ทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 กับผลงานศิลปะอันเปี่ยมคุณภาพ ไม่น้อยหน้าระดับสากล (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอเล่าถึงนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ในหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ในตอนสุดท้าย ด้วยผลงานของศิลปินคนสุดท้ายอย่าง จิตติ เกษมกิจวัฒนา ในโครงการ ร้อยกรองไกร (Cinematic Ensemble of Kailash)

ที่นำเสนอเรื่องราวและความหมายของ “เขาไกรลาส” ซึ่งถือว่าเป็นการปรากฏขึ้นบนโลกของ “เขาพระสุเมรุ” ศูนย์กลางของจักรวาล หรือโลกธาตุ ตามคติจักรวาลวิทยาของฮินดูที่มีมาแต่ครั้งก่อนสมัยพุทธกาล

จิตติผสานแนวคิดนี้เข้ากับทฤษฎีทางฟิสิกส์อย่างกลศาสตร์ควอนตัม เพื่อสร้างผลงานที่ประกอบด้วยข้อมูลในมิติของคติความเชื่อ ตำนาน และภูมิศาสตร์กายภาพ (Geophysics) ที่สัมพันธ์กับคำว่า “ภาว/ภาวะ” คำบาลีที่เป็นต้นทางของคำว่า “ภาพ” ในภาษาไทย

และแนวความคิดร่วมสมัยเรื่องปริภูมิ-เวลา (Spacetime)

จุดเริ่มต้นของผลงานในโครงการนี้ของจิตติ เกิดจากการค้นคว้าวิจัยสำหรับการสร้างผลงานในโครงการศิลปะในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

เขาเดินทางไปยังพื้นที่หลายแห่งในเชียงราย และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งนี้ในหลากแง่มุม จิตติสนใจการมองสิ่งดั้งเดิมในวิธีใหม่ ซึ่งได้อิทธิพลจาก คาเรน บารัด (Karen Barad) นักปรัชญาสาย Feminist New Materialist ที่นำเอาความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบความจริงเกี่ยวกับสสารและสรรพสิ่งทั่วไปมาใช้กับแนวคิดเชิงปรัชญา

บารัดกล่าวว่า ความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ไปถึงในปัจจุบันนั้นไม่ถูกนำมาปรับใช้กับเรื่องของวัฒนธรรม สังคม การปกครอง, ระบบสังคมที่เราอยู่อาศัยตอนนี้เป็นผลผลิตของอดีตที่ล้าสมัย และไม่สามารถค้นพบความจริงในยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป

กลุ่มนักปรัชญาในปัจจุบันจึงพยายามผลักดันความคิดต่างๆ ในเชิงสังคม วัฒนธรรม เพศภาวะ ไปจนถึงการเมือง โดยใช้การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ของนักฟิสิกส์ควอนตัมมาเปลี่ยนทัศนคติที่มนุษย์เรามองโลก

จิตติยังเดินทางสำรวจโบราณสถานที่เมืองเชียงแสน ทั้งเจดีย์วัดป่าสัก และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน เขาค้นพบว่าตำนานของเมืองโบราณก่อนเมืองเชียงแสนที่สร้างขึ้นโดยพญาแสนภู นั้นไม่มีหลักฐานในเชิงประจักษ์มาสนับสนุนความจริง ไม่ว่าจะเป็นโบราณวัตถุหรือโบราณสถานใดๆ นอกจากเรื่องเล่าปากเปล่าที่สืบทอดกันมา

จิตติสำรวจพรมแดนระหว่างวัตุที่มองเห็นและจับต้องได้ในปัจจุบัน กับกระแสความคิดอันจับต้องไม่ได้ที่ส่งผ่านข้ามกาลเวลานับแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ทำให้เขาตั้งคำถามว่า วัตถุสิ่งของสิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นจะสามารถพาเราเดินทางไปที่ไหนได้บ้าง?

จากคำถามนี้ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการเดินทางในความคิดจากเมืองเชียงแสน เลาะขึ้นไปตามแนวเขาหิมาลัย และกลับไปสู่ต้นทางของความคิดที่เชื่อมโยงกับเจดีย์วัดป่าสัก เจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะหริภุญชัย ล้านนา พุกาม รวมถึงพุทธศาสนานิกายมหายานและตันตระ หรือวัชรยานในทิเบตและจีน

แนวคิดของเจดีย์ในลักษณะนี้คือเป็นภาพแทนของเขาไกรลาส ในขณะที่เจดีย์ของวัดพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการจำลองจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุ ซึ่งในความคิดเชิงฮินดูเชื่อว่าเขาไกรลาสคือการปรากฏขึ้นบนโลกของเขาพระสุเมรุ

จิตติจึงค้นหาว่าสถานที่ที่มีชื่อว่า เขาไกรลาส ในโลกนี้มีอยู่กี่แห่ง? ผ่านทางหนังสือประวัติศาสตร์และข้อมูลในโลกออนไลน์

