เมื่อเราเริ่มใช้ ‘ตัวเลข’ เป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ของนโยบาย เราก็สูญเสียความเป็นไปได้ ของโลกใหม่ไปเกือบทั้งหมด

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ไม่นานมานี้ในวิชาเศรษฐกิจการเมืองของกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการ ที่ผมเป็นผู้บรรยาย นักศึกษาได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก ว่าด้วย “สังคมไทยควรมีเศรษฐกิจที่โตก่อนถึงสมควรที่จะมีรัฐสวัสดิการหรือไม่”

การนำเสนอนี้นำเสนอโดย คุณปณิตา เตชะรุ่งเรือง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 3

ประเด็นที่เธอตั้งขึ้นมาน่าสนใจในช่วงเริ่มต้นว่า แทบทุกครั้งที่มีการเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยฟรี จนกระทั่งถึงเรื่องเล็กอย่างน้ำประปาดื่มได้ เรามักได้รับคำถามเริ่มต้นว่า “เราไม่พร้อมกับเรื่องนี้”

เธอเริ่มใช้คำอธิบายว่ามันคือการผูกขาดความจริงผ่าน “ชุดตัวเลข” ที่มีความหมายตายตัวอยู่แล้ว จนทำให้เราปราศจากจินตนาการสู่สังคมในรูปแบบอื่นๆ

จากการนำเสนอของเธอ ผมพิจารณาต่อและสามารถขยายความประเด็นสำคัญได้ดังนี้

 

การนำเสนอของคุณปณิตา เริ่มต้นอย่างน่าสนใจผ่านข้อสมมติสำคัญที่ว่า ในระบบทุนนิยมเรามักเริ่มต้นเงื่อนไขของคำว่า “เศรษฐกิจดี” คือ เศรษฐกิจมีความมั่นคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ผู้คนเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ

กล่าวคือ เรามักคิดว่า เมื่อเศรษฐกิจโต คนมีงานทำ หรือมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการบริโภคเยอะขึ้น จะหมายถึงการทำให้เราอยู่ในสภาวะที่คนทั้งสังคมมีความพึงพอใจ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การทำให้การบริโภค การลงทุนของเอกชน และรายได้ของผู้ประกอบการมากขึ้นเป็นสิ่งที่ดี

ดังนั้น เงื่อนไขเหล่านี้จึงควรเป็นตัวนำ ก่อนที่เราจะไปพูดถึงสวัสดิการที่ดี ซึ่งเป็นเพียงตัวเสริมเหมือนกับเป็นทางเลือกเชิงนโยบายเมื่อเศรษฐกิจพร้อมเท่านั้น

แต่คำถามสำคัญคืออะไรคือเกณฑ์ของความพร้อมในแต่ละที่

ต้องมั่งคั่งเท่าใดถึงจะพร้อมสำหรับการสร้างรัฐสวัสดิการ

ต้องเก็บภาษีได้เท่าไร หรือมีการลงทุนเท่าไร มีการจ้างงานร้อยละเท่าไร ประเทศถึงจะพร้อมที่จะกระจายทรัพยากรสู่ประชาชน

คำตอบคือทั้งในอดีตถึงปัจจุบันก็ไม่เคยมีคำตอบนั้น

เพราะหากตอบได้ง่ายๆ เราก็เพียงแค่คำนวณว่าเมื่อไรเศรษฐกิจโตพอ เราก็ตั้งโปรแกรมให้เป็นรัฐสวัสดิการเลย

เอาเข้าจริงแล้วมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น

 

ตัวอย่างสำคัญในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ระหว่างปี 1930-1940 กลุ่มประเทศนอร์ดิก เลือกที่จะใช้นโยบายสวัสดิการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หรือในเยอรมนีการพัฒนาระบบประกันสังคมก็ไม่ได้เกิดในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโต

หรือแม้กระทั่งประเทศไทย การเกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังเกิดขึ้นในช่วงหลังเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

ในสหราชอาณาจักร การเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการและการเก็บภาษีกลุ่มคนรวยชนชั้นนำก็เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกเช่นเดียวกัน

หากพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศไทยก็นับว่าเติบโตกว่าหลายประเทศในช่วงเวลาที่พวกเขาผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการ

