม่น้ำน่าน แม่ฮ่องสอนมีแม่น้ำปาย แม่น้ำเมย เป็นต้น ระหว่างภูเขากับแม่น้ำ ใต้ดินของเมืองยังมีสายน้ำหลายสาย มีตาน้ำสะอาดให้คนได้ขุดบ่อน้ำเป็นน้ำกินน้ำใช้ สะท้อนถึงการสร้างสังคมเกษตรกรรมอันมีผลผลิตอุดมสมบูรณ์

การบริหารจัดการเรื่องน้ำใช้ในไร่นาสำหรับคนล้านนามีระบบเหมืองฝายใช้มาตั้งแต่สมัยโยนกนาคนคร หิรัญนครเงินยาง เชียงแสน ล้วนมีเหมืองฝายเป็นระบบชลประทาน เป็นระบบนิเวศน์ของเมือง มาถึงสมัยเชียงใหม่พระยามังรายจัดระเบียบแบบแผนในการดูแลบริหารจัดการน้ำทั้งเหมืองฝายขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ถึงกับตราไว้เป็นกฎหมายของล้านนาเรียกว่า มังรายศาสตร์

 

ในชีวิตประจำวัน คนล้านนาพื้นราบส่วนใหญ่ใช้ “น้ำบ่อ” บ่อน้ำที่ขุดขึ้นตรงกับตาน้ำ ก่ออิฐเป็นขอบสูงล้อมเอาไว้ป้องกันอันตรายไม่ให้คนตกลงไป

น้ำบ่อสำหรับเป็นน้ำกิน น้ำใช้ อาบน้ำ ซักผ้า ทำกับข้าว ชาวบ้านล้วนตักจากน้ำบ่อ น้ำบ่อไม่ได้มีทุกบ้าน หมู่บ้านเล็กจึงจะมีบ่อน้ำเป็นสาธารณะ หรือไม่เช่นนั้น เจ้าของบ่อก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันเพื่อนบ้านใช้ ดังนั้น น้ำบ่อจึงเป็นที่ชุมนุมของชาวบ้าน ไปสังสรรค์เสวนากัน เช่นเดียวกับครกมอง หรือครกกระเดื่องที่ใช้ตำข้าว

นอกจากนี้ บางที่ชาวบ้านยังใช้ “น้ำท่า” จากท่าน้ำ หรือลำห้วยอาศัยเป็นน้ำใช้ ซักผ้า เป็นต้น

ส่วนการวิดน้ำเข้าลำเหมืองเพื่อส่งไปยังนา คนล้านนามี “หลุก” หรือกังหันขนาดใหญ่ทำจากไม้ไผ่ จ้วงตักน้ำแล้วส่งตามรางลงลำเหมือง โดยเฉพาะในที่ที่ฝั่งน้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำมากๆ จึงจะมีหลุกใช้ ปัจจุบันหลุกหายไปหมดกับกาลเวลาเพราะมีเครื่องสูบน้ำมาใช้แทน ถ้าเป็นคนบนภูเขา จะอาศัยน้ำตก หรือ “น้ำออกรู” ซึ่งก็คือตาน้ำสะอาด บนเขา ต่อรางไม้ไผ่เข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านไหนกินใช้น้ำเช่นนี้ มักจะมีพิธีเลี้ยง “ผีน้ำ” เพื่อเซ่นไหว้ขอบคุณที่ทำให้มีน้ำสะอาดใช้ได้ทั้งปี

สำหรับภาชนะบรรจุน้ำในการเดินทาง สมัยก่อนอาศัยกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ จะใช้น้ำก็เพียงเทออกมาใช้ ก่อนหน้านั้นเราใช้น้ำเต้าแห้งใบใหญ่หลายๆ ใบบรรจุน้ำ วิธีหลังทุกวันนี้คนบนเขาก็ยังนิยมใช้กัน ส่วนน้ำใช้มักใช้หม้อดินเผาบรรจุ ต่อมาระยะหลังเราจึงมีโอ่งมังกรใช้แทนวัสดุธรรมชาติ

ในบ้านทุกบ้านจะใช้ “น้ำต้น” หรือคนโทน้ำดินเผา บรรจุน้ำกิน การใช้คนโทดินเผาจะทำให้น้ำเย็นกว่าปกติ เพราะเนื้อดินเผามีรูพรุนระบายอากาศออก แต่นั่นต้องหมั่นเอาเปลือกมะพร้าวขัดเพื่อไม่ให้รูของดินตัน

สมัยโบราณในบ้านยังมี “ร้านน้ำหม้อ” เหมือนเป็นชั้นเก็บหม้อน้ำที่ชานเรือน ใช้บรรจุน้ำกินโดยมี “น้ำบวย” หรือกระบวย เอาไว้ตักน้ำออกมากิน เนื่องจากในร้านน้ำมักจะอยู่นอกตัวเรือน คนล้านนาจึงนิยมเอาเครือบอระเพ็ดมาขดรองหม้อไว้ เพราะเชื่อว่าจะป้องกันสัตว์มีพิษ เช่น งู ไม่ให้คายพิษใส่น้ำให้เป็นอันตราย

บางบ้านจะตั้งหม้อน้ำกับน้ำบวยไว้ในร้านนอกประตูบ้านหรือรั้วบ้าน เรียกว่า “ร้านน้ำ” เป็นการเอื้อเฟื้อสำหรับคนเดินทางในสมัยก่อนที่ไม่ถนัดพกเอาน้ำไปกินระหว่างทาง จะเห็นว่าคนล้านนามีเครื่องดื่มคือน้ำสะอาด หรือไม่อีกทีก็เป็นเหล้าขาวที่นิยมกินกันยามพลบ เราไม่มีชา ไม่มีกาแฟ แบบชนชาติอื่น

โดยเฉพาะ “ชา” มากินกันทีหลัง โดยได้รับอิทธิพลมาจากชนชาติไทใหญ่ หรือชนชาติยูนนาน ที่มักอาศัยอยู่ในเขตอากาศเย็น และได้รับอิทธิพลมาจากจีน หน้าหนาวเขาจะต้มน้ำอุ่นกิน ไทใหญ่เรียกว่า “น้ำไหม้”

ถ้าชงชาอัสสัมหรือชาเมี่ยงชาวไทใหญ่เรียกว่า “น้ำเหน่ง” นั่นทำให้อุ่น แก้หนาวพอได้ แล้วคนล้านนาพื้นราบบางคนก็ได้รับอิทธิพลการดื่มน้ำชามาโดยเฉพาะที่มีเชื้อสายจีน •

อ่านว่า แม่น้ำปิงกับเมืองเจียงใหม่
แปลว่า แม่น้ำปิงกับเมืองเชียงใหม่
แม่น้ำปิงอยู่ทางซ้าย เมืองเชียงใหม่คือพื้นราบทางขวา ถัดไปคือดอยสุเทพ

 

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง