ท่านสุภัทรกับการสร้างความรักชาติ ผ่านการท่องเที่ยว (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ท่านสุภัทรกับการสร้างความรักชาติ

ผ่านการท่องเที่ยว (1)

 

การท่องเที่ยวและงานเขียนสารคดีท่องเที่ยวตามแหล่งโบราณสถานต่างๆ เป็นอีกเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างความสนใจต่อประวัติศาสตร์ชาติและสร้างความรักชาติให้แก่มวลชน

ซึ่งจากประวัติการทำงานของท่านสุภัทรดิศ ดิศกุล เราจะมองเห็นชัดว่าท่านคือหนึ่งในนักวิชาการผู้เข้ามาบุกเบิกและให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวโบราณสถานในสังคมไทย

ในยุคก่อนหน้านี้ แม้จะมีชนชั้นนำไทยเดินทางไปท่องเที่ยวตามโบราณสถานอยู่บ่อยครั้งและมักมีการเขียนออกมาเป็นบันทึกการท่องเที่ยวตีพิมพ์ออกมาพอสมควร ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็เช่น หนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง ของรัชกาลที่ 6 และงานเขียนที่ต่อมาจะถูกตีพิมพ์ในชื่อ “เรื่องเที่ยวที่ต่างๆ” ซึ่งมีหลายภาค โดยเป็นการนำเรื่องราวของเจ้านายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พระองค์สำคัญคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ที่เสด็จไปตามสถานที่ต่างๆ มาเผยแพร่

แต่งานเขียนเหล่านั้นแม้จะใช้คำว่า “เที่ยว” แต่ก็ไม่ใช่การเที่ยวในแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน

ส่วนใหญ่ของงานเขียนกลุ่มนั้นคือรายงานการสำรวจเดินทางและการตรวจราชการหัวเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน

หรือในงานบางชิ้นที่อาจเรียกว่าเป็นการเดินทางไปเพื่อการพักผ่อนและท่องเที่ยวโดยตรงก็ต้องถือว่าเป็นกิจกรรมเฉพาะในกลุ่มเจ้านายและขุนนางระดับสูงกลุ่มเล็กๆ

แม้กระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีกรมศิลปากรเข้ามาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังความคิดชาตินิยมแก่มวลชนในวงกว้างและมีการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

แต่หากพิจารณาเฉพาะในเรื่องของการสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวมวลชนก็ยังถือว่ามีลักษณะที่จำกัดอยู่เช่นเดิม

โบราณคดีสัญจร “เที่ยวเมืองคูบัว” พ.ศ.2504 ในภาพคือ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล กำลังบรรยายเรื่องการขุดค้นเจดีย์หมายเลข 10 เมืองคูบัว ให้นักท่องเที่ยวฟัง
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปี 2 ฉบับ 2 (กันยายน 2504)

จนกระทั่งเมื่อท่านสุภัทรเดินทางกลับเข้ามารับราชการในกรมศิลปากรในช่วงปลายทศวรรษที่ 2490 เราจึงเริ่มเห็นการให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวในนิยามสมัยใหม่มากขึ้น

โดยท่านสุภัทรมีทัศนะต่อการท่องเที่ยวโบราณสถานว่าจะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์มรดกของชาติเอาไว้ได้ และจะเป็นการช่วยให้คนในชาติเกิดความรักชาติและหวงแหนโบราณสถานเหล่านั้น

โครงการท่องเที่ยวที่น่าสนใจในยุคดังกล่าวคือ “โบราณคดีสัญจร” ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวแก่คนทั่วไปอย่างเป็นกิจจะลักษณะครั้งแรกๆ

โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2503-2508 ได้มีการจัดกิจกรรมขึ้น 9 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีการพิมพ์หนังสือนำชมที่เขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย แจกจ่ายแก่ผู้ร่วมงานทุกคน

ซึ่งจากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้พบว่า ในแต่ละครั้งมีผู้ร่วมเดินทางเป็นจำนวนมาก และในแต่ละครั้งจะมีการนำสื่อมวลชนไปทำข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะหลังจากจบการเดินทางด้วยเกือบทุกครั้ง

