‘ปฏิบัติการ 1027’ วิกฤตของกองทัพเมียนมา

This handout photo taken and released October 28, 2023 by the Kokang Information Network shows members of the Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) walking past a Myanmar military base after seizing it during clashes near Laukkaing township in Myanmar’s northern Shan state. (Photo by Handout / Kokang Information Network / AFP) / -----EDITORS NOTE --- RESTRICTED TO EDITORIAL USE - MANDATORY CREDIT "AFP PHOTO / Kokang Information Network " - NO MARKETING - NO ADVERTISING CAMPAIGNS - DISTRIBUTED AS A SERVICE TO CLIENTS

สถานการณ์ในเมียนมา เพื่อนบ้านทางตะวันตกของไทยพลิกผันอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

ในหลายพื้นที่ของประเทศในเวลานี้มีการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธอย่างเปิดเผย เมื่อการต่อต้านรัฐบาลทหารที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021

จุดชนวนเหตุการณ์ให้บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบขึ้นในเวลานี้

เป็นสงครามกลางเมืองที่เขย่ารัฐบาลทหารเมียนมาจนสั่นคลอน สภาเพื่อการบริหารแห่งรัฐ (เอสเอซี) องค์กรปกครองที่เกิดจากการรัฐประหาร และมิน อ่อง ลาย นายกรัฐมนตรีที่กองทัพแต่งตั้ง ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่สำคัญที่สุดเท่าที่กองทัพเมียนมาพานพบมาในรอบหลายสิบปี

 

ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนเศษที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารประกาศเริ่มปฏิบัติการ “โอเปอเรชัน 1027” ที่ตั้งชื่อตามวันเริ่มต้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้นี่เอง

“ปฏิบัติการ 1027” แตกต่างไปจากปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่ผ่านมา และเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

นี่ไม่ใช่การก่อการร้าย หรือการซุ่มโจมตีแบบ “สงครามกองโจร” อีกต่อไป

แต่เป็นปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ ภายใต้การสอดประสานของหลายฝ่าย ไม่จำกัดเฉพาะ “กองทัพเพื่อปกป้องประชาชน” (พีดีเอฟ) ในสังกัด รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) รัฐบาลเงาของเมียนมาอีกแล้ว

ปฏิบัติการที่เป็นการเปิดฉากสงครามกลางเมืองในเมียนมาเต็มรูปแบบครั้งนี้ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อ เอ็นยูจี สามารถทำความตกลงกับกลุ่มกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ร่วมกันก่อตั้ง “พันธมิตรแห่งภราดรภาพ” (Brotherhood Alliance) ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้รวมกำลังรบทั้งหมดเข้าด้วยกัน แต่กองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ก็สามารถส่งกำลังบางส่วนเข้ามาร่วมปฏิบัติการแบบสอดประสาน ร่วมมือซึ่งกันและกันได้ทั้งในเชิงยุทธวิธีและยุทธศาสตร์เพื่อเปิดฉากรุก

โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกัน นั่นคือการโค่นล้มระบอบการปกครองของทหาร เปลี่ยนกองทัพให้เป็น กองกำลังของทหารมืออาชีพ ที่มีหน้าที่ปกป้องประชาชนและสถาบันของชาติเท่านั้น

 

กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ไม่เพียงมีเขตอิทธิพลของตนเอง ยังมีกำลังคนพร้อมอาวุธครบครัน มีประสบการณ์ในการสู้รบ นอกจากกองกำลังพีดีเอฟของเอ็นยูจีแล้ว กองกำลังที่เข้าร่วมในการเปิดฉากรุกครั้งนี้มีตั้งแต่ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (เอ็มเอ็นดีเอเอ) ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในรัฐโกกั้ง ติดชายแดนจีน, กองทัพปลดแอกแห่งชาติตาอั้ง (ทีเอ็นแอลเอ) ในรัฐฉาน, กองทัพอาระกัน (เอเอ) ในรัฐยะไข่, กองทัพแห่งชาติฉิน (ซีเอ็นเอ) ในรัฐฉินติดต่อกับรัฐมิโซรัมของอินเดีย, กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นดีเอฟ) เป็นต้น

นักวิเคราะห์ด้านการทหารชี้ว่า การประสานงานกันโจมตีอย่างเป็นระบบโดยกลุ่มกองกำลังต่างๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ

เป้าหมายหลักในช่วงเริ่มแรกคือการตัดเส้นทางการค้าชายแดนสำคัญๆ และเข้ายึดเพื่อตัดเส้นทางส่งกำลังเสริมของกองทัพเมียนมา