หรือหากเราพิจารณาปรากฏการณ์ร่วมสมัยต่างๆ การขยายของสวัสดิการรูปแบบใหม่ๆ ในหลายประเทศ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “ความพร้อมของเศรษฐกิจ”

แต่เกิดจากการที่ในสังคมนั้นเห็นพ้องกันว่าสิ่งใดคือสิ่งที่จำเป็น

 

“แต่เช่นนั้นหากกล่าวแบบนี้ ก็เหมือนกับว่าเราไม่ต้องพึ่งพาข้อมูลเชิงประจักษ์ สถิติหรือตัวเลขเลยหรืออย่างไร” ผมลองถามแย้งเธอในการนำเสนอ

สิ่งที่นักศึกษาอธิบายตอบกลับมาผมพบว่ามีความน่าสนใจว่า ตัวเลขและสถิติ เป็นเครื่องมือสำคัญในการอธิบายสังคมในแต่ละยุค ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ความเป็นไปในปัจจุบัน เราก็ยังต้องอาศัยตัวเลขในการบอกจำนวนคนยากจน หรือค่าแรงเพื่อชีวิต มันก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ตัวเลข หรือแม้กระทั่งคาดการณ์อนาคตตัวเลขก็ยังสำคัญ

แต่มันก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ในการช่วยทำความเข้าใจเท่านั้น

ตัวเลขไม่ใช่เครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม มันไม่เคยมีหน้าที่นั้น

เป็นมนุษย์ต่างหากที่เป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงสังคม

ตัวเลขเป็นเพียงการแทนค่าเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

ในจุดนี้นักศึกษาในห้องร่วมให้ความเห็นแลกเปลี่ยนกัน ผมพอได้ข้อสรุปสำคัญว่า จริงๆ แล้ว “ตัวเลข” มันเพิ่งมีความสำคัญในการกำหนดความเป็นไปของสังคมอย่างแรงกล้าในช่วงไม่กี่สิบปีนี่เอง

ในช่วงการขยายตัวลัทธิเสรีนิยมใหม่ และทุนนิยมการเงิน และมันชัดเจนมากขึ้นเมื่อกลุ่มทุนเทคโนโลยีก้าวเข้ามาควบคุมกลไกการจัดลำดับคุณค่าในสังคมผ่านเงื่อนไขต่างๆ

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ หรือโดยบังเอิญ

เพราะ “ตัวเลข” ยึดโยงกับความเป็นไปได้ของผู้มีอำนาจเสมอ ในปัจจุบันการผูกขาดความจริงของตัวเลข มันจึงทำให้เราตัดขาดคุณค่าหลายอย่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม เสรีภาพ หรือความเป็นเพื่อนร่วมสังคมระหว่างกัน

คุณค่าเหล่านี้ถูกลดทอนให้ต่ำกว่า ความเป็นไปได้ของ “ตัวเลข”

 

เราเห็นแม่ที่กู้นอกระบบมาจ่ายค่านมลูก เรารู้ว่าสิ่งนี้ไม่เป็นธรรม

แต่ตัวเลขของสวัสดิการในการดูแลเด็กดูเยอะไปทุกครั้ง เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอื่น

เราเห็นว่าผู้สูงอายุจำนวนมากกำลังจะขาดรายได้ยามเกษียณ มันไม่ยุติธรรมกับคนที่ทำงานหนักทั้งชีวิต แต่เราเห็นว่า ถ้าเอาเงินสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ น่าจะสร้างตัวเลข การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าการให้เงินคนแก่

ดังนั้น หัวใจสำคัญที่เราจำเป็นต้องทบทวนคือ การตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “สังคมแบบใดที่เราปรารถนาอยากให้เกิดขึ้น” มากกว่า

การตอบคำถามที่มักมีคำตอบแต่เริ่มต้นว่า เราพร้อมหรือไม่ เศรษฐกิจโตพอหรือไม่สำหรับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม

เราต้องการให้รัฐสวัสดิการเป็นเงื่อนไขบังคับของสังคม

หรือเป็นเพียงแค่ “ของแถม” ที่ไม่เคยมีวันมาถึง