ครั้งที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่งคือ “เที่ยวเมืองคูบัว” จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2504 ซึ่งมีผู้ร่วมเดินทางมากถึงเกือบ 700 คน โดยมี ท่านสุภัทร, หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และ ชิน อยู่ดี เป็นวิทยากร

โดยหลังจากนั้นราว 1 เดือน “อนุสาร อ.ส.ท.” ก็ได้ตีพิมพ์เนื้อหาในการท่องเที่ยวคราวนั้นเผยแพร่อีกที

แต่ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมเป็นอย่างมาก แต่ดูเหมือนว่าจะมีเสียงบ่นอยู่ไม่น้อยในเรื่องความน่าเบื่อจนถึงกับมีการตีพิมพ์ข้อวิจารณ์นี้ลงในตอนท้ายของบทความใน “อนุสาร อ.ส.ท.” (ดูใน คณิตา เลขะกุล “สัญจรสู่…คู่บัว,” อนุสาร อ.ส.ท. ปี 2 ฉบับ 2 (กันยายน 2504) : 24-27, 49-51) ความว่า

“…คุณจะรู้สึกผิดหวังเหมือนบางท่านที่ร่วมสัญจรไปคราวนี้อยู่บ้าง ดิฉันได้ยินเขาบ่นเองว่า ไม่เห็นมีอะไรดูเลย นอกจากกองอิฐที่ดิฉันเล่าแล้ว และพื้นนาอันแตกระแหง แดดอันแสนจะร้อน กองฟาง เจ้าทุย และหมู่บ้านชาวนา…”

 

เราไม่อาจทราบแน่ชัดว่าข้อวิจารณ์นี้มีผลต่อการปรับกิจกรรมท่องเที่ยวในครั้งต่อมาเพียงใด

แต่จากการดูรายละเอียดของงานในครั้งต่อๆ มา เราก็พอจะมองเห็นถึงความพยายามที่จะปรับให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีนั้นมีลักษณะที่ “ย่อยง่าย” และสนุกสนานมากขึ้น

ตัวอย่างที่สะท้อนลักษณะดังกล่าวได้ชัดเจนคือ โบราณคดีสัญจร “เที่ยวเมืองนางพิม” จ.สุพรรณบุรี ที่จัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2508 โดยครั้งนี้มิได้เน้นไปที่การเที่ยวแหล่งโบราณคดีเพียงอย่างเดียว

แต่เน้นในลักษณะเป็นการตามรอย “ขุนช้าง-ขุนแผน” ไปดูสถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านเรือนของทั้งสอง สถานที่ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณกรรม

ตลอดจนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แทรกไปกับการชมแหล่งโบราณคดี คือ เมืองอู่ทอง และโบราณสถานคอกช้างดิน เป็นต้น

มีรายงานบันทึกเอาไว้ว่ามีผู้เข้าร่วม 240 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนหนังสือพิมพ์ และผู้แทนสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 4 และช่อง 7 ร่วมเดินทางไปด้วย

โดยในการเดินทางจะมี ท่านสุภัทร, ธนิต อยู่โพธิ์ และ ชิน อยู่ดี เป็นวิทยากรหลักเช่นเคย โดยมีสิ่งที่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งเที่ยวเมืองคูบัว คือ มีการให้ผู้รู้ในท้องถิ่นหลายคนมาร่วมทำหน้าที่เป็นวิทยากรด้วยในบางแห่ง

และมีการจัดพิมพ์หนังสือแจกผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2 เล่ม คือ “เที่ยวเมืองนางพิม” และ “เรื่องเมืองไตรตรึงส์ อู่ทอง และอโยธยา”

 

จากบันทึกรายงานกิจกรรมดังกล่าว เราจะมองเห็นถึงสิ่งที่แตกต่างไป คือ รูปแบบของการปลูกฝังความคิดชาตินิยมผ่านเรื่องเล่าในโบราณสถานที่มีความสนุกสนานมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องยึดกับขนบวิชาการหรือการใส่เชิงอรรถ

เห็นถึงการแปลงตำนานสวมเข้ากับโครงเรื่องของชาติไทยและความเป็นไทยในรูปแบบที่แม้ไม่ค่อยน่าเชื่อถือทางวิชาการแต่ดูปลุกเร้าความรู้สึกและอารมณ์ร่วมได้ดีกว่า