เดือนเศษที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ระบุว่า กองกำลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาสามารถยึดครองจุดค้าขายผ่านแดนกับจีนที่สำคัญได้ 4 จุด รวมแล้วสามารถโจมตีและยึดครองที่ตั้งทางทหารของกองทัพเมียนมาได้อย่างน้อย 160 ที่ตั้ง ซึ่งมีทั้งที่เป็นฐานทางทหารและที่ตั้งจุดตรวจขนาดย่อม

พร้อมกันนั้นก็สามารถยึดครองเส้นทางสำคัญสำหรับลำเลียงกำลังสู่พื้นที่ทางตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศหลายสายได้อย่างมั่นคงอีกด้วย

 

ซิน มา อ่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเงาเอ็นยูจี ให้สัมภาษณ์นิตยสารนิกเกอิเอเชียจากสำนักงานใหญ่ของเอ็นยูจีที่เขตอิเกบุคุโระในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 29 พฤศจิกายนนี้ว่า กำลังขวัญของทหารเมียนมาอยู่ในสภาพตกต่ำถึงขีดสุดเช่นเดียวกับรัฐบาลทหาร “เพราะกำลังสูญเสียเหตุผลที่จะปกครองประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ” มีทหารเมียนมาหนีทัพแปรพักตร์มาเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านเป็นจำนวนมาก และค่ายทหารต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่สู้รบก็พร้อมยอมจำนนตลอดเวลา

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเมียนมาของสถาบันเพื่อสันติแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสไอพี) องค์กรรณรงค์เพื่อสันติภาพและการป้องกันความรุนแรงในกรุงวอชิงตัน เชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมาเผชิญอยู่ในเวลานี้ นับว่าร้ายแรงระดับวิกฤต

ทาวเวอร์ชี้ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศมากเหมือนอย่างที่เคยเป็น โดยเฉพาะจากจีนซึ่งกังขาต่อขีดความสามารถในการปกครองของรัฐบาลเมียนมามากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังสื่อของทางการจีนพากันประโคมข่าวกล่าวหาเมียนมาว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะตั้งแต่อาชญากรข้ามชาติ ไปจนถึงแหล่งยาเสพติดและแหล่งค้ามนุษย์ แต่ในเวลาเดียวกันทางการเมียนมากลับต้องปะทะกับคู่ต่อสู้ที่ทรงพลังกว่าเดิม มีสรรพาวุธครบครัน และมียุทธวิธีร่วมกันที่ชัดเจนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

“แนวโน้มที่คาดการณ์กันไว้ในตอนนี้พลิกผันไปอยู่กับฝั่งกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์, พีดีเอฟ และเอ็นยูจี” ทาวเวอร์ย้ำ เขาเชื่อว่าในอีกไม่ช้าไม่นาน การปฏิบัติการรุกแบบประสานงานกันจะเกิดขึ้นให้เห็นอีกอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสองสามสัปดาห์หรืออาจยืดยาวเป็นสองสามเดือนก็เป็นได้

 

ในขณะที่ซิน มา อ่อง ยืนยันว่า รัฐบาลทหารเมียนมาใกล้ล่มสลายเต็มที เอ็นยูจีเองมั่นใจว่าสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้จะบีบบังคับให้รัฐบาลทหารยอมจำนน และเปิดการเจรจากับฝ่ายตนในที่สุด

เธอเปิดเผยด้วยว่า เอ็นยูจีกำลังเตรียมการเจรจากับรัฐบาลทหารแบบเผชิญหน้า และกำลังจัดทำ “วิสัยทัศน์” ที่เป็นภาพรวมในอนาคตของเมียนมา ว่าจะอยู่ในรูปแบบ “สหพันธรัฐ” พร้อมภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละส่วนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วอีกด้วย

“เราได้ส่งหลักการพื้นฐานสำหรับการเจรจาเพื่อสันติไปยังรัฐบาลทหารแล้ว แต่ในเวลานี้สภาพแวดล้อมโดยรวมยังไม่เหมาะที่จะเปิดการเจรจาดังกล่าว” ซิน มา อ่อง ระบุ พร้อมเปิดเผย “เงื่อนไขล่วงหน้า” สำหรับการเจรจาว่าจะให้เกิดขึ้นได้ รัฐบาลทหารอย่างน้อยก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนอย่างเคร่งครัด

ประเมินจากปากคำของซิน มา อ่อง รัฐบาลทหารเมียนมาและนายกรัฐมนตรีมิน อ่อง ลาย ดูเหมือนจะตกอยู่ในสภาพวิกฤตถึงขีดสุดเข้าให้แล้ว