จากการสืบค้น จิตติพบสถานที่ที่มีชื่อว่า “เขาไกรลาส” หรือ “เขาสุเมรุ” อยู่ 7 แห่ง คือ เขาไกรลาศ หรือ กังติ-สู-ชาน (Kangti-ssu-shan) ตั้งอยู่ในทิเบต

เขาอดิไกรลาศ (Adi Kailash) หรือ ศิวะไกรลาส (Shiva Kailash) ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ในเขตรัฐอุตตราขัณฑ์

ยอดเขาเมรุ (Meru Peak) ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาการ์ฮวาล-หิมาลัย (Garhwal Himalayas) รัฐอุตตราขัณฑ์

เขาคินเนอร์ไกรลาสหรือคินนัวร์ไกรลาส (Kinner / Kinnuar Kailash) ในเทือกเขาคินนัวร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาหิมาลัย ในรัฐหิมาจัลประเทศ

เขาศรีคันธมหาเทพ (Shrikhand Mahadev) อยู่ในเขตกูลลู (Kullu) ตั้งอยู่ในรัฐหิมาจัลประเทศ

ยอดเขามานิมาเฮชไกรลาส (Manimahesh Kailash Peak) หรือ ซัมบาไกรลาส (Chamba Kailash) ตั้งอยู่ในเมืองภมร (Bharmour) เขตซัมบา รัฐหิมาจัลประเทศ

และเนินเขาไกรลาส (Kailash Hill) ที่ตั้งอยู่ในเขตเกรเธอร์ไกรลาส (Greater Kailash) ทางตอนใต้ของกรุงเดลี ประเทศอินเดีย

หากเมื่อสืบค้นในพื้นที่อาณาจักรโบราณทางตอนเหนือของประเทศไทย กลับไม่พบสถานที่ที่มีชื่อว่าเขาไกรลาสหรือเขาพระสุเมรุ

ปรากฏแต่เพียงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอย่าง เจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ซึ่งตรงกับลักษณะของเขาไกรลาส ตามคติจักรวาลวิทยาแบบพุทธศาสนาตันตระและวัชรยาน ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่งานพุทธศิลป์ของพระสงฆ์ชาวทิเบต ในประเทศเนปาลอย่าง ซกซิก หรือต้นไม้แห่งชีวิต แท่งไม้เรียวยาวทรงแหลม ที่ประกอบขึ้นจากไม้หอม ซึ่งใช้เป็นแกนภายในพระพุทธรูปหรือสถูปในนิกายวัชรยาน

จิตติยังค้นพบความหมายของคำว่า “ไกรลาส” ซึ่งแปลว่า “สีเงินยวง” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การสะท้อนแสงของพื้นผิวของเขาไกรลาสที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งตลอดทั้งปี

ความหมายของชื่อนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการสะท้อนแสงของแร่ซิลิกา (Silica) และความเชื่อเกี่ยวกับพลังพิเศษที่เปล่งออกจากผลึกคริสตัลหรือควอตซ์ หรือหินเขี้ยวหนุมาน หรือหินจุยเจีย ในภาษาจีน (ที่หมายถึง หินที่ใสเหมือนน้ำ) ที่พบได้ในบริเวณแนวเทือกเขาหิมาลัย

ซึ่งนิยมใช้ในการสร้างพระพุทธรูปในภูมิภาคเอเชีย

จิตติยังเชื่อมโยงข้อมูลนี้เข้ากับหัวข้อการรายงานผลงานทดลองหาความเป็นไปได้ของการวินิจฉัยและควบคุมอนุภาคที่อยู่ในสถานะพัวพัน (entangled state) ของคณะนักฟิสิกส์ควอนตัม อาลอง แอสเปต์ (Alain Aspect), จอห์น เคลาเซอร์ (John Clauser) และ แอนทัน ไซลิงเงอร์ (Anton Zeilinger) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2022 ที่ศึกษาถึงภาวะความพัวพันเชิงควอนตัม

ซึ่งระบุว่า คู่อนุภาคซึ่งมีความพัวพันกันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองตามกันในทันทีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงกับอนุภาคใดอนุภาคหนึ่ง ไม่ว่าทั้งสองจะอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกันแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum Entanglement)

การทดลองนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่า วัตถุและทุกสรรพสิ่งที่เรามองเห็นและสัมผัสได้ว่ามีอยู่จริงนั้น อาจเกิดจากการเคลื่อนที่และพัวพันกันอย่างไม่หยุดนิ่งของอนุภาคเท่านั้น จนนำไปสู่บทสรุปที่ว่า “The Universe is not Locally Real” หรือ “เอกภพไม่มีอยู่จริง ณ ตำแหน่งแห่งที่ใดที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ”

ดังนั้น ในความเป็นจริง ตัวเราและทุกสิ่งรอบตัว ไปจนถึงโลก, พระจันทร์, ดวงอาทิตย์ และระบบสุริยจักรวาล อาจไม่มีตัวตนที่แท้จริงอยู่ หากแต่เป็นแค่การเคลื่อนที่พัวพันกันอย่างไม่หยุดนิ่งของอนุภาคก็เป็นได้