ตัวอย่างเช่น เมื่อเดินทางไปถึงโบราณสถานวัดสนามชัย จ.สุพรรณบุรี ศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรีทำหน้าที่บรรยายโดยเน้นว่า เจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ภายในมีกระดูกและเถ้าถ่านฝังอยู่เป็นจำนวนมาก

สันนิษฐานกันว่าคงจะเป็นกระดูกของบรรดาทหารที่เสียชีวิตในราชการสงครามครั้งเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำศึกได้ชัยชนะพระมหาอุปราชที่ดอนเจดีย์

และนอกจากการบรรยายที่ดูสนุกขึ้นแล้ว ตามโบราณสถานแต่ละแห่งจะมีเจ้าอาวาสหรือผู้รู้ในท้องถิ่นร่วมในกิจกรรมด้วย

ที่ได้รับการพูดถึงมากคือ เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี ได้นำพระพิมพ์มาแจกแก่ผู้ร่วมเดินทางซึ่งสร้างความตื่นเต้นและสนุกสนานกันเป็นอย่างมาก

 

รูปแบบของเรื่องเล่าและกิจกรรมประกอบที่ยกมาโดยสังเขปข้างต้น ในทัศนะผมคือ “ประวัติศาสตร์ศิลปะชาตินิยมแบบมวลชน” ที่ปราศจากเปลือกของวิชาการที่น่าเบื่อในแบบเดิม แต่กระนั้นก็ยังคงแก่นแกนของ “สาร” ที่มีเป้าหมายแบบเดียวกัน คือ การปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมลงไปสู่มวลชน

หากเราสังเกตผลตอบรับของกิจกรรมดังกล่าวจะเห็นว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในด้านจำนวนคนที่เข้าร่วม การเผยแพร่ของสื่อต่างๆ และกระแสเรียกร้องให้มีการจัดขึ้นบ่อยๆ

ดังคำพูดของ พระยาอนุมานราชธน ที่ร่วมเดินทางไปด้วยโดยกล่าวออกมาว่า “นี่แหละถูกจุด เขาชอบฟังกันอย่างนี้ เที่ยวแบบนี้สนุก”

ในเวลาต่อมา เมื่อท่านสุภัทรโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ท่านก็ยังเข้าไปมีส่วนต่อการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวโบราณสถานที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

เช่น ท่องเที่ยวลพบุรี-สระบุรี พ.ศ.2513, ท่องเที่ยวทางเรือไปกับคณะโบราณคดี พ.ศ.2514, ท่องเที่ยวเชียงใหม่-ลำปาง พ.ศ.2515, ท่องเที่ยวอยุธยา-อ่างทอง พ.ศ.2515, ท่องเที่ยวเมืองเก่าสุโขทัย พ.ศ.2516, ท่องเที่ยวแพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก พ.ศ.2516, ท่องเที่ยวสุโขทัยและศรีเทพ พ.ศ.2521, ท่องเที่ยวปราสาทหินในอีสาน พ.ศ.2524 และ ท่องเที่ยวเมืองไชยา พ.ศ.2525 ฯลฯ

ที่สำคัญคือ ในทุกครั้ง ท่านจะเขียนคู่มือประกอบการท่องเที่ยวด้วยเสมอ (เกือบทั้งหมดถูกเขียนเป็น 2 ภาษา) โดยจะเป็นการอธิบายรายละเอียดการเดินทางพร้อมทั้งประวัติความเป็นมาของโบราณสถานแต่ละแห่งและรูปแบบศิลปะ

ซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหาใจความทั้งหมดก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับงานเขียนทางวิชาการของท่าน

แต่สิ่งที่ต่างกันที่พอจะสังเกตให้เห็นได้ก็คือเนื้อหาที่สั้นและอ่านง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราศจากรูปแบบและเชิงอรรถทางวิชาการ

ซึ่งงานเขียนในกลุ่มนี้ของท่านในเวลาต่อมาหลายชิ้นจะถูกนำมาปรับปรุงและถูกตีพิมพ์เผยแพร่กระจายไปในวงกว้าง