จิตติยังเชื่อมโยงแนวคิดนี้กับ จูฬนิกาสูตร พระสูตรในพระไตรปิฎก ที่ว่าด้วยโลกธาตุขนาดเล็กและจักรวาลจำนวนนับพันนับหมื่นจักรวาล ซึ่งเทียบได้กับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเอกภพ และแนวความคิดเรื่องปริภูมิ-เวลา (Spacetime) ที่ใช้ในการอธิบายการทำงานของเอกภพทั้งในระดับใหญ่กว่าดาราจักรและเล็กกว่าอะตอม

หรือแนวคิดเกี่ยวกับ พหุจักรวาล (Multiverse) ทั้งในกลศาสตร์ควอนตัม และในวัฒนธรรมป๊อปอย่าง จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล และหนังไซไฟหลายเรื่อง

ข้อมูลอันมากมายมหาศาลราวกับเป็น Big data เหล่านี้ ถูกร้อยเรียง พัวพัน และประดิดประดอยเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยอันสุดแสนซับซ้อน ละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายเขาไกรลาสทั้งภาพจริงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและภาพในเชิงข้อมูลจากเครื่องมือสำรวจทางธรณีฟิสิกส์

หรือประติมากรรมลูกแก้วหินจุยเจียที่วางทับอยู่บนหนังสือคำแปลจูฬนิกาสูตรในภาษาอังกฤษ เคียงคู่ไปกับอุปกรณ์ขดลวดเทสลา (Tesla coil) ที่ส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านอากาศราวกับเป็นประกายสายฟ้าให้เรามองเห็น หรือสัมผัสจับต้องได้ ประกายสายฟ้าที่ว่านี้ยังเชื่อมโยงกับจินตภาพของการพัวพันเชิงควอนตัม

หรือแม้แต่ชื่อของศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน ซึ่งถือว่ามีหลักปรัชญาสูงเหนือธรรมชาติ มีความแข็งเหมือนเพชร ใสเหมือนอากาศ ไม่มีใครต้านทานได้เหมือนสายฟ้านั่นเอง

บนผนังเบื้องหลังยังมีตัวหนังสือดัดจากหลอดนีออนเป็นประโยค The Universe is not Locally Real ตรงข้ามกันเป็นภาพพิมพ์ดิจิทัลรูปจุดเล็กๆ จำนวนนับไม่ถ้วน ที่สื่อแสดงให้เห็นถึงห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลบางส่วนที่มนุษย์ไม่สามารถสังเกตการณ์ได้

ถัดไปอีกห้องเป็นประติมากรรมจัดวางลูกดิ่งเหล็กห้าลูกที่ดิ่งทำมุมเป็นทรงสามเหลี่ยมสี่ด้านอันเป็นสัญลักษณ์แทนเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดในวัดป่าสัก และประติมากรรมจากไม้หอมที่จำลอง ซกซิก หรือต้นไม้แห่งชีวิตของทิเบต ติดเรียงรายบนผนังห้องราวกับเพิ่งงอกขึ้นมาก็ไม่ปาน

ผลงานศิลปะอันละเมียดละไมราวกับบทกวีทางสายตาของจิตติเหล่านี้ ไม่เพียงมอบสุนทรียรสในการชมให้แก่ผู้ชมอย่างเราแล้ว ยังมอบประสบการณ์ทางความคิด ด้วยการกระตุ้นให้เรากลับไปครุ่นคิด พิจารณา และค้นคว้าต่อเกี่ยวกับข้อมูลอันมากมายมหาศาลที่แฝงอยู่ในผลงานชิ้นนี้ของเขา

ที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นภาพแทนของจักรวาลของเขาไกรลาส ที่ปรากฏในผลงานของจิตติ ก็มีความเชื่อมโยงกับประเด็นเกี่ยวกับความเป็นภาพแทนของอำนาจของภูเขา ที่ปรากฏในผลงานในโครงการ Lying Mountain (ภูเขาขี้โกหก) สุรเจต ทองเจือ ที่จัดแสดงอยู่ในห้องแสดงงานก่อนหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน

และเมื่อดูนิทรรศการนี้จนครบ ก็ทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในผลงานศิลปะแต่ละโครงการของศิลปินทั้งเจ็ด ที่ถูกคัดเลือกมาอย่างน่าทึ่ง ซึ่งอันนี้ก็ต้องขอชมเชยการทำงานของภัณฑารักษ์และทีมงานของหอศิลป์แห่งนี้ไว้ ณ ที่นี้ และขอบันทึกนิทรรศการครั้งนี้เอาไว้เป็นกรณีศึกษา ถึงแม้จะน่าเสียดายที่นิทรรศการนี้ได้จบลงไปแล้วก็ตาม

นิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน-11 พฤศจิกายน 2566 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เปิดทำการตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00 น.-18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)

ข้อมูล https://www.chittik.net/ensemble-series.html